สัปดาห์นี้ขอใส่หมวกอีกใบนึงเพิ่มมา นอกจากจะถนัดเรื่องญี่ปุ่นๆ พอให้ทำมาหากินได้แล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมมีงานเขียนมานานพอตัวก็คือ เรื่องของดนตรีสากล ทำงานเขียนให้หนังสือพิมพ์มาก็หลายปีแล้วเหมือนกัน รอบนี้จึงของดึงสองเรื่องมาร่วมกัน เพราะสัปดาห์ก่อน ผมเพิ่งได้ไปดูคอนเสิร์ตของ Nogizaka46 วงไอดอลอันเป็นที่รักยิ่งดุจดวงใจ (อ้วก)
ที่ต้องกระเสือกกระสนไปถึงญี่ปุ่นในครั้งนี้ก็เพราะว่า นี่คือคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ของวง ปิดท้ายทัวร์ฤดูร้อน ด้วยการขึ้นแสดงที่ Tokyo Dome เป็นครั้งแรก หลังจากที่เดบิวในวงการเพลงมาได้เกือบ 6 ปี การได้มาจัดคอนเสิร์ตที่นี่ก็ถือว่าเป็นอีเวนต์ใหญ่สำหรับทั้งตัววงและแฟนเพลง เพราะเป็นการรับรองว่าพวกเธอกลายเป็นวงแถวหน้าที่มีศักยภาพพอที่จะจัดคอนเสิร์ตที่นี่ได้ ไม่ว่าแฟนหน้าไหนก็อยากจะฉลองกับวงที่นี่ล่ะครับ แถมยังเป็นการโชว์สองวันติด วันที่ 7 และ 8 พฤศจิกายน เรียกได้ว่า จุใจแฟนๆ จริงๆ
แต่ปัญหาคือ จองตั๋วได้ยากนี่สิครับ ผมเองก็กระเสือกกระสน ด้วยความที่ไม่มีเมมเบอร์พิเศษ (เพราะต้องใช้เมลญี่ปุ่น) เลยพยายามกดบัตรรอบทั่วไป ซึ่งก็ตายตั้งแต่ยังไม่เริ่ม เพราะแค่เปิดให้จองปุ๊บ เว็บก็ล่ม เปิดได้อีกทีตั๋วก็หมดแล้ว เล่นเอาแฟนๆ นอกเกาะน้ำตาไหลกันหมด จะซื้อต่อก็ไม่ได้ เพราะบัตรเขาระบุชื่อคนดู ตรวจ ID ป้องกันการขายต่อ เลยใช้ไม้สุดท้าย ติดต่อเข้าไปทางบริษัทโดยตรง เพื่อขอเข้าชมเพื่อรีวิว เขาก็จัดการให้ว่า วันที่ 8 เชิญสื่อเข้าชม ไปดูวันนั้นได้ ก็เฮล่ะครับ เลยเป็นที่มาของการได้เข้าชมคอนเสิร์ตในฐานะสื่อในญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และทำให้ได้เจอการทำงานแบบโปรฯ ลงดีเทลของชาวญี่ปุ่นที่อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังตรงนี้
ทำเลของโตเกียวโดมก็อยู่ใจกลางโตเกียว มีสถานีรถไฟใกล้ๆ 3 สถานี รถไฟผ่านทั้งหมด 5 สาย ทำให้สามารถกระจายความแออัดในการเดินทางได้
ที่มันต้องโปรฯ มากๆ เพราะว่า Tokyo Dome คือสนามกีฬาขนาดใหญ่ ปกติเป็นสนามเหย้าของทีมเบสบอล โยมิอุริ ไจแอนต์ จุดแฟนๆ ได้ถึง 46,000 คน และถ้าเป็นคอนเสิร์ตแบบงานนี้ ก็สามารถรองรับคนได้ถึง 55,000 คนเลยทีเดียว การจัดการคนจำนวนขนาดนี้ ในพื้นที่ขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายครับ แต่ก็ยังดีที่ญี่ปุ่นเขาเตรียมตัวพร้อม ทำเลของโตเกียวโดมก็อยู่ใจกลางโตเกียว มีสถานีรถไฟใกล้ๆ 3 สถานี รถไฟผ่านทั้งหมด 5 สาย ทำให้สามารถกระจายความแออัดในการเดินทางได้ (ตอนดูคอนเสิร์ตที่บุโดคัง มีสถานีเดียวคือ Kudanshita พอเลิกออกมาคนก็ออกัน จนผมเลือกเปิดแผนที่เดินไปอีกกิโลกว่าๆ เพื่อใช้อีกสถานีนึงแทน) ถ้าใครต้องการขับรถไปก็มีที่จอดรถสามจุด รองรับได้ 670 คัน มีความพร้อมเรื่องการเดินทาง แถมยังมีห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านอาหารต่างๆ และซูเปอร์เซนโต (โรงอาบน้ำสมัยใหม่ขนาดยักษ์) อยู่ด้วย สามารถทำกิจกรรมรอบๆ พื้นที่เหล่านั้นก่อนหรือหลังอีเวนต์ได้ครบ ชาวต่างชาติอย่างผมก็สบายใจ เดินทางง่าย ไม่ต้องโบกแท็กซี่ไป
ผมไปถึงเช้าวันงานพอดี หลังจากเอาของไปฝากโรงแรมก่อนเวลาเช็กอิน ก็นั่งรถไฟแว่บไปที่โดมก่อนทีนึง เพื่อดูที่ทางต่างๆ ว่าทางเข้าของ ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ อยู่ที่ไหน และกะจะไปซื้อของที่ระลึกในงานด้วย แต่ก็หวั่นๆ เพราะเห็นภาพแฟนต่อแถวแต่เช้าก็แล้วเพลีย ไปถึงก็เจอแถวยาวแบบเต็มลานหน้าโดม แต่เขาก็แบ่งเส้นทางยืน พื้นที่ได้ชัดเจนดี ที่สำคัญ มีเจ้าหน้าที่คุมแถวตลอด มีการประกาศบอกว่า ถ้าเข้าแถวตอนนี้ ใช้เวลารอประมาณเท่าไหร่ ตอนผมไปเขาบอกว่า รอแค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ก็บายจ้า แต่ที่ดีมากอีกอย่างคือ มีบอร์ดให้ดูก่อนว่ามีของอะไรขายบ้าง และอะไรหมดแล้วบ้าง จะได้ไม่ต้องไปต่อแถวแบบลมๆ แล้งๆ (ใครไปคอนเสิร์ต Guns N’ Roses คงซึ้งใจนะครับ) แถมเขาจัดล็อคขายของหลายช่อง เข้าไปบอกของที่ต้องการซื้อ จ่ายเงิน จบ แล้วก็เรียกคนใหม่เข้าไป ทำให้ไหลลื่นได้ดี แต่เพราะแฟนเยอะเลยช้านี่ล่ะครับ (ตอนดูที่บุโดคัง ผมรอประมาณ 20-30 นาทีเอง แถวไหลตลอด แต่ก็เพราะรวมคนดูประมาณหมื่นกลางๆ เท่านั้น) หลังจากดูที่ทางแล้วก็กลับไปเช็กอินโรงแรมแล้วค่อยกลับมารอดูคอนเสิร์ตอีกที
ตามตาราง คอนเสิร์ตเริ่มแสดงเวลา 18.00 น. แต่เปิดให้คนเข้าตั้งแต่เวลา 15.00 น. จะได้กระจายคนเข้าไปกัน
ผมก็ไปประมาณเวลา 16.00 น. เพราะเขานัดผู้เกี่ยวข้องเวลา 17.15 น. เผื่อเวลาไปดูบรรยากาศก่อนสักหน่อย ซึ่งก็เห็นแฟนมากันแบบหนาแน่น แต่ละคนของเชียร์พร้อม ทั้งผ้าพันคอ แท่งไฟ บางคนก็ติดเข็มกลัดสมาชิกที่ชอบเต็มตัว คนแน่นไปหมด แต่เพราะร้านค้าเยอะพอเลยกระจายๆ กันไปได้ แถมโซนนั้นมีร้านขายอุปกรณ์ทำพัดสำหรับเชียร์ เอาไว้โบกให้สมาชิกวงเห็นด้วย ก็เข้าใจคิดดี
พอได้เวลา ผมก็ไปที่จุดนัด เอาจริงๆ คำว่า ‘ผู้เกี่ยวข้อง’ นี่แบ่งได้หลายกลุ่มนะครับ นอกจากสื่อที่เข้าไปรีวิวแบบผมแล้ว ยังมีสื่อที่เข้าไปสัมภาษณ์ ทางทีมงานและแขกของค่ายเพลง ญาติศิลปิน และคนที่ศิลปินเชิญมา ก็แบ่งช่องเดินเข้าไปช่องใครมัน จะได้แยกได้ง่าย ส่วนผมก็บอกว่ามาจากไทยจะเข้ามาทำข่าว เขาก็งงๆ นึกว่าผมจะเข้าสัมภาษณ์ด้วย จนเอาเมลที่คุยกับทีมงานให้อ่านเขาค่อยถึงบางอ้อ (นึกว่าจะไม่ได้ดูแล้ว) แล้วก็เอาบัตรพร้อมสติกเกอร์ Guest Pass มาให้ติดเสื้อ พร้อมทั้งเซตเอกสารสำหรับสื่อ ก่อนจะเชิญไปฟังผู้บริหารค่ายให้สัมภาษณ์ เพราะวันแรกของโชว์เกิดอุบัติเหตุ กล้องที่แขวนอยู่กับสายสลิงแล้วเคลื่อนไปมาเพื่อเก็บบรรยากาศ ตกลงมาใส่แฟนที่นั่งดู เขาก็เลยมาแถลงว่า แฟนเพลงไม่เจ็บมาก ก็ได้ดูแลเรื่องการพยาบาลแล้ว และวันนี้ก็เชิญมาที่คอนเสิร์ต พร้อมทั้งตอบคำถามสื่อ เพิ่งเคยเจอเหมือนกันครับบรรยากาศแบบนี้ เสร็จแล้วเขาก็ให้สื่อเข้าไปข้างใน
ตรงนี้ทำให้ผมตกใจเอามากๆ เพราะความที่มันเป็นสนามเบสบอล ที่นั่งสื่อเลยพร้อมสำหรับสื่อที่มาทำข่าวเบสบอลเสมอ แบ่งล็อคที่นั่งโต๊ะยาวหลายแถว แยกเป็นสัดเป็นส่วน มีจอเล็กให้ดูของใครของมันไปเลย (แต่ในคอนเสิร์ตไม่ได้ใช้) ที่โต๊ะก็มีปลั๊กไฟเตรียมพร้อมให้ทำงานได้เต็มที่ สื่อญี่ปุ่นก็งัดโน้ตบุ๊กออกมาพิมพ์ข่าวกันตรงนั้นเลย ต่างกับไทยที่ส่วนมากได้นั่งกับคนดูทั่วไป ผมเองก็เอาสมุดจดมานั่งทำงานสบาย ติดปัญหาหน่อยที่ที่นั่งสื่อเขาระบุในบัตรว่า ห้ามโบกมือให้กล้องเด็ดขาด เอิ่ม แท่งไฟและผ้าเชียร์ที่เตรียมไปเลยไม่ได้ใช้งานเลย เห็นมีสื่อญี่ปุ่นแอบโบกแท่งไฟ แต่ต่อมาก็เลิก คงโดนห้ามล่ะครับ
แต่สิ่งที่ทำให้สื่ออย่างผมประทับใจสุดคือ เอกสารที่แจกมาให้ครับ เพราะมีข้อมูลครบจริงๆ ตั้งแต่ set list เพลงที่จะเล่น ตามปกติแล้วเรามักจะได้แค่รายชื่อเพลง นี่มีรายละเอียดครับ ตั้งแต่ชื่อเพลงตามลำดับ จะคั่นคุยกับคนดูตอนไหน อังกอร์กี่รอบ แล้วยังมีรายละเอียดว่า เพลงนี้สมาชิกของวงจะแสดงที่เวทีไหน เวทีหลัก แคทวอล์ก เวทีกลาง หรือเวทีหน้า แล้วยังมีบอกอีกว่า แต่ละเพลง จะมีกิมมิก เทคนิคอะไรบ้าง เช่น พลุไฟ สมาชิกเดี่ยวเปียโน สมาชิกมาขึ้นรถขบวนเหมือนพาเรดไปรอบๆ ทำให้คนเขียนงานสามารถเขียนงานได้ง่ายขึ้นมากๆ
นอกจากนี้ก็มีข้อมูลสรุปว่า ทัวร์นี้เล่นที่ไหน คนดูแต่ละที่กี่คน สองวันที่โดมคนดูกี่คน ซิงเกิ้ลที่โปรโมตตอนนี้ปั๊มออกมากี่แผ่นแล้ว และที่สำคัญคือชี้แจงชัดว่า สื่อแต่ละประเภทจะได้ภาพไปใช้ตอนไหน สื่อทีวี จะมีแมสเซนเจอร์ไปส่งเทป DV ให้ช่วงเวลาเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งของแต่ละสถานี สื่อหนังสือพิมพ์จะส่งภาพการแสดงให้เมื่อจบ 6 เพลงแรกเพราะต้องรีบเอาไปเข้าพิมพ์ ส่วนสื่อออนไลน์เขาจะส่งรูปให้ตอนเที่ยงคืน ซึ่งหลังจากนั้นก็เอาลงเว็บได้ทันที (และพอถึงเที่ยงคืน รูปก็เข้าเมลผมมาทันทีตรงเวลาเป๊ะๆ ครับ) เตรียมทุกอย่างให้ขนาดนี้ เล่นเอาทำงานได้ง่ายดาย แค่บันทึกว่ารู้สึกอย่างไร หรือเห็นอะไรในแต่ละเพลงก็พอ
อ้อ ที่สำคัญ คอนเสิร์ตเล่นตรงตามเวลาเป๊ะๆ ครับ
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ก่อนคอนเสิร์ตเริ่มมีการขึ้นจอใหญ่ว่า เตรียมเซอร์ไพรส์สมาชิกวงด้วยนะ ทีแรกผมก็งงว่าคืออะไร แต่น่าจะมีแค่บางส่วนที่ทราบ พอถึงช่วงอังกอร์ สมาชิกหันหลังให้จอหมด ที่จอก็ให้สัญญาณเซอร์ไพรส์ กลายเป็นว่าคนดูบางส่วน เปิดแท่งไฟเป็นสีขาว จนเป็นคำว่า Nogizaka46 Arigatou (ขอบคุณ) คงมีการชี้แจงตามตำแหน่งที่นั่งครับ เล่นเอาสมาชิกวงตกใจและประทับใจจนน้ำตาซึมเลย เพิ่งเคยเจอแบบนี้เหมือนกัน
ตัดภาพมาหลังคอนเสิร์ตจบ ตอน 21.00 ถ้าคน 55,000 คน จะแห่ออกจากคอนเสิร์ตพร้อมกัน ก็คงไม่ไหว เขาประกาศชัดเลยว่า ตอนนี้ขอให้โซนนี้ โซนนั้น ออกไปก่อน โซนอื่นให้รอ และผู้ชมก็ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ค่อยๆ ทยอยออกกัน ไม่มีความโกลาหล จะติดหน่อยที่พอออกมาด้านนอกแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ออกันอยู่ข้างนอกต่อ เพราะอยากถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เจ้าหน้าที่เขาก็ประกาศขอความร่วมมือ ค่อยๆ ทยอยเดินไปกันด้วย ก็จัดว่าจัดการกับปัญหาได้ดีเลย คนเยอะมหาศาลแต่ก็ยังไหลไปได้ ต่างคนต่างก็ไปสถานีที่ตัวเองต้องขึ้น ผมเองเห็นคนเยอะ ไม่อยากเบียด ก็เลยแวะหากินอะไรรองท้องแถวนั้นก่อน สักครึ่งชั่วโมง ออกมาก็พบว่า แถวนั้นโล่งหมดแล้ว สถานีก็ไม่ค่อยมีคน เล่นเอาทึ่งครับ เพราะถ้าจัดที่ไทยนี่ บางทีครึ่งชั่วโมงผมยังติดอยู่ในลานจอดรถอิมแพคอยู่เลย
ผมเองก็เข้าใจหัวใจของคำว่า Omotenashi (การต้อนรับขับสู้อย่างดี) อันเป็นธีมที่ญี่ปุ่นเอาไปเสนอตอนขอยื่นจัดโอลิมปิก และก็ได้เห็นสิ่งนี้เสมอเวลาใช้บริการของญี่ปุ่น นี่ขนาดคอนเสิร์ตที่คนดูเยอะขนาดนี้ เขายังจัดการได้แบบไร้ที่ติ แถมดูแลสื่ออย่างดีด้วยข้อมูลพร้อมทำงาน เห็นแล้วก็ได้แต่ทึ่งกับการทำงานแบบมือโปรฯ ของพวกเขาจริงๆ นะครับ แต่ส่วนหนึ่งก็ต้องให้เครดิตผู้ชมที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีด้วย ถ้าวันหลังได้มีโอกาสแบบนี้อีกแล้วเจออะไรใหม่ๆ ก็คงได้เอามาเล่าสู่กันฟังอีกครับ