โดยพื้นฐาน ผมเป็นคนชอบการเคารพ ไม่ใช่เฉพาะตอนที่ผมเคารพใครหรือใครเคารพผม แม้กระทั่งตอนที่ผมเห็นใครที่ไม่รู้จักกันเคารพกันเอง ผมก็ยังยินดีเช่นกัน
ทั้งนี้เพราะผมมองว่า การเคารพเป็นสัญลักษณ์ของการลดวางตัวตนของตนลง อย่างน้อยก็สำหรับผู้ที่ตนเคารพ ผมจึงเชื่อเอาเองว่า การเคารพ (โดยสมัครใจ) เป็นเส้นทางหนึ่งของความสงบเย็น
แต่ผมก็แปลกใจมากๆ ที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยกับรู้สึกหงุดหงิดอย่างมาก ที่เห็นหรือรู้ว่า มีคนบางคนไม่แสดงความเคารพต่อคนหรือสัญลักษณ์ที่ตนเคารพในรูปแบบหรือท่าทางที่ตนทำ
ที่ผมแปลกใจมากก็เพราะว่า ตัวผมก็รู้ดีว่า คนอื่นจำนวนมากอาจไม่รู้จักคนที่ผมเคารพ เช่น คุณพ่อของผม หรือถึงรู้จักพ่อของผม เขาก็อาจไม่ได้รู้สึกเคารพคุณพ่อของผมเหมือนผม เพราะไม่ได้ผ่านประสบการณ์เช่นเดียวกับที่ผมผ่านมา แล้วผมจะไปหงุดหงิดคนที่ไม่เคารพพ่อผมได้อย่างไร?
นอกจากนี้ บางคนที่เคารพคุณพ่อผม ก็อาจแสดงความเคารพคุณพ่อผม ในวิธีการที่แตกต่างไปจากผม เพราะฉะนั้น การที่คนคนหนึ่งไม่ได้แสดงความเคารพในรูปแบบหรือท่าทางที่เราทำ (เช่น ลูกผมชอบกอดปู่มากกว่ากราบปู่) ก็มิได้หมายความว่า เขาไม่เคารพในคนๆ นั้น แล้วเราจะไปหงุดหงิดคนที่ไม่แสดงความเคารพในรูปแบบเดียวกับเราได้อย่างไร?
ผมจึงค้นหาว่า ทำไมการแสดงความเคารพจึงกลายเป็นความหงุดหงิดไปได้?
ผมพบว่า มี 3 เหตุผลที่ทำให้คนหงุดหงิดเมื่อเห็นหรือรู้ว่า คนอื่นไม่แสดงความเคารพในรูปแบบหรือท่าทางเดียวกับตน
ประการแรกคือ หงุดหงิดเพราะติดยึดในรูปแบบของการแสดงความเคารพของตนมากไป
ทั้งนี้เพราะสังคมแต่ละสังคมมักสร้าง ‘รหัส’ หรือ ‘สัญลักษณ์’ ของการแสดงความเคารพในสังคมไว้ ว่าแบบใดเรียกว่า เคารพน้อย แบบใดเรียกว่าเคารพมาก ฉะนั้น ถ้าผู้นั้นติดยึดกับสัญลักษณ์นั้นก็อาจจะรู้สึกว่า บางคนแสดงความเคารพผู้นั้นน้อยกว่าตน
แต่เราต้องไม่ลืมว่า สุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้ ก็เป็นเพียง ‘รหัส’ หรือ ‘สัญลักษณ์’ ของการเคารพเท่านั้น ไม่ใช่การเคารพที่แท้จริง และที่สำคัญกว่านั้นการเคารพนี้ยังกระทำผ่าน ‘การแสดง’ นั่นแปลว่า ผู้ที่แสดงเก่งก็อาจ ‘แสดง’ ความเคารพมากกว่าความเคารพที่ตนมีจริงก็เป็นได้
เพราะฉะนั้น เพื่อลดความหงุดหงิดลง ผมจึงเสนอว่า อย่ายึดติดกับรูปแบบ ‘การแสดง’ ความเคารพของแต่ละคนมากเกินไป แต่ทั้งนี้ การยึดติดนี้ อาจเกี่ยวพันกับเหตุผลข้อที่สามก็ได้
ประการที่สอง หงุดหงิดเพราะมีวัตถุประสงค์พิเศษนอกเหนือจากการเคารพ
ผมพบว่า การแสดงความเคารพจำนวนมาก มีการพ่วงวัตถุประสงค์พิเศษเพิ่มเติม หรือมีบางสิ่งที่นอกเหนือจากการเคารพ (ซึ่งมิได้หมายความว่า เป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี) เช่น ต้องการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียงของหมู่คณะ หรือไอเดียสร้างสรรค์สวยงามของการแสดงความเคารพ
ดังนั้น แทนที่จะปล่อยให้ต่างคนต่างแสดงความเคารพบุคคลผู้นั้นกันเอง ในกรณีนี้ ผู้จัดก็จะมีการรวบรวมผู้คน พร้อมทั้งประดิษฐ์ท่าทางและพิธีกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้การแสดงความเคารพของตนมีความโดดเด่นประทับใจตาม ‘วัตถุประสงค์เพิ่มเติม’ ของตน
ใช่เลย ในกรณีนี้ ผมเข้าใจเลยว่า ทำไมการหงุดหงิดรวมหมู่จึงเกิดขึ้น หากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการแสดงความเคารพในช่วงพิธีกรรมนั้น? คำตอบก็เพราะมันทำให้วัตถุประสงค์พิเศษของ
ผู้จัดไม่อาจบรรลุได้อย่างสมบูรณ์นั่นเอง (ไม่ใช่เพราะเคารพหรือไม่เคารพ)
ผู้หงุดหงิดรวมหมู่เหล่านี้ จึงหงุดหงิดเฉพาะในกรณีที่ผู้นั้นแสดงความเคารพที่ต่างไปจากตน ในวันที่ตนจัด เข้าร่วม หรือรู้สึกร่วมเท่านั้น ส่วนวันอื่นๆ คนอื่นเหล่านั้น (รวมถึงตนเองด้วย) จะแสดงความเคารพหรือไม่ หรือแสดงความเคารพในรูปแบบใด คนหงุดหงิดกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่สนใจ เพราะมิได้เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์เพิ่มเติมของตน
ในกรณีนี้ ผมเสนอว่า ผู้ที่จัดควรแสดงวัตถุประสงค์เพิ่มเติมและรูปแบบของตนให้ชัดเจน และให้ผู้เข้าร่วม ตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมการแสดงความเคารพในท่าทางและพิธีกรรมนั้นๆ โดยสมัครใจ หรือจะทำความเคารพในรูปแบบของตนเองก็ย่อมได้
ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะร่วมแสดงความเคารพตามวัตถุประสงค์เพิ่มเติมของผู้จัด ย่อมมีสิทธิอย่างสมบูรณ์ในการแสดงความเคารพ (หรือไม่แสดง) ตามวิธีการของตน โดยไม่ถูกข้อครหาใดๆ หรือสงสัย เพราะสิ่งที่ผู้นั้นปฏิเสธอาจไม่ใช่การเคารพหรือไม่เคารพต่อผู้ที่ควรเคารพนั้น แต่เป็นการปฏิเสธต่อ ‘วัตถุประสงค์เพิ่มเติม’ ของผู้จัดต่างหาก
ประการที่สาม หงุดหงิดเพราะการแสดงความเคารพเป็นส่วนหนึ่งของการค้ำจุนระบบที่ตนอาศัยหรือสนับสนุนอยู่
เหตุที่ต้องกล่าวข้อนี้ ก็เพราะ หลายระบบ (หรือระบอบ) ล้วนพยายามนำ ‘การเคารพ’ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างยอมรับต่ออำนาจหรือผู้มีอำนาจที่จัดวางไว้ในระบบนั้นๆ
ทั้งนี้เพราะ การเคารพมักจะทำงานจากข้างใน (จิตใจของผู้คน) ต่างจากการใช้อำนาจ (หรือกฎหมาย) ที่ทำงานจากภายนอก การเคารพจึงมีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่าการใช้อำนาจ และยังทำให้ผู้ที่เคารพนั้นยอมรับในระบบจากข้างในไม่ใช่แค่การถูกบังคับ
แต่การทำงานจากภายในมักมีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย โดยเฉพาะจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ที่ความเคารพจากภายในจะคลอนแคลนไปตามกาลเวลา
ดังนั้น นอกจากระบบจะต้องเสริมความรู้สึกเคารพจากภายในแล้ว ระบบยังต้อง ‘ปราม’ คนที่ไม่เคารพหรือไม่แสดงความเคารพโดยใช้อำนาจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบหรือมาตรการทางสังคมควบคู่ไปด้วย มิฉะนั้น ความรู้สึกไม่เคารพหรือไม่จำเป็นต้องแสดงความเคารพอาจขยายตัวลุกลามบานปลายไปสั่นคลอนการดำรงอยู่ของระบบก็เป็นได้
การหงุดหงิดรวมหมู่จึงเกิดขึ้น เพื่อปรามผู้ที่ไม่ได้แสดงความเคารพในท่าทางหรือสัญลักษณ์ที่ตนกำหนด ไม่ให้มีการส่งต่อหรือส่งผ่านการแสดงความเคารพแบบนั้นๆ (หรือการไม่แสดงความเคารพ) ไปยังผู้อื่นต่อๆ ไป จนเป็นอันตรายต่อระบบที่ตนยึดถืออยู่
จึงไม่แปลกใจที่มีบางคนหงุดหงิดต่อผู้แสดงความเคารพในแบบที่ต่างจากตนถึงขั้นเรียกว่า ‘เป็นภัย’ หรือ ‘เป็นอันตราย’ ต่อสังคม ซึ่งจริงๆ แล้ว เขาหมายถึง เป็นอันตรายต่อระบบมากกว่า
ในกรณีที่ 3 นี้ ผมเห็นว่า เราควรแยกแยะการเคารพ กับการดำรงอยู่ หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบออกจากกัน การเคารพควรเป็นสำนึกทางจิตใจขั้นสูงระหว่างคนกับคน (หรือสิ่งอื่น) มากกว่า การแสดงเคารพเพื่อการค้ำจุนระบบให้ดำรงอยู่
ที่กล่าวเช่นนี้ ก็หมายความว่า ผู้ที่อยากจะรักษาระบบไว้ก็สามารถแสดงความเคารพของตนเพื่อจรรโลงระบบต่อไปได้ แต่ไม่ควรใช้ความเคารพของตน (ที่อิงกับการดำรงอยู่ของระบบ) ไปทิ่มแทงผู้อื่นที่แสดงการเคารพในรูปแบบที่ต่างไปจากเรา (หรือไม่ได้แสดงความเคารพ) เพียงเพื่อรักษาระบบที่เราชอบหรือยึดถือเท่านั้น
ถ้าเราตัดเหตุผลทั้ง 3 ประการออกไปได้ การเคารพของเรา (ไม่ว่าต่อใคร) ก็จะเป็นไปโดยบริสุทธิ์ และการเคารพก็จะเป็นหนทางหนึ่งสู่ความสงบเย็นอย่างแท้จริง