1. ใครที่คิดถึงผลงานของสตูดิโอจิบลิ The Red Turtle คงจะช่วยบรรเทาอาการคิดถึงนี้ได้ดีทีเดียวครับ เพราะแม้ตัวภาพยนตร์เองจะแตกต่างจากผลงานที่ผ่านๆ มา เพราะ Michael Dudok de Wit ผู้กำกับแอนิเมชั่นเรื่องนี้ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นอย่างเคยๆ แต่เป็นแอนิเมเตอร์ชาวดัตช์ผู้เคยคว้ารางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชั่นเรื่องสั้นยอดเยี่ยมมาแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2001 จากผลงานเรื่อง Father and Daughter และเพราะฝีไม้ลายมือของเขาไปถูกตาต้องใจ ฮายาโอะ มิยาซากิ นั่นเองที่ Dudok de Wit จึงได้ถูกชวนมาทำแอนิเมชั่นขนาดยาว ภายใต้การโปรดิวซ์ของสตูดิโอจิบลิ และออกมาเป็น The Red Turtle ในที่สุด
แต่ก็ด้วยทางจิบลิเองก็ไม่ได้ลงมาข้องเกี่ยวในการสร้างแอนิเมชั่นเรื่องนี้มากนัก จึงไม่แปลกที่ความเป็นจิบลิ (อย่างที่คุ้นเคยกัน) ทั้งในด้านของเนื้อหา และลายเส้น จะไม่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้สักเท่าไหร่ แต่ตรงนี้ล่ะครับที่ทำให้ตัวหนังน่าสนใจ เพราะในทางหนึ่ง The Red Turtle ก็เป็นประหนึ่งการทดลองที่ช่วยให้สตูดิโอจิบลิได้ขยับขยายตัวตนให้หลุดพ้นออกไปสู่เส้นทางใหม่ๆ ที่น่าสนใจกว่าเดิม
2. The Red Turtle นั้นเล่าเรื่องราวที่สุดจะเรียบง่ายครับ มันพูดถึงชายคนหนึ่งที่ลอยคออยู่กลางทะเล ผจญกับมรสุมร้ายที่ซัดพาเขามาติดอยู่ชายหาดของเกาะแห่งหนึ่งที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ และสิ่งมีชีวิตที่พบเห็นรอบตัวก็มีเพียงนก ปู และกิ้งกือแค่เท่านั้น เขาวิ่งสำรวจไปรอบเกาะ พบแหล่งน้ำสะอาดให้พอดื่มได้ พบป่าไผ่เขียวชะอุ่มที่กลางเกาะ เขาวิ่งขึ้นวิ่งลงไปตามเขา ตะโกนร้องสุดเสียงหวังว่าใครสักคนจะผ่านมาได้ยิน
แต่จนแล้วในที่สุดเขาก็เลิกหวังพึ่งความช่วยเหลือ ตัดสินใจหักไผ่มาประกอบเป็นแพเพื่อล่องลงทะเล หวังจะพาตัวเองหลุดออกจากเกาะแห่งนี้ แต่แล้วจู่ๆ ขณะที่เขาออกห่างจากเกาะไปสักระยะหนึ่ง แพที่อุตส่าห์สร้างก็เกิดแตกขึ้นมาซะอย่างนั้น ชายหนุ่มไม่ย่อท้อ ว่ายกลับเกาะและสร้างแพขึ้นมาใหม่ ผลักมันลงทะเลและพายออกไปอีกครั้งเพื่อจะได้พบว่า เมื่อออกห่างจากเกาะได้สักระยะหนึ่ง ก็คล้ายว่ามีอะไรบางอย่างจากใต้น้ำกระทุ้งขึ้นมาแรงๆ จนแพของเขาแตกอีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนในที่สุดเขาก็พบว่า อะไรบางอย่างที่ว่านี้คือเต่ายักษ์ตัวสีแดงนั่นเอง
3. The Red Turtle เป็นแอนิเมชั่นไร้คำพูด มีเพียงเสียงของธรรมชาติและเสียงร้องไร้ความหมายของมนุษย์เท่านั้นที่ประกอบสร้างเป็นสรรพสำเนียงซึ่งเกิดเป็นบทสนทนาระหว่างกัน และด้วยความที่มันไม่ได้ชักพาเรื่องราว หรือชี้นำการตีความของคนดูด้วยภาษาซึ่งสื่อใจความแน่นอนนี่เอง ที่ฉากและเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในเรื่องจึงมีสถานะอันเป็นอิสระ และสื่อสารกับคนดูแต่ละคนตามการตีความที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะเมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง และปรากฏหญิงสาวอีกคนหนึ่งขึ้นมาในเรื่อง ทว่าการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ทั้งสองก็ยังเป็นไปภายใต้การสื่อสารของอวัจนะภาษา ไม่ได้มีลักษณะของการสนทนาเกิดขึ้น เป็นผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เราจะค่อยๆ เข้าใจความสัมพันธ์ที่พัฒนาไปของทั้งสอง
4. ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจของ The Red Turtle คือเรื่องของธรรมชาติและข้อจำกัดของมนุษย์ และจุดนี้เองที่ยังทำให้หนังมีกลิ่นอายอ่อนๆ ของสตูดิโอจิบลิให้พอสัมผัสได้ กล่าวคือ เมื่อชายหนุ่มต้องมาติดอยู่บนเกาะร้างแต่เพียงลำพัง ทั้งยังไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ติดตัวมากับเขา แค่เพียงวิธีคิดในแบบของมนุษย์เท่านั้น เมื่อเขามองฟ้าเขาเห็นเหล่านกที่บินออกจากเกาะได้อย่างอิสระ เมื่อเขามองลงไปในทะเลก็เห็นฝูงปลาที่สามารถแหวกว่ายในผืนน้ำได้โดยไร้ขีดจำกัด แต่เมื่อเขามองกลับมาที่ตัวเอง ชายหนุ่มกลับมองเห็นเพียงมนุษย์ซึ่งอ่อนด้อยในสมรรถนะของร่างกาย และไม่อาจพาตัวเองออกจากเกาะได้แค่เพียงกำลังแขนกำลังขาอย่างนกหรือปลา จำแต่ต้องสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นเพื่อทดแทนต่อข้อจำกัดทางร่างกายของเท่านั้น
ในฉากหนึ่งของหนัง ชายหนุ่มฝันว่าจู่ๆ ก็มีสะพานปรากฏขึ้นมาและทอดยาวไปในท้องทะเล แรกที่ได้เห็นเขาดีใจจนตัวลอย รีบวิ่งไปบนสะพานนั้นทันทีด้วยใจลิงโลดว่าในที่สุดก็พบหนทางออกจากเกาะได้แล้ว แต่ทันใดเขาก็สะดุ้งตื่นขึ้นและพบว่ามันเป็นเพียงแค่ฝันเท่านั้น ฉากสั้นๆ นี้เองที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความสิ้นหวัง และความไร้ประสิทธิภาพของมนุษย์ได้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ หากมองว่าเทคโนโลยีคือประดิษฐกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อชดเชยหรือปกปิดความอ่อนด้อยของมนุษย์ ในพื้นที่อย่างเกาะร้างซึ่งปราศจากสิ่งประดิษฐ์ใดๆ มันจึงเป็นการเปิดเปลือยให้ชายหนุ่มได้ตระหนักถึงความสิ้นไร้ไม้ตอกของตัวเขาเองอย่างที่สุด เมื่อกระทั่งจินตนาการของตัวเขาเองที่จะพาให้หลุดรอดออกจากเกาะแห่งนี้ได้ไม่ใช่สิ่งเพ้อฝันจำพวกพลังเหนือมนุษย์ หากเป็นเพียงสะพานไม้ธรรมดาๆ ที่เขาเองไม่มีความสามารถพอในการสร้างมันเองด้วยซ้ำ พูดอีกอย่างคือ สิ่งที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของมนุษย์นั้นในโมงยามอันสิ้นหวังนั้นไม่ใช่พละกำลังที่จะคัดง้างกับธรรมชาติ หากแต่เป็นปัญญาในการจะคิดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อช่วยให้เรามีชีวิตรอดได้ต่างหากอันเป็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของมนุษย์ซึ่งจำเป็นในยามคับขัน
จึงอาจพูดได้ว่า The Red Turtle คือภาพสะท้อนของพลังธรรมชาติที่กดทับมนุษย์ให้จมอยู่กับสภาวะอันสิ้นหวัง และโดยท้ายที่สุดแล้ว หนังก็คล้ายจะให้ข้อสรุปอันเจ็บปวดที่ว่า ไม่ว่าจะพยายามสักแค่ไหน มนุษย์ก็ไม่อาจเอาชนะพลังของธรรมชาติได้เลยสักที