ในภาษาไทย คำว่า ‘โง่’ มีความหมายรวมๆ ว่า ‘โง่’ โดยไม่ได้แยกแยะความโง่ออกเป็นแบบต่างๆ
พจนานุกรมไทยให้ความหมายของคำว่า ‘โง่’ เอาไว้ว่า-เขลา, ไม่ฉลาด, ไม่รู้ โดยยกตัวอย่างคำและสำนวนที่เกี่ยวกับความโง่บางคำ เช่น โง่แกมหยิ่ง, โง่เง่า, โง่แล้วอยากนอนเตียง
แต่ถ้าเราดูคำว่า ‘โง่’ ในภาษาอังกฤษ พบว่ามีการแบ่งความโง่ออกได้เป็นสองแบบใหญ่ๆ ความโง่อย่างแรกเรียกว่า Ignorance ความโง่อย่างที่สองเรียกว่า Stupidity
ความโง่แบบ Ignorance เคยมีคนแปลเป็นไทย (จริงๆ คือบาลี) ว่า ‘อวิชชา’ ซึ่งถ้าแปลให้ตรงตามรากศัพท์ ก็น่าจะแปลได้ว่าไม่มีวิชชา หรือไม่มีความรู้นั่นแหละครับ ซึ่งก็ตรงกับภาษาอังกฤษที่บอกว่า Ignorance ก็คือ The state of being ignorant หรือ being uninformed หรือ lack of knowledge คือ ‘ขาด’ ความรู้
ในขณะที่ความโง่แบบ Stupidity นั้น ภาษาอังกฤษบอกว่าหมายถึง Lack of Intellignece, understanding, reason, wit or sense พูดอีกอย่างหนึ่ง Stupidity คือความโง่เนื่องจาก ‘ขาดความสามารถที่จะรู้’
โง่เพราะไม่รู้-กับโง่เพราะขาดความสามารถที่จะรู้นั้นไม่เหมือนกันนะครับ
สมมติว่ามีคนคนหนึ่งคิดว่าโลกแบน เพราะเขาเห็นว่าโลกนี้มันแบนแต๊ดแต๋ จึงเชื่อแบบนั้นมาตลอด แม้จะมีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ต่างๆ นานาที่บอกว่าโลกนี้กลมเหมือนผลส้ม แต่ถ้าคนคนนั้นไม่ได้ ‘ตระหนัก’ ว่ามีข้อมูลนี้อยู่ในโลก คือไม่เคยค้นพบ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าโลกไม่ได้แบน ใครก็ไม่อาจบอกได้ว่า คนคนนี้โง่เพราะขาดความสามารถที่จะรู้ เขาเพียงแต่ ‘ขาดความรู้’ ในเรื่องนั้นๆ เท่านั้น
แต่ถ้ามีคนนำเสนอข้อมูล ความจริง หลักฐาน ประจักษ์พยาน และการพิสูจน์ทั้งหลายทั้งปวงให้คนอีกคนหนึ่งเห็นแจ้งแล้วว่าโลกนั้นไม่ได้แบน มันมีทรงกลม แม้จะไม่กลมบ๋อง-แต่กลมเหมือนผลส้ม, ทว่าคนคนนั้นกลับตัดสินใจอย่างมีสำนึกรู้ (เรียกว่ามี conscious decision) ที่จะปฏิเสธข้อพิสูจน์ดังกล่าว ยังคงเชื่อในความคิดก่อนหน้าที่เป็นความเชื่อลวง (fallcious preconceived idea) ก็เป็นไปได้ที่คนคนนี้จะมีความโง่ในแบบ Stupidity
แต่ถึงบางคนจะเห็นว่าคนคนนี้มีความโง่แบบ Stupidity อยู่ในตัว คนจำนวนมาก็ไม่ค่อยกล้าพูดออกมาหรอกว่า-คุณครับๆ คุณมีความโง่แบบ Stupidity นะครับ, ทั้งนี้ก็เพราะความโง่ในแบบ Stupdity นั้น มักไม่ได้มาตัวเปล่า คือไม่ได้มาแค่ความโง่เพียวๆ หรือโง่บริสุทธิ์ แต่ความโง่ในแบบ Stupidity มักต้องมาพร้อม ‘อำนาจ’ บางอย่างด้วย เพื่อให้ความโง่แบบนี้กล้าลุกขึ้นมา ‘ปฏิเสธ’ สิ่งที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าจริงในระดับหนึ่ง
อำนาจอาจเป็นหรือไม่เป็นตัวสร้าง Stupidity ก็ได้ แต่อำนาจทำให้ Stupidity กล้าเผยตัวแสดงตนออกมาให้คนอื่นเห็นโดยไม่ต้องหวั่นเกรง
ความโง่แบบ Ignorance นั้น แม้จะน่ากลัว แต่เนื่องจากเป็นความโง่เพราะไม่รู้ จึงยังมีความเป็นไปได้อีกครึ่งหนึ่งที่เมื่อ ‘รู้’ ขึ้นมาแล้ว ก็จะละทิ้งความ Ignorance นั้นไปเสีย แต่ความโง่แบบ Stupidity นั้นตรงข้าม มันคือการยืนยันถึง ‘ตัวตน’ เป็นการบอกว่าฉันคิดอย่างนี้ ฉันเชื่ออย่างนี้ ฉันจะยืนหยัดอย่างนี้ (โดยใช้อำนาจอะไรบางอย่างเพื่อช่วยต่อสู้ต่อรองการยืนหยัดนั้น) Stupidity จึงมักได้รับการเสริมพลัง (empower) จากปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทำให้มันดำรงอยู่ยาวนานกว่า Ignorance
นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจชาวอิตาเลียน ชื่อ คาร์โล ซิโพลลา (Carlo Cipolla) ได้เขียนงานที่มีชื่อเสียงเอาไว้ชิ้นหนึ่ง มีชื่อว่า The Basic Laws of Human Stupidity หรือ ‘กฎพื้นฐานของความโง่ของมนุษย์’ โดยเขาบอกว่า คนโง่ (Stupid People) นั้น มักไม่ได้โง่คนเดียว แต่ต้องโง่ด้วยกันเป็นกลุ่ม เพราะการโง่คนเดียวจะไม่ทำให้คนคนหนึ่งแสดงความโง่ออกมาได้ ความโง่ต้องการ ‘พรรคพวก’ เพื่อสนับสนุนเสมอ เพราะความโง่ก็เหมือนความเชื่ออื่นๆ นั่นแหละครับ ถ้าเราเชื่อในอะไรบางอย่างอยู่คนเดียว เราจะไม่มี ‘อำนาจ’ ในการแสดงพลังออกมา กระทั่งความโง่ก็ยังต้องการความสามัคคีในการแสดงพลัง ดังนั้น เราจึงมักเห็นคนโง่หรือ Stupid People ปรากฏในรูปของ ‘กลุ่ม’ ที่มี ‘อำนาจ’ บางอย่างหนุนหลังอยู่ คาร์โล ซิโพลลา บอกว่า กลุ่มของคนโง่ที่ว่านี้มีอำนาจเหนือกว่าองค์กรต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการในสังคมอิตาลีเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มมาเฟีย หรือกลุ่มนายทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะความโง่นั้นไม่ต้องการการจัดการ ไม่ต้องการการควบคุมหรือกฎระเบียบใดๆ ไม่ต้องการแม้กระทั่งผู้นำหรือหลักการร่วม การ ‘โง่ร่วมกัน’ จึงเกิดขึ้นได้ง่ายและไม่ค่อยรู้ตัว
ซิโพลลาบอกว่า กฎพื้นฐานเรื่องความโง่ (ในแบบ Stupidity นะครับ) ของเขาบอกว่ามีอยู่ห้าข้อด้วยกัน คือ
1. คนเราทุกๆ คนในโลกนี้ มักจะประเมินจำนวนคนโง่ (Stupid Individuals) ในแวดวงที่เราอยู่-น้อยกว่าความเป็นจริงเสมอ, และอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2. ความน่าจะเป็นที่คนคนหนึ่งจะโง่นั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับบุคลิกลักษณะอื่นๆ ของคนคนนั้นเลย พูดง่ายๆ ก็คือ หล่อสวยรวยยศอะไรก็โง่ได้ทั้งนั้น
3. คนโง่คือคนที่ก่อความเสียหายหรือสูญเสียให้กับคนอื่นๆ ในขณะที่ตัวเองก็ไม่ได้ได้อะไรดิบดีจากการกระทำนั้นๆ เลยสักกระติ๊ดเดียว
4. คนที่ไม่ได้โง่ (Non-stupid people) มักจะประเมินอำนาจในการทำลายล้างของคนโง่ต่ำไปเสมอ โดยคนที่ไม่ได้โง่ มักจะลืมไปว่า การต้องไปดีลหรือรับมือกับคนโง่นั้น ไม่ว่าจะเป็นเมื่อไหร่ที่ไหนหรือในสถานการณ์แบบไหนก็ตาม ล้วนแต่เป็นความผิดพลาดร้ายแรงทั้งสิ้น
5. คนโง่ (ในแบบ Stupid) คือคนที่อันตรายที่สุด
เขานำ ‘ประโยชน์’ (ท่าทางเขาน่าจะเป็นนักอรรถประโยชน์นิยมนะครับ) มาวาดเป็นแผนผังออกมาแบบง่ายๆ และสรุปว่า คนฉลาดหรือ intelligent people นั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งตัวเองและผู้อื่น ส่วนคนที่ทำให้คนอื่นเสียประโยชน์แต่ตัวเองได้ประโยชน์ ก็คือพวกโจรร้ายใจโกง (bandits) ในขณะที่คนที่ทำให้คนอื่นได้ประโยชน์แต่ตัวเองเสียประโยชน์ ก็คือคนที่ด้อยโอกาสในสังคม คอยทำงานรับใช้คนอื่นๆโดยตัวเองไม่ได้อะไร และสุดท้ายก็คือคนโง่ จะเป็นกลุ่มที่ที่ทำให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นเสียประโยชน์กันถ้วนทั่วทุกตัวคน
ในโลกปัจจุบัน นอกจากคำว่า Stupidity แล้ว ยังมีขบวนการที่เรียกกันว่า Anti-Intellectualism อยู่ด้วย ขบวนการที่ว่านี้ไม่ได้ประกาศว่าจะสมาทานความโง่นะครับ เพียงแต่ต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นความฉลาด
คนในขบวนการนี้มักนำเสนอตัวเองว่าเป็นคล้ายๆ ฮีโร่ของปวงชน (mass) เพราะคนเหล่านี้มักมองว่า คนที่แสดงตัวว่าเป็น Intellectual นั้น เป็น ‘คนชั้นสูง’ (elite) ที่เป็นคนกลุ่มน้อยของสังคม คือคนส่วนใหญ่คิดไม่ได้แบบที่คนเหล่านี้คิดหรอก ดังนั้น ข้อเสนอของ ‘อ้ายพวกฉลาดๆ’ จึงมักเป็นข้อเสนอที่เป็นไปไม่ได้ คิดอะไรมากมายเกินเหตุ ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่เกี่ยวอะไรกับความต้องการหรือปัญหาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ และเป็น ‘อ้ายพวกฉลาดๆ’ นี่แหละ ที่ครอบงำอำนาจทั้งทางการเมืองและทางความรู้เอาไว้ ทำให้คนอื่นๆ ไม่มีอำนาจหรือที่ทางในการเสนอความคิดเห็น หรือเสนอความเห็นไปก็สู้ไม่ได้ จึงเกิดความ ‘ไม่ไว้วางใจ’ (Distrust of Intellectuals) ขึ้นมา
Anti-Intellecualism นั้น มีลักษณะร่วมกับ Stupidity อยู่อย่างหนึ่ง คือมันจะผงาดขึ้นมาได้ ก็ต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ มาค้ำจุน โดยอำนาจที่มักมากับ Anti-Intellecualism ก็คือ Atuthoritarianism หรือเผด็จการอำนาจนิยม เช่นในอาร์เจนตินายุคหกศูนย์ เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า The Night of the Long Batons เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง เกิดมีอาการไม่ไว้ใจนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จนเข้าแทรกแซงและขับไล่นักวิชาการห้าคณะออกจากมหาวิทยาลัยบัวโนไอเรสในวันที่ 29 กรกฎาคม 1966 เกิดการใช้ความรุนแรง เพราะตำรวจใช้ไม้กระบองทุบตีทั้งนักศึกษาและอาจารย์ และทำลายห้องแล็บกับห้องสมุด เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์สมองไหลครั้งรุนแรง มีอาจารย์คนสำคัญๆ หลายคนถูกเนรเทศออกนอกประเทศ โดยรัฐบาลทหารได้เข้าไปควบคุมมหาวิทยาลัยและมีการเซนเซอร์อย่างเข้มงวด
สำหรับยุคปัจจุบัน นิตยสารอย่าง Scientific American เพิ่งตีพิมพ์บทความชื่อ Trump’s 5 Most “Anti-Science” Moves หรือ ‘ความเคลื่อนไหวของทรัมป์ 5 อย่าง ที่แสดงออกว่าต่อต้านวิทยาศาสตร์ที่สุด’ เช่นการเลือกคนที่ต่อต้านเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นหัวหน้าหน่วยงานสิ่งแวดล้อม เลือกอดีตผู้ว่าการรัฐเท็กซัส (ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมัน) มาดูแลเรื่องพลังงาน เลือกผู้บริหารบริษัทพลังงานมาเป็นรัฐมนตรี ฯลฯ ซึ่งแม้จะพูดไม่ได้ว่านี่คืออาการ Anti-Intectualism เต็มที่ แต่การเลือกใช้คำว่า Anti-Science ในบทความดังกล่าว ก็บ่งบอกนัยบางอย่างในระดับหนึ่ง
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า Stupidity ไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอะไร เพราะคนเราควรสามารถยืนยันความเชื่อ ความฉลาด ความรัก ความศรัทธา หรือแม้กระทั่งความโง่ของตัวเองได้เสมอ ผมไม่ค่อยเชื่อคุณซิโพลลาเท่าไหร่นะครับ เพราะเขามองว่า Stupidity นั้น เหมือนเป็นของแข็งตายตัว โง่แล้วโง่เลย ขาดความสามารถที่จะรู้และเข้าใจแล้วก็ต้องเป็นอย่างนั้นไปชั่วชีวิต แต่มนุษย์เลื่อนไหลเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความหมายของความโง่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้เสมอเช่นเดียวกัน
แต่ที่น่ากลัว ก็คือ ‘อำนาจ’ ที่มากับความโง่ และเป็นเครื่องมือหนุนให้ความโง่นั้นดำรงอยู่ต่อไปต่างหาก เพราะอำนาจจะทำให้เรามองไม่เห็นความโง่ และหลายครั้งก็อาจเผลอคิดว่า ความโง่ในตัวเราเป็นความฉลาด ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไหร่ ความโง่ก็ยิ่งฉลาดล้ำเลิศมากเพียงนั้น
ดังนั้น การขาด ‘ความสามารถที่จะรู้’ จึงยังไม่ร้ายแรงเท่าการขาดความสามารถที่จะเห็นถึงความโง่ในตัวเอง เพราะ ‘อำนาจ’ มันกบตาอยู่
คนเราจะเห็นความโง่ในตัวเองได้-ต้องอาศัยความฉลาดระดับหนึ่ง ส่วนการเห็นได้เฉพาะความฉลาดในตัวเองเพียงอย่างเดียว-ก็ต้องอาศัยความโง่ในอีกระดับหนึ่งด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ความโง่และฉลาดในตัวเราจึงมักใส่หน้ากากสลับสับเปลี่ยนกันไปมา จนยากจะมองเห็นได้ชัดแจ้ง
อำนาจของความโง่นั้นทำงานแนบเนียนซับซ้อน ไม่ได้ทำที่ไหนไกลกับใครอื่นหรอกนะครับ
แต่กระทำกับตัวเราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่แหละ!