กิตติศัพท์ความก๋ากั่นแสบสันลั้นลา (หรือให้พูดตรงๆ คือความแรดวี้ดว้าย) ของ 5 เกย์ Fab Five แห่งรายการ Queer Eye น่าจะเป็นที่เลื่องลือสมควร แม้กระทั่งสำหรับคนที่ไม่เคยดูรายการนี้เลยก็ตาม
หากสรุปโดยสั้น นี่คือรายการที่ผู้ดำเนินรายการทั้งห้าจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนประเภทที่ใช้ชีวิตอย่างซ้ำซากหรือซึมเซาไปวันๆ แต่ความเก๋คือพวกเขาไม่ได้ช่วยแค่เปลี่ยน ‘ลุค’ ประเภทเสื้อผ้าหน้าผม เพราะพิธีกรแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญต่างกันไป ทั้งเสื้อผ้า ทรงผม การทำอาหาร การออกแบบบ้าน ไปจนถึงคนที่ดูคล้ายๆ ไลฟ์โค้ช (แต่เขาบอกว่าตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมน่ะนะ)
Queer Eye ออกอากาศมาแล้ว 4 ซีซั่น และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีตอนพิเศษที่ชื่อว่า Queer Eye: We’re in Japan! ความน่าสนใจคือการไปถ่ายทำที่ประเทศญี่ปุ่น (ปกติจะถ่ายในสหรัฐอเมริกา) ซึ่งภารกิจของเหล่า Fab Five คราวนี้คือการเข้าไปช่วยเหลือคน 4 คน ได้แก่ หญิงกลางคนที่มัวดูแลคนอื่นจนลืมดูแลตัวเอง, เกย์หนุ่มที่รู้สึกว่าตัวเองไม่เข้ากับสังคมญี่ปุ่น, นักวาดการ์ตูนสาวที่เอาแต่ซ่อนรูปลักษณ์ของตัวเอง ไปจนถึงชายผู้ไม่มีเซ็กซ์กับเมียมาเป็นชาติแล้ว
การที่เหล่า Fab Five ไปเดินกรีดกรายในญี่ปุ่นสร้างความพิเศษขึ้นมาหลายประการ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการแสดงออกที่พวกเขาจะช่างโวยวายและเปิดเผย ตรงข้ามสุดฤทธิ์กับคนญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องการไม่แสดงอารมณ์และเก็บงำความรู้สึกของตัวเอง หรือที่อยู่อาศัยของชาวญี่ปุ่นนั้นมีพื้นที่คับแคบ จนทำให้พิธีกรเดินชนเพดานชนผนังอยู่หลายครั้ง และยังเป็นความท้าทายของพิธีกรที่รับผิดชอบด้านการออกแบบในการเนรมิตรห้องหรือบ้านของแขกรับเชิญอย่างอลังการ
ความพิเศษของ Queer Eye: We’re in Japan! ยังอยู่ที่แนวคิดหลักของเหล่า Fab Five ที่พยายามสนับสนุนให้แขกรับเชิญกล้าแต่งตัวในโทนสีสันสดใส โดดเด่น หรือเปิดเผยเรือนร่างบ้าง หากแต่แนวคิดของสังคมญี่ปุ่นคือการทำให้ทุกคนเหมือนๆ กันไปหมดหรือพยายามทำตัวให้กลืนไปกับคนส่วนใหญ่ ตัวอย่างคลาสสิกคือขบวนรถไฟที่เต็มไปด้วยมนุษย์เงินเดือนใส่สูทดำและใช้กระเป๋าแบบเดียวกันเด๊ะ
ในประเด็นความเหมือนอย่างดาษดื่น แขกรับเชิญคนหนึ่งถึงขั้นพูดว่า “ในสังคมญี่ปุ่น มันจะง่ายกว่าถ้าคุณฆ่าตัวตนของคุณทิ้งซะ” ดังนั้นการที่รายการเลือก กิโกะ มิซุฮาระ (Kiko Mizuhara) มาเป็นพิธีกรพิเศษจึงมีนัยสำคัญ เธอคือคนดังที่มีภาพจำด้วยลุคแรงๆ และไม่ค่อยทำตามขนบของญี่ปุ่นนัก บางคนไม่มองว่าเป็นคนญี่ปุ่นด้วยซ้ำ (เธอเป็นลูกครึ่งอเมริกัน-ญี่ปุ่น) กิโกะจึงไม่ใช่เพียงตัวสร้างสีสัน แต่ยังคอยอธิบายบริบทของญี่ปุ่นให้เหล่า Fab Five ด้วย
โดยหลักแล้วธีมสำคัญของ Queer Eye: We’re in Japan! ก็เหมือนกับซีซั่นที่ผ่านมา นั่นคือเรื่องของ Self-love หรือการรักตัวเอง เราจะเห็นว่าพิธีกรทั้งห้าคอยให้กำลังใจแขกรับเชิญอยู่เสมอ และสามารถเปลี่ยนความคิดลบเป็บวกได้ฉับพลัน (ประโยคที่น่าประทับใจมากคือ “ชีวิตของคุณคือของขวัญสำหรับตัวคุณเอง”) แม้ภายนอกจะวุ่นวายสไตล์หอแต๋วแตก แต่ทั้งห้าคนเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้พูดที่เก่งกาจ และเข้าใจคอนเซปต์เรื่อง empathy เป็นอย่างดี
แม้ผู้เขียนจะซาบซึ้งกับ Queer Eye: We’re in Japan! จนถึงขั้นเสียน้ำตาให้ทุกตอน ถึงกระนั้นก็มีคำถามสองข้อใหญ่ผุดขึ้นในใจ ข้อแรกคือ Self-love ในแบบของชาว Fab Five นั้นมีต้นทุนที่สูงเสียเหลือเกิน ไม่ว่าจะการซื้อเสื้อผ้าใหม่ทำผมใหม่ ก็ล้วนต้องใช้เงินทั้งนั้น แต่หนักว่าคือการเปลี่ยนบ้านของแขกรับเชิญใหม่ชนิดจำแทบไม่ได้ (แถมระหว่างทำบ้าน ทางรายการน่าจะต้องออกค่าโรงแรมให้แขกรับเชิญด้วย) พอมองในแง่นี้วิธีการจัดบ้านของ มาริเอะ คนโด (Marie Kondo) ที่ให้ทิ้งของไม่จำเป็นอาจดูทำได้จริงมากกว่าเสียอีก แต่เหนื่อยกว่าหลายเท่าตัว
คำถามที่สองคือ เหล่าแขกรับเชิญจะเกิดอาการ Post-Fab Five Blues หรือไม่ อันหมายถึงว่าเหล่าห้านางเข้าไปเปลี่ยนชีวิตผู้คนชนิดหลังเท้าเป็นหน้ามือ แล้วหลังจากถ่ายรายการจบบรรดาแขกรับเชิญจะสามารถ ‘จัดการ’ กับชีวิตหลังจากนั้นได้หรือไม่ เช่นบ้านที่ถูกแปลงโฉมจนเริ่ดหรู แต่อาจไม่คุ้นเคย นอนไม่หลับ หาของไม่เจอ (แขกคนหนึ่งถึงกับพูดว่าห้องตัวเองดูเหมือนโรงแรมมากกว่าบ้าน)
หรือในรายที่ Fab Five เข้าไปช่วยเยียวยาความสัมพันธ์ หลังจากพิธีกรกลับประเทศไปแล้ว พวกเขาจะยังสามารถรักษาความหวานชื่นเช่นนั้นได้หรือเปล่า ชีวิตที่เคยจืดชืดมาหลายปี อยู่ดีๆ ก็ได้ไปเดทกันสดใสซาบซ่าที่มิวเซียมของ teamLab (ที่ทีมงานน่าจะช่วยกันคนจนเดินได้กันเป็นคู่เก๋ๆ ทั้งที่ปกติคนเป็นล้าน) ความพิเศษเช่นนี้ทำให้ชีวิตคู่ของพวกเขาเสียสมดุลหรือไม่