สัปดาห์ที่ผ่านมานับได้ว่าเป็นสัปดาห์ที่แสนจะวุ่นวาย สารพัดดราม่าทางการเมืองทั้งไทยและเทศโดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่การประท้วง, นโยบายมากมายที่เกิดขึ้น ในไทยก็มีหลายเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขโมยรูปหรือคราฟต์เบียร์ แต่มีคำพูดฮิตติดปากใหม่ของนายกประยุทธ์เกิดขึ้นมาอีกคำ คือ ‘บัวใต้น้ำ’ แม้จะเป็นที่ถูกกล่าวขวัญถึงบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถูกอภิปรายอย่างหลากหลายหรือลงลึก วันนี้เลยอยากจับเรื่องนี้มาคุย
เนื่องจากสังคมไทย แม้จะอ้างว่าเป็นรัฐฆราวาส (Secular state) แต่จริงๆ ก็พอจะเรียกได้ว่าเป็นสังคมพุทธ เพราะกุศโลบายและกิจกรรมทางศาสนาสามารถสอดแทรกหรือส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในฐานะฆราวาสได้เสมอ ตั้งแต่ดื่มเหล้าไปยันการบังคับผ่านระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นเราจึงคุ้นชินกับคำว่า ‘บัวใต้น้ำ’ ที่ท่านนายกฯ ใช้ดี แต่เอาจริงๆ มันมีปัญหา หรือสะท้อนค่านิยมทางความคิดภายใต้คำพูดนี้อยู่ คือ เวลามันเป็นคำสอนทางศาสนาเนี่ย ก็อาจจะพอเข้าใจได้อยู่บ้าง เพราะศาสนาเน้นการพูดถึง ‘ความจริงสัมบูรณ์’ (Absolute truth) ที่ห้ามเถียง ห้ามแส่ ห้ามเสือก ห้ามวิจารณ์อยู่แล้ว แต่พอเป็นคำพูดทางการเมืองมันจึงสะท้อนอะไรที่น่าสนใจต่างกันไป ก่อนอื่นเราลองมาดูโครงสร้างของเรื่อง ‘บัวๆ’ นี่ก่อนสักนิด
บัวใต้น้ำ เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องบัวสี่เหล่า ซึ่งใช้แบ่งคนเป็น 4 จำพวกตามอุคฆฏิตัญญุสูตร (อ่านยากมากกกก) คือ (1) อุคคฏิตัญญู หรือบัวพ้นน้ำ เป็นคนที่เมื่อได้ฟังคำสอน (ธรรม) แล้วก็เข้าใจได้โดยเร็ว แบบเก็ตเลย ง่ายๆ คือพวกเก่งจัด, (2) วิปจิตัญญู หรือบัวปริ่มน้ำ เป็นคนที่ฟังคำสอนแล้วได้ฝึกได้คิดสักนิดก็จะเก็ต ไม่นาน ก็คือ เก่งจ่อตูดกลุ่มแรกมานั่นแหละ, (3) เนยยะ หรือบัวใต้น้ำ (คำพูดนายกฯ)[1] เอาง่ายๆ คือ กลุ่มที่โง่แต่ยังมีความขยันอยู่บ้าง สักวันคงได้ดี พอมีโอกาส ฟังคำสอนเลยแต่แรกอาจจะไม่เก็ต ฝึกแล้วก็ยังไม่เก็ต มีแต่ต้องทนถึกฝึกหนัก ซ้ำหนักๆ จึงจะพอเก็ตในคำสอนได้ ไม่ถึงกับไม่มีโอกาสเลย สุดท้าย (4) ปทปรมะ หรือบัวใต้ตม คือพวกโง่และยังไม่ขยันอีก โง่ไม่ได้ลืมหูลืมตา ฟังคำสอนไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทางจะเก็ตได้[2]
คือ เอาจริงๆ ตรงนี้มีปัญหานิดนึงว่า นายกฯ ใช้คำว่า ‘บัวใต้น้ำ’ ในความหมายของคำว่า ‘บัวใต้ตม’ (คือ เป็นพวกสมองไม่เปลี่ยน เป็นได้แค่อาหารปลาอาหารเต่า) ฉะนั้นที่เขียนนี่ จะถือว่าที่ท่านต้องการใช้จริงๆ คือคำว่า ‘บัวใต้ตม’ นะครับ
ทีนี้ ถ้าเราสังเกตดีๆ การจัดแบ่งคนเป็นพวกฉลาด หรือพอสอนได้ (เวไนยสัตว์) กับโง่เกินกว่าจะเยียวยา (อเวไนยสัตว์) นั้น วางฐานอยู่บนการเข้าใจและปฏิบัติตามในคำสอนสั่งไง ว่าง่ายๆ มันเป็นคติคำสอนที่เชื่อว่า ‘ความถูกต้อง’ มีเพียงหนึ่งเดียว หากได้ลองฟัง ลองคิด ลองปฏิบัติแล้ว แต่ยังเสือกไม่คิดว่า “ความถูกต้องชุดที่ว่านี้ถูกต้องตามที่คนสอนสั่งบอกมา แปลว่าแกนั้นโง่เสียเหลือเกิน” แกคือพวกบัวใต้ตมเสียแล้วนะ ถ้าว่ากันอย่างไม่เกรงใจในคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์อะไร ก็พูดได้ว่าจริงๆ แล้วการแยกคนเป็น ‘พวกฉลาด โอเค สอนได้’ กับ ‘โง่อย่างไร้จุดหมายปลายทาง’ นั้นเป็นเพียงฟังก์ชั่นต่อเนื่องของการบังคับให้เชื่อฟังความถูกต้องแบบใดแบบหนึ่งที่ผู้ถือครองอำนาจทางวาทกรรมต้องการให้เราเชื่อเท่านั้น…การเป็นบัวใต้ตมหรือบัวพ้นตม จึงเป็นเพียงการจัดแบ่งกลุ่มคน (ในเชิงการปกครอง) เป็น ‘พวกที่เชื่อฟัง’ และ ‘พวกที่ไม่เชื่อฟัง’ นั่นเอง
วิธีการคิดแบบนี้ ที่สะท้อนออกมาจากช่องปากของนายกรัฐมนตรีมันจึงไม่ได้แฝงนัยยะของความโง่ไม่โง่อย่างเดียว แต่มันเป็นการตีค่าผู้ที่ถูกประเมินด้วยคำเรียกเหล่านี้ว่าเป็น ‘ผู้ซึ่งเชื่อฟัง (อำนาจ) รัฐ’ และ ‘ผู้ซึ่งไม่เชื่อฟัง (อำนาจ) รัฐ ไปพร้อมๆ กันด้วย
และมันเป็นวิธีการคิดแบบรัฐเผด็จการ แน่นอนไม่ได้บอกว่ารัฐประชาธิปไตยจะไม่มีคนคิดแบบนี้ ‘มีเช่นกัน’ โดยเฉพาะฝ่ายขวา แต่นั่นคือ คนมีความคิดแบบเผด็จการในรัฐประชาธิปไตยไง กรณีของไทยคือ ความคิดแบบเผด็จการในรัฐเผด็จการเต็มตัว นั่นหมายความว่ากลไกการใช้อำนาจของรัฐ มันสอดคล้องกับระบบวิธีคิดของผู้มีอำนาจด้วย ซึ่งทำให้มันน่ากลัวกว่ามาก
เพราะรัฐมีวิธีคิดในการแบ่งคนแบบที่ว่า และมีกลไกอำนาจในมืออย่างล้นพ้น ฉะนั้นการจะด่านักข่าวที่ถามอะไรไม่เข้าครรลองอันควรถามกับรัฐว่าเป็นพวก ‘บัวใต้น้ำ (ตม)’ จึงเกิดขึ้น หรือในกรณีที่หนักหน่วงขึ้นไปอย่างกรณีของไผ่ ดาวดิน ที่แม้จะไม่โดนด่าคำนี้ แต่ก็เป็นเหยื่อของวิธีคิดและกลไกการใช้อำนาจแบบที่ว่า ไม่ใช่เพราะไผ่โง่ แต่เพราะไผ่ ‘ไม่เชื่อฟัง’ จึงโดนดี จริงๆ ในช่วงที่ผ่านมาคนแบบนี้มีอีกเยอะที่ซวยจากรูปแบบวิธีคิดนี้ของสังคม อย่างเนติวิทย์ หรือน้องเพนกวินก็ใช่ เดิมทีคนเหล่านี้จะถูกเรียกด้วยคำเท่ๆ ที่กินความหมายในเชิงการต้านอำนาจที่เหนือกว่า อย่างคำว่า ‘ขบถ’ แต่มาวันนี้ ก็ไม่พ้น พวกเด็กเปรต, นักเรียนชั่ว, เกรียน หรือบัวใต้ตมไปตามเรื่อง
ตอนนี้ในโลกตะวันตกกำลังฮิตกับคำอยู่ 2 คำ คือ Post-Truth หรือ ‘ข้าม (พ้น) ความจริง’ ซึ่ง Oxford Dictionary ยกให้เป็นคำแห่งปี 2016 และอีกคำที่กำลังมาแรงแบบเพิ่งมาหมาดๆ ก็คือคำว่า Alternative Facts หรือ ‘ข้อเท็จจริงทางเลือก’
ซึ่งแม่นางคอนเวย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำทำเนียบขาวตอบผู้สื่อข่าว NBC ขณะโดนสัมภาษณ์เรื่องคำลวงของทรัมป์[3] แน่นอน คำทั้งสองนี้ถูกใช้ในการสื่อถึงสังคมที่อยู่กับ “คำลวงหรือคุณค่าทางอารมณ์บางประการมันถูกทำให้เชื่อว่าคือความจริง หรือมีค่าเหนือความจริง” อย่างไรก็ดี คำทั้งสองนี้วางพื้นฐานอยู่บนแนวคิดที่ว่า สังคมนั้นๆ ต้องเคยเป็นสังคมที่เชื่อว่าต้องเคยเชื่อในคุณค่าของความจริงหรือข้อเท็จจริงมาก่อน คุณถึงจะไป ‘ก้าวพ้น หรือข้ามพ้น’ มันได้
การให้คุณค่าของข้อเท็จจริง และความจริงนั้นมันมาอย่างไร? การที่คำอธิบายหนึ่งๆ นั้น จะถูกถือว่าเป็นความจริงหรือข้อเท็จจริง ณ ช่วงนั้นของเวลาได้ ย่อมมาจากการตรวจสอบ ความสามารถในการสอบถาม การแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ การตีแผ่เรื่องราวได้อย่างจริงจัง จนสังคมยอมรับร่วมกัน ซึ่งนั่นเป็นที่มาของแนวคิดเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก และตรวจสอบด้วย ข้อเท็จจริงหรือความจริงแบบนี้มีฐานความคิดที่ได้อิทธิพลมาจากการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (ไม่ใช่ศาสนา) ที่มองว่ามันมีชุดความจริงหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องที่สุดอยู่ จนกว่าจะสามารถหาหลักฐานอื่นมาปัดตกความจริงเดิมไปได้
แต่กรณีในไทยนั้นดูจะใช้แนวคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะเราไม่เคยมีสภาวะเชิดชูความจริง อันมาจากการตรวจสอบแล้วตรวจสอบอีกได้ ตีแผ่ วิจารณ์กันอย่างที่ควรจะเป็นได้ ฉะนั้นเราจึงยังไม่มี ‘ยุคของความจริง’ ไปให้ข้ามพ้นได้แบบตะวันตก ไม่ได้มีข้อเท็จจริงในคติแบบตะวันตก ที่จะไปอ้างคำว่าข้อเท็จจริงทางเลือกได้อย่างเขา เราผูกติดความคิดเรื่องความจริงของเรากับคติแบบ ‘ความจริงสัมบูรณ์’ ของศาสนา ที่ความจริงคือการเชื่อฟังตามความถูกต้องนั้น การเห็นต่าง การโต้แย้ง เป็นได้เพียงบัวใต้ตม ความจริงคือการเชื่อฟัง ความไม่เชื่อฟังกลายเป็นอวิชชาไปเสียในบ้านเมืองนี้
ถ้าผู้นำและระบบการเมืองเรายังคาอยู่กับ 4 เหล่าบัวต่อไป เราก็เป็นได้แค่ ‘สังคมก่อนความจริง’ (Pre-Truth Society) เท่านั้นแหละครับ
Illustratiob by Namsai Supavong
[1] ต้นตอ www.matichon.co.th และ www.facebook.com/VoiceTVonline
[2] ต้นตอ www.84000.org
[3] ต้นตอ www.theguardian.com