คุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมทศกัณฐ์ถึงมีสิบหน้า
นอกจากเรื่องนี้จะมี ‘ที่มา’ ที่สลับซับซ้อนและแสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในหมู่เทพสวรรค์ชั้นฟ้าแล้ว ยังน่าสนใจตรงที่มันแสดงให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมไท้ยไทยแบบเราๆ ด้วยเหมือนกัน
ที่จริงแล้ว กำเนิดแต่ชาติปางก่อนของทศกัณฐ์นั้น ต้องบอกว่าน่าเห็นอกเห็นใจอย่างยิ่งนะครับ เพราะก่อนจะมาเกิดเป็นยักษ์ที่มีอำนาจมากมายมหาศาลนั้น ทศกัณฐ์เคยเกิดเป็น ‘นนทก’ ที่มีหน้าที่เหมือน ‘คนใช้’ คอยล้างเท้าให้เหล่าเทพเทวดาทั้งหลายตรงเชิงเขาไกรลาสมาก่อน
แต่ทีนี้พวกเทพเทวดาทั้งหลาย แม้ได้ชื่อว่าเป็นเทพ ก็หาได้ทำตัวให้สมกับเป็นเทพเทวดาไม่ เพราะเวลานนทกล้างเท้าให้ เทวดาพวกนี้ก็จะทำสิ่งเราอาจเรียกได้ว่า Bullying คือ ‘รังแก’ นนทก เช่น ลูบหัว ตบหัว หรือดึงผมของนนทกออกมา จนในที่สุดหัวของนนทกแทบไม่เหลือผมอยู่เลย
ไอ้การ Bullying ที่ว่านี้ ถ้ามองในบริบทตะวันตกยุคใหม่ ก็คงต้องบอกว่าเป็นเรื่องบ้าบอคอแตกมาก เทวดาพวกนี้ (มึง) เป็นใคร ถึงจะมาตบหัวดึงผมคนอื่นเล่นได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปดูโครงสร้างสังคมยุคโบราณ เราจะพบว่านนทกนั้นตกที่นั่งลำบาก คือมี ‘ตำแหน่ง’ (position) ในโครงสร้างสังคมแบบที่ต้อง ‘จำยอม’ ต่อการกระทำของพวกเทพทั้งหลาย คือไม่สามารถจะลุกขึ้นมาเอาเท้ายันโครมเทวดาพวกนั้นเข้าให้ และยิ่งไม่สามารถตบหัวเทพพวกนั้นกลับได้ด้วย
ซึ่งต้องบอกว่า เรื่องแบบนี้พอพูดกับเราๆ ในสังคมไทย-ผมว่าเราเข้าใจกันดีถึงภาวะ ‘จำยอม’ พวกนี้ แต่ถ้าไปพูดกับพวกฝรั่งอั้งม้อ เชื่อเถิดว่าหลายคนไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจได้เลยจริงๆนะครับ คือไม่เข้าใจเลยว่าว่าทำไม้ทำไม คนไทยๆ อย่างเราๆ ถึง ‘ยอม’ ผู้มีอำนาจกระทำกันได้โดยไม่ปริปากตอบโต้
พวกฝรั่งพวกนี้น่าจะคุ้นเคยกับประชาธิปไตยและการใช้อำนาจของปวงชนมากเกินไปน่ะครับ เลยไม่รู้ว่าคนอย่างนนทกนั้น ยังมีวิธีต่อสู้อีกแบบหนึ่ง
เป็นวิธีที่สุดแสนจะตะวันออกเลยครับ
วิธีที่ว่าก็คือ แทนที่นนทกจะลุกขึ้นมาต่อกรด้วยตัวเอง ซึ่งก็คงมีผลทำให้ตัวเองซี้แหงแก๋ไปในบัดดล เพราะเหล่าเทพก็คงจะรวมหัวกันกระทืบนนทก แทนที่จะเสียแค่ผม ก็อาจจะต้องเสียชีวิตไปด้วย ดังนั้น นนทกก็เลยใช้ Shortcut ทางอำนาจ ด้วยการเข้าไปหาพระอิศวร (หรือพระศิวะนั่นแหละครับ) แล้วเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
สมมุติว่ามีเด็กมาฟ้องครูว่าถูกเพื่อนแกล้ง คุณว่าครูควรทำอะไรครับ
สำหรับผม สิ่งแรกที่ครูควรทำก็คือสืบสาวหาข้อเท็จจริง จากนั้นก็ดุด่าว่ากล่าวหรือลงโทษคนที่ทำผิด (ซึ่งในกรณีของนนทกก็น่าจะได้แก่ปวงเทพทั้งหลาย) ใช่ไหมล่ะครับ เรื่องมันจะได้จบและเป็นการแก้ปัญหาที่ลงลึกไปถึงรากของมัน
แต่ไม่-พระอิศวรหาได้ทำเช่นนั้นไม่ พระองค์เห็นใจนนทกเป็นที่ยิ่งที่ถูก Bully ก็เลยประทาน ‘นิ้วเพชร’ มาให้กับนนทก คือถ้านนทกเอานิ้วเพชรน้ีไปชี้ใคร ไอ้เจ้าคนนั้นก็จะถึงแก่มรณังสังขารากันไปทีเดียว พูดง่ายๆก็คือ เหมือนพระอิศวรกำลังสอนว่า ถ้าถูก Bully มา ก็จง Bully กลับไปเสียเถิด
ที่น่าสนใจก็คือ วิธีสอนแบบนี้น่าจะเทียบเคียงได้กับคำสอนของโมเสสในพระคัมภีร์เก่าของชาวยิวเหมือนกันนะครับ คือโมเสสสอนว่า ถ้าใครตบแก้มซ้าย ก็จงตบแก้มขวาตอบ จงรักเพื่อน แต่เกลียดชังศัตรู, อะไรทำนองนั้น พระอิศวรก็สอนนนทกแบบเดียวกันเปี๊ยบเลย คือใครร้ายมาก็ให้ร้ายตอบ ซึ่งถ้าเราพิจารณาดูดีๆ ก็อาจเป็นวิธีเอาตัวรอด (survival mode) ของชนเผ่าในยุคโบราณก็ได้นะครับ คือใช้สมองส่วน Limbic System เป็นหลัก เจออันตรายก็ให้ fight or flight คือสู้หรือหนี แต่ในกรณีนี้ก็คือให้อาวุธเอาไว้สู้กลับ โดยไม่จำเป็นต้อง ‘ทำความเข้าใจ’ ใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อได้นิ้วเพชรมาแล้ว นนทกก็สนุกสิครับ ใครมาแกล้งก็ชี้เลย ชี้ปุ๊บตายปั๊บ ทำให้เหล่าเทพตายกันไปหลายตน
ถ้าจะเปรียบไป นิ้วเพชรก็เหมือนกฎหมายอย่างมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ หรือกฎหมายมาตรา 44 ในยุคนี้นี่แหละครับ คือมันให้อำนาจชี้เป็นชี้ตายเอาไว้ล้นเหลือเฟือฟาย ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้อย่างนนทกแล้วละครับ ว่าจะใช้เพื่ออะไรบ้าง แต่ในกรณีของนนทก เมื่อได้อำนาจมาก็ใช้จนล้นเกิน มีการอาละวาดไปทั่วสวรรค์เพื่อระบายความคับแค้นน้อยเนื้อต่ำใจที่มีอยู่จนทำให้เทพตายไปไม่น้อย
คำถามก็คือ-แล้วพวกเทพที่ถูกชี้ให้ตายโดยไม่มีทางสู้ควรจะต่อสู้กับนนทกอย่างไรดี
คุณรู้ไหมครับว่าเทพเหล่านี้ทำยังไง
สิ่งที่เทพเหล่านี้ทำนั้นน่าสนใจมากๆ เลยนะครับ เพราะต่อให้ตัวเองเป็น ‘เทพ’ ที่ก็น่าจะมีฤทธิ์อำนาจบางอย่างอยู่ในตัวอยู่แล้ว แต่เทพเหล่านี้ไม่ได้ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาด้วยตัวเอง กลับวิ่งโร่ไปหาพระนารายณ์ (ซึ่งถือเป็นเทพชั้นสูงขึ้นไปกว่าเทพดาษๆ อีกที) ขอให้พระนารายณ์มาช่วยกำจัดนนทกด้วยเถิด
เพราะฉะนั้นในแง่นี้ เทพพวกนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับนนทกนะครับ คือเวลาเกิดปัญหาอะไรขึ้น แทนที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาเองด้วยสติปัญญา มองให้เห็นว่าเหตุของปัญหาคืออะไร (ก็คือตัวพวกเทพเองนั่นแหละที่ไปสร้าง ‘ความน้อยเนื้อต่ำใจทางการเมือง’ ให้กับนนทก จนนนทกต้องไปพึ่งพิงอำนาจที่เรียกได้ว่าเกือบฉ้อฉลจากคนอื่น) ก็กลับวิ่งไปหา ‘ผู้มีอำนาจ’ อีกทีหนึ่ง
การวิ่งไปหาผู้มีอำนาจนั้นสำคัญมากนะครับ เพราะถ้าหากว่าเทพพวกนี้เกิดมีสติปัญญาพวยพุ่งขึ้นมาจนมองเห็นว่า เอ๊ะ! ทำไมจะต้องให้นนทกมาคอยล้างตีนให้ตัวเองด้วยเล่า ตีนใครก็ตีนใครสิ ใครไปทำตีนสกปรกก็ล้างก่อนขึ้นเขาไกรลาสเองก็ได้ แถมนนทกมาล้างให้แล้วยังไปรังแกเขาอีก คนผิดก็คือตัวเรานี่เองที่ทำให้เขาเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เรามาปลดปล่อยนนทกจากตำแหน่งล้างเท้าเถิด ถ้าเขาอยากล้างก็ให้ล้างไป แต่ถ้าเขาไม่อยากล้าง ก็ควรมี ‘โอกาส’ เลือกทำเลือกเป็นสิ่งอื่นๆได้ด้วย ที่สำคัญก็คือ ใครก็ไม่ควรคิดว่าตัวเองสูงส่งกว่าเลยมีสิทธิอำนาจไปรังแกนนทก บนสวรรค์ไม่ควรจะมีต่ำสูง ทุกชีวิตควรจะเท่ากัน, ก็จะเป็นการทำลาย ‘โครงสร้าง’ ของสิ่งที่เรียกว่า ‘สวรรค์’ ทั้งหมด ทำให้ทุกคนเสมอกัน สวรรค์ที่แบ่งเป็นชั้นๆย่อมพังทลาย ซึ่งเทพเหล่านี้คงยอมไม่ได้ ดังนั้น วิธีการเดียวที่นึกออก ก็เลยต้องเป็นการวิ่งไปหา ‘ศูนย์กลางอำนาจ’ อีกศูนย์กลางหนึ่ง ซึ่งก็คือพระนารายณ์เพื่อให้ศูนย์กลางอำนาจนั้นมา ‘จัดการ’ กับปัญหาแทนตัวเอง
แล้วศูนย์กลางอำนาจอย่างพระนารายณ์ทำยังไงรู้ไหมครับ
จะว่าไป วิธีแก้ปัญหาของพระนารายณ์นั้นไม่ต่างจากของพระอิศวรเลยแม้แต่นิดเดียว เพราะพระนารายณ์ก็ไม่ได้สอบสวนทวนความ หรือพิสูจน์ ‘จนสิ้นสงสัย’ ใดๆ ทั้งนั้นว่าใครถูกใครผิด สิ่งท่ีพระนารายณ์ทำก็คือเข้าข้างเทพเหล่านั้น (ทั้งที่เป็นเทพที่ไป Bully นนทกก่อน) และคิดว่าจะต้องกำจัดนนทก
อย่างไรก็ตาม พระนารายณ์ไม่ได้ใช้วิธีตรงไปตรงมาในการกำจัดนนทกนะครับ อย่างหนึ่งคงเป็นเพราะพระนารายณ์อาจจะกลัวนิ้วเพชรของนนทก (ที่ได้อำนาจมาจากพระอิศวร) ก็ได้ เลยต้องใช้เล่ห์ด้วยการแปลงร่างเป็นนางอัปสรแสนเซ็กซี่ ไปล่อลวงจนนนทกชี้นิ้วเข้าไปที่ขาตัวเองจนบาดเจ็บ พระนารายณ์เลยได้ที สำแดงร่างเดิม แล้วเข้าไปเหยียบนนทกไว้
ก่อนตาย นนทกบอกว่า-โหย ไม่ยุติธรรมเลย มาฆ่าฟันกับลูกกระจ๊อกอย่างตัวเอง นอกจากใช้กลอุบายเอาผู้หญิงมาล่อแล้ว พระนารายณ์ยังมีตั้งสี่กร ตัวนนทกมีแค่สองมือ จะไปสู้อะไรได้
พระนารายณ์ได้ฟังดังนั้นก็โกรธจัด เลยสาปว่าชาติหน้าถ้าไปเกิดใหม่ ขอให้มียี่สิบมือกับสิบหน้า ส่วนตัวพระนารายณ์เองจะไปเกิดเป็นมนุษย์ที่มีแค่สองมือ แล้วตามไปปราบอีกหนให้เห็นว่าเก่งกว่า
สรุปก็คือ นนทกนั้นมาเกิดอีกรอบเป็นทศกัณฐ์ ส่วนพระนารายณ์มาเกิดเป็นพระราม แล้วเรื่องก็อลเวงกลายมาเป็นมหากาพย์รามายณะอย่างที่เรารู้จักกันในที่สุด
(ที่จริงมีเกร็ดเล่าเสริมด้วยว่า พอพระนารายณ์สังหารนนทกเรียบร้อยแล้ว ก็ไปเฝ้าพระอิศวรเพื่อรายงาน พระอิศวรก็เกิดอยากเห็นว่านางอัปสรที่พระนารายณ์แปลงไปนั้นสวยเซ็กซี่ขนาดไหน พระนารายณ์เลยแปลงให้ดู พอแปลงแล้วพระอิศวรเลยอยากมีอะไรด้วย สุดท้ายน้ำอสุจิของทั้งพระนารายณ์และพระอิศวรเลยกลายมาเป็นผลสักกะลอยไปลอยมา แล้วแม่ของหนุมานที่ยืนกินลมกินเข้าไป เกิดออกมาเป็นหนุมานที่มีฤทธิ์เยอะ เพราะมีพ่อเป็นทั้งพระนารายณ์และพระอิศวร แต่บางตำนานก็บอกว่าพ่อของหนุมานคือพระพาย)
จะเห็นว่า แค่กำเนิดของทศกัณฐ์กับพระรามนี่ก็แสดงให้เห็นถึง ‘โครงสร้างอำนาจ’ ที่สลับซับซ้อนแล้วนะครับ แต่ถ้าดูรามายณะในแง่ประวัติศาสตร์จริงๆ จะพบว่ายิ่งสลับซับซ้อนเข้าไปใหญ่ จนพูดได้ว่า รามายณะนั้นเป็น ‘เกมทศกัณฐ์’ ที่คนดูต้องตีความซ้อนไปซ้อนมาหลายชั้น ถึงจะพอเข้าใจอะไรๆได้ แต่ถ้าคนดูตีความกันแบบง่ายๆ ขาวดำ เห็นว่าอะไรดีชั่วตายตัว รามายณะก็จะกลายเป็นแค่นิทานหลอกเด็กดาษๆ
แต่ก็น่าประหลาดไม่น้อยนะครับ เพราะในโลกทุกวันนี้ก็ยังมี ‘ผู้ใหญ่’ ที่เชื่อมั่นในนิทานหลอกเด็กกันอยู่ แถมยังพยายามปกป้องคุ้มครองนิทานหลอกเด็กของตัวเองเพื่อสืบทอดต่อเนื่องต่อไปอีกต่างหาก
แต่กระนั้น ก็มีคนไม่น้อยเลยที่ข้ามพ้นความเป็นนิทานหลอกเด็กของรามายณะ และวิเคราะห์รามายณะเอาไว้หลายแบบด้วยกัน แบบหนึ่งบอกว่า มหากาพย์รามายณะคือการรบกันระหว่างชาวอารยันกับชาวฑราวิท (หรือดราวิเดียน) โดยพวกอารยันคือพระรามที่ผิวขาวผ่อง (คือพวกที่อพยพมาจากกรีกผ่านช่องเขาไคเบอร์มา) มารบกับชาวฑราวิทที่มีลักษณะแบบคนพื้นเมืองตัวใหญ่ดำทะมึน เลยถูกมอบตำแหน่งยักษ์ให้ ในขณะเดียวกันก็มีชาวพื้นเมืองอีกกลุ่มหนึ่งมาคอยช่วยเหลือ ซึ่งก็คือสมุนที่เป็นลิงทั้งหลาย
แต่ก็มีการโต้แย้งว่าเรื่องจริงๆ น่าจะซับซ้อนกว่านั้น หนังสือ The Civilization of India ของ R.C. Dutt เสนอว่า ที่จริงทศกัณฐ์ (ในนามของชาวเมืองลงกา) ก็อ้างว่าตัวเองเป็นอารยันเหมือนกัน ศึกในรามายณะจึงอาจเป็นอารยันรบกับอารยัน โดยอารยันกลุ่มพระรามไปได้ลิงที่เป็นชาวฑราวิทมาช่วยเหลือ หรือไม่อีกที ทศกัณฐ์ (ในนามของกษัตริย์แห่งลงกา) อาจไม่ใช่ทั้งอารยันหรือฑราวิทด้วยซ้ำ
ดังนั้น เมื่อมองในแง่เผ่าพันธุ์เชื้อชาติสีผิว รามายณะจึงไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากหลักฐานบันทึกของการ ‘เหยียดสีผิว’ แรกๆ ของโลก โดยการมอบ ‘ความเป็นอื่น’ ให้กับชาวพื้นเมืองในรูปลักษณ์ของยักษ์และลิงนั่นเอง
การมองรามายณะในแบบต่างๆ ทำให้เรารู้ว่า เอาเข้าจริงแล้ว คนเราจะมีความสามารถมองพระราม ทศกัณฐ์ นางสีดา หนุมาน หรือรามายณะทั้งเรื่องว่าเป็น ‘เกมทศกัณฐ์’ ที่สลับซับซ้อนได้มากแค่ไหน บางทีก็ขึ้นอยู่กับ ‘ต้นทุน’ ทั้งในทางสังคมและในทางสมองของเราอยู่ไม่น้อย
[ตัดภาพไปที่ทศกัณฐ์ : (แบมือ ยักไหล่) มันก็ช่วยไม่ได้หรอกนะอีหนู!]