เห็นวิธีคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกกันว่า ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ ของรัฐบาลยุคนี้แล้วนึกถึงพระอัจฉริยภาพของพ่อขุนรามคำแหง
ตอนเด็กๆ คุณครูสอนว่า พ่อขุนรามคำแหง (ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า ‘มหาราช’ ต่อท้าย) ทรงปกครองบ้านเมืองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ ใครมีความเดือดร้อนอะไรสามารถมา ‘เคาะระฆัง’ ที่หน้าประตูวัง แล้วพระองค์ก็จะทรงจัดการให้เหตุร้ายและข้อพิพาทต่างๆสงบลงได้
ที่น่าสนใจก็คือ คุณครูยัง ‘สอน’ ต่อไปด้วยว่า-ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง (ซึ่งไม่ว่าจะเป็นของจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเราถือว่า ‘จริง’ เอาไว้ก่อน-ก็น่าจะไม่เป็นอะไรนะครับ) นั้น, บอกไว้ว่า ‘ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า’ แล้วครูก็บอกว่า เห็นไหม-สมัยนั้นน่ะ คนไทยมีเสรีภาพนะ
คำพูดของครูนั้นน่าสนใจนะครับ แต่ตอนยังเด็กนั่นไม่รู้หรอกว่าทำไมถึงสนใจ จนกระทั่งมาเจอกับ ‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ ของรัฐบาลนี้นี่แหละครับ ผมจึงเพิ่งถึงบางอ้อ เพราะหากเราลองคิดให้ดี เราจะพบว่าคำสอนของครูนั้นสอนเราถึง ‘วิธีมีชีวิต’ สองแบบที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วเลยนะครับ
แบบแรก (คือแบบ ‘เคาะระฆัง’) นั้น เป็นการยก ‘อำนาจ’ ในการ ‘ตัดสิน’ ไปไว้ในมือของคนคนเดียว (คือพ่อขุนรามคำแหง) ซึ่งถ้าหากว่าบ้านเมืองมีความสงบสุข ก็เท่ากับมี ‘นัย’ บ่งบอกด้วยว่า พ่อขุนรามคำแหงนั้นทรงเป็นคล้ายๆกับที่เพลโตบอกไว้-คือเป็น philosopher king หรือเป็นราชาปราชญ์ เป็นผู้รู้ เป็นผู้ทรงคุณธรรมที่เสียสละมาปกครองบ้านเมือง ซึ่งการปกครองแบบนี้ ผู้ปกครองจะมี ‘อำนาจสิทธิขาด’ (authority) เป็น ‘อำนาจอันชอบธรรม’ (legitimate power) ที่ีมีทั้งอำนาจอ่อนและอำนาจแข็ง โดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบใดๆ เพราะผู้คน ‘รู้’ และ ‘เชื่อ’ ว่า ผู้ปกครองสูงสุดนั้นมีคุณงามความดีและสติปัญญาสูงสุด
การเชื่อว่าผู้ปกครองสูงสุดมีความดีและสติปัญญาสูงสุดนั้นเท่ากับบอกเป็นนัยด้วยว่า และดังนั้น, คนที่อยู่ใต้การปกครอง ก็น่าจะต้องเป็นคนที่มีความบกพร่องเว้าแหว่งในด้านใดด้านหนึ่ง อาจเป็นด้านคุณธรรมหรือด้านสติปัญญาก็ได้ โดยความบกพร่องเว้าแหว่งเหล่านี้น่าจะมีอาการ ‘ลดหลั่น’ เป็นชั้นๆลงมาเรื่อยๆ จากศูนย์กลางที่เป็นผู้ปกครองสูงสุด ไล่ลงมาตามบรรดาขุนนางอำมาตย์ จนกระทั่งถึงคนธรรมดาสามัญไพร่ทาสทั่วไป เมื่อเป็นดังนี้ คนที่มีคุณธรรมและสติปัญญาที่สูงกว่า ก็ย่อมพึงมี ‘อำนาจ’ ในการกำกับคนที่อยู่ต่ำกว่าในสถานะทางปัญญาและคุณธรรมได้ ตัดสินพิพากษาบอกได้ว่าคนเหล่านี้ควรจะมีชีวิตอยู่แบบไหน ใครควรเป็นผู้ชนะในคดีแบบไหน
อย่างไรก็ตาม หากมาพิจารณาคำสอนที่สองของครูตามที่ปรากฏในหลักศิลาจารึก คือที่บอกว่า ‘ใครจักใคร่ค้าช้างค้า’ หมายถึงใครอยากทำอะไรก็ ‘ทำได้’ หรือ ‘ได้ทำ’ นั้น ย่อมแปลว่าบ้านเมืองสมัยนั้นมีสภาพที่เป็น ‘เสรีนิยม’ อยู่ไม่น้อย ยิ่งถ้าพิจารณาว่า หลักศิลาจารึกให้ความสำคัญกับ ‘การค้า’ เป็นหลัก ก็แทบจะพูดได้ด้วยซ้ำนะครับ ว่าบ้านเมืองสมัยพ่อขุนรามคำแหงนั้นมีลักษณะ ‘ตลาดเสรี’ ใครอยากค้าอะไรก็ค้าได้ ถ้าเพ้อเจ้อหน่อยแบบผม ก็อาจจินตนาการเปรียบเทียบไปถึง ‘เสรีนิยมใหม่’ (neoliberalism) อีกต่างหาก
ดังนั้น ถ้าเราดูวิธีมีชีวิตแบบที่สองนี้ เราจะเห็นชัดเจนเลยนะครับ ว่ามันขัดแย้งอย่างถึงรากกับวิธีมีชีวิตแบบแรก อย่างที่สองคือเสรีนิยม แต่อย่างแรกคือการ ‘ฝาก’ การตัดสินใจขั้นเด็ดขาดเอาไว้ในมือของผู้ปกครองสูงสุด
แต่เสรีนิยมจะอยู่ใต้การปกครองแบบรวมศูนย์ได้จริงหรือ?
เอาละ สมมุติว่าได้, สมมุติว่าเราเชื่อว่า-สุโขทัย (ที่มีลักษณะเป็น ‘นครรัฐ’) สามารถปกครองแบบนี้ได้ เพราะพ่อขุนรามคำแหงทรงเป็นผู้ปกครองที่มีพระอัจฉริยภาพ ทรงคุณธรรมและเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านชาวเมือง ประกอบกับการเป็นรัฐขนาดเล็ก ทำให้ไม่มีปัญหาที่ซับซ้อนมากนักเหมือนในปัจจุบัน
แต่คำถามก็คือว่า ต่อให้สุโขทัยเป็นแบบนั้น แต่เราสามารถนำการปกครองแบบสุโขทัยมาเป็น ‘ต้นแบบ’ ให้กับการปกครองในยุคนี้ได้หรือเปล่า
ผมไม่ได้กำลังบอกว่า รัฐบาลสมัยนี้อยากปกครองแบบสุโขทัยหรอกนะครับ ผมเพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า ในแง่ของอำนาจแล้ว‘เศรษฐกิจดิจิตอล’ ที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้ มีลักษณะสองอย่างเกิดควบคู่กันไปแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัย นั่นคือดูเหมือนมีความพยายามจะก้าวไป ‘ข้างหน้า’ โดยสถาปนาสองวิถีขึ้นมาพร้อมๆกัน ข้างหนึ่งพยายามตะโกนบอกโลกว่าเราจะเป็นเสรีนิยม เราจะเป็นตลาดเสรีที่เปิดกว้าง เราจะสนับสนุน ‘สตาร์ตอัพบิสสิเนส’ (ที่มีความหมายอย่างไร เข้าใจถูกหรือเปล่าเป็นอีกเรื่องหนึ่งน่ะนะครับ) เราจะเอานายทุนใหญ่ๆมา ‘ช่วยเหลือ’ ประเทศชาติ และอื่นๆอีกสารพัดที่ก็ว่ากันไป น่าเชื่อถือหรือไม่ มีความต้องการแบบนั้น ‘จริง’ หรือไม่-เป็นอีกเรื่อง
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่ามีความพยายามจะ ‘รวบอำนาจ’ ในการ ‘ตัดสินใจ’ ในแทบทุกเรื่อง (ไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่ๆเท่านั้นนะครับ) เข้าไปไว้ที่ศูนย์กลางอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเห็นได้ชัดที่สุดกับความพยายามไม่รู้จักแล้วที่จะสร้าง Single Gateway (หรือ Great Firewall แบบจีน) ขึ้นมาเพื่อ ‘ควบคุม’ และ ‘ดักจับ’ ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตในทุกรายละเอียด เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านั้นประกอบการตัดสินใจต่างๆ
ผมอยากบอกว่า ต่อให้เราเชื่อว่าในสมัยสุโขทัย-เราสามารถใช้วิธีปกครองที่สวนทางกัน (คือแบบเสรีนิยมกับแบบรวบอำนาจตัดสินใจ) ผนวกกันแล้วประสบความสำเร็จ, ก็ไม่ได้แปลว่าจะทำให้การใช้วิธีแบบเดียวกันในยุคใหม่ประสบความสำเร็จไปด้วยนะครับ
อย่างที่บอกว่า ยุคสุโขทัยนั้น รัฐมีขนาดเล็กและมีลักษณะเป็น ‘นครรัฐ’ การตัดสินใจอะไรจึงไม่ซับซ้อนเท่าปัจจุบัน และเอาเข้าจริง ที่บอกว่ามีความเสรี คนสามารถค้าขายอะไรก็ได้-ก็ยังน่าสงสัยอยู่นะครับ ว่าความ ‘เสรี’ ในยุคพ่อขุนรามคำแหง จะมีความหมายเหมือนกับ ‘เสรีภาพ’ ในความหมายของ ‘เสรีประชาธิปไตย’ ยุคนี้ที่มี ‘สิทธิมนุษยชน’ เป็นฐานคอยกำกับการใช้อำนาจอยู่ไหม
แต่เอาละ สมมุติว่าทั้งหมดนี้คือความปรารถนาดี ต้องการสร้างเศรษฐกิจดิจิตอลขึ้นมาจริงๆ แต่คำถามก็คือ แล้วผู้ปกครองบ้านเหมือนยุคใหม่นั้นมีความสามารถจะเป็น philosopher king (ในความหมายของเพลโต) ได้จริงไหม ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่เรื่องตัวบุคคลเท่านั้นนะครับ แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ที่ซับซ้อนมากๆ จนการเป็น ‘คนเก่งและดี’ ที่มีความหมายเดียวมิติเดียวเหมาะสมกับการปกครองนครรัฐเล็กๆนั้น-อาจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น การที่ผู้ปกครองยุคใหม่ต้องการมี ‘ข้อมูล’ มากที่สุดเพื่อเอาไว้ตรวจจับความผิดและอาชญากรรมต่างๆ รวมทั้งใช้ข้อมูลเหล่านั้นประกอบการตัดสินใจอื่นๆด้วย เลยเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามอันย้อนแย้งกลับไปนะครับ-ว่าก็ถ้าหากผู้ปกครองไม่อาจเป็น ‘ปราชญ์ผู้ปกครอง’ ที่ตัดสินใจถูกต้องในทุกเรื่องทุกมิติทุก area ของสังคมและวัฒนธรรมได้อีกต่อไป ก็แล้วการล้วงลึกดักจับข้อมูลไปเพื่อตัดสินใจนั้น, เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนเหล่านี้จะตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอ หรือว่าตัดสินใจได้โดยปราศจากการฉ้อฉลหรืออคติและมายาคติ
รัฐในปัจจุบันไม่ใช่นครรัฐเล็กๆที่พึ่งพิงการตัดสินใจของคนคนเดียวหรือไม่กี่คนได้อีกแล้ว แต่รัฐในปัจจุบันซับซ้อนและหลากหลายมาก จนต้องการ ‘ระบบ’ ที่มาตรวจสอบทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่อ้างตัวว่าเป็น ‘ผู้ปกครอง’ ด้วยซ้ำ
เป็นไปได้ไหมว่า การที่เรายังคิดถึงเศรษฐกิจดิจิตอลแบบสุโขทัย เป็นเพราะเรายัง ‘เชื่อ’ ใน ‘นัย’ ที่ว่า-คนที่อยู่ใต้การปกครอง (ซึ่งในโลกยุคใหม่คือ ‘ประชาชน’) คือคนที่มีความบกพร่องเว้าแหว่งในด้านคุณธรรมหรือด้านสติปัญญาบางอย่างอยู่เสมอ และดังนั้น เพื่อให้สามารถรับประกันการค้าขายได้อย่างเสรีผ่านเศรษฐกิจดิจิตอลที่ปลอดภัย ก็ต้องยอมสังเวย ‘เสรีภาพ’ และ ‘ข้อมูล’ ในด้านอื่น (รวมถึง ‘ความเป็นส่วนตัว’) ให้กับ ‘ความไม่สามารถที่จะรอบด้านในอีกต่อไปแล้ว’ ของของผู้ปกครองยุคใหม่-เพียงเพื่อให้ผู้ปกครองยุคใหม่นี้สามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆโดย ‘ข้อมูลลับ’ จนสร้างให้เกิด legitimate power เทียบเท่ากับการเป็น philosopher king ของเพลโตขึ้นมา