ในละครเรื่อง ‘โอเธลโล’ ของเชคสเปียร์ มีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวละครชื่อ เอมิเลีย (Emilia) ถูกผัว (คือ Iago) สั่งให้หุบปากเงียบๆ เสีย (ซึ่งต่อมาเจ้าผัวตัวดีนี่แหละ ที่ฆ่าเธอ) เอมิเลียเถียงสู้ โดยเธอบอกว่า “No, I will speak as liberal as the north.” หรือ “ไม่ ฉันจะพูดให้เสรีเท่าๆ กับทางเหนือเลย”
ฟังประโยคนี้แล้ว เราๆ ท่านๆ อาจงงๆ นิดหน่อย ว่าอะไรฟะ Liberal หรือเสรีภาพไปเกี่ยวอะไรกับทางเหนือ เชคสเปียร์มั่วหรือเปล่าเนี่ย
ที่จริงในโอเธลโลนั้น ทางเหนือ (ของยุโรป) ถือว่าเป็นดินแดนที่มีคุณสมบัติอย่างนี้นะครับ คือ 1) กว้างใหญ่ 2) ไม่มีใครไปอยู่-จึงไม่มีกฎหมายและไร้ระเบียบ และ 3) เป็นดินแดนที่ป่าเถื่อน (คงคล้ายๆ ดินแดนทางเหนือนอกกำแพงใน Game of Thrones นั่นแหละครับ)
ในปี 1816 หนังสือพิมพ์ Morning Chronicle ของลอนดอน เคยตีพิมพ์ข่าวกษัตริย์สเปนสั่งลงโทษคนสิบห้าคน ให้ไปใช้แรงงานหนัก เสร็จแล้วก็เนรเทศไปให้พ้นหน้าพ้นตา โดยในข่าวบอกว่าคนเหล่านี้ประกอบอาชญากรรมที่เรียกว่า Crime of Liberalism (แต่เราไม่รู้แน่ชัดว่าทำอะไร)
จะเห็นนะครับ ว่าคำว่า Liberalism ในสมัยก่อนนั้น ไม่ได้มีอะไรดิบดีเอาเสียเลย แล้วทำไมคนสมัยนี้ถึงต้องอยาก ‘ลิเบอรัล’ อะไรกันนักกันหนาด้วยก็ไม่รู้!
อย่ากระนั้นเลย เพื่อความเข้าใจลิเบอรัลกันให้ถึงกึ๋น จึงอยากชวนคุณย้อนกลับไปดูรากศัพท์ของคำที่เกี่ยวข้องกับ ‘เสรีภาพ’ และ ‘อิสรภาพ’ ในภาษาอังกฤษสักนิด ซึ่งเอาเข้าจริงก็มีอยู่สองคำใหญ่ๆ แหละครับ คือคำว่า Freedom กับ Liberty
ถึงในปัจจุบัน สองคำนี้จะมีนัยแตกต่างกัน แต่ในสมัยก่อน ทั้ง Liberty กับ Freedom นั้น ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเท่าไหร่ เพียงแต่คำว่า Liberty มีรากมาจากภาษาฝรั่งเศส ส่วน Freedom มีรากมาจากภาษาอังกฤษโบราณ แต่ทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน นั่นก็คือการอยู่ในสภาวะที่ ‘ไม่ถูกจำกัด’ หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า unconstrained
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกกันก่อนว่า พอเราเกิดมาอยู่ในโลกนี้เสียแล้ว ก็ไม่มีใครหรอกนะครับที่จะอยู่ในภาวะ unconstrained กันแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ได้ ก็โธ่! ตาเราก็มองเห็นแสงได้แค่ช่วงคลื่นหนึ่ง หูก็รับเสียงได้แค่อีกช่วงคลื่นหนึ่งเท่านั้น แถมเรายังอยู่ในโลกกลมเหมือนผลส้มที่มีขนาดจำกัดด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ‘ธรรมชาติ’ เป็นตัว ‘จำกัด’ เราเอาไว้ตลอดเวลา ทำให้เรามี limit บางอย่างในการรับรู้โลก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็ได้นะครับ ว่าโลกและธรรมชาตินั้น มันกำลัง ‘กดข่ม’ (oppress) เราอยู่ตลอดเวลา
แต่คำถามก็คือ-แล้วเรารู้สึกถึงการกดข่มนั้นหรือเปล่า
แน่นอน-คำตอบคือไม่, เราย่อมไม่รู้สึกว่าถูกความกดอากาศกดใส่เนื้อตัวผิวหนัง และแทบไม่รู้สึกด้วยซ้ำไปว่าเรา ‘ถูกขัง’ อยู่บนดาวเคราะห์ชื่อโลกที่ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรนักหนาเมื่อเทียบกับดาวเคราะห์อื่นๆ เพราะเรา ‘ถูกสร้าง’ ขึ้นมาจากระบบนี้ เราจึงคุ้นชินกับมันจนไม่รู้สึกว่าตัวเองถูก constrain
ซึ่งที่จริงก็คล้ายๆ คนที่เกิดมาพร้อมขนบธรรมเนียมประเพณีและโครงสร้างสังคมบางอย่างเหมือนกันนะครับ คือต่อให้ถูกขังอยู่ในนั้นก็ไม่รู้ตัวหรอก!
ถ้าอย่างนั้นแล้ว อะไรคือคำว่า Freedom หรือ Liberty ล่ะครับ
ถ้าคิดแบบ โธมัส เจฟเฟอร์สัน คำว่า Freedom หรือ Liberty หมายถึงเงื่อนไขหรือสภาวะที่ ‘เจตจำนง’ ของมนุษย์คนหนึ่ง จะเป็นไปตามความต้องการของตัวคนคนนั้นเอง โดยไม่ถูกกดข่มหรือบีบเค้นบังคับจากเจตจำนงของบุคคลอื่น
โธมัส เจฟเฟอร์สัน บอกว่า “เสรีภาพที่ถูกต้อง คือการกระทำตามเจตจำนงของเรา โดยไม่ถูกขัดขวางจากผู้อื่น โดยมีข้อจำกัดคือสิทธิที่เท่าเทียมกันของบุคคลอื่น” เจฟเฟอร์สันเสริมด้วยว่า เขาไม่ได้นำ ‘ขอบเขตของกฎหมาย’ มาอยู่ในนิยามของคำว่าเสรีภาพด้วย เพราะเขาเห็นว่ากฎหมายอาจเกิดจากเจตจำนงของผู้ปกครองแบบเผด็จการก็ได้ กฎหมายจึงอาจกดขี่ และดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไป ‘ละเมิด’ สิทธิและเสรีภาพของปัจเจกได้
ฐานคิดของโธมัส เจฟเฟอร์สัน น่าจะถูกนำมาใช้เป็นฐานคิดในรัฐธรรมนูญอเมริกันไม่น้อยนะครับ เลยอยากชวนคุณย้อนกลับไปดูคำประกาศอิสรภาพ ซึ่งมีอยู่ตอนหนึ่งบอกไว้แบบ ‘ทรงพลังอย่างแรง’ ว่า
“We, therefore, the Representatives of the united States of America, in General Congress, Assembled, appealing to the Supreme Judge of the world for the rectitude of our intentions, do, in the Name, and by Authority of the good People of these Colonies, solemnly publish and declare, That these united Colonies are, and of Right ought to be Free and Independent States, that they are Absolved from all Allegiance to the British Crown, and that all political connection between them and the State of Great Britain, is and ought to be totally dissolved; and that as Free and Independent States, they have full Power to levy War, conclude Peace, contract Alliances, establish Commerce, and to do all other Acts and Things which Independent States may of right do. — And for the support of this Declaration, with a firm reliance on the protection of Divine Providence, we mutually pledge to each other our Lives, our Fortunes, and our sacred Honor.”
ขออนุญาตตัดตอนมาลงโดยไม่แปลนะครับ แต่จะเห็นว่า ฐานคิดเรื่องเสรีภาพของคนอเมริกันนั้น มาจากการพยายาม ‘สลัดแอก’ ตัวเองออกจากการปกครองหรือการกดขี่ของระบอบกษัตริย์อังกฤษ คือพยายามจะเป็นอิสระจากการปกครองของศูนย์กลางอำนาจเก่า ด้วยการประกาศว่า ในฐานะประเทศหนึ่งๆ-สหรัฐอเมริกา (ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้มีชื่อนี้ ยังเป็นแค่ Colonies หรือกลุ่มอาณานิคมที่มารวมตัวกัน) มีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ ทั้งในด้านการค้า การทหาร การทูต ฯลฯ
ทีนี้ถ้าย้อนกลับไปดูอเมริกาด้วยสายตาของอังกฤษโบราณ (ซึ่งพกพามากับวิธีคิดแบบที่ปรากฏในเชคสเปียร์) เราจะเข้าใจได้ชัดเจนเลยนะครับ ว่าในสายตาของอังกฤษแล้ว อเมริกาในเวลานั้นก็คือ The North ในโอเธลโลนั่นแหละ คือเป็นทั้งดินแดนที่กว้างใหญ่ ป่าเถื่อน และไม่ได้มีกฎระเบียบอะไร
ในความหมายนี้ อเมริกาจึง Liberal แต่เป็น Liberal ที่มีนัยของความป่าเถื่อนและควบคุมตัวเองไม่ได้ เป็น Liberal ที่ไม่ใช่ของดิบดีอะไรในสายตาของผู้มีอำนาจดั้งเดิมอย่างกษัตริย์อังกฤษและกษัตริย์สเปน ดังนั้น การพยายามจะสลัดแอกออกจากโครงสร้างอำนาจเดิมที่อยู่ใต้ปกครองของอังกฤษ จึงเป็นสิ่งที่เรียกว่า Crime of Liberalism
ด้วยเหตุนี้ การประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการทหารหรือการสู้รบอย่างเดียวเท่านั้น เพราะแค่รบยังไม่พอ แต่ยังต้องรับมือและจัดการกับ ‘อำนาจทางวัฒนธรรม’ ที่เก่าแก่ฝังลึกด้วย โดยวิธีที่ โธมัส เจฟเฟอร์สัน ทำ ก็คือการ ‘พลิกมุม’ ของคำว่า ‘เสรีภาพ’ ให้กลายมามีแง่บวก แทนที่ Libaral จะคือสัญลักษณ์ของความป่าเถื่อนที่ขัดขืนต่ออำนาจอันศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่และสูงส่ง กลายมาเป็นพื้นฐานยิ่งใหญ่ของปัจเจก-ที่จะไม่ยอมงอมืองอเท้าอยู่ใต้การปกครองที่อยุติธรรมใดๆ อีก
คำประกาศอิสรภาพของอเมริกา จึงปรากฏความคิดเรื่องนี้ชัดมาก และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าเป็น Liberalism ในแบบอเมริกาขึ้นมา,
แต่ก็อีกนั่นแหละ-มันไม่เหมือนกับ Liberailsm ของยุโรป!
Russell Shorto วิเคราะห์เอาไว้ในหนังสือ Amsterdam : A History of the World’s Most Liberal City ว่า แม้คำว่า ‘เสรีภาพ’ ทั้งหลายทั้งปวง จะยึดโยงกลับไปสู่ใจกลางเรื่องปัจเจก แต่เสรีภาพในแบบอเมริกากับแบบยุโรป (ที่ไม่ใช่อังกฤษ) นั้นกลับมีรายละเอียดที่แตกต่างกันอยู่
เป็นความแตกต่างที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่แท้จริงแล้วไม่!
ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา เราจะเห็นได้ชัดเจนเลยนะครับ ว่า ‘รัฐ’ จะเป็นผู้ ‘มอบ’ เสรีภาพให้กับประชาชน พูดเป็นภาษาอังกฤษก็คือ สหรัฐอเมริกาจะทำหน้าที่เป็นทั้ง Grantor, Guardian และ Guarantor คือทั้งมอบ พิทักษ์ และรับประกันเสรีภาพให้กับประชาชน ดังนั้น รัฐจึงมีหน้าที่ ‘บังคับ’ (enforce) ให้เกิดเสรีภาพ
แต่เอ๊ะ! เสรีภาพที่ถูกบังคับให้เกิดเสรีภาพนี่มันจะเป็นเสรีภาพแบบไหนกันนะ…งง!
คุณ Shorto บอกว่า ถ้าย้อนกลับไปดูรากคำว่า Free เราจะเห็นว่ามันมีที่มาได้หลายแบบ ในอเมริกาเกิดจากการสลัดแอกจากอำนาจกษัตริย์อังกฤษ แต่ในยุโรปทางเหนือๆ โดยเฉพาะในอัมสเตอร์ดัม (ที่เขาบอกว่าเป็นเมืองที่ ‘เสรี’ ที่สุดในโลก) เสรีภาพเกิดจากการที่อัมสเตอร์ดัมเป็นเมืองการค้า และเหล่าพ่อค้าทั้งหลาย ก็ต้องการให้รัฐเข้ามาเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ น้อยที่สุด ความเป็นเมืองการค้าทำให้ ‘อำนาจ’ ของพ่อค้ามีมากถึงขนาดสามารถต่อสู้ต่อรองและ ‘จำกัด’ อำนาจของรัฐได้ เสรีภาพของอัมสเตอร์ดัมหรือยุโรปจึงเป็นเสรีภาพอีกแบบหนึ่งซึ่งพูดได้ว่าเสรีเสียยิ่งกว่าเสรีภาพแบบอเมริกัน
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เสรีภาพแบบอเมริกันเป็นเสรีภาพที่รัฐรับประกันว่าจะทำให้เกิด เสรีภาพแบบอเมริกันจึงเป็นเสรีภาพที่มีรัฐอยู่ด้วยเต็มที่ แต่เสรีภาพแบบอัมสเตอร์ดัม คือเสรีภาพที่ ‘กีดกัน’ รัฐออกไป ทำให้เกิดเสรีภาพอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างไปโดยสิ้นเชิง คือคนมีอำนาจในการเลือกตัดสินใจเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยไม่อิงอยู่กับอำนาจรัฐหรืออำนาจศาสนาน้อยกว่ามาก
เมื่อมองผ่านแว่นของประวัติศาสตร์ เสรีภาพจึงไม่ได้มีแบบเดียว แต่ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพแบบไหน แก่นของมันจะต้องย้อนกลับไปสู่สภาวะ Unconstrained หรือไม่ถูกจำกัดด้วยเจตจำนงของผู้มีอำนาจอื่นเสมอ และให้ความสำคัญกับปัจเจกเสมอ
ดังนั้น ถ้าลองเรียบเรียงประวัติศาสตร์เสรีภาพแบบสั้นๆ เราจะเห็นว่า-ด้ังเดิมที่สุด มนุษย์ถูก constrain แต่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว และมีชีวิตอยู่ในข้อจำกัดต่างๆ ของธรรมชาติอย่างเคยคุ้น และนำความเคยคุ้นนั้นมาใช้กับการถูกกดข่มจากการปกครองและขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เมื่อเกิดการปกครองที่อยุติธรรมและมีการเปลี่ยนแปลงสังคมในหลายๆ มิติ ที่สุดปัจเจกทั้งหลายก็ต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติล้มล้างอำนาจอยุติธรรมที่ข่มเหงตัวเองอยู่ด้วยวิธีการต่างๆ จนสุดท้ายกลายมาเป็นเสรีภาพที่เบ่งบานในแบบต่างๆ โดยมีฐานที่เกี่ยวพันแนบแน่นกับคำว่า ‘สิทธิ’
ทีนี้ถ้าลองมองย้อนกลับมาดูสังคมไทย ผมคิดว่าบางทีเราอาจต้องลุกขึ้นมาถามตัวเองกันบ้างนะครับ ว่าเราอยู่ในขั้นตอนไหนของประวัติศาสตร์เสรีภาพ
ลองถามและตอบกันดูนะครับ!

โตมร ศุขปรีชา