คงจะพอจำกันได้ว่าราวๆ ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา (7 มกราคม) พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือพระ ว. วชิรเมธี ได้ออกมาเสนอข้อเสนอแปลกๆ อีกแล้ว (หลังจากที่ทำมาหลายรอบ) ว่าประเทศไทยน่าจะหันมาส่งออกสันติภาพ[1] ที่นำมาซึ่งความฉงนชวนขำของสารพัดฝ่าย เพราะเอากันตรงๆ (1) สันติภาพมันส่งออกไม่ได้อยู่แล้ว, (2) การอ้างว่าประเทศไทยมีสันติภาพมากมายเหลือเกินนั้น ดูจะเป็นการหลอนลวงตัวเอง (self-delusional) อย่างหนัก จนตอนได้ยินครั้งแรกแอบแปลกใจว่าพระ ว. ท่านไปกินยาตัวไหนมา และ (3) ถ้ามันมีสันติภาพจริง จะขยันซื้ออาวุธกันทำไมนักหนา?
แน่นอน ข้อเสนอที่ self-delusional ขนาดนี้ก็ย่อมนำมาสู่กระแสการก่นด่าและวิพากษ์วิจารณ์มากมายต่อพระ ว. อย่าง The Matter เองในวันถัดมาก็ร่วมวง ‘พูดถึง’ ด้วย[2] แต่หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ แซะ รวมไปถึงก่นด่า ก็มีอีกกระแสหนึ่งขึ้นมา อย่างการที่เดลินิวส์ลงบทความที่ตั้งชื่อด้วยคำถามว่า เรามาถึงยุคที่ฆราวาส…มุ่งจับผิด ‘พระสงฆ์’ ได้อย่างไร?[3] และก็มีคนไม่น้อยตอบรับกับกระแส ‘การกระตุกความคิด’ ที่ว่านี้ … บอกตรงๆ ว่าผมละเหี่ยใจ เพราะคิดว่า
คำถามมันควรจะเป็นว่า “ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราปล่อยให้พระสงฆ์ (นักบวช, ความศรัทธา, คำสอน, หรือตัวศาสนาเอง) ไม่ถูกตั้งคำถามได้อย่างไร?”
และผมคิดว่านี่แหละครับที่เป็นปัญหามากๆ ที่ทำให้อยากมาเขียนในชิ้นนี้ นั่นคือเรื่องของความเกลียดศาสนาอย่างล้นเกิน อย่างที่เรารู้จักกันดี อย่างพวกความเกลียดกลัวศาสนาอิสลามอย่างล้นเกิน หรือที่เรารู้จักกันในคำว่า Islamophobia และศาสนาอื่นๆ เองก็โดนเช่นเดียวกันนะครับ ผมขอเรียกสภาวะแบบนี้โดยรวมๆ ว่า ‘ศาสโนโฟเบีย’ แล้วกัน ซึ่งจริงๆ ในภาษาอังกฤษก็มีศัพท์ตรงๆ นะครับว่า Religionophobia หรือ Theophobia เลย โดยมาจากการเอาคำว่า ศาสนา (Religion/Theo) มารวมกับคำว่า phobia ที่แปลว่า ‘ความกลัว’ นี่แหละ และพร้อมๆ กันไป เมื่อเกิดกระแสความเกลียดกลัวที่ล้นเกิน มันก็นำมาสู่อีกสภาวะหนึ่งด้วย อย่างการหลงงม รัก ปกป้องอย่างล้นเกิน หรืออาการที่เรียกว่า philia นั่นเอง ก็เลยจะขอเรียกว่า ‘ศาสโนฟิเลีย’ หรือ Religionophilia ครับ
อาการศาสโนโฟเบีย ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงหรือเป็นปัญหามากที่สุดตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้นปัญหาเรื่องความเกลียดกลัวศาสนาอิสลาม (Islamophobia) โดยเฉพาะในยุคที่การก่อการร้ายกระจายทั่วไปหมด และมักจะนำโดยกลุ่มคนจากพื้นที่ประเทศโลกอาหรับที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือเป็นกลุ่มที่ชูธงความเป็นอิสลามของตนออกมาอย่างเปิดเผย เช่น กลุ่ม ISIS หรือแม้แต่ Al Qaeda และนำมาซึ่งกระแสความเกลียดกลัวที่รุนแรงอย่างในปัจจุบัน อย่างที่จะเห็นได้จากเนื้อหาใน National Security Strategy 2017 ของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่พูดถึงกลุ่มก่อการร้ายไว้เยอะแยะมากมาย และแทบทุกครั้งที่คำว่า ‘ก่อการร้าย’ ปรากฏขึ้นในตัวเอกสารนั้น มักจะพ่วง adjective phrase หรือคุณศัพท์วลีจำพวก มุสลิมสุดโต่ง (Fundamental Muslim) หรือมุสลิมหัวรุนแรง (Radical Muslim) แปะมาด้วยเสมอ
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความเกลียดกลัวศาสนาอิสลามนี้ไม่ได้เพิ่งมาเริ่มขึ้นในยุคของทรัมป์ คำว่า Islamophobia นี้ถูกเริ่มใช้จริงๆ ราวๆ ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ครับ แต่เพิ่งมากลายเป็นคำติดปากใหม่ทางการเมือง (Neologism) ก็เมื่อราวๆ ทศวรรษ 1970s นี้เอง และกระแสความเกลียดกลัวอิสลามที่พ่วงมากับภาพลักษณ์ที่ถูกผลิตซ้ำมาเรื่อยๆ ทั้งในแง่นโยบายทางการเมือง ความมั่นคง จนถึงสื่อต่างๆ
ในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าอิทธิพลของการประกาศ ‘สงครามต่อต้านการก่อการร้าย’ (War on Terror) ครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1901 หรือช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์นั้นมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการสร้างพื้นฐานต่อความกลัวนี้ แม้การประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายครั้งแรกของสหรัฐฯ นี้จะไม่ได้เป็นที่ฮิตฮอตติดลมบนมากนัก แต่มันก็เป็นครั้งแรกๆ ด้วย ที่มีการใช้วาทกรรมทางการเมืองในการ ‘ลดทอนความชอบธรรมของการกระทำที่หัวรุนแรง/สุดโต่ง’ หรือ Radical/Fundamental ทุกอย่าง
ว่าง่ายๆ ก็คือ คำประกาศของรูสเวลต์นั้น มันได้สร้าง ‘คุณศัพท์อันเป็นเงื่อนไขของข้อต้องห้าม, สิ่งผิด, ของต้องหลบเลี่ยง, น่าหวาดกลัว’ ขึ้นมาก่อน นั่นคือ ความหัวรุนแรง (Radicalism) หรือ ความสุดโต่ง (Fundamentalism) ของอะไรก็ตามขึ้นมา
และในช่วงสงครามเย็น เรื่อยมาจนกระทั่งหลังยุคสงครามเย็น (ยุคหลังสงครามเย็น เป็นเส้นแบ่งมาตราฐานทั่วไปในการแบ่งยุคสมัยของการก่อการร้ายสมัยใหม่) ก็เกิดการเคลื่อนไหวของลัทธิหรือความเชื่อที่ถูกนิยามว่าสุดโต่งมากมาย ตั้งแต่แนวคิดคอมมิวนิสม์เอง ไปจนถึงลัทธิคัลต์อย่างโอมชินริเกียว และแน่นอนกระแสการต่อต้านโลกตะวันตกโดยกลุ่มประเทศมุสลิมบางส่วนก็เริ่มมีขึ้นด้วย กระแสแนวคิดเรื่อง Islamophobia ก็ก่อตัวเป็นที่ติดปากมากขึ้นตามลำดับมาพร้อมๆ กันกับ ‘ความเลวร้ายสุดโต่งประการอื่นๆ’
Islamophobia น่าจะนับได้ว่ามาถึงจุดพีค ก็เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเกือบๆ 17 ปีที่แล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างการจี้เครื่องบินชนตึก World Trade Center และอาคารเพนตากอน จากนั้น ในวันที่ 20 กันยายน 2001 ประธานาธิบดีบุช ก็ได้มีคำแถลงทางการเมืองที่มียอดคนฟังมากที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ที่ชื่อว่า President Bush’s address to a joint session of Congress (20 September 2001)[4] มีการนับสถิติโดยรวมว่ามียอดคนฟังและตามดูมากกว่า 80 ล้านคน (ต้องเข้าใจนิดนะครับ ว่าบุชไม่ใช่นักร้องป็อปสตาร์ที่จะมีคนฟังเป็นร้อยล้านได้ และนั่นคือช่วงที่อินเตอร์เน็ตยังไม่ได้ไวขนาดนี้ด้วย ขนาดปัจจุบันนี้ ยอดวิวทางการเมือง จะแตะถึง 10 ล้านวิวนี่ก็หาได้ยากมากแล้ว) โดยในสปีชนี้ของบุช ก็เป็นการใช้คำจำพวก Fundamental Muslim และแนวๆ นี้ออกมาอย่างเต็มที่หนักหน่วงมาก ภายหลังจากเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่
ไม่พอกลุ่มก่อการร้ายที่ก่อเหตุอย่าง Al Qaeda ก็ยังมีลักษณะที่เรียกว่า Religious oriented หรือมีศาสนาเป็นเครื่องชักนำสูงมากด้วย (แม้อาจจะแพ้ ISIS อยู่บ้าง) ย่อมส่งผลให้กระแสความเกลียดกลัวอิสลามพุ่งกระฉูดสู่ยอดไพรกันเลยทีเดียว สื่อต่างๆ ฉายภาพความเป็น ‘ผู้ร้าย ตัวเลว’ ด้วยภาพลักษณ์ของคนมุสลิมอย่างโจ๋งครึ่ม รวมไปถึงความกลัวที่นำไปสู่อคติ การเลือกปฏิบัติที่ชัดเจนมากมาย อย่างการตรวจคนเข้าเมืองในประเทศตะวันตกที่หากหน้าแขกแล้ว ก็เตรียมตัวโดนตรวจแบบแทบจะชอนไชยันรูตูด ไปจนถึงการเลือกปฏิบัติในสเกลใหญ่ อย่างการจ้องจับหรือจับยัดความผิดในข้อหาผู้ก่อการร้ายทันทีหากหน้าแขก แต่หน้าคอเคเซียนผิวขาวเมื่อไหร่ ก็จะแทบไม่ใช้คำเรียกและบทลงโทษแบบเดียวกันนี้ (เพราะระดับของโทษต่างกันมากด้วย) และอื่นๆ อีกมากมาย
และปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับอิสลามครับ โดนกันทุกศาสนานั่นแหละ ไม่ว่าจะคริสต์ พุทธ ฮินดู ซิกข์ ขงจื๊อ ฯลฯ โดยเฉพาะจากกลุ่มที่มักจะถูกเรียกรวมๆ ว่า Anti-Religion Fanaticism หรือเป็นกลุ่มแฟนคลั่งของการแอนตี้ศาสนา (โดยส่วนตัวผมมักจะเรียกว่าเป็นกลุ่มพวกต้านศาสนา ชนิด เห่อ hmoi) ที่เอะอะๆ ด่าโทษ โบ้ยเละ ไม่มีเหตุผลกับศาสนาใดๆ ไว้ก่อน อย่างที่บอก ทุกศาสนาเจอกับกลุ่มศาสโนโฟเบียที่ว่านี้กันหมด แต่ผมขอฉายภาพผ่านอิสลามอย่างเดียวเพราะโดนแรงและหนักสุดในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ผมเขียนเรื่องศาสโนโฟเบียมายาวยืด เพราะจะบอกว่า ความเกลียดกลัวศาสนาอย่างล้นเกิน จนนำมาซึ่งการเลือกปฏิบัตินั้นมันเป็นปัญหาอย่างมากจริงๆ ครับ แต่พร้อมๆ กันไป มันก็เป็นคนละเรื่องกับการด่า การวิจารณ์ การบ่น หรือการอภิปรายถึงตัวนักบวช หลักธรรมคำสอน ไปจนถึงตัวตนของศาสนาใดๆ ด้วย …มันคนละเรื่องกัน ต้องแยกกันให้ดี
ปัญหาที่เจอบ่อยมากกกก (ก.ไก่ล้านตัว) ของการวิพากษ์วิจารณ์อะไรใดๆ ของศาสนาก็ตาม อย่างกรณีการด่าการวิจารณ์พระ ว. หรือแม้แต่การวิจารณ์ หรืออภิปรายตีความคำสอนของศาสนานั้น ก็มักจะตามมาด้วยดราม่าระดับใหญ่ การรุมไล่ฟลัชก่อกวนในทางออนไลน์ ไปจนถึงการขู่เข็ญกันจริงๆ ขึ้นมา และหลายๆ ครั้งก็ไปอ้างว่าการด่า การวิจารณ์เหล่านั้น คือ การ ‘เหยียด การอคติต่อศาสนา’ ซึ่งเป็นลักษณะของ ‘ศาสโนโฟเบีย’ ที่บรรยายยืดยาวไป ก็จะบอกอีกรอบว่า “มันไม่ใช่โว้ยยยย!”
ซึ่งไอ้การปกป้องอย่างล้นเกิน รักอย่างคลั่งไคล้ หูดับตาบอดนี่แหละครับ ที่นำมาสู่อีกปัญหาหนึ่ง นั่นก็คือเรื่อง ศาสโนฟิเลีย หรือจะเรียกว่า Religion Fanaticism (หรือลัทธิแฟนคลั่งของศาสนา) ก็ได้ โดยผมคิดว่ากลุ่มศาสโนฟิเลียนี้สามารถแบ่งอย่างหยาบๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
(1) กลุ่มที่รักศรัทธาสุดจิตสุดใจ ปกป้องอย่างมืดบอด ไม่สนบ้าสนบออะไร เรียกว่าเป็นกลุ่ม blind faith (เชื่ออย่างมืดบอด) ก็คงไม่ผิด
(2) กลุ่มที่ปกติก็นับถือไปงั้นแหละ ไม่ได้สนไม่ได้แคร์อะไร แต่พอมีเคสขึ้นมา ก็จะต้องรีบแสดงความรักศรัทธาของตนออกมาให้โลกเห็นให้โลกรู้ ด้วยการไปไล่กระทืบคนด่าคนวิจารณ์ศาสนาตามกระแสเค้าด้วย คือ เป็นความศรัทธาในฐานะการแสดงทางการเมือง (Faith as Political Performance) และสุดท้าย ที่อาจจะเป็นกลุ่มที่ผมเพลียจิตด้วยที่สุดก็คือ
(3) กลุ่มคนสายลิเบอรัลที่ปกติก็นิยมชมชอบในการวิพากษ์วิจารณ์นี่แหละ แต่เห็นผลพวงของการที่บางศาสนาอย่างอิสลามโดนอคติหรือเกลียดกลัวอย่างรุนแรงใส่ จึงออกมาปกป้องการโดนเหยียดโดนเกลียดกลัวนั้นอย่างสุดกำลัง จนกลายเป็นปกป้องอย่างล้นเกินแทนไปเสียฉิบ กลุ่มนี้อาจจะได้ว่าเป็น Reactionary Religionophilia หรือกลุ่มหลงศาสนาแบบปฏิกิริยา
ทีนี้ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็ตาม แม้ว่าจะมีที่มาที่ไม่เหมือนกัน แต่ผมคิดว่าล้วนนำมาสู่ปัญหาลักษณะเดียวกันหมด นั่นคือ การทำให้ศาสนาหรือตัวตนที่เกี่ยวข้องกับศาสนานั้นกลายเป็น ‘ตัวตนสัมบูรณ์ในตัวเอง’ คือ ปกติศาสนานั้นมักจะมุ่งไปที่การสร้าง Absolute being หรือตัวตนสัมบูรณ์สูงสุด อย่างพระเจ้า หรือ Absolute aim (เป้าหมายสูงสุด) อย่างการนิพพานอยู่แล้ว ว่าง่ายๆ คือ โดยตัวทิศทางของการเขียนและสร้างศาสนาเองมันก็ทำให้ศาสนาแทบจะกลายเป็นพื้นที่ในการเสพติดโดยไม่ต้องตั้งคำถามอยู่แล้วเมื่อก้าวขาเข้าไปหามัน เพราะมีหน้าที่ไปฟัง ไปเชื่อ ไปปฏิบัติตามอย่างเดียว เมื่อเข้าไปแล้ว มักไม่ได้ไปเถียงหรือคิดตั้งคำถามอย่างจริงจัง ซึ่งก็นับว่าไม่ดีงามหรือ healthy นักแล้ว
แต่วิธีการของกลุ่มศาสโนฟิเลียที่ว่าทำให้ศาสนากลายเป็น ‘ตัวตนสัมบูรณ์ในตัวเอง’ นั้นยิ่งหนักขึ้นไปอีกขั้น คือ ต่อให้ไม่ต้อง ก้าวเข้าไปสู่พื้นที่ของศาสนานั้นๆ ก็ไม่ต้องมาตั้งคำถามกันแล้ว
ปัญหาแบบนี้ บางครั้งเราเรียกกันว่า Anti-Meiklejohnian Absolutism ครับ ไอ้ชื่อยากๆ ที่ผมเองก็ไม่ชัวร์ว่าออกเสียงเป๊ะๆ ได้นี้ คืออะไร? Meiklejohnian Absolutism หากแปลแบบง่ายๆ ที่สุดก็คือ ความสูงสุดของการสามารถแสดงออกทางเหตุผลในฐานะมนุษย์ต่อทุกสิ่งทุกอย่างแม้แต่กับสิ่งที่เป็นรากฐานที่ให้อำนาจหรือให้เสรีภาพในการแสดงออกนั้นกับเราเอง น่ะครับ ซึ่งก็เป็นหนึ่งในหลักการสำคัญอันเป็นพื้นฐานของเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกนั่นเอง และการ Anti- ไอ้หลักออกเสียงยากๆ นี้ ก็คือ การปฏิเสธเกณฑ์สำคัญอันเป็นรากฐานนี้ด้วย มันจึงไม่ดีนักต่อสุขภาพของระบอบการปกครองประชาธิปไตย ไม่เพียงเท่านั้น มันก็จะทำให้สิ่งที่เป็นปัญหา หรืออย่างน้อยอาจจะเป็นปัญหาได้ของตัวศาสนาเองไม่ได้รับการพูดถึงไปด้วย และฝั่งที่จะแย่ในท้ายที่สุดก็คือตัวศาสนาเองนั่นแหละ
ปัญหานี้เจอมากทั้งกับพุทธ และอิสลาม อย่างกรณีพุทธในไทย เมื่อเจอประเด็นว่ามีพระสงฆ์ที่ประพฤติตัวผิดกฎของศาสนา หรือบางครั้งไปถึงขั้นผิดกฎหมาย ก็จะเฮโลแก้ต่างทันทีว่า “พวกนี้พุทธปลอม พระสงฆ์ปลอม” ซึ่งเป็นการปฏิเสธความจริงเห็นๆ เค้าเป็นสงฆ์ชัดๆ ก็แค่เป็นสงฆ์ที่ทำผิด แต่เรายอมให้ “พระผิดไม่ได้ หากจะผิดต้องไม่ใช่พระ” เพราะศาสนากลายเป็นสิ่งซึ่งเป็นตัวตนสัมบูรณ์สูงสุด ต้องบริสุทธิ์ตลอดเวลา ซึ่งเอาจริงๆ มันแย่มากนะครับ ก็เพราะแบบนี้แหละ ปัญหาเดิมๆ ในสถาบันสงฆ์มันถึงแก้ไม่ได้สักที ไอ้การทำให้พื้นที่ของสงฆ์ของศาสนาพุทธในสังคมไทยกลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตรวจสอบไม่ได้ ตั้งคำถามไม่ได้ พื้นที่ที่ดำมืดไร้การตรวจสอบใดๆ มันมาคู่กับการกระทำที่ผิดกติกาสังคมได้ทั้งนั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นซ่องที่ค้ามนุษย์โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม หรือเป็นกุฏิสงฆ์ก็ตาม (หรือจะไปไกลถึงทำเนียบรัฐบาลที่ตรวจสอบอะไรไม่ได้ด้วยก็ได้) มันคือหลักการเดียวกัน ฉะนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ ก่นด่า ประณามได้ มันจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
แล้วยิ่งเราไปสร้างพื้นที่ทางศาสนาให้ศักดิ์สิทธิ์ล้นเกินเท่าไหร่ มันยิ่งเป็นพื้นที่ของการชุบตัวของความผิดให้กลายเป็นถูกได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
อย่างถนอม กิตติขจร ที่จบปัญหาความเลวร้ายล้านแปดที่ตนทำด้วยการ ‘บวช’ หรือข้อเสนออย่าง “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” จนกระทั่งมาถึง ”ฆ่าเวลาบาปกว่าฆ่าคน” ของพระ ว. นี้ ที่ยังรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้ก็อาศัยความศักดิ์สิทธิของพื้นที่ผ้าเหลืองแตะไม่ได้ที่สังคมเราสร้างขึ้นมานี่แหละครับ
ปัญหาลักษณะเดียวกันเกิดกับศาสนาอิสลามด้วย จนมีคำว่า Islamophilia เกิดขึ้นมาอีก โดยเฉพาะใช้อธิบายศาสโนฟิเลียประเภทที่ 3 หรือ Reactionary Religiophilia จากการที่กระแสเกลียดกลัวอิสลามนั้นมีอยู่จริงๆ หนักหน่วงจริงๆ และเป็นปัญหาจริงๆ มันทำให้มนุษย์ฝั่งลิเบอรัลจำนวนมาก ตั้งแต่ฮิปสเตอร์ยันโปรเฟสเซอร์ต่างออกมาปกป้องอิสลามจนล้นเกิน กลายเป็นปัญหาอีกแบบ (คล้ายๆ กับกรณีพุทธในไทยที่ว่าไป) คือ หงายตีนยันไว้ก่อนว่า ‘อะไรๆ อิสลามก็ไม่ผิด’ ซึ่งมันทำให้ปัญหาที่มีจริงหรืออาจจะมีอยู่จริงนั้นไม่ได้รับการพิจารณาให้ดี
เอาง่ายๆ ถ้าใครมาด่าว่าอิสลามทำให้คนปาเลสไตน์ก่อการร้ายเนี่ย ผมเถียงช่วยสู้ตายเลยนะครับ อันนี้ก็ต้องดีเฟนด์อิสลามไป เพราะประเด็นแกนกลางที่ขับเคลื่อนขบวนการปลดปล่อยอิสรภาพของปาเลสไตน์นั้นหลักๆ แล้วคือเรื่องของชาตินิยมและการชิงพื้นที่ดินแดนตนเองคืน (หลังจากโดนไล่ที่ไปแบบดื้อๆ) พวกเขาแทบทุกคนอาจจะเป็นชาวมุสลิม แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับอิสลามที่ทำให้เค้าออกมามาเคลื่อนไหวแบบนี้ ถ้ามาด่าในเคสแบบนี้ว่าเพราะอิสลาม ผมก็จะเถียงด้วยสู้ตายอย่างว่าไป มันก็เหมือนเคส IRA ของไอร์แลนด์เหนือนั่นแหละครับ ก็ไม่มีใครไปด่าว่าเพราะความเป็นคริสต์ทำให้มาเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดน อะไรอย่างนี้
แต่พร้อมๆ กันไป เคสไหนที่มันมีศาสนาเป็นแกนกลางอยู่ ก็ต้องกลับมาดูอย่างยอมรับความจริงด้วย อย่างกรณีของ ISIS เป็นต้น ที่เค้าชูธงการดึงสมาชิกและกล่อมเกลาคนผ่านการตีความเนื้อหาคำสอนของศาสนาอิสลามเลยเนี่ย คุณจะไม่เห็นด้วยกับการตีความของ ISIS เลยนั่นเรื่องหนึ่ง (ผมเองก็ไม้เห็นด้วย) แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นไงครับ ประเด็นคือ ในข้อเท็จจริง มันมีคนที่เชื่อในการตีความคำสอนศาสนาแบบ ISIS ใช้อยู่จริงๆ full stop! นั่นแปลว่า เราต้องกลับมาคิดกันแล้วจริงๆ ว่า คำสอนมันมีปัญหาจริงๆ หรือเปล่าที่ มีช่องว่างอนุญาตให้คนหันไปเชื่อแบบที่ ISIS อธิบายได้ ไม่ใช่มาแต่ท่องมนต์กันว่า ไม่ๆๆๆ ISIS ไม่ใช่อิสลาม ISIS ตีความผิด หรืออิสลามคือศาสนาแห่งสันติภาพ แล้วก็ท่องวนไปงี้
นี่แหละครับ มันคือปัญหาของการเซ็นเซอร์ตัวเองจากการวิจารณ์ศาสนา ‘ไม่ว่าจะศาสนาใดๆ’ เราต้องด่าได้ วิจารณ์ได้ ประณามได้ ก่นด่าได้ครับ มันไม่ผิด มันเป็นเรื่องปกติ มันเป็นเรื่องอันสมควรทำแล้ว และก็เป็นคนละเรื่องกับศาสโนโฟเบีย ที่ไปเลือกปฏิบัติกับศาสนานั้นศาสนานี้ หรือเกลียดกลัวอย่างล้นเกิน สร้างภาพเป็นปีศาจตลอดเวลาครับ ถ้าไปเจอหมอต้านศาสนาขึ้นป้ายว่า “งดรักษาคนนับถือศาสนา เพราะมีพวกนี้แล้วโลกโง่ลง” อะไรแบบนี้ เออ แบบนี้แหละครับที่เรียกว่าศาสโนโฟเบีย และควรด่าหมอแบบนี้ แต่การวิพากษ์วิจารณ์พระไตรปิฎก ตั้งคำถามต่อคำสอนพระพุทธเจ้า หรือด่าคำพูดของพระ ว. นั้น มันไม่ใช่ครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก