เคยนอนหลับทับสิทธิกันมั้ยครับ?
หลายคนที่เคยอาจยังไม่รู้ว่าที่ผ่านมาตัวเองได้ถูกกฎหมายไทยลงโทษตัดสิทธิบางอย่างไปแล้ว ล่าสุดกรรมาธิการวิสามัญยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งก็กำลังพิจารณาบัญญัติบทลงโทษทำนองเดียวกันนี้ เช่น การตัดสิทธิเป็นผู้แทนทางการเมือง
ไม่ว่ามาตรการเหล่านี้จะได้ผลในทางปฏิบัติหรือไม่ ข้อเท็จจริงก็คือบทบัญญัติดังกล่าวกำลังพยายามเพิ่มน้ำหนักให้กับการบังคับคนออกไปเลือกตั้ง
ผมไม่แน่ใจว่าเหตุผลในการออกบทบัญญัติดังกล่าวคืออะไร และเอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยใส่ใจกับกระบวนการร่างกฎหมายในปัจจุบันที่จำกัดอยู่ในมือคนบางกลุ่มและไม่เชื่อมโยงใดๆ กับผม แต่หากพิจารณาจากมุมของสังคมเอง คนไทยส่วนมากและส่วนใหญ่ในโลกออนไลน์เห็นว่าการบังคับในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เหมาะสม เพราะการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่ดีต่อตัวประชาชนผู้ออกไปใช้สิทธิเอง ในลักษณะเดียวกับที่เด็กควรกินนมเพื่อจะได้โต หรือนักเรียนควรตัดผมเกรียนเพื่อฝึกระเบียบวินัย
เอาเข้าจริง หากมีเหตุผลที่หนักแน่นพอ การบังคับก็อาจยอมรับได้ ในประเด็นการเมืองอื่นๆ หลายกรณีก็มีการบังคับกัน เช่น การบังคับไม่ให้คนฆ่ากัน หรือการที่บางประเทศสุ่มและบังคับให้คนไปทำหน้าที่เป็นลูกขุนในชั้นศาล
แต่เรามีเหตุผลที่ดีพอจะบังคับคนออกไปเลือกตั้งจริงหรือ?
คนไทยในโลกออนไลน์ปัจจุบันใช้เหตุผลเดียวกับคนในประเทศประชาธิปไตยตะวันตกที่สนับสนุนการบังคับใช้สิทธิเมื่อนานมาแล้วว่า การเลือกตั้งนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวผู้ใช้สิทธิเอง โดยอธิบายว่าการออกไปเลือกตั้งนั้นดีด้วยเหตุผลใดเหตุผลหนึ่งในสามข้อนี้ คือ เป็นการปกป้องตนเอง (self-protection), เป็นการใช้อำนาจปกครอง (self-government) หรือการพัฒนาตนเอง (self-development)
ทั้งสามข้อนี้ล้วนเป็นคุณค่าสำคัญของประชาธิปไตยทั้งสิ้น
เหตุผลข้อแรกกำลังบอกว่าพลเมืองดีมีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิหรือผลประโยชน์หรือตนเอง เหตุผลเรื่องการการปกครองตนเองก็คือ การมีอำนาจในการวางแผนและกำหนดอนาคตของตน ในขณะที่เหตุผลเรื่องการพัฒนาตนเองก็ถือว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองจะช่วยฝึกฝนการรับข้อมูลข่าวสาร คิดวิเคราะห์ ถกเถียงแลกเปลี่ยน และตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ สังคมประชาธิปไตยโบราณถึงกับมีความเชื่อว่าการเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมืองในที่สาธารณะเป็นเงื่อนไขที่ขาดไม่ได้สำหรับการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
แต่การเอาหตุผลเหล่านี้มาเป็นฐานคิดในการบังคับใช้สิทธิก็อาจยังไม่หนักแน่นอนพอ
ในเรื่องการปกป้องผลประโยชน์ตนเอง สิทธิในการไม่แสดงออกทางการเมืองก็ถือเป็นสิทธิหนึ่งที่ควรได้รับการปกป้อง และไม่ควรถูกยกเลิกหากไม่มีเหตุผลที่หนักแน่นพอ ดังนั้นหากเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการบังคับดังกล่าวจะให้ผลที่คุ้มค่าโดยเฉพาะในแง่การสนับสนุนสิทธิในแง่อื่น การบังคับก็ไม่เหมาะสมเท่าไหร่
ในเชิงผลประโยชน์ การออกไปเลือกตั้งนั้นมีต้นทุน ต่อให้ไม่ต้องนั่งรถไปเพราะคูหาใกล้บ้าน อย่างน้อยก็ต้องเสียเวลา ดังนั้นหากการเลือกตั้งครั้งใดมีวาระหรือนโยบายที่ไม่สร้างผลได้ผลเสียกับตัวเรา การออกไปเลือกตั้งก็น่าจะเป็นกิจกรรมที่เสียมากกว่าได้
เอาเข้าจริงนักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุมีผล (rational-choice theorists) ถึงกับเคยสรุปว่าหากยึดเอาผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนคือการนอนอยู่บ้านเฉยๆ ในทุกการเลือกตั้ง เพราะในการลงคะแนนแต่ละครั้ง เสียงของเราเป็นแค่หนึ่งในหลายล้านเสียง ไม่ว่าสุดท้ายการเลือกตั้งจะสร้างประโยชน์สาธารณะหรือไม่ การเดินเข้าคูหาของเราไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เกิดขึ้นเลย
ดังนั้นมูลค่าของการเดินเข้าคูหาจึงแทบจะเป็นศูนย์ และกลายเป็นติดลบหากคิดเรื่องต้นทุนการเดินทางรวมเข้าไปด้วย
มุมมองนี้ไม่ได้สนับสนุนให้เรานอนอยู่บ้าน เรามีเหตุผลอื่นที่จะออกไปเลือกตั้งนอกเหนือจากประโยชน์ส่วนตัว และผมก็คิดว่าเราควรสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้น เพียงแต่ต้องการอธิบายว่าหากจะคิดจากมุมมองผลประโยชน์ส่วนตัว การเลือกตั้งก็ไม่ได้ดีกับตัวเราเสมอไป เราจึงไม่อาจอธิบายว่าการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมที่ดีต่อตัวเราจากฐานคิดนี้ได้
ส่วนเหตุผลที่ว่าการเลือกตั้งเป็นการปกครองหรือพัฒนาตนเองก็ย้อนแย้ง เพราะการปกครองตัวเองน่าจะรวมถึงการปกครองให้ตัวเองไม่ออกจากบ้านไปเลือกตั้งและใช้เวลาไปทำอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ก็ปกครองตัวเองหนิครับ)
การพัฒนาตนเองก็ทำได้หลายทางนอกเหนือไปจากการเลือกตั้ง หลายคนอาจเห็นว่ากิจกรรมอื่น หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบอื่นสร้างความเติบโตทางความคิด จิตใจ และตัวตน ได้ดีกว่าการออกไปกาบัตรก็เป็นได้ ประชาชนที่ไม่ได้ไปเลือกตั้งอาจกำลัง ‘พัฒนาตนเอง’ ด้วยการทำมาหากิน บางคนก็กำลัง ‘ปกครองตนเอง’ ผ่านการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันในช่องทางอื่น
ลองไปถามพวกนักกิจกรรมทางการเมืองดูเถอะครับ เชื่อว่าจำนวนมากไม่ค่อยไปเลือกตั้งด้วยซ้ำ ทั้งที่กระตือรือร้นหรือมีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองและคนอื่น รวมถึงห่วงความเป็นไปของบ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องน่าตลกที่คนเหล่านี้หลายครั้งถูกตัดสิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองในช่องทางอื่นๆ ที่เข้มข้นกว่า เพียงเพราะเขาไม่ได้ไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเนื่องจากไม่เห็นนโยบายหรือตัวผู้สมัครที่ถูกใจ
นอกเหนือจากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราต้องยอมรับด้วยว่าการไม่ไปเลือกตั้งก็เป็นช่องทางสำหรับการแสดงออกจุดยืนเฉพาะบางจุดยืน เช่น การแสดงออกคัดค้านหรือไม่เห็นสาระของการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้น หรือการลดทอนความชอบธรรมของผู้ชนะ การออกไปโหวตโนก็ไม่เพียงพอที่จะแสดงจุดยืนเหล่านี้ เพราะอาจถูกตีความได้ว่าเพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับผู้สมัครทั้งหมดในการเลือกตั้งเท่านั้น
สมมติว่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปมีการจัดตั้งพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจจากทหาร และออกกติกาที่ไม่เป็นธรรมต่อกลุ่มการเมืองอื่นๆ หลายคนก็คงไม่อยากแม้แต่จะออกไปโหวตโน แต่อยากต่อต้านแนวโน้มดังกล่าวด้วยการไม่เข้าคูหาเพื่อลดความชอบธรรมของกระบวนการในภาพรวม
นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับการบังคับคนไปเลือกตั้ง
เอาเข้าจริง การปฏิเสธเหตุผลแบบไทยๆ อาจยังไม่เพียงพอที่จะพูดว่าไม่เห็นด้วยกับการบังคับเลือกตั้ง เพราะประเทศประชาธิปไตยตั้งมั่นจำนวนมากในปัจจุบันอย่างเช่นออสเตรเลียหรือบราซิลก็มีกฎหมายบังคับใช้สิทธิด้วยเหตุผลในลักษณะอื่นๆ แต่ที่แน่ๆ คือ เหตุผลเผด็จการความดีแบบไทยๆ ที่มีคุณพ่อรู้ดีมาคอยสั่งสอนว่าอะไรดีต่อตัวประชาชน นั้นยังไม่ชอบธรรมพอจะบังคับเราเดินเข้าคูหาแน่นอน