เชื่อว่าแทบทุกคนเปิดตู้เย็นกันทุกวัน สำหรับหลายคน ตู้เย็นมีสถานะเทียบเท่ากับ ‘แหล่งอาหาร’ ไปแล้ว ยิ่งถ้าใครเคยเล่นเกม The Sims จะรู้เลยว่าตัวละครในเกมไม่สามารถขาดตู้เย็นได้เลยจริงๆ เพราะไม่อย่างนั้นอาจถึงขั้นอดตาย
ตู้เย็นจึงไม่ได้เป็นแค่ตู้ที่มีความเย็นเท่านั้น สถานะ ‘แหล่งอาหาร’ ของมัน สะท้อนให้เราเห็นอะไรๆ ในชีวิตคนได้หลายมิติมาก
แต่คุณรู้ไหม ว่าตู้เย็นมีมิติที่เกี่ยวกับ ‘อำนาจ’ หลากหลายรูปแบบซ่อนอยู่อย่างมิดเม้มอีกด้วย
เปิดตู้เย็นอินเดีย : ความจริงที่ซุกซ่อน
ตู้เย็นไม่ใช่เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าแก่อะไรนะครับ มันเพิ่งผลิตขึ้นในราวต้นทศวรรษ 1910s คือแค่ร้อยกว่าปีนิดๆ นี่เอง แต่ได้กลายไปเป็นของที่บ้านแทบทุกหลัง ‘ต้องมี’ ไปอย่างรวดเร็ว
ในปี 1950 คือหลังตู้เย็นผลิตออกมาได้ไม่กี่ปี หลังสงครามโลกครั้งที่สอง แทบทุกบ้านในสหรัฐอเมริกามีตู้เย็นใช้กันแล้ว และอัตราการใช้ตู้เย็นก็เพิ่มสูงขึ้นในแทบทุกประเทศทั่วโลก
เคยมีการศึกษาในปี 2005 ชื่อ Engines of Liberation (ซึ่งหมายถึงว่า ตู้เย็นคือเครื่องจักรแห่งการปลดปล่อย) บอกว่าตู้เย็นคืออุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้สุขภาวะของคนดีขึ้น โดยเฉพาะในเด็กๆ เพราะตู้เย็นช่วยยืดอายุอาหาร ลดเวลาในการไปตลาด และลดเวลาการทำอาหารด้วย เมื่อโลกมีตู้เย็น มนุษย์จึงมีสุขภาวะดีขึ้นอย่างมาก รายงานชิ้นเดียวกันนี้ยังบอกด้วยว่า ในช่วงปี 1900 ถึง 1970 ตู้เย็นช่วยลดเวลาในการทำงานบ้านโดยรวมได้มากถึงเกือบ 70%
แต่ไม่ใช่ในอินเดีย!
มีการสำรวจของ ICE 360 (ICE ย่อมาจาก India’s Consumer Economy) ในปี 2014 (ซึ่งถือว่าเป็นการสำรวจใหญ่ทั่วอินเดียเป็นครั้งแรก) เขาพบว่าครอบครัวชาวอินเดียที่มีตู้เย็นใช้ มีอยู่แค่ 30% เท่านั้นเอง
เฮ้ย! เป็นไปได้ยังไง – หลายคนสงสัย เพราะถ้าดูประเทศใกล้ๆ กันอย่างจีน ครอบครัวชาวจีนยังมีตู้เย็นใช้ถึงเกือบ 90% เลย แล้วถ้าดูคนไทยเราเอง ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่มีตู้เย็นก็เหมือนจะขาดใจ สงสัยอินเดียจะเป็นประเทศยากจนล่ะสิ – ถึงได้ไม่มีเงินซื้อตู้เย็นมาใช้กัน น่าสงสารจริงๆ
แต่ไม่ครับ อย่าเพิ่งมองอะไรเหมารวมผาดเผินขนาดนั้น เพราะถ้าไปดูเฉพาะครอบครัวชาวอินเดียที่รวยที่สุด 20% แรก (ซึ่งคุณก็คงรู้นะครับ ว่าคนอินเดียที่รวยน่ะ – รวยกันขนาดไหน) เขาพบว่าครอบครัวร่ำรวยเหล่านี้ ก็มีแค่ราว 60% เท่านั้นเอง ที่มีตู้เย็นใช้ ที่เหลืออีกตั้ง 40% ไม่แคร์อะไรเลยกับตู้เย็น
ที่สำคัญ เคยมีการสำรวจในปี 2011 พบว่าครอบครัวชาวอินเดียฐานะยากจนในชนบทที่มีรถมอเตอร์ไซค์ใช้นั้น มีมากกว่าครอบครัวที่มีตู้เย็นใช้ถึงสองเท่า ทั้งที่รถมอเตอร์ไซค์แพงกว่าตู้เย็นตั้งเยอะ นั่นแสดงว่าไม่ว่าจะรวยหรือจน ก็ไม่ใช่ตัววัดเดียวหรือตัววัดชี้ขาดที่คนอินเดียจะซื้อหรือไม่ซื้อตู้เย็นมาใช้
แล้วมันเป็นเพราะอะไรล่ะนี่?
เรื่องนี้ คุณวิทยา มาฮัมแบร์ (Vidya Mahambare) ซึ่งเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินอยู่ที่สถาบันชื่อ Great Lakes Institute of Management ในเมืองเชนไน ได้วิเคราะห์เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ The Economics Times ของอินเดียว่ามีอยู่สองเหตุผลใหญ่
และเป็นเหตุผลทางการเมืองเสียด้วย!
คุณวิทยาเคยตีพิมพ์รายงานใน Journal of Quantitative Economics ซึ่งเป็นเรื่องของ ‘ตู้เย็น’ โดยตรง ชื่อรายงานคือ From Income to Household Welfare: Lessens from Refrigerator Ownership in India) เป็นรายงานที่พยายามตอบคำถามว่าทำไมคนอินเดียถึงมีตู้เย็นน้อย
คำตอบแรกนั้นง่ายมาก นั่นคือเพราะตู้เย็นไม่เหมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น มันต้องเสียบปลั๊กไว้ตลอดเวลา แต่จนถึงบัดนี้ ในย่านชนบทของอินเดียนั้น มีสัดส่วนของพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้หรือมีใช้ไม่ถึงวันละ 8 ชั่วโมง อยู่ถึง 43% ส่วนในเมืองก็มีถึง 13% ที่เป็นแบบนี้ ซึ่งถ้านับเรื่องไฟดับเป็นช่วงๆ เข้าไปด้วย จำนวนคนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้เพียงพอก็จะสูงเข้าไปอีก เขาบอกว่ามีคนอินเดียแค่ครึ่งเดียวของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ที่มีไฟฟ้าใช้ในบ้านเรือนนานกว่า 16 ชั่วโมง ต่อวัน
เราก็รู้อยู่ว่า ตู้เย็นที่ไฟติดๆ ดับๆ กระชากไปกระชากมาน่ะนะครับ แป๊บเดียวมันก็เสีย ดังนั้นคุณวิทยาจึงสรุปว่า การที่คนอินเดียไม่ใช้ตู้เย็น จึงสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการจัดหาสวัสดิการพื้นฐานของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองอย่างเป็นทางการ
คำตอบที่สองยิ่งน่าสนใจเข้าไปใหญ่ เพราะคนที่ตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างตู้เย็นนั้น ไม่ใช่ผู้ชายอินเดียแน่ๆ แต่เป็นผู้หญิง จากสถิติพบว่าคนอินเดียมีโทรทัศน์ใช้กันเยอะนะครับ เพราะคนที่ตัดสินใจซื้อโทรทัศน์ส่วนใหญ่คือผู้ชาย แต่ตู้เย็นไม่ใช่ การที่ครอบครัวหนึ่งๆ จะมีตู้เย็นใช้หรือไม่มี จึงสะท้อนให้เห็นว่าอำนาจของผู้หญิงมีจำกัดแค่ไหน ทั้งที่โทรทัศน์มีไว้เพื่อความบันเทิงยามว่าง แต่ตู้เย็นเป็นของที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตแท้ๆ
แต่แค่นี้ยังไม่พอ เพราะสถิติยังบอกเราด้วยว่า ครอบครัวที่มีตู้เย็นนั้น ผู้หญิงมักจะมีการศึกษาสูงกว่าครอบครัวที่ไม่มีตู้เย็น คุณวิทยาบอกว่า เรื่องนี้เป็นดัชนีสำคัญที่คาดไม่ถึง นั่นคือตู้เย็นบอกเราไปถึงระดับการศึกษาได้ด้วย แต่ที่ย้อนแย้งก็คือ ผู้หญิงที่มีการศึกษามักจะออกไปทำงานนอกบ้านมากกว่า (จริงๆ ตัวเลขผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านในอินเดียก็ต่ำมาก คืออยู่ที่แค่ 27% เท่านั้น) จึงมีโอกาสใช้ตู้เย็นน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ทำงานนอกบ้าน แต่กระนั้น ผู้หญิงที่มีการศึกษาน้อยก็มักไม่มีสิทธิมีเสียงที่จะออกปากขอซื้อตู้เย็นจากผู้ชายได้
ดังนั้น เรื่องตู้เย็นจึงสะท้อนให้เห็นถึง ‘การเมืองเรื่องเพศ’ คือเรื่องอำนาจที่มองไม่เห็น เป็นอำนาจที่ฝังอยู่ในโครงสร้างสังคม วัฒนธรรม และแม้กระทั่งความเชื่อทางศาสนา รวมไปถึงการเมืองเรื่องการศึกษาที่กระจายตัวไม่สม่ำเสมอในผู้หญิงกับผู้ชาย
ซึ่งไม่ใช่เรื่องเล็ก!
มหาอำนาจแห่งตู้เย็น : สหรัฐอเมริกากับ Green Politics
หันมาดูประเทศที่ไม่มีวันขาดแคลนตู้เย็นอย่างสหรัฐอเมริกากันบ้าง นักเขียนเรื่องท่องเที่ยวชาวอังกฤษอย่าง วินนิเฟร็ด เจมส์ (Winnifred James) เคยเขียนไว้ในปี 1914 ว่า เขาไม่เคยได้ยินเลยว่าคนอเมริกันคนไหนไม่มี ‘ถังน้ำแข็ง’ (Icebox) อยู่ที่บ้าน
ถังน้ำแข็งเป็นคำสแลงที่คนอเมริกันเอาไว้ใช้เรียกตู้เย็นหรือ Refrigerator นะครับ แต่ในสมัยโบราณก่อนหน้าจะมีตู้เย็นอย่างที่เรารู้จัก คนอเมริกันก็ใช้ถังน้ำแข็งหรือ Icebox กันจริงๆ เพราะคนอเมริกัน ‘บ้า’ ความเย็นและของเย็นกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีตู้เย็น แต่ก็มีคนหัวใสตัดน้ำแข็งจากทะเลสาบและลำธารในรัฐเขตหนาวอย่างนิวอิงแลนด์ ลำเลียงขนส่งมาขายเอากำไรในรัฐที่อุ่นกว่า ทำให้เกิด ‘อุตสาหกรรมน้ำแข็ง’ ขึ้นมาตั้งแต่ตอนโน้น
การขนส่งน้ำแข็งทำให้เกิด ‘ห่วงโซ่อุปทาน’ (หรือ Supply Chain) เฉพาะขึ้นมาอย่างหนึ่ง เรียกว่า Cold Chain ซึ่งไม่ได้แปลว่าโซ่เย็น แต่หมายถึงการขนส่งสินค้าในแบบควบคุมอุณหภูมิที่ต้องไม่ขาดสายจากต้นจนถึงปลายทาง พ่อค้าน้ำแข็งต้องรักษาและขยายตลาดผู้บริโภคที่ต้องการน้ำแข็งให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือการขนส่งน้ำแข็งไปให้ถึงที่หมายได้โดยน้ำแข็งไม่ละลาย
ในสมัยก่อนจะมีไฟฟ้าใช้ Icebox จะมีลักษณะเป็นตู้ๆ เวลาน้ำแข็งมาส่ง ก็จะมาส่งกันเป็นก้อนโตๆ เก็บใส่ไว้ในตู้แล้วปิดประตูรักษาความเย็นเอาไว้ อุตสาหกรรมน้ำแข็งของอเมริกาใหญ่มาก จึงเกิด Cold Chain ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลกขึ้นมา เมื่อเทคโนโลยีการขนส่งดีขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุด Cold Chain นี้ก็ยิ่งยาวและซับซ้อนขึ้นตามไปด้วย
เมื่อเกิดตู้เย็นขึ้นมาในต้นศตวรรษที่ 20 Cold Chain ไม่ได้ขนส่งน้ำแข็งเป็นหลักอย่างเดียวแล้วนะครับ แต่หันมาขนส่งสินค้าแช่แข็งทั้งหลายที่อาจเน่าเสียได้ด้วย โฆษณาของตู้เย็น Frigidaire ในปี 1929 บอกกับแม่บ้านอเมริกันว่าการแช่เย็นอย่างถูกต้องคือสิ่งจำเป็นที่จะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ พบว่าแม้ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในทศวรรษสามศูนย์ ยอดขายตู้เย็นก็ยังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตลาดมาอิ่มตัวช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อแทบทุกบ้านในอเมริกามีตู้เย็นใช้ อัตราการเติบโตของการใช้ตู้เย็นในบ้านของคนอเมริกันนั้นเร็วกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์สีด้วยซ้ำ
เนื่องจากครอบครัวคนอเมริกันนิยมช็อปปิ้งของกินของใช้กันแค่สัปดาห์ละครั้ง แต่ละครั้งก็ซื้อกันเป็นล็อตใหญ่ๆ ดังนั้นจึงต้องการตู้เย็นขนาดใหญ่เอาไว้เก็บของ ยิ่งเวลาผ่านไป ตู้เย็นที่คนอเมริกันใช้ก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ขนาดของตู้เย็นที่คนอเมริกันใช้มีปริมาตรเฉลี่ย 17.5 ลูกบาศก์ฟุต ซึ่งถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก รองลงมาคือตู้เย็นของชาวแคนาดา แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ตู้เย็นกลายเป็นของราคาถูกที่หาซื้อได้ง่าย ในแต่ละปี ประมาณกันว่ามีการขายตู้เย็นใหม่ (แม้ว่าตลาดจะอิ่มตัวแล้ว) มากกว่า 8 ล้านเครื่อง (ทั้งนี้ยังไม่นับรวม Freezer หรือตู้แช่แข็ง ซึ่งก็มีการใช้งานในบ้านของคนอเมริกันส่วนใหญ่ด้วยเหมือนกัน)
หลังเฮอริเคนแคทรีนาพัดเข้าถล่มนิวออร์ลีนส์ในปี 2005 เครื่องใช้อย่างหนึ่งที่ถูกเข็นออกมาทิ้งนอกบ้านกันมากที่สุดและเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดก็คือตู้เย็น
ปัญหาไม่ใช่เพราะตู้เย็นถูกน้ำท่วมจนเสียหายเท่านั้น แม้ในส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง คนก็ยังเข็นตู้เย็นออกมา ‘ทิ้ง’ หน้าบ้านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เพราะเมืองทั้งเมืองไฟดับเป็นเวลานาน ทำให้อาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็นและตู้แช่ของคนทั้งเมืองเน่าเสีย เกิดหนอนแมลงวันยั้วเยี้ยนับไม่ถ้วน ทุกคนเลือกที่จะทิ้งตู้เย็นแทนที่จะทำความสะอาด เพราะตู้เย็นเป็นของราคาถูกและหาซื้อได้ง่าย ชาวเมืองจำนวนมากยังเขียนจดหมายส่งข้อความแสดงความโกรธเกรี้ยวไปยังรัฐบาล ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางด้วยที่ไม่สามารถดูแลจัดการเรื่องไฟฟ้าให้ได้จนต้องสูญเสียตู้เย็นของตัวเองไป
ตู้เย็นเหล่านี้เป็นหลักฐานแสดงให้โลกเห็นว่าคนอเมริกันใช้ตู้เย็นขนาดใหญ่มากเพียงใด การใช้ตู้เย็นยักษ์ท่ีต้องเสียบปลั๊กทิ้งเอาไว้ตลอดวันตลอดคืน แปลว่าต้องใช้กระแสไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงขนานใหญ่ด้วย นั่นทำให้เกิดกระแสทวนกลับในหมู่คนที่มีแนวคิดแบบ Green Politics พวกเขารู้สึกว่าตู้เย็นคือของใกล้ตัวที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป สร้างรอยเท้าคาร์บอนมากเกินไป จึงเกิดขบวนการรณรงค์ไม่ใช้ตู้เย็นขึ้นมาในอเมริกา (เช่นในบทความนี้ www.nytimes.com ของนิวยอร์คไทม์ส)
คนหนึ่งในขบวนการเลิกใช้ตู้เย็นบอกว่า การเลิกใช้ตู้เย็นทำให้เปลี่ยนนิสัยในการกินมากินสิ่งที่ดีขึ้น แทนที่จะกินแต่อาหารแช่แข็ง ก็ได้ออกไปสัมผัสกับอาหารสดๆ แถมยังลดการดื่มเบียร์และกินไอศกรีมอีกด้วย สุขภาพจึงดีขึ้น ถ้าจำเป็นต้องแช่อะไรเย็นๆ อยู่บ้าง (เช่นเนื้อหรือโคลด์คัท) ก็กลับไปใช้คูลเลอร์หรือถังน้ำแข็งแบบเดิมได้ กลุ่มคนไม่เอาตู้เย็นมีการรวมตัวกันทางออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนเคล็ดลับในการถนอมอาหารโดยไม่ใช้ตู้เย็น แถมยังบอกด้วยว่า ความนิยมใช้ตู้เย็นใหญ่ยักษ์เพื่อ ‘กักตุน’ อาหารนั้นคือ Refrigerator Lust หรือเป็น ‘ตัณหาตู้เย็น’ อย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจก็คือ แนวคิดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดลุกขึ้นมารื้อฟื้น ‘ตู้เย็นของไอน์สไตน์’ (Einstein Refrigerator) ขึ้นมา มันคือตู้เย็นที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
แต่ถ้าไม่มีตู้เย็น – เราจะอยู่กันอย่างไร, บางคนที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการต่อต้านตู้เย็นบอกแบบนั้น เพราะตู้เย็นคือความคุ้นชิน คือสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์คนอเมริกันมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 ตู้เย็นเป็นสัญลักษณ์ความก้าวหน้าทางด้านอาหาร การถอดปลั๊กหรือเอาตู้เย็นทิ้งไปเท่ากับทำลาย ‘แหล่งอาหาร’ ในบ้าน ตู้เย็นเป็น ‘สุดทาง’ ของ Cold Chain อันยิ่งใหญ่เกรียงไกรและหล่อเลี้ยงคนอเมริกันมาตลอดประวัติศาสตร์ ดังนั้น ขบวนการทิ้งตู้เย็นจึงแลดู ‘สุดขั้ว’ เกินไปสำหรับบางคน
แล้วถ้าอยากช่วยโลก อยากมี Green Politics เราจะทำอย่างไรกันดี?
ตู้เย็นเพื่อประชาชน : เรื่องเล่าจากลอนดอนและเสียงต้านจากเบอร์ลิน
คนอีกหลายกลุ่มเห็นพ้องต้องกันว่า ตู้เย็นคือปัญหา – แต่ไม่ใช่ปัญหาในตัวของมันเองมากเท่าปัญหาของพฤติกรรมการใช้ตู้เย็น
เมื่อเร็วๆ นี้ ในย่านบริกซ์ตันของลอนดอน เพิ่งมีการรณรงค์รมกลุ่มหาทุนแบบ Crowd-Funding เพื่อรวมเงินกันมาซื้อ ‘ตู้เย็นเพื่อประชาชน’ (The People’s Fridge) (เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่นี่ www.gofundme.com/peoplesfridge)
อะไรคือตู้เย็นเพื่อประชาชน?
เรื่องนี้เป็นแนวคิดแบบ Green Politics คล้ายๆ ขบวนการเลิกใช้ตู้เย็นในอเมริกาเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันก็คือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้เห็นว่าตู้เย็นเป็นปัญหา ปัญหาอยู่ท่ีคนใช้ตู้เย็นต่างๆ เพราะเรามักจะเอาของยัดๆ ใส่ไว้ในตู้เย็น แล้วก็ลืม ไม่ได้เอาออกมากินมาใช้ ทำให้เกิด ‘ขยะอาหาร’ (Waste) จากตู้เย็นมากมายมหาศาล กลุ่มที่ทำตู้เย็นเพื่อประชาชนบอกว่า เฉลี่ยแล้วคนเราจะซื้อของมาใส่ตู้เย็นแล้วทิ้งเป็นขยะคิดเป็นมูลค่าราวๆ สัปดาห์ละ 9 ปอนด์ ซึ่งเมื่อนับรวมแล้วไม่น้อยเลย แถมขยะอาหารเหล่านี้ยังเพิ่มขึ้นปีละ 4.4% อีกต่างหาก เมื่อนับรวมแล้วทั้งหมดเท่ากับเราทิ้งอาหารไปปีละ 7.3 ล้านตันเลยทีเดียว
แล้วตู้เย็นเพื่อประชาชนจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?
วิธีการของตู้เย็นเพื่อประชาชนก็คือ คนที่อยู่ในละแวกเดียวกับตู้เย็นสามารถเอาอาหารที่คิดว่าจะไม่กินไม่ใช้มาใส่ไว้ในตู้เย็นนี้ เพื่อให้คนอื่นสามารถหยิบไปกินไปใช้ได้ นั่นแปลว่าใครก็สามารถมาหยิบกินอะไรจากตู้เย็นนี้ได้ จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งปันอาหาร กระตุ้นสำนึกชุมชน และไม่ทิ้งอาหารให้เป็นขยะ
ตู้เย็นเพื่อประชาชนนี้จะมีคนมาคอยดูแลจัดการตู้เย็นวันละสองครั้งเพื่อเอาของหมดอายุทิ้งไป และดูแลให้ของในตู้เย็นเป็นของที่กินได้ไม่เป็นอันตราย รวมถึงทำความสะอาดตู้เย็นตามระยะเวลาที่กำหนด ที่สำคัญก็คือจะมีการ ‘ล้างตู้เย็น’ (ซึ่งไม่ได้มีความหมายแบบนั้น!) สม่ำเสมอ เพื่อให้ตู้เย็นมีประสิทธิภาพในการทำความเย็น จะได้ไม่เปลืองไฟเหมือนตู้เย็นตามบ้านที่ผู้ใช้ไม่ดูแล
การเอาของมาใส่ตู้เย็นสาธารณะนั้น ไม่ใช่ใครจะเอาอะไรมา ‘ทิ้ง’ ก็ได้นะครับ เขาจะมีกฎเกณฑ์ต่างๆ อยู่ เช่น ไม่รับเนื้อสด ของต้องอยู่ในหีบห่อ ถ้าเป็นนมก็ต้องยังไม่เปิด ฯลฯ แล้วถ้าใครอยากจะเอาอาหารที่ปรุงเองมาใส่ไว้ ก็ต้องลงทะเบียนไว้ก่อน จะได้รู้ว่ามาจากไหน เพื่อป้องกันการวางยาคนทั้งชุมชน
แนวคิดเรื่องตู้เย็นสาธารณะไม่ได้เกิดที่ลอนดอนเป็นที่แรก แต่แนวคิดนี้เคยมีมาแล้วทั้งในสเปน เยอรมนี และอินเดีย โดยในเยอรมนีเป็นขบวนการมีการรวมตัวกันเป็นองค์กร (ดู foodsharing.de แต่เป็นภาษาเยอรมันนะครับ) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากขบวนการ ‘คุ้ยขยะ’ (Dumster Diving) เพื่อเก็บอาหารที่ยังดีอยู่แต่ถูกทิ้ง เพื่อนำมาบริโภคหรือแจกจ่ายให้คนที่ขาดแคลนต่อไป เคยมีสารคดีเกี่ยวกับขบวนการนี้ชื่อ Taste the Waste เพื่อนำเสนอปัญหาขยะอาหารของเยอรมนีด้วย
แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ใช่ว่าเรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา เพราะตู้เย็นสาธารณะในเบอร์ลินนั้น เมื่อปีที่แล้วเพิ่งถูกทางการออกมาเตือนว่าอาหารในตู้เย็นสาธารณะทั้ง 25 ตู้ในกรุงเบอร์ลินไม่สะอาดปลอดภัยมากพอ จนหวั่นเกรงกันว่าจะมีคำสั่งให้ต้องปิดตัวโครงการ
เรื่องนี้ก็เป็นเรื่อง ‘การเมือง’ ที่ซับซ้อนพอๆ กับตู้เย็นอินเดีย เพราะทางการใช้ ‘มาตรฐาน’ ในการตรวจสอบอาหารในตู้เย็นสาธารณะแบบเดียวกับตรวจสอบอาหารในร้านค้าทั่วไป แต่แน่นอนว่าตู้เย็นสาธารณะที่เกิดขึ้นด้วยแนวคิดอยากกำจัดของเสีย ย่อมมีอาหารที่คุณภาพไม่ดีเลิศเท่าอาหารที่สดใหม่ในซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่แล้ว ดังนั้น ขบวนการนี้จึงต้องต่อสู้กันต่อไป – โดยมีอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้ออีโคไล และอาการท้องร่วง เป็นปัจจัยในการต่อรอง
การเมืองเรื่องตู้เย็น
ตู้เย็นที่เราเห็นอยู่ตรงหน้า จึงไม่ได้เป็นแค่ ‘ตู้’ ที่ ‘เย็น’ เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องราวอื่นๆ ซ่อนอยู่ภายในด้วย
ตู้เย็นอาจเป็นของใกล้ตัว ที่หลายคนเปิดปิดมันอยู่ทุกวัน แต่จากอินเดียถึงอเมริกา และจากลอนดอนถึงเบอร์ลิน เราจะเห็นได้เลยว่าแต่ละที่มีปัญหาหลายเรื่องของอำนาจซ่อนอยู่อย่างซับซ้อน แต่ละที่มีปัญหาของตัวเอง และมีความพยายามจะหาวิธีแก้ปัญหานั้นๆ ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไป
‘ตู้เย็น’ กับ ‘อำนาจ’ อาจเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยคิดถึง แต่เมื่อรู้เรื่องราวของตู้เย็นอินเดีย ตู้เย็นลอนดอน ตู้เย็นอเมริกัน และตู้เย็นเบอร์ลิน แล้ว คุณสงสัยเหมือนผมไหมว่า – มีอะไรซ่อนอยู่ในตู้เย็นไทยของเราบ้างหรือเปล่า
มีไหมหนอ?