ขณะที่การเมืองภายในประเทศ เต็มไปด้วยทหารที่ไม่มีความสามารถ ไม่รู้สี่รู้แปดอะไรมายึดอำนาจ แถมพรรคการเมืองเก่าๆ ก็ตีกินกระแส LGBTQ ตามเทศกาลต่างๆ สมาชิกพรรคพอจะรู้จักใครสนิทกับใครที่เป็น Celeb LGBT ก็รีบใช้เป็นสะพานไปสู่กลุ่มเคลื่อนไหวภาคประชาชน บ้างก็หาเสียงพ่นสวยพ่นหล่อเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ
เหมือนกับที่บางพรรคกล้าใช้วัน IDAHOT 17 พฤษภาที่ผ่านมา พูดถึงความเท่าเทียมของมนุษย์แบบไม่อายว่า 8 ปีก่อนได้สั่งสังหารประชาชนตายเป็นผักปลา ช่วงเดียวกับวัน IDAHOT
แต่นั่นก็ทำเอานักเคลื่อนไหว LGBTQ บางกลุ่มบางองค์กรปลื้มอกปลื้มใจกันใหญ่ เหมือนตอนมัธยม โดนเด็กผู้ชายหลอกให้ทำการบ้านงานฝีมือส่งอาจารย์ให้ พอแกล้งชม พูดจาดี เล็กๆ น้อยๆ หน่อย นี่ก็เคลิ้มทำงานให้ถวายหัว ไม่เฉลียวใจ
LGBT บางคนว่านอนสอนง่ายถึงขั้นพร้อมถวายตัว คอยคาบข่าวกิจกรรมไปเพ็ดทูลว่าวันใดเป็นวันสำคัญของ LGBTQ พรรคจะได้แห่ไปร่วมงานกันให้หมด ขนธงรุ้งตากล้องนักข่าวไปกันเอง เพราะลำพังพรรคเองไม่รู้หรอกว่ามีวันนี้อยู่ในปฏิทินโลก หรือมันจะสลักสำคัญยังไง เหมือนกับที่ LGBT บางคนไม่รู้ว่าเคยมีการสลายการชุมนุมอย่างโหดร้ายโดยพรรคการเมืองที่พวกเธอกำลังหลงใหลได้ปลื้ม หรือไม่สนว่ามันสลักสำคัญยังไง เพราะไม่คิดว่า การตายของคนที่ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพจนถูกสังหารกลางเมือง จะไปเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องเพื่อควาเท่าเทียมทางเพศ
…แค่โชคไม่ดี มีบางคนตาย ก็เท่านั้น
กลายเป็นเป็นบทพิสูจน์โลกทัศน์นักเคลื่อนไหว LGBTQ ภายในประเทศเหมือนกันว่า การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมของมนุษย์ในเรื่องเพศสภาพเพศวิถีแค่นั้น สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กับประเด็นอื่นๆ ได้หรือไม่ หรือเพียงแต่โฟกัสเฉพาะเรื่องที่ตนเองอยากได้เท่านั้น ไม่เห็นว่ามันจะสัมพันธ์กับเรื่องอื่นๆ หรือไม่เห็นค่าความเป็นคนในมิติอื่นๆ หรอก เห็นเฉพาะประเด็นเพศเท่านั้น
สนใจการเมืองระหว่างประเทศดีกว่า…
เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกพยายามประกาศว่าตนเอง ‘ทันสมัย’ และ ‘ก้าวหน้า’ ด้วยการแสดงความยอมรับความหลากหลายทางเพศ ผ่านกฎหมาย วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็รวมไปถึงนโยบายกับต่างประเทศด้วย เช่น สาธารณสุข และตลาดแรงงาน ซึ่งเท่ากับว่าในเวลาเดียวกันโลกาภิวัตน์ได้สนับสนุนให้กับทฤษฎีและขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศมีกำลังมากพอในการแทรกแซงอำนาจรัฐ ทั้งขบวนการเคลื่อนไหวภายในประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ได้กลายเป็นพื้นที่ของกลุ่มเคลื่อนไหวด้าน LGBT เรียกร้องต่อรองกับภาครัฐ และเพิ่มความคุ้มกันให้กับพลเมืองภายในประเทศ เควียร์จึงเป็นอีกผู้เล่นที่ไม่ใช่รัฐในพื้นที่ทางการเมืองระหว่างประเทศ นอกเหนือจากจะไปสัมพันธ์กับความมั่นคงใหม่ (Non-Traditional Security) เช่นการค้ามนุษย์ โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ ชนวนก่อการร้าย
ขณะเดียวกันความรู้เกี่ยวกับ LGBT และ Queer Studies ก็พยายามอย่างยิ่งที่จะเข้าไปมีตัวตนในปริมณฑลความรู้แขนงต่างๆ นำไปสู่การสร้างทฤษฎีนึงคือ Queer IR ที่เป็นพัฒนาการและบูรณาการระหว่างองค์ความรู้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (international relations – IR) กับทฤษฎีเควียร์ (Queer theory) แม้ว่า IR ดูเหมือนจะเป็นเรื่องผู้ชายแมนๆ เจรจากัน ผู้นำระหว่างรัฐสนทนากันอย่างเป็นทางการก็ตาม ฟังดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันไม่ใช่แค่ประเด็น แต่รวมไปถึงทฤษฎีและวิธีวิทยา
ด้วยตัวมันเอง Queer Studies ก็เป็นการอธิบายความลื่นไหลทางเพศ ตั้งคำถามรื้อสร้างกับบรรทัดฐานทางสังคม การจัดประเภทแบบขั้วตรงข้าม สถานภาพสังคม ผ่านการวิเคราะห์เพศ ชนชั้น ชาติพันธุ์ และการจัดระเบียบโลกสากลเช่น เสรีประชาธิปไตยกับเผด็จการก่อนสมัยใหม่
ทฤษฎีเควียร์มาจากการศึกษา LGBT ที่โฟกัสเพศสภาพเพศวิถี ก้าวข้ามการจัดประเภทหรือเส้นแบ่งแบบขั้วตรงข้าม (binary) กระทั่งอย่างน้อยที่สุดในช่วง 90’s เป็นต้นมา เควียร์เริ่มขยายพรมแดนความรู้มายังปรากฏการณ์ข้ามชาติและโลก ใช้ดุลยพินิจต่อสงคราม โลกาภิวัตน์ ภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitics) รัฐสวัสดิการ ชาตินิยม อาณานิคม ความมั่นคง การท่องเที่ยว แรงงานข้ามชาติ การเหยียดสีผิว อำนาจอธิปไตยหรือรัฏฐาธิปัตย์ องค์กรระหว่างประเทศ นำไปสู่การวิเคราะห์ประเด็นเพศสภาพและเพศวิถีที่ non-normative และ normative ไปท้าทายหรือประคับประคองการสร้างอำนาจในระดับระหว่างประเทศ[1] นำไปสู่ชุดอธิบาย และทฤษฎีจากการตั้งคำถามหลักๆ ที่ว่า
1. รัฐประชาชาติสมัยใหม่สัมพันธ์กับบรรทัดฐานทางเพศสภาพเพศวิถีและโครงสร้างสังคมแบบชายรักต่างเพศเป็นใหญ่อย่างไร?
2. อุดมคติทางสังคมเกี่ยวกับเพศสภาพเพศวิถีไปกำหนดรูปร่างนโยบายระหว่างประเทศและการร่วมมือทางการทหารอย่างไร?
3. ข้อเรียกร้องและกระบวนการเคลื่อนไหวของ LGBT มีความสำคัญและเข้าไปอยู่ในพรมแดนของภูมิรัฐศาสตร์อย่างไร?
4. การดิ้นรนต่อสู้ในภาวะสงครามและความมั่นคงเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและบรรทัดฐานสังคมทางเพศอย่างไร?
5. การสร้างบรรทัดฐานแบบรักต่างเพศ (Heteronormativity) การสร้างบรรทัดฐานที่สร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมรักเพศเดียวกัน (Homonormativity) และการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่มองว่าคนเราควรมีเพศตามกำเนิด (cisnormative) ไปสร้างความรู้อย่างไรให้กับเศรษฐศาสตร์การเมือง?
6. จุดตัดของบรรทัดฐานของเพศสภาพเพศวิถีกับการทหาร สงครามและลัทธิทหารนิยม (militarism)อยู่ที่ใดแล้ว สามารถไปสร้างนโยบายทางการทหาร สงคราม และทหารที่ ‘ปกติ’ เป็นอย่างไร?
7. จุดตัดของเพศสภาพเพศวิถีนอกบรรทัดฐาน (nonheteronormative) กับความรู้ด้านชาติพันธุ์สีผิวการล่าอาณานิคมเป็นอย่างไรอยู่ที่ใด แล้วนำไปสู่ชุดอธิบายผู้ก่อการร้ายและผู้ก่อจลาจลอย่างไร?
Queer IR จึงกลายเป็นกระบวนการศึกษาด้วยภาววิทยา (ontology) และญาณวิทยา (epistemology) ทั้งอัตวิสัยและโครงสร้างของ LGBT ศึกษาการดำรงอยู่ของ ‘ความเป็นเพศ’ เพศสภาพ เพศวิถีใน IR และตรวจสอบความรู้นั้น เพราะความรู้ด้าน IR ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผลผลิตของความรู้ที่อยู่บนสำนึกขั้วตรงข้าม (Binary) อย่างที่ Eve Kosofsky Sedgwick นักวิชาการด้านเควียร์คนนึงตั้งข้อสังเกตว่าวัฒนธรรมตะวันตกในศควรรษที่ 20 ตั้งอยู่บนความรู้แบบขั้วตรงข้ามในการหาความหมายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ผลิตชุดความรู้แบบขั้วตรงข้ามมากมายในการตอบและอธิบายปรากฏการณ์โลก เช่น รักเพศเดียวกัน-รักต่างเพศ และมีบางชุดขั้วตรงข้ามก็เป็นสาระสำคัญให้กับ IR เช่น ปริมณฑลสาธารณะ-ส่วนบุคคล, ภายในประเทศ-ต่างประเทศ, ระเบียบวินัย-ก่อการร้าย, ความลับ-เปิดเผย, ธรรมชาติ-สิ่งประดิษฐ์, สงคราม-สันติภาพ,ความตระหนักรู้-ความไม่สนสี่สนแปด[2]และ Queer IR ก็พยายามนำเพศสภาพเพศวิถีนอกสำนึกขั้วตรงข้ามมาสืบค้นกับความสัมพันธ์ของบรรดาขั้วตรงข้ามเหล่านี้
Queer IR จึงไม่ได้จำกัดความว่าเป็นการเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศเท่านั้น หากแต่เป็นเครื่องมือกลไกในการตั้งคำถามสร้างข้อถกเถียงกับการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เช่นการสร้างชาตินิยมในทางที่ผิดๆ กับการต่อต้านก่อการร้าย
เช่นงานศึกษาสำนึกความเป็นชายแบบรักต่างเพศและบูรพาคดีศึกษา (Orientalism) ของ U.S. and British Counterinsurgency (COIN) ที่เข้ามากำหนดการดำเนินนโยบายและการต่อต้านก่อการร้าย ต่อชายชาวอาหรับ อัฟกานิสถาน และมุสลิม[3]ไปจนถึงประเด็นศึกษาคนข้ามเพศในการข้ามพรมแดน ในฐานะการหลอกลวงและเบี่ยงเบน เพราะข้อมูลทางชีวภาพไม่ตรงกับอัตลักษณ์ ภายใต้การตรวจสอบของการรักษาความปลอดภัยในท่าอากาศยาน[4]
อีกงานศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจของ Queer IR คือ ลัทธิทหารมีพื้นฐานมาจากบรรทัดฐานทางเพศของ ‘ความเป็นชาย’ และรักต่างเพศนิยม ที่แบ่งออกเป็นขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน ผู้ชาย-ผู้หญิง รักต่างเพศ-รักเพศเดียวกัน ภายในโลกของทหาร ผู้ที่ไม่แมนจะถูกผลักให้ไปทำหน้าที่บริการ ขัดส้วม ขัดบู๊ต รองรับอารมณ์ทางเพศและการกลั่นแกล้ง[5]แต่อย่างไรก็ตามงานศึกษา Queer IR อีกเช่นกันก็เสนอว่า ทหารอีกเช่นกัน (เช่นในสหรัฐอเมริกา) ก็เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่ไม่ค่อยจะเหลือแล้วที่ให้ผู้ชายได้มีโอกาสใกล้ชิดกับอารมณ์ความใคร่ระหว่างเพศเดียวกันได้ และได้กลายมาเป็นพื้นฐานให้กับลัทธิทหารนิยม[6]
อย่างไรก็ตาม Queer IR ไม่ได้รับความสนใจมากนัก และก็เกิดขึ้นช้ากว่าทฤษฎีอื่นๆ เพราะการเมืองเรื่องเพศสภาพเพศวิถีในบางพื้นที่ทางความรู้ยังถูกมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล และในพรมแดนวิชาการ LGBTQ ศึกษา ก็เป็นการศึกษาแบบ Post-modernism และ Post-structuralism เป็นเรื่องยากที่จะได้รับการยอมรับในรัฐศาสตร์กระแสหลัก วิวัฒนาการของ Queer studies จึงไปเปรี้ยวบนพื้นที่วรรณกรรม ปรัชญา สังคมวิทยา ก่อนทฤษฎี IR อย่างไรก็ดี IR เองก็มีทฤษฎีเฟมินิสต์เข้ามาจับก่อนหน้านี้แล้ว ที่อธิบายตำแหน่งแห่งที่และอำนาจซ้อนทับในฐานะรูปแบบทางกายภาพของสัญลักษณ์ที่เป็นอัตวิสัย[7]
ไงล่ะ งงเด้ Queer IR…
ใช่อยากให้งง เพราะประเด็นเพศสภาพ เพศวิถี และเควียร์เป็นเรื่องใหญ่โต สำคัญ ซับซ้อนกว่านั้น ไม่ใช่แค่เครื่องมือตักตวงประชานิยม เสียงหาเศษหาเลย หรือเป็นบ่อชุบตัวของพรรคการเมืองบางพรรคที่ไม่ได้เห็นค่าความเป็นคนแต่ไหนแต่ไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Melanie Richter-Montpetit, and Cynthia Weber. Queer International Relations.
[2] Sedgwick, Eve Kosofsky. Epistemology of the closet. Berkeley: University of California Press,1990, p. 11.
[3] Manchanda, N. Queering the Pashtun: Afghan sexuality in the homo-nationalist imaginary. Third World Quarterly, 36(1), 2015, pp. 130–146.
[4] Wilcox, L. B. Bodies of violence: Theorizing embodied subjects in international relations. Oxford: Oxford University Press, 2015.
[5] Belkin, Aaron. Bring me men: Military masculinity and the benign façade of American empire, 1898–2001. New York : Columbia University Press, 2012.
[6] Cohn, Carol. Gays in the military: texts and subtexts. In The “Man” Question in International Relations (pp. 129–149). Oxford: Oxford University Press, 1998.
[7] Thiel, Markus. LGBT Politics, Queer Theory, and International Relations, 2014.