ผมเรียนอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่าบ้าคลั่งเรื่องการทำงานหนักที่สุดแห่งหนึ่งของโลกครับ และผมเองก็รู้จักกับเพื่อนสองสามคนที่เผชิญกับวัฒนธรรมความบ้างานราวคนบ้าของสังคมนี้ หลายคนฝืนทำงานบ้างแค่จ้องหน้าคอมพ์ตาลอยไปวันๆ ให้ดูเหมือนได้ทำงานอยู่ไม่ดูเป็นคนขี้เกียจ กักขฬะในสายตาเพื่อนร่วมงาน งมมันอยู่ในออฟฟิศตั้งแต่เช้ายันเที่ยงคืนตีหนึ่งแทบทุกวัน โอทีไม่ได้เป็นเรื่องปกติ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมอยากตั้งข้อสังเกต ข้อกังขาถึงความถูกต้องของ ‘ความขยัน’ หรือการบ้าในวัฒนธรรมความขยัน
ลักษณะความบ้างานนี้ปรากฏให้เห็นในแทบทุกสังคม อย่างทั้งจีน เกาหลี ตะวันตก รวมถึงประเทศไทยเองในหลายกรณี คนขยันได้รับการเชิดชูคนขี้เกียจมักได้รับการประณามวัฒนธรรมวิธีคิดแบบนี้โดยเฉพาะในพื้นที่การทำงานนี้เองที่ทำให้แม้กระทั่งการถามหาสิทธิในการพักของตนเอง ถูกมองว่าเป็นความขี้เกียจสันหลังยาวที่พึงหุบปากไว้ อย่าได้พูดถึง หลายครั้งการลาตามสิทธิที่ตนมี ถูกทำถูกปฏิบัติราวกับการขออนุญาตเลิกเรียนก่อนเวลาต่อหน้าอาจารย์ที่ต้องโดนซักไซ้มากมายว่าเพราะอะไรยังไง บางทีกระทั่งฝากการบ้านเพิ่มไว้ให้ล่วงหน้าก็มี (ซึ่งก็ถกเถียงได้อีกว่าควรจะชอบธรรมไหม) ทั้งๆ ที่สิ่งเหล่านี้ควรจะเป็นสิทธิของเรา แต่การอยากพัก การขอให้กูได้ขี้เกียจบ้างดูจะถูกผลักให้ตกไปอยู่ในขอบของสังคม
ผมจึงคิดว่าเราควรพูดถึงเรื่องนี้กันได้แล้วว่า “กูเหนื่อย กูจะพัก หนักหัวใคร?” เพราะสิทธินี้เป็นของเรา และเราควรจะมีกระทั่ง “สิทธิในการขี้เกียจ” ที่ไปไกลยิ่งกว่าการพักผ่อนหรือไม่?
ผมคิดว่าคงไม่ต้องอธิบายให้มากความนักนะครับหากเราจะพูดว่า ‘วาทกรรมของความขยัน’ นั้น เป็นกับดัก หรือเป็นกลไกวิธีคิดของโลกทุนนิยม ที่มองตัวเราคนทำงานในฐานะ ‘หน่วยในการผลิต’ แบบหนึ่ง และเป็นแบบที่โง่ด้วยแม้แต่ภายในฐานคิดแบบทุนนิยมก็ตามที (แต่โง่อย่างไรนั้นเดี๋ยวค่อยพูดถึงนะครับ)
ระบบการประเมินคนด้วยมูลค่าเชิงความสามารถในการผลิตนี้เองเป็นแกนหลักของระบบทุนนิยมเสมอมาครับ ตั้งแต่การคัดคนเข้าทำงานที่จะประเมินความคุ้มค่าและความคาดหวังในการผลิตจากคนแต่ละคน ไปจนถึงการจ่ายเงินเดือนที่ประเมินตามความสามารถในการผลิต ยันการอนุมัติวันหยุดพัก หรือกระทั่งลาออก มันแทรกซึม วัดมูลค่าความเป็นคนออกมาเป็นตัวเลขตลอดเวลา (แหมะ เวลานี้เพลง Price Tag ของ Jessie J. ควรจะมานะครับ) และในแง่หนึ่งมันบอกกับเราว่า คนไม่เคยถูกมองในฐานะคนเมื่ออยู่ในระบบทุนนิยมนี้
เมื่อวิธีการมองคนทำงานในฐานะหน่วยการผลิต หรือส่วนหนึ่งของปัจจัยในการผลิตนั้น เป็นวิธีการคิดพื้นฐานของระบบทุนนิยมที่มองเรื่องผลผลิต (Productivity) เป็นสำคัญมาโดยตลอด ฉะนั้น ภายใต้ระบบคิดนี้ แนวคิดแรกๆ ที่โผล่มาก็คือ ต้องหาทางเค้นเอางานออกมาจากเหล่าแรงงานหรือพนักงานให้ได้มากที่สุด
พูดในอีกแบบหนึ่งก็คือ เป็นวิธีคิดที่ไม่ได้มองมนุษย์ในฐานะที่เป็นมนุษย์นัก แต่เป็นประหนึ่งเครื่องจักรในการผลิต หรือเผลอๆ จะเลวร้ายเสียยิ่งกว่าด้วยซ้ำ
เหตุใดผมถึงบอกว่าวิถีการทำงานที่เน้นการเฆี่ยนเอางานการเค้นเอาผลิตภาพจากคนทำงานแบบนี้ อาจจะหนักยิ่งกว่าเครื่องจักรเสียอีกในบางครั้ง นั่นก็เพราะว่าระบบคิดของการทำงานในระบบทุนนิยมแบบนี้มัน “เลือกจะมองเห็นความเป็นคนในตัวคนทำงานเฉพาะในมุมที่เป็นประโยชน์กับมันเอง” น่ะครับ ในเวลาที่ต้องเค้นงานก็เค้นราวกับมนุษย์เราเป็นเครื่องจักรในการผลิต แต่พร้อมๆ กันไปก็บอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ ‘รู้จักคิดและดูแลตัวเอง’ การสลับมองมนุษย์เฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์กับตัวเองด้วยเป้าหมายบั้นปลายเดียวคือความสูงสุดทางการผลิตนี้เอง ทำให้ในบางครั้งคนทำงานถูกปฏิบัติด้วยอย่างแย่เสียยิ่งกว่าเครื่องจักร เพราะ ‘ไม่ถูกคิดคำนวณเรื่องค่าเสื่อม (ของร่างกาย)’ เข้าไปด้วย (อันนี้พูดบนฐานตรรกะแบบทุนนิยมมากๆ เลยนะครับ) เครื่องจักรนั้นต้องเป็นห่วงดูแลมัน ต้องคิดคำนวณเผื่อค่าเสื่อมของมัน เพราะมันคิดเองไม่เป็น มันเป็นเพียงจักรกลที่ไม่มีสมองแต่มนุษย์เรา ‘รู้จักคิดด้วยตัวเองอยู่แล้ว’ และย่อมดูแลตัวเองให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่ดีพอจะใช้ชีวิตได้ ฉะนั้นเหล่านายทุนในระบบทุนนิยมขูดรีดแบบนี้จึงไม่สนใจที่จะมาคิดถึงค่าเสื่อมทางร่างกายของปัจจัยการผลิตที่เรียกว่าคนอะไรนัก (มึงมีหน้าที่ดูแลตัวมึงเองเพื่อมาทำงานรับใช้กูต่อ)
วาทกรรมความขยัน จึงเป็นวาทกรรมที่มีขึ้นเพื่อรับใช้ระบบทุนนิยม ที่ปัจจุบันไม่เพียงขูดรีดชนชั้นแรงงานอย่างที่มาร์กซ์ว่าไว้แล้ว แต่ดูจะเกิดการขูดรีดถ้วนหน้าแม้จะเกิดขึ้นในระดับความเข้มข้นที่ต่างกันไป คำพูดที่ติดปากสังคมโดยทั่วไปอย่าง ‘ขยันไว้เถิดจะเกิดผล’ ที่มีอยู่ในแทบทุกภาษา อย่างพวกสุภาษิตในภาษาอังกฤษดังๆ พวก “When the going gets tough, the tough gets going.”, “The early bird catches the worm.”, “There’s no such thing as a free lunch.”, “Beggars can’t be choosers.”, “Practice makes perfect.” หรือ “Easy come, easy go.” เป็นต้น สุภาษิตคำพังเพยที่พูดสอนกันจนติดปากเหล่านี้ ล้วนกระตุ้น (encourage) ให้คนเราขยันในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น และหากพ่อแม่อากงอาม่าใครโล้สำเภามาจากเมืองจีน วิธีคิดเรื่องความขยันแบบเดียวกันนี้ก็จะปรากฏให้เห็นเช่นเดียวกัน ขยัน ตั้งใจ ทำงาน เรียนให้เก่ง จะได้เป็นเจ้าคนนายคน ฯลฯ
คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่า โลกได้พิสูจน์มานับครั้งไม่ถ้วนถึงความจริงที่ว่า ความขยันหรือประสบการณ์อย่างเดียวไม่ช่วยให้ชีวิตท่านดีขึ้น อย่างที่สุภาษิตคำสอนติดหูเหล่านี้หว่านล้อมสังคมเอาไว้ได้ หลายคนขยันทำงานหามรุ่งหามค่ำแต่ก็ยังยากลำบากตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เราก็ยังคงรู้สึกว่าจะต้องขยันต่อไป เพราะความขยันถูกทำให้กลายเป็นเส้นทางเดียว (ยกเว้น ‘หวย’ ให้อีกอย่างก็ได้) ไปสู่ความหลุดพ้นภายใต้โครงสร้างวิธีคิดของระบบทุนนิยม เพื่อที่จะได้สามารถขูดรีดแรงงานของเราต่อไปได้ โดยที่เราเองก็รู้สึกยินดี พร้อมใจ และเป็นเรื่องที่พึงต้องทำ
ความขยันได้ยึดครองพื้นที่หลักของสังคมและความอยากพักผ่อน ไปจนถึงความขี้เกียจมักจะถูกผลักออกไปให้อยู่ในฟากฝั่งของความไม่เอาไหน ความไม่สู้งาน ความไม่เอาอ่าว และต้องทำตัวลีบๆ ต่อไป จะยื่นขอลาขอพักตามสิทธิก็ต้องทำตัวหดเล็กและต่อรองกับเพื่อนๆ ในทีมอย่างเต็มที่ จนหลายๆ ครั้งการลางานตามสิทธิของตนเองแต่ละทีนำมาซึ่งความรู้สึกผิด พอๆ กับโล่งใจที่จะได้พักผ่อน
ที่ยืนของการพักผ่อนและความขี้เกียจมันอยู่ตรงไหนกัน?
หลังๆ มานี้ คำถามดังกล่าวได้รับการพยายามตอบบ้างโดยการทำงานของระบบทุนที่ฉลาดขึ้น เพราะการเค้นแรงงานเฆี่ยนให้ปั่นงานไม่หยุดแบบเดิมนั้น เริ่มทำให้หลายคนไม่ไหว และมีกระทั่งงานวิจัยออกมามากมายว่า การทำงานแบบนั้นอาจจะ counter-productive หรือส่งผลเสียต่อการผลิตได้ เพราะตัวคนทำงานเอง ‘ร่างกายเสื่อม’ เกินกว่าจะผลิตงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายครั้งใช้เวลานานมากขึ้นเพื่อผลิตงานปริมาณเท่าเดิม มิหนำซ้ำ ‘อายุการใช้งาน’ ของคนทำงานในระบบแบบเดิมก็ดูจะแย่ลง ว่าง่ายๆ ก็คือ “ค่าเสื่อมของคนทำงานในระบบทุนนิยมได้รับการแยแสเสียที” ดังจะเห็นได้จากในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แนวคิดเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทำงาน (Workplace environment) และปรับปรุงเงื่อนไขในการทำงาน (Improvement of working condition) ดูจะกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญที่มีการพูดถึงกัน มีการปรับปรุงพื้นที่ทำงานให้ผ่อนคลายมากขึ้น ปรับปรุงระยะเวลาการทำงาน เพิ่มวันหยุด หรือไม่ต้องนั่งโต๊ะทำงานงกๆๆๆๆ อีกต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงนี้เอง ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่ามันคือเรื่องที่ดีการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการของคนที่ทำงานนั้นเป็นเรื่องที่ดีแน่นอน และยังได้รับการพิสูจน์ว่าผลผลิตที่ได้นั้นไม่ด้อยกว่าวิธีการเดิมที่เฆี่ยนเอาๆ หลายๆ ครั้งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะคนทำงานได้รับการรีชาร์จให้กลับมาสู่สภาพที่พร้อมจะทำงานใหม่อีกครั้ง แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องเข้าใจอยู่ดีว่า เงื่อนไขที่ดีขึ้นนี้ก็เป็นการ “ยกระดับให้ดีขึ้นบนฐานวิธีคิดของระบบทุนนิยมเสรีอยู่ดี” เพราะการอนุญาตให้เราได้พักมากขึ้น มีเวลาได้ขี้เกียจได้อู้ในวันหยุดมากขึ้นนั้น เป็นไปเพื่อเป้าหมายหรือความหวังให้ “การผลิตมันทำได้ดีขึ้น” นั่นเอง ซึ่งนั่นหมายความว่าตัวมนุษย์เองไม่ใช่ปัจจัยหลักในตรรกะแบบนี้
ความขี้เกียจได้รับการอนุญาตให้มีเพิ่มขึ้นได้ เพราะเริ่มได้รับการพิสูจน์และยอมรับในระดับสากลแล้วว่า “ความขี้เกียจเป็นปัจจัยในการผลิตที่สำคัญได้”
การเพิ่มขึ้นของการได้นอนอืด ได้นั่งชิลล์ ได้เที่ยวเล่นในวันหยุด ได้อยู่ห่างจากงานหลัก กลายเป็นกลไกสำคัญที่เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และนี่ดูจะเป็นการทำงานของระบบทุนนิยมที่ฉลาดมากขึ้น เพราะมันลดความตึงเครียดในการทำงานรวมถึงยืดอายุของปัจจัยการผลิตที่เรียกว่ามนุษย์ จากการหัดมองเห็นค่าเสื่อมของคน แต่พูดแบบสุดลิ่มทิ่มประตูที่สุดก็คือ ตราบเท่าที่มันยังวางฐานอยู่บนตรรกะแบบทุนนิยม มันก็ยังมีจุดโฟกัสหลักอยู่ที่ ‘ความสามารถ/ประสิทธิภาพในการผลิต’ อยู่ดี การอยู่ดีกินดี หรือพื้นที่ในการได้ขี้เกียจได้พักผ่อนที่มากขึ้นนั้น เป็นเพียงผลพลอยได้ของการมุ่งหาทางไปสู่การผลิตที่ดีขึ้น นั่นหมายความว่า หากวันใดที่ “ความขี้เกียจและการพักผ่อนมันไม่ช่วยให้เกิดการผลิตที่ดีขึ้นอีกต่อไป ระบบทุนนิยมก็พร้อมจะริบถอนสวัสดิการเหล่านี้ออกจากตัวเราในฐานะคนทำงาน (ปัจจัยการผลิต) ด้วยเช่นกัน”
สวัสดิการและชีวิตการทำงานที่ดูอาจจะดีขึ้นบ้างในปัจจุบันจึงเป็นเพียงแค่ ‘สวัสดิการแบบเป็นไปตามเงื่อนไข’ (Conditional welfare) ที่เป็นผลต่างตอบแทนระหว่างบรรษัทกับปัจจัยการผลิตเท่านั้น คือกูให้มึงขี้เกียจมากขึ้นได้ ตราบเท่าที่ประสิทธิภาพการผลิตยังโอเค แต่ไม่ใช่การให้สวัสดิการในฐานะว่า “มนุษย์ควรมีสิทธิในการจะได้พักผ่อน ได้ขี้เกียจในฐานะมนุษย์โดยไม่เกี่ยวกับเงื่อนไขใดๆ” หรือก็คือ Unconditional Right to be Lazy (สิทธิในการขี้เกียจอย่างไร้เงื่อนไข) เพราะเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนพึงได้รับในฐานะมนุษย์เพราะเราเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เพราะเราเป็นปัจจัยการผลิตในระบบที่ถ้าขี้เกียจแล้วจะผลิตได้ดีขึ้น
ความขี้เกียจในฐานะสิทธิที่มนุษย์พึงได้รับนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ Paul Lafargue เคยเขียนหนังสือเรื่อง The Right to be Lazy มาตั้งแต่ปี 1883 แล้วโดยไล่เรียงคำอธิบายไปตั้งแต่เรื่องสิทธิในฐานะมนุษย์ที่จะขี้เกียจไปจนปัญหาของ ‘ความขยัน’ ที่นำมาสู่ปัญหาที่ตามมาอย่างการผลิตที่ล้นเกิน หรือ Over-production ซึ่งเป็นผลเสียทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจน่ะครับ
พูดกันอย่างถึงที่สุดแล้ว อย่างน้อยในสายตาของผมเอง แม้โดยกระบวนการแนวคิดของฝั่งมาร์กซิสม์ดูจะเน้นไปที่การอภิปรายในเชิงรูปแบบการผลิต (Mode of Production) และมุมมองเชิงเศรษฐศาสตร์ที่มากระทบกับสังคมการเมือง แต่ผมคิดว่าโดยรากแล้วมันมุ่งเป้ามาที่ ‘การประกันความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะมนุษย์’ มากกว่าเพียงแต่ทำโดยกระบวนการทางวัตถุและเศรษฐกิจเป็นหลัก มันคือการพยายามยืนยันว่า ‘คนคือคนไม่ใช่เครื่องจักรและเราต้องยืนยันในจุดนี้ให้แม่นมั่น’ ฉะนั้นคนจะเป็นอย่างไรก็ไม่พึงโดนริบสิทธิและสถานะของความเป็นคนไปจากตัวพวกเขา จะมาใช้กลไกและเหตุผลในระบอบทุนนิยมสมอ้างแล้วมีอำนาจเหนือกว่า ‘สถานะความเป็นคนไปไม่ได้’
นั่นหมายความว่า ต่อให้เป็นมนุษย์ที่ขี้เกียจปานใดราวกับเป็นกลุ่มก้อนของความขี้เกียจที่กองรวมกันอยู่เขาก็ยังคงเป็นคน และพึงได้รับการปฏิบัติด้วยในฐานะมนุษย์อยู่การเป็นคนและพึงได้รับการปฏิบัติในฐานมนุษย์ในรัฐสมัยใหม่มันคืออะไรล่ะครับ? มันก็คือการได้รับการประกันโดยรัฐว่าจะได้รับการดูแลให้สามารถมีชีวิต ดำเนินชีวิตต่อไปได้ในฐานะมนุษย์ แม้จะด้วยวิถีทางแบบแสนจะขี้เกียจไม่ทำห่าอะไรของเขาเลยก็ตามที ในแง่นี้ความขี้เกียจจึงต้องเป็นสิทธิที่มนุษย์สามารถมีได้ เพราะความเป็นมนุษย์ไม่อาจถูกถอดถอนออกได้ เพียงเพราะตัวเขานั้นอุดมไปด้วยความขี้เกียจ
ฉะนั้นหากรัฐสมัยใหม่ต้องวางฐานในการมองและดูแลมนุษย์ในระดับขั้นพื้นฐานที่สุดเอาไว้ เราต้องหมายรวมคนที่ขี้เกียจจะทำห่าอะไรทั้งสิ้นเอาไว้ด้วย บอกตรงๆ ครับว่าด้วยโครงสร้างของรัฐและการแข่งขันในโลกสมัยใหม่นั้น คนขี้เกียจแบบล้วนๆ โดยไม่ทำงานใดๆ เลย ไม่มีทางที่จะได้มีชีวิตอยู่อย่าง ‘สบายเทียบเท่ากับคนที่ทำงาน (บ้าง)’ หรอก อย่างน้อยก็ในทางวัตถุ เขาพึงอยู่ได้ด้วยสวัสดิการพื้นฐานและการได้รับการยอมรับดูแลในฐานะมนุษย์ (ที่ขี้เกียจมากๆ) คนหนึ่งเท่านั้น และฐานคิดนี้ไม่ควรจำกัดแค่กับรัฐ แต่การมองสิทธิในการขี้เกียจในฐานะสิทธิหนึ่งของมนุษย์อย่างไร้เงื่อนไขนั้น ควรจะอยู่ในทุกองค์กรด้วย มิเช่นนั้นหากวันใดผลิตภาพลดลงเพราะความขี้เกียจ ก็แปลว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสวัสดิการในฐานะมนุษย์ด้วยกันนี้ก็พึงต้องถูกริบหายไปด้วย
เราควรจะสามารถได้พัก ได้หยุด โดยไม่ต้องรู้สึกว่ามันจะไปหนักหัวใคร มันเป็นสิทธิที่เราพึงได้ทำ
แน่นอน ผมไม่ได้เขียนเพื่อบอกว่า เราควรไม่ทำงานเลยหรือไม่แคร์ผลประกอบการของนายทุนที่ลงทุนเลย ผมเองไม่ใช่มาร์กซิสต์อะไรอยู่แล้ว และผมก็เอ็นจอยชีวิตในระบบทุนที่ผมด่าๆ อยู่นี่ไม่น้อย เพียงแค่จะบอกว่า เราควรทำลายวาทกรรมความขยันที่ฝังหัวมานานได้แล้ว การทำงานโดยสายตาแบบคนขี้เกียจนั้นหลายครั้งมันเวิร์คกว่าด้วยซ้ำ เพราะคนขี้เกียจที่ยังทำงานอยู่ก็มักจะหาทางทำงานให้เสร็จได้โดยมีประสิทธิผล (effective) ที่สุดนั่นแหละครับ เพื่อที่ตัวเองจะได้มีเวลาพัก เวลาอู้ เวลาขี้เกียจเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุด ซึ่งสำหรับผมนั่นควรจะเพียงพอแล้วสำหรับนายทุน และต่อให้ผลิตภาพมันต่ำลงบ้าง แต่ก็อย่าได้ริบเอาสิทธินี้ไปจากมนุษย์คนใดเลย อย่าให้สิทธิในการขี้เกียจนี้เฉพาะแต่เพียงว่ามันนำมาซึ่งผลกำไรที่มากขึ้นขององค์กรแต่เท่านั้นเลย
และท้ายที่สุด อย่างที่บอกไป แม้แต่กับคนที่ขี้เกียจจนไม่ทำห่าอะไรเลย แม้จะน่ารังเกียจไปบ้าง แต่เขาก็ยังคงเป็นคนอยู่ครับ และเราต้องยืนยันในสิ่งนี้ อย่าให้ตรรกะในระบอบทุนมันพรากเอาความเป็นคนของคนขี้เกียจไปจากสายตาเราเลย