ด้วยความที่มีเพื่อนรักเป็น ‘โอตะทัคคะ’ ผมจึงผลิบานแรงบันดาลใจใคร่จะสาธยายเรื่องราวในอีกหลายบรรทัดถัดไป ครับ เพื่อนของผมคอยติดตามวงไอดอลต่างๆหลายต่อหลายวงอย่างเปี่ยมล้นสุขสันต์ยิ่งยวด พอได้คุยกันคราใดผมพลอยปลื้มเปรมที่แลเห็นเพื่อนยิ้มแย้มแจ่มใส แววตาวิบวับประกายเมื่อเขาเอ่ยถึงเนื้อหาสารพันเกี่ยวกับสาวๆ ประจำวงนั้นวงโน้น พร้อมพรั่งพรูให้ฟังว่าพวกเธอทั้งร้องทั้งเต้นเช่นไรบ้าง จนกระทั่งชวนให้ผมนึกอยากเป็น ‘โอตะ’ อยู่ไม่น้อย
แต่ในฐานะที่ผมเองชอบเหลือเกินกับชีวิตชีวาของคนเก่าๆ แห่งวันวาน คงต้องขออนุญาตย้อนเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์ไทยเพื่อไปคลั่งไคล้แม่สาวนักเต้นระบำคนหนึ่ง เธอคือขวัญใจบรรดาหนุ่มๆ รุ่นปู่รุ่นทวด แม่สาวคนนี้ที่ผมโอชิชื่อ ‘สมิหรา’ หรือหนุ่มๆ ในอดีตบางคนเรียกขาน ‘สะมิระ’
การแสดงระบำในเมืองไทยปรากฏให้เห็นมาเนิ่นนานแล้ว ระบำไทยดั้งเดิมน่าจะไม่แคล้วแบบที่เราๆ ท่านๆ เคยหัดร่ายรำในวิชานาฏศิลป์ ส่วนระบำฝรั่งแบบสมัยใหม่ดูเหมือนเพิ่งเผยโฉมต่อสายตาชาวสยามในยุคที่ละครร้องกำลังเฟื่องฟูปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยเฉพาะการแสดงของคณะละครปราโมทัย
ละครร้องก็คล้ายๆ ละครเวทียุคปัจจุบันนั่นแหละ จัดแสดงเป็นฉากเป็นองก์และดำเนินเรื่องด้วยการให้ตัวละครขับขานเพลง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการละครไทยเสนอว่าละครประเภทนี้อาจรับรูปแบบมาจากอุปรากร (Opera) ของพวกฝรั่ง ขณะบางท่านว่าอาจรับมาจากละครของพวกชาวมลายู และบ้างก็ว่าอาจดัดแปลงมาจากละครดึกดำบรรพ์ บุคคลสำคัญที่ริเริ่มจัดแสดงละครร้องคือกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งได้ก่อตั้งคณะละครร้องปรีดาลัยขึ้นมา โรงละครอยู่ในวังของท่านหรือบริเวณแพร่งนราในปัจจุบัน ละครเรื่องที่เกรียวกราวเห็นจะมิพ้น ‘สาวเครือฟ้า’
แล้วคณะละครร้องปราโมทัยล่ะ?
เจ้าของคณะละครดังกล่าวคือพระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตะศิริ) มิหนำซ้ำ คุณพระยังเป็นเจ้าของกิจการโรงพิมพ์โสภณพิพรรธนากร ช่วงต้นทศวรรษ 2450 มีการสร้างโรงละครขนาดใหญ่ไว้สำหรับคณะละครร้องปราโมทัยจัดแสดง เชิญชวนนักประพันธ์เลื่องชื่อหลายคนมาร่วมแต่งบทละคร อีกทั้งจัดประกวดแข่งขันแต่งบทละครชิงรางวัล กลายเป็นว่าเนื้อหาละครร้องคณะปราโมทัยหลากหลายอรรถรส ช่างทันยุคทันสมัย สอดแทรกบทตลกๆ เข้าไป จนส่งผลให้ผู้ชมแห่มาชมล้นหลาม พระโสภณอักษรกิจยังเกิดความคิดนำเอาบทแสดงงิ้วมาแต่งให้เป็นบทละครไทยเพราะโรงละครของตนตั้งอยู่ในเวิ้งนาครเขษมอันเป็นย่านชาวจีน อย่างนี้มีหรือชาวจีนจะไม่มาชม ช่วงเวลาเดียวกัน คณะละครร้องปรีดาลัยพลันซบเซาลงเรื่อยๆ นักแสดงละครคนสำคัญอย่างแม่ฉวี แม่เยื้อน และแม่บุนนาค จึงย้ายมาประจำคณะละครร้องปราโมทัยแทน
มนต์เสน่ห์สำคัญอันตราตรึงผู้ชมของคณะละครร้องปราโมทัยได้แก่ระบำสลับฉาก ซึ่งผู้แสดงจะเต้นแบบฝรั่ง ดังขุนวิจิตรมาตราให้ข้อมูลว่า “พูดถึงระบำนอกจากระบำไทยแล้ว ทำให้นึกไปถึงละครร้องสมัยปราโมทัย ครั้งนั้นมีระบำเต้นแบบฝรั่งซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นระบำเดี่ยวเต้นคนเดียวสลับฉากตอนปิดม่าน เต้นเข้ากับเพลงทำนองฝรั่ง”
แม่สาวนักเต้นระบำนี่สิครับที่น่าสนใจ ลองฟังท่านขุนคนเดิมเล่าต่อ “ตัวระบำเป็นหญิงมีชื่ออยู่ ๒ คนชื่อ “สะมิระ” เล่นที่โรงละครบ้างที่อื่นบ้าง ร้องเพลงเป็นทำนองแขกมลายูได้ด้วย เรียกกันว่า “ระบำสะมิระ” อีกคนหนึ่งชื่อ “เฉลียว” ส่วนมากเล่นที่โรงละครปราโมทัย มีคนชอบมาก เรียกกันว่า “ระบำแม่เฉลียว” สมัยนั้นมีระบำสาวอยู่ ๒ คนเท่านั้น แล้วก็ไม่เห็นมีอีก”
ใช่ครับ แม่สาวสมิหราหรือแม่สะมิระ คนที่ผมอุตส่าห์ข้ามยุคไปโอชิเธอ ถือเป็นนางระบำที่เต้นแบบฝรั่งคนแรกๆ ของเมืองไทย อ้าว ทำไมผมจึงไม่โอชิแม่เฉลียวบ้างเนี่ย? ก็เพราะผมสนใจแม่สมิหราในแง่ที่ว่า พอยุคสมัยแห่งละครร้องเสื่อมคลายความนิยมแล้ว สาวน้อยนักระบำคนนี้ยังไปเป็นดาวเด่นขวัญใจหนุ่มๆ อีกนะซี
ช่วงทศวรรษ 2470 จวบจนก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดฉากในเมืองไทย แหล่งบันเทิงที่จัดแสดงการเต้นระบำแบบฝรั่งได้เลื่องลือที่สุดและผู้ชายในกรุงเทพพระมหานครน่าจะรู้จักคุ้นเคยกันดีย่อมหมายถึง สถานหย่อนใจบนตึกดำรงพาณิชย์ หรือเรียกว่า ‘ตึกเจ็ดชั้น’ (มีการจัดแสดงระบำบนชั้นเจ็ด กระทั่งภายหลังเป็นที่มาของถ้อยคำว่า ‘สวรรค์ชั้นเจ็ด’) รวมถึงบนตึกของพระยาไพบูลย์สมบัติหรือเรียกว่า ‘ตึกเก้าชั้น’ ทั้งสองอาคารจัดเป็นตึกสูงที่สุดในกรุงเทพฯ ห้วงยามนั้น ช่างน่าตื่นตาตื่นใจเสียจริง กระนั้น สิ่งที่ดึงดูดหัวใจหนุ่มๆ คือแม่สาวๆ นักระบำต่างหาก ซึ่งพวกเธอได้ถูกกล่าวถึงผ่านหน้าหนังสือพิมพ์อยู่สม่ำเสมอ บางคราวก็ถูกพาดพิงเชิ่งทะลึ่งทะเล้น
‘ระบำหยาดฟ้า’ เป็นคณะหนึ่งที่หนุ่มๆ ปรารถนาไปสัมผัสให้เต็มสองตา โดยจะจัดแสดงบนตึกเก้าชั้น มีทั้งนางระบำชาวไทยรวมถึงนางระบำจากต่างประเทศที่ว่าจ้างมาเป็นพิเศษ เช่นนางระบำสเปน ส่วนสาวนักเต้นไทยอย่างคนที่โด่งดังระดับ ‘ตัวแม่ ’หรือ ‘ตัวลือ’ ได้แก่ นางสาวสง่า ข่าวหนังสือพิมพ์มักพาดพิงเธอในเชิงวาบหวาม, นางสาวพิกุลแกม ที่หนังสือพิมพ์ลงภาพเธอแล้วแซวว่า “นี่เป็นท่านิ่งๆ ของดิฉัน ท่ากระดุกกระดิกคุณเคยเห็นแล้วหรือ”, นางสาวสาลี่ และคนสำคัญสุดๆ คือนางสาวสมิหรา ซึ่งชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ นักเขียนผู้จะมีอายุครบรอบ 100 ปีชาตกาลในพุทธศักราช 2561 กล่าวว่า
“สมิหรา” เป็นนามของหัวหน้าคณะระบำที่เป็นสาวที่สวยที่สุดโฉมสคราญ ชำนาญในการเริงระบำที่ชายหนุ่มทุกคนใฝ่ฝันถึงยิ่งกว่าใคร เธอมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ปฏิสันถารด้วยถ้อยคำอันสุภาพต่อแขกเหรื่อทุกคนโดยมิได้รังเกียจ ระบำเก้าชั้นจึงกล่าวขวัญถึง “สมิหรา” ยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น
คณะระบำหยาดฟ้าครองชื่อเสียงก้องกังวานไปทั่ว ใครต่อใครก็อยากจะไปให้ถึงตึกเก้าชั้น เพราะฟังเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับการจัดแสดงระบำงูและระบำแคนแคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่สาวสมิหรา คณะละครและคณะจัดแสดงอื่นๆ ล้วนปรารถนาให้เธอไปร่วมคณะด้วย เพราะเพียงแต่หนุ่มๆ แว่วยินชื่อ ‘สมิหรา’ ก็ย่อมอยากมาดูตัวจริงให้ได้ กระทั่งคราวหนึ่ง คณะแสดงมายากลชาวอินเดียนาม ‘คณะโปรเฟสเซอร์โชว์’ ได้เดินทางเข้ามาเปิดการแสดงในประเทศสยาม ทางฝ่ายนายทุนก็ต้องการที่จะติดต่อให้แม่สมิหราไปร่วมแสดงระบำในคณะมายากล
ครั้นเข้าสู่ภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2480 กิจการความบันเทิงทั้งหลายเงียบเชียบ คณะระบำปิดตัวไปแทบหมดสิ้น อย่างไรก็ดี เท่าที่เคยอ่านพบแม่สาวสมิหราดูเหมือนจะยังคงแสดงระบำอยู่ ณ ตึกเก้าชั้นเช่นกันท่ามกลางบรรยากาศกรุงเทพฯ ที่ทั้งเมืองพรางไฟมืดมิด เสียงหวอเตือนดังสนั่นและเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรเข้ามาทิ้งลูกระเบิด จนบางครั้งการแสดงระบำต้องหยุดชะงักลง อ้อ เกือบลืมบอกไป นายทหารและพลทหารญี่ปุ่นแทบทุกคนจะมีแผนที่กรุงเทพมหานครซึ่งบ่งชี้ที่ตั้งของตึกเก้าชั้น พร้อมด้วยคำอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นปรากฏอย่างชัดเจน นั่นหมายความว่าสมาชิกกองทัพลูกพระอาทิตย์ก็คือผู้เข้าชมระบำร่วมกับชาวไทย ที่สำคัญ แม่สะมิระเองก็เป็นที่ชื่นชอบของทหารจากต่างแดนไม่น้อยเลย
จริงอยู่ กาลเวลาที่ล่วงผ่านมาตราบปัจจุบันอาจยาวนานจนทำให้ชื่อของแม่สาวสมิหราเลือนหายไปจากความทรงจำของใครต่อใครเสียแล้ว แต่จะปฏิเสธได้ล่ะหรือว่าเธอไม่เคยสร้างความสุขและเป็นหญิงสาวที่ประทับในหัวใจของชายหนุ่มมากมายในอดีต ก็ดูสิครับ ขนาดผมเป็นหนุ่มในยุคเกือบ 100 ปีให้หลัง ผมยังพยายามย้อนยุคไปโอชินักเต้นระบำสาวคนนี้เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
- กาญจนาคพันธุ์. กรุงเทพฯ เมื่อ 70 ปีก่อน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สารคดี,2545.
- ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์.เมืองไทยสมัยก่อน. กรุงเทพฯ: เรืองศิลป์, 2519.
- “นางสาวพิกุลแกม-นี่เป็นท่านิ่งๆ ของดิฉัน ท่ากระดุกกระดิกคุณเคยเห็นแล้วหรือ.” สยามราษฎร์(วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2474)
- “น.ส. สาลี่ ซึ่งเป็นดาราที่กำลังเปล่งรัศมีอยู่ ณ 9 ชั้นเวลานี้.” สยามราษฎร์(วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2474)
- “ที่ปลุกตาปลุกใจที่ตึกเก้าชั้น.”หลักเมือง(วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2484)
- ทัศนา ทัศนมิตร. เกร็ดบางกอก. กรุงทพฯ:แสงดาว,2554.
- พีระพงศ์ ดามาพงศ์. ท่องอดีตกับสามเกลอ เล่ม 3.กรุงเทพฯ: เอสซี แมทช์บอกซ์, 2547.
- พูนพิศ อมาตยกุล. ‘ประวัติของละครร้อง’.ในอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางสุดจิตต์ ดุริยประณีต อนันตกุลณ ฌาปนสถาน กรมตำรวจ วัดตรีทศเทพวรวิหาร วันอาทิตย์ที่ 2มิถุนายนพุทธศักราช 2556. กรุงเทพฯ: โรงพิมพนานาสิ่งพิมพ์, 2556
- ยุธิษเฐียร (ยศ วัชรเสถียร). เกล็ดจากอดีต.กรุงเทพฯ:เฟื่องอักษร,2513.
- ยุธิษเฐียร (ยศ วัชรเสถียร). ขุดจากอดีต. กรุงเทพฯ:รุ่งเรืองรัตน์,2514.
- โรม บุนนาค. บันทึกแผ่นดิน ชุดเรื่องเก่าเล่าสนุก 3. กรุงเทพฯ: สยามบันทึก,2554.
- ลาวัณย์ โชตามระ.ชีวิตชาวกรุง เมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว และ ชีวิตชาวกรุงสมัยสงคราม. กรุงเทพฯ:แพร่พิทยา,2527.
- วิจิตรมาตรา, ขุน. หลักหนังไทย.นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน), 2555
- Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok: Love, Sex, and Popular culture in Thailand. Chiang Mai: Silkworm, 2002.