ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวันสำคัญของไทยหลายวันติดๆ กัน ตั้งแต่วันเด็ก วันครู และวันกองทัพไทย แม้ในช่วงวันเหล่านี้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ หลายอย่าง รวมไปถึงข้อถกเถียงสารพัด แต่ที่ติดตราตรึงใจมากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นเหตุการณ์เครื่องบินรบกริพเพนตกระหว่างการบินผาดโผนโชว์ ซึ่งนำมาสู่ข้อถกเถียงล้านแปดมากมาย
ในช่วงเวลานั้น สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือบทความ “ทหารมีไว้ทำไม[1]” ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเวลาประมาณเดียวกันนี้ เมื่อสองปีก่อน แต่วันนี้ ผมอยากจะพาไปสู่อีกดีเบตหนึ่งที่คิดว่าสำคัญพอกัน นั่นคือ
“จะซื้ออาวุธมาทำห่าอะไรมากมาย?”
ก่อนอื่น อยากจะอธิบายให้ฟังก่อนว่าต้นตอของวิธีการคิดแบบที่ว่า “ต้องสะสมอาวุธเยอะๆ เพื่อความปลอดภัย” นี้มันมายังไง คือ จริงๆ แล้ววิธีการคิดแบบที่ว่านี้ ยืนพื้นอยู่บนคำอธิบายของสำนักคิดที่เรียกว่าสัจนิยม หรือ Realism ซึ่งแบ่งได้คร่าวๆ เป็นสองสำนัก คือ สำนักสันดานมนุษย์ (Human Nature Realism) และสำนักโครงสร้าง (Structural Realism) แต่ไม่ว่าจะสำนักไหนก็ตาม มีพื้นฐานร่วมกันคือ รัฐชาติต่างๆ อยู่ร่วมกันบนโลกซึ่งเป็นเวทีที่ไร้อำนาจสูงสุดในการกำหนดระเบียบ ฉะนั้นมันจึงยุ่งเหยิง (Anarchy/Anarchical System)
ทีนี้ฝั่งสำนักสันดานมนุษย์นั้นก็บอกว่า โดยเนเจอร์แล้ว มนุษย์เป็นพวกสันดานเลว (และการกระทำของรัฐเป็นผลสะท้อนจากสันดานคน) ต่างจ้องจะเอาเปรียบหรือหาผลประโยชน์เท่าที่จะทำได้ หรือเมื่อมีโอกาสก็มีแนวโน้มที่จะขยายกำลังอำนาจของตนเองเพื่อให้มีขีดความสามารถในการช่วงชิงอำนาจจากคนอื่นได้ ฉะนั้นแล้วปัญหาต่างๆ ในโลกมันจึงเกิดจากสันดานมนุษย์เอง ในขณะที่ฝั่งสำนักโครงสร้างมองว่า ไม่ใช่เว้ย เหตุผลที่รัฐต้องทำตัว ‘จองหอง’ หรือสะสมกำลังมากๆ เกเรเกตุงนั้นเป็นเพราะโครงสร้างของโลกมันบีบให้ทำตัวแบบนั้น เพราะเราอยู่กันในโครงสร้างที่มันไม่มีใครใหญ่สุด ไม่มีใครจะมาปกป้องกูได้ไง กูเลยต้องหาทางปกป้องตัวเอง ด้วยการสะสมกำลังให้มากที่สุด เพื่ออำนาจต่อรองที่มากขึ้น และป้องกันตัวเองจากการรุกรานของรัฐอื่นได้![2]
วิธีความคิดแบบเรียลลิซึมที่ว่านี้เองที่ในช่วงหนึ่งกลายเป็นวิธีคิดฝังหัวในหมู่นักความมั่นคงทั่วโลก แน่นอนประเทศไทยก็ไม่เว้นอยู่แล้ว ปัญหาคือ (1) หลายประเทศเค้าก้าวพ้นคำอธิบายแบบสำนักนี้ไปนานแล้ว และเปิดหูฟังแนวคิดสำนักอื่นๆ ไปหลายทศวรรษแล้ว แต่พี่ไทยยังคาอยู่ที่เดิม และ (2) แนวคิดที่ว่ามันไม่ได้ตอบโจทย์ หรือจริงเสมอไป
ความฝังหัวในวิธีคิดแบบโลกเรียลลิซึมนี้เอง ที่ทำให้กองทัพไทยขยันหาซื้อเครื่องจักรสงครามใหม่กันเหลือเกินเมื่อมีโอกาส (ในจุดนี้ก็ขอไม่พูดถึงเรื่อง ‘ส่วนต่างราคา’ อะไรแบบพวกไมค์ห้องประชุมนะครับ เรื่องนั้นริวจะไม่ยุ่ง) เพราะมองว่าภัยมันช่างมีรอบตัวเหลือเกิน และเราต้องขยันขันแข็งในการสร้างแสนยานุภาพให้ยิ่งใหญ่เกรียงไกร เพื่อจะได้มีจุดยืนที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก ฝ่ายประชาชนที่เชียร์เสียเหลือเกินกับยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดนี้ก็ประโคมด่าคนที่ค้านการซื้ออาวุธเป็นหมูเป็นหมาว่า ถ้ามีสงครามหรือโดนบุกมาแล้วเพิ่งมาซื้ออาวุธ มันจะทันม้ายยยยย! อะไรก็ว่ากันไป
ฉะนั้น 12 ปีที่ผ่านมา งบประมาณทางการทหารของไทยเราจึงเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว![3] แต่คำถามเบื้องต้นก่อนคือ ประเทศไทยเราเจอกับสงครามจริงๆ ครั้งสุดท้ายมันเมื่อไหร่กันหนอ? นู่นเลยจร้า ค.ศ. 1945 หรือจบสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะในส่วนสงครามมหาเอเชียบูรพา ส่วนในช่วงสงครามเย็นก็อาจจะมีบ้างพอขยับแข้งขยับขาแต่ก็คนละสเกลกัน
นอกจากนั้นแล้ว เราก็ไม่ได้ใช้มันทำอะไรจริงๆ จังๆ อีก นอกจากการแสดงแสนยานุภาพในช่วงวันเด็ก และในการรัฐประหาร ซึ่งทั้งสองกรณีนั้น นับได้ว่าถูกนำมาใช้บ่อยกว่าสงครามใดๆ ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่รวมๆ กันเสียอีกกระมัง (เป็นไงล่า ขวัญกำลังใจมากันเลยมั้ยพี่น้อง) ทีนี้อยากให้ดูอีกข้อมูลหนึ่ง คือ ทาง Global Firepower ซึ่งเป็นองค์กรที่พยายามจะเก็บรวบรวมรายละเอียดคร่าวๆ ของ ‘กำลังอำนาจ’ ทางการทหารของกองทัพต่างๆ ทั่วโลกไว้ อาจจะไม่เพอร์เฟกต์ แต่เห็นภาพรวมคร่าวๆ ได้แน่ๆ
และจากรายงานล่าสุดของ Global Firepower ขุมกำลังของกองทัพไทยอยู่ที่อันดับ 20 ของโลกกันเลยทีเดียว ว่าง่ายๆ คือ ติดท็อป 20
เราดูจะมีกำลังทหารเหนือกว่า แคนาดา, ออสเตรเลีย, เกาหลีเหนือ (ซึ่งยังนับว่าอยู่ในภาวะสงครามอยู่), สเปน, สวีเดน (ประเทศที่ผลิตเครื่องบินรบกริพเพนแล้วเราไปซื้อนั่นแหละ!), สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์, ฯลฯ เอาสรุปๆ คือ มีประมาณ 6 ประเทศสมาชิกของนาโต้ (NATO) ที่มีขุมกำลังมากกว่าเรา ในขณะที่อีก 22 ประเทศสมาชิก NATO นั้น เราขุมกำลังสูงกว่าหมดเลย[4]
ทีนี้ผมขอลองเอาข้อมูลข้างต้นนี้ใส่สมการแบบเรียลลิซึม แล้วตั้งคำถามดูสักหน่อย หากวิธีคิดแบบเรียลลิซึมอย่างที่กองทัพไทยมักอ้างมันยังใช้ได้อยู่จริงๆ ว่าการมีขุมกำลังทางการทหารมาก หมายถึงการมีอำนาจการต่อรองกับนานาชาติมากขึ้นไปด้วยนั้นเนี่ย เราไปมีอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศมากกว่าแคนาดา, ออสเตรเลีย, สเปน, สวีเดน, ฯลฯ ตั้งแต่เมื่อไหร่ครับ? อย่าว่าแต่เจรจาต่อรองเรื่องใหญ่โตเลย แค่ขออำนาจในฐานะประชากรของรัฐในการเดินทางข้ามแดน อย่างอำนาจพาสปอร์ตเนี่ย อันดับยังล่อไปซะที่ 59 ของโลก ซึ่งอยู่ต่ำกว่าบาเรนห์ที่ติดอันดับกำลังทหารอันดับที่ 91 ของโลก (อันดับต่ำกว่าเรา 71 อันดับ) ซะด้วยซ้ำ และนี่คือท่านว่าประเทศไทยเป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยวกันด้วยนะ
ผมคิดว่าเราคงต้องมายอมรับกันตรงนี้มั้งครับว่า อำนาจต่อรองจาก ‘กำลังทหาร’ ตามคติแบบเรียลลิซึมนั่น มันแทบจะทำงานไม่ได้แล้วในปัจจุบัน อำนาจต่อรองเดียวที่มันยังทำงานอยู่ในตอนนี้ก็คือ ‘อำนาจในการต่อรองกับประชาชนในรัฐของตนเอง’ เท่านั้นแหละ รถถัง ปืน เครื่องบินรบ เรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียวในอาเซียนที่ท่านแสนภูมิใจกันนั้น รวมไปถึงเรือดำน้ำที่อาจจะมา และอื่นๆ มันไม่ได้มีเพื่อการได้กร่างบนเวทีโลก เพราะเวทีนั้นเค้าไม่มาเห็นหัวท่านจากเรื่องนี้แล้ว สิ่งเหล่านี้มีไว้ให้กองทัพได้กร่างกับประชาชนตัวเอง หรือเหยียบหน้าประชาชนตัวเองได้โดยไม่ต้องแยแสต่อเสียงร้องโหยหวนเท่านั้นแหละครับ บอกตรงๆ ผมว่าเลิกเถอะ งบซื้อรถถังท่าน มันมาเบียดบังงบทำรถไฟความเร็วสูง งบสาธารณะสุขที่ดี งบพัฒนาการศึกษาของพวกผม
และสำหรับท่านที่อ้างคติแบบเรียลลิซึมว่าเอามาป้องกันสงคราม เพราะถ้ามีใครมาบุกจะซื้อก็ซื้อไม่ทัน ซึ่งคลาสสิกเรียลลิสต์มากๆ นั้น ผมก็ถามง่ายๆ แค่นั้นแหละครับว่า ระหว่างท่านนอนอยู่สวิตเซอร์แลนด์, นอร์เวย์ หรือออสเตรเลีย ฯลฯ ที่ล้วนมีกำลังทหารน้อยกว่าบ้านเรา กับท่านนอนอยู่ที่ไทย หรือสหรัฐอเมริกา (ซึ่งกำลังทหารมากที่สุด แต่สร้างศัตรูมากที่สุดในโลกด้วย) ท่านจะรู้สึกหวั่นใจว่าจะโดนบุกกับการนอนที่ไหนมากกว่ากัน?
ในยุคนี้แล้ว ระบบระหว่างประเทศ กฎเกณฑ์ รวมถึงองค์กรระหว่างรัฐต่างๆ ที่มีมันไม่อนุญาตให้เกิดสงครามระหว่างประเทศได้ง่ายขนาดนั้นแล้วครับ
รถถังที่เรามีนี่เกินพอไปนานแล้ว
[1] โปรดดู www.matichon.co.th
[2] หากสนใจเพิ่มเติม แนะนำให้ฟังเลคเช่อร์สั้นๆ โดยจอห์น เมียร์ไชเมอร์ นักรัฐศาสตร์สายสัจนิยมชื่อดังของมหาวิทยาลัยชิคาโก้อธิบาย ใน www.youtube.com
[3] โปรดดู www.bbc.com
[4] โปรดดู www.globalfirepower.com