ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ เราทุกคนล้วนถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา ว่าเราควรยอมรับความเสี่ยงและควรลงทุนเพื่อความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เมื่อเราเลือกออกจากบ้านไปทำงาน เราเพิ่มความเสี่ยงในการถูกรถชนให้กับตัวเอง แต่ก็ยอมรับความเสี่ยงดังกล่าวเพื่อแลกกับเงินเดือน
ในระดับสังคม คำถามก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน คือรัฐบาลควรยอบรับความเสี่ยงหรือลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางสาธารณะเท่าไหร่ จึงจะถือได้ว่าเหมาะสม คำถามเหล่านี้เป็นคำถามเชิงจริยศาสตร์ และในปัจจุบัน ข้อถกเถียงก็ได้ดำเนินมาถึงบทสรุป ที่ว่าการคำนวณราคาความปลอดภัยผ่านการตีราคาชีวิตมนุษย์นั้นไม่เหมาะสม และแนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ คือการคำนวณงบประมาณสำหรับลดโอกาสการเสียชีวิตในเชิงสถิติ
ประเด็นเรื่องความเสี่ยงและความปลอดภัยเป็นประเด็นทางจริยศาสตร์ เพราะในขณะที่ชีวิตมนุษย์นั้นมีค่าเกินกว่าจะประเมินได้ ข้อเท็จจริงก็บอกเราว่าโลกมีทรัพยากรจำกัด และมีปัจจัยต่างๆ ให้คำนึงถึงมากมาย ในขณะที่อุบัติเหตุนั้นก็เกิดขึ้นได้เสมอ และในเรื่องความปลอดภัยนั้น ลงเงินไปเท่าไหร่ก็ไม่เคยพอ
ดังนั้นการหาวิธีคำนวณเพื่อจัดสรรทรัพยากรและการเพิกเฉยต่อความเสี่ยงในบางเรื่องจึงจำเป็น
ประเทศอังกฤษเองก็เรียนรู้จากบทเรียนกรณีอุบัติเหตุรถไฟตกรางในอดีต ว่ามาตรการตรวจสอบสภาพรางรถไฟที่เข้มงวดและถี่เกินไป แม้จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้ ก็จะทำให้รถไฟบริการได้ช้าลง ส่งผลให้คนหันไปใช้รถมากขึ้น รวมถึงทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตบนท้องถนนและในระบบสาธารณสุขพุ่งทะลุเพดาน
ล่าสุด ประเด็นเรื่องราคาของความปลอดภัยที่กล่าวไปนี้ได้ถูกจุดขึ้นในประเทศอังกฤษ ทันที่ควันไฟเหนือตึก Grenfell Tower มอดลง ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนมากกล่าวหารัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยม ว่าต้องรับผิดชอบต่อยอดผู้เสียชีวิตที่พุ่งเกิน 80 คน เนื่องจากตึกดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย จึงอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรัฐบาล และข้อเท็จจริงก็ชี้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้จำกัดงบด้านการรักษาความปลอดภัยลงอย่างต่อเนื่อง เช่นงบประมาณสำหรับติดตั้งหัวฉีดน้ำและจ้างนักผจญเพลิงให้เพียงพอ
ทางฝ่ายรัฐบาลและผู้สนับสนุนเองก็ไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐบาลไม่ได้ ‘ซื้อ’ มาตรการรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ แต่เถียงว่ารัฐบาลได้ลงทุนกับมาตรการทุกมาตรการที่คุ้มค่าไปแล้ว ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้ลงทุน ก็เป็นเพราะราคาของสิ่งเหล่านี้นั้นแพงเกินไป
ตัวอย่างเช่นการติดตั้งหัวฉีดน้ำจะต้องใช้งบประมาณ 138,000 ปอนด์ ซึ่งจะทำให้ค่าเช่าแพงขึ้น ในขณะที่การลงทุนกับมาตรการอื่นๆ ก็จะส่งผลให้รัฐบาลมีงบสำหรับสร้างบ้านให้คนจนน้อยลง ทั้งหมดจะส่งผลให้คนจำนวนหนึ่งต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน และใช้ชีวิตเสี่ยงกับอุบัติเหตุอื่นๆ ที่อันตรายกว่า ทั้งในแง่ความถี่และความรุนแรง
เมื่อสัปดาห์ก่อน หนังสือพิมพ์ Bloomberg ตีพิมพ์ความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยยกตัวอย่างว่าหากรัฐบาลนำงบประมาณไปติดตั้งหัวฉีดน้ำในอาคารสูง เงินลงทุนดังกล่าวก็จะไปเบียดแย่งงบประมาณรักษาความปลอดภัยอื่นๆ เช่น งบสำหรับควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของคนอังกฤษมากกว่าไฟไหม้
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเราควรลงทุนเพื่อความปลอดภัยเท่าไหร่?
วิธีที่ง่ายและนิยมใช้ที่สุดในอดีต ได้แก่ การตีราคาชีวิต วิธีคิดนี้เริ่มจากการตีค่าว่ามนุษย์หนึ่งคนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขดังกล่าว ก็มาดูว่าราคาของมาตรการความปลอดภัยมาตรการหนึ่ง มีราคาเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขทั้งสอง ขั้นตอนต่อไปก็คือการเปรียบเทียบดูว่าราคาของมาตรการนั้นๆ คุ้มค่ากับมูลค่าความเสียหายต่อชีวิตที่มันช่วยป้องกันหรือไม่ หากคุ้มก็ซื้อมาตรการนั้น หากไม่คุ้มก็ไม่ซื้อ
สมมติว่าคนไทยหนึ่งคนมีมูลค่าชีวิตทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาท หากสถิติบ่งชี้ว่าในแต่ละปี มีโอกาส 1% ที่จะเกิดเพลิงไหม้รุนแรงหนึ่งจุด ซึ่งจะคร่าชีวิตคน 1 คน ภัยดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับปรุงระบบดับเพลิง ซึ่งต้องใช้เงิน 3 แสนบาท
หากโจทย์เป็นเช่นนี้ วิธีคิดที่เรียบง่ายที่สุดในการตีราคาชีวิต คือจะคิดว่าคนตาย 1 คน เท่ากับสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 10 ล้านบาท โอกาสเกิดปัญหา 1 เปอร์เซ็นต์ ก็เอา 10 ล้านบาทคูณด้วยโอกาสในการเกิดภัย ซึ่งในกรณีนี้คือ 1 เปอร์เซ็นต์เข้าไป ได้ 1 แสนบาท เมื่อได้ตัวเลขนี้มาแล้ว ก็พบว่าไม่คุ้มที่จะปรับปรุงระบบดับเพลิง เพราะมาตรการดังกล่าวต้องใช้เงิน 3 แสนบาท
ปัญหาของวิธีคิดนี้ก็คือการตีราคาชีวิตนั้นผิดทางจริยศาสตร์ เพราะมนุษย์นั้นมีค่าในระดับที่ไม่อาจประเมินได้ มุมมองนี้ไม่ได้เกิดจากการคิดในเชิงหลักการเท่านั้น แต่โดยปกติ เราก็ล้วนยึดถือมุมมองนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างเช่นหากสังคมพบว่ามีคนงานกำลังติดอยู่ในเหมืองใต้ดินที่ถล่ม ในกรณีเช่นนี้ เราจะเห็นร่วมกันว่าเราต้องทุ่มเททรัพยากรเข้าช่วยคนงานเหล่านี้ออกมา แม้การช่วยเหลือดังกล่าวจะนำไปสู่ต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มหาศาลเพียงใดก็ตาม
ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องตระหนักว่าทรัพยากรมีจำกัด ดังนั้นกฎเกณฑ์ทางจริยศาสตร์ที่สมเหตุสมผลและเป็นไปได้นั้น ต้องอนุญาตให้มีการคำนวณว่ามาตรการความปลอดภัยแต่ละมาตรการนั้นคุ้มค่าหรือไม่
สองมุมมองที่ขัดแย้งกันนี้ สร้างคำถามเชิงจริยศาสตร์ที่ว่า เราสามารถคำนวณความคุ้มค่าของการลงทุนเพื่อความปลอดภัย โดยไม่ต้องตีราคาชีวิตมนุษย์ได้หรือไม่?
การคำนวณแบบ ‘งบประมาณสำหรับลดอัตราการตายในเชิงสถิติ’ ข้อเสนอใหม่ ที่น่าสนใจ
แนวคิดเรื่องงบประมาณสำหรับลดโอกาสการตายในเชิงสถิติ เริ่มจากการถามว่าคนหนึ่งคน ยินดีที่จะจ่ายเงินเท่าไหร่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ตัวเลขดังกล่าว ก็จะนำมาคำนวณว่าหากผลรวมของความเสี่ยงทั้งหมดเป็นหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงการลดความตายในเชิงสถิติลงได้หนึ่งคน รัฐบาลจะมีงบประมาณสำหรับใช้จ่ายรวมทั้งหมดเท่าไหร่
กลับมาที่ตัวอย่างเดิม สมมติว่าสถิติบ่งชี้ว่าในแต่ละปี มีโอกาส 1% ที่จะเกิดเพลิงไหม้รุนแรงหนึ่งจุด ซึ่งจะคร่าชีวิตคน 1 คน ภัยดังกล่าวสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับปรุงระบบดับเพลิง ซึ่งต้องใช้เงิน 3 แสนบาท
หากเป็นวิธีคิดแบบตีราคาชีวิต เราจะเริ่มด้วยการตีมูลค่าทางเศรษฐกิจของคน แต่ด้วยวิธิคิดเรื่องงบประมาณสำหรับลดโอกาสการตายในเชิงสถิติ เราจะไม่ทำเช่นนี้ แต่จะถามว่าผู้อยู่อาศัยแต่ละคน ว่ายินดีจ่ายเท่าไหร่เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาส 1 เปอร์เซ็นต์ที่จะตายเพราะไฟไหม้ และเงินดังกล่าวจะเป็นเท่าไหร่ หากนำความเสี่ยงนี้มารวมกันเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ในทางสถิติ (ซึ่งหมายถึงการลดความเสี่ยงต่อหนึ่งชีวิตในทางสถิติ) ตัวอย่างแช่นหากแต่ละคนยินดีจ่าย 5,000 บาท เพื่อลดความเสี่ยงไฟไหม้หนึ่งเปอร์เซ็นต์ เงินดังกล่าวก็จะรวมเป็น 500,000 บาท ดังนั้นจึงถือได้ว่าเรามีงบเพียงพอสำหรับซื้อระบบดับเพลิงใหม่ราคา 3 แสนบาท
วิธีคิดหลังนี้ไม่ใช่การตีราคาชีวิต แต่ตั้งต้นจากการเคารพการตัดสินใจของปัจเจกแต่ละคน ในการเลือกจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต ในลักษณะเดียวกับการเลือกซื้อประกันชีวิตที่เราคุ้นเคยกันดี
วิธีคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงการเล่นคำ แต่สมเหตุสมผลกว่าในทางสามัญสำนึก และเปลี่ยนวิธีคิดทางนโยบายอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในทางสามัญสำนึก หากเราเลือกใช้วิธีตีราคาชีวิต ผู้ที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่นคนแก่ที่ป่วย ก็จะมีมูลค่าเป็นศูนย์หรือติดลบ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราไม่ควรจ่ายเพื่อรักษาความปลอดภัยให้คนเหล่านี้ หรือคนเหล่านี้ควรจ่ายค่าความปลอดภัยให้ผู้อื่น
ซึ่งขัดแย้งกับสามัญสำนึกของเรา ที่รู้ว่าคนเหล่านี้ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อความปลอดภัยให้ตัวเอง และสังคมที่ดีเองก็อยากจะทำเช่นนั้น วิธีคิดเรื่องการจ่ายเพื่อลดโอกาสการตายในเชิงสถิตินี้ ตอบสนองต่อสามัญสำนึกดังกล่าวได้ดีกว่าแนวทางการตีราคาชีวิต
ในทางปฏิบัติ นักปรัชญาสายนโยบายสาธารณะค้นพบว่า วิธีคิดเรื่องการตีราคาชีวิตมักนำไปสู่ตัวเลขมูลค่าที่ไม่แน่นอนและต่ำจนไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งก็เกิดจากการที่วิธีคิดดังกล่าวตีมูลค่าคนบางคนเป็นศูนย์หรือติดลบ
แนวคิดเรื่องการจ่ายเพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตในเชิงสถิตินี้ เปิดข้อถกเถียงที่น่าสนใจจำนวนมากในสาขาวิชาจริยศาสตร์ เช่นเราจะวัดตัวเลขที่คนพร้อมจะจ่ายได้อย่างไร เราควรจะเลือกใช้ตัวเลขใดระหว่างราคาที่คนอยากจ่ายกับค่าเสียหายที่คนอยากได้รับ หรืออุบัติภัยที่ทำให้คนตายจำนวนมากในครั้งเดียวกับอุบัติเหตุที่ทำให้คนตายทีละน้อยแต่ต่อเนื่องจะมีตัวเลขพร้อมจ่ายที่แตกต่างกันหรือไม่
ในปัจจุบัน ประเทศอังกฤษได้นำวิธีคิดทางจริยศาสตร์ เรื่องการห้ามคำนวณราคาความปลอดภัยผ่านการตีราคาชีวิตมนุษย์ และข้อเสนอเรื่องการคำนวณงบประมาณสำหรับลดโอกาสการเสียชีวิตในเชิงสถิติ มาบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าข้อถกเถียงย่อยอื่นๆ จะคลี่คลายไปอย่างไร ประเทศอังกฤษก็ให้บทเรียนแก่เราในเรื่องการให้ความสำคัญ กับการประยุกต์ใช้มุมมองทางจริยศาสตร์ในการตัดสินใจเรื่องนโยบายสาธารณะ
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่คนไทยคงเห็นร่วมกันได้ ก็คือในประเทศที่มีอุบัติเหตุมักง่ายเกิดขึ้นเป็นประจำ เช่นคนตายเพราะเครื่องมือก่อสร้างตกใส่หัวหรือตกท่อน้ำ แต่ไม่เคยมีการถกเถียงใคร่ครวญเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจัง ในประเทศเช่นนี้นั้น คงเป็นเพราะราคาชีวิตและความปลอดภัยเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีความสำคัญมาตั้งแต่ต้น