ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้อ่านทวิตเตอร์เรื่องที่ติดเทรนด์ในไทย แล้วเจอประเด็นที่อ่านไปก็รู้สึกสนใจมาก นั่นคือเรื่องของผ้าอนามัยของผู้หญิง ซึ่งหลายคนก็เห็นว่า ควรจะจัดหมวดอื่น ไม่ใช่เครื่องสำอาง ไม่อย่างนั้นภาษีก็จะแพง ส่งผลถึงราคาและเป็นภาระของผู้หญิงเพราะเป็นรายจ่ายจำเป็นทุกเดือน ซึ่งผมก็ไม่เคยรู้เรื่องภาษีตรงนี้มาก่อน ก็คิดว่าน่าสนใจและควรมีการสนับสนุนจากรัฐด้วย เพราะถือเป็นสิ่งจำเป็นของผู้หญิงจริงๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เจอความเห็นระดับมะเร็งของฝ่ายชายหลายคน ตั้งแต่ออกมาโวยวาย (ที่ผมเห็นแล้วอยากใช้คำว่า งอแง) ราวกับว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และลากไปเรื่องอื่นแบบไร้สาระ อ่านแล้วก็ได้แต่ส่ายหัวและรู้สึกเศร้าใจจริงๆ
ในฐานะคนที่โตมาในครอบครัวที่มีผู้หญิงเยอะ และปัจจุบันก็อาศัยอยู่กับหม่อมเมีย จะว่าเข้าใจความยากลำบากของผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนก็พอว่าได้ แต่พอไม่ได้เป็นประสบการณ์ของตัวเองจริงๆ แล้ว จะบอกว่าเข้าใจดีก็คงพูดไม่ได้หรอกครับ แต่ก็เห็นและสัมผัสได้ถึงความลำบากตรงนี้ในระดับหนึ่ง รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่ตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาซื้อผ้าอนามัยหรือผลกระทบที่มีต่อร่างกายและส่งผลต่อการเรียนหรือการทำงาน และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของผู้หญิง ก็ได้แต่รู้สึกว่าลำบากจริงๆ
ซึ่งความลำบากตรงนี้ก็ไม่ใช่แต่ในไทยหรอกครับ แน่นอนว่าไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน เมื่อประจำเดือนมาก็แน่นอนว่าปวดท้องเหมือนกันแน่ๆ แต่ที่ลำบากต่างกันก็คือ ทัศนคติของสังคมและคนรอบตัวที่มีต่อการมีประจำเดือนนั่นล่ะครับ ในบางสังคมการมีประจำเดือนก็ยังเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจอย่างมากและเป็นเหมือนตราบาปของผู้หญิง ในขณะที่บางสังคมเปิดกว้างกว่า
และในสังคมญี่ปุ่นก็เช่นกัน ยังมีปัญหาตรงนี้อยู่ดี เพราะความที่เป็นสังคมชายเป็นใหญ่ ในปัจจุบันเรื่อง ประจำเดือนของผู้หญิง ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ไม่ได้เปิดกว้างมากนัก แม้จะบอกว่า สังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนไปมากจากเดิมตั้งแต่มีผ้าอนามัยมาขายในประเทศ เพราะถือเป็นการปลดปล่อยผู้หญิงจากปัญหาที่ทำให้ลำบากในการออกจากบ้าน กลายเป็นว่าผู้หญิงก็สามารถออกมาทำงานมีบทบาทในสังคมได้ และการมาถึงของซูเปอร์มาเก็ต และร้านสะดวกซื้อที่มีผ้าอนามัยวางขายอยู่ทั่วไปก็ช่วยให้สังคมเริ่มชินกับผ้าอนามัยมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น แม้เวลาจะผ่านไปจากจุดนั้นนานแค่ไหน แต่หลายๆ เรื่องของความเข้าใจและทัศนคติที่มีต่อเรื่องประจำเดือนของเพศหญิงก็ไม่ได้มีเพิ่มมากขึ้น
จนล่าสุดก็มีข่าวน่าสนใจเรื่องหนึ่งก็คือ ที่ห้างไดมารุ สาขาอุเมดะ ในโอซาก้า ประกาศเปิดมุมขายสินค้าสำหรับผู้หญิงใหม่ ซึ่งพนักงานขายสินค้าที่โซนนี้ จะติดเข็มกลัดแจ้งว่า พนักงานที่ให้บริการตอนนั้นมีประจำเดือนอยู่ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
ก็กลายเป็นข่าวในสังคมญี่ปุ่น เพราะถือว่าเป็นแนวคิดที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน หลายเสียงก็เห็นด้วย เพราะก็เป็นการแจ้งให้ลูกค้าทราบได้ว่าพนักงานก็อาจจะไม่สะดวกในบางเรื่อง และก็มีส่วนช่วยในการสื่อสารกันในที่ทำงาน เพราะช่วยให้พนักงานคนอื่นรู้ได้ว่า เพื่อนร่วมงานมีประจำเดือนอยู่ อาจจะมีความจำเป็นต้องพักมากกว่าปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือที่ปกติอาจจะไม่จำเป็น บางคนก็บอกว่า เวลาปวดท้องประจำเดือนนี่อาการหนักมากจนแทบจะเป็นลม บางทีก็ต้องพยายามแสดงออกให้คนเข้าใจ ถ้ามีเข็มกลัดแบบนี้ก็ช่วยได้ ก็อยากจะใช้เหมือนกัน
แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นว่า จะทำไปทำไม ทำแล้วได้อะไร
ทำไมลูกค้าต้องรู้เรื่องส่วนตัวของพนักงานด้วย
บางคนก็บอกว่า แล้วผู้ชายเห็นจะรู้สึกอย่างไร อาจจะไม่พอใจก็ได้ ซึ่งก็ชวนงงนิดนึง เพราะว่าพื้นที่บริการนั่นเป็นพื้นที่ขายสินค้าสตรีเป็นหลัก บางเสียงก็ว่าไม่น่าให้พนักงานทำอะไรแบบนี้ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพนักงานหรือไม่ ซึ่งก็มีการชี้แจงว่าเป็นการทำโดยสมัครใจของพนักงาน ใครไม่อยากติดก็ไม่ต้อง อันนี้ก็ห่วงหน่อยเพราะส่วนใหญ่สุดท้ายก็มักจะโดนแรงกดดันของ ‘นโยบาย’ และจากเพื่อนร่วมงาน จนสุดท้ายก็ไม่มีความหมาย ต้องติดอยู่ดี
บางคนก็ยึดถือความเป็นมืออาชีพในการทำงาน ไม่อยากติด เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ถ้าหากมาทำงาน ไม่ว่าสภาพร่างกายจะเป็นอย่างไร ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ยิ้มแย้มเสมอสมกับที่เป็นมืออาชีพ บางคนก็คิดว่า พอบอกว่ามีประจำเดือนแล้ว จะทำอะไรก็ได้เหรอ หรือว่า ต้องการให้เอาใจเหรอ ก็น่าเหนื่อยใจอยู่นะครับ
พอรายการเล่าข่าวทางทีวีไปสอบถามความเห็นผู้หญิงทั่วไป 80 คน ก็มีคนเห็นด้วย 31 คน ไม่เห็นด้วย 49 คน ถือว่าห่างกันอยู่ แต่ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่น่าสนใจครับ เพราะคนออกไอเดียก็คิดอยู่แล้วว่าต้องมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแน่นอน แต่ก็อยากจะเริ่มต้นเพื่อให้เรื่องนี้ได้เป็นบทสนทนาในสังคม เผื่ออาจจะต่อยอดต่อไปด้วย ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย ซึ่งก็มีคอลัมนิสต์หญิงเห็นด้วยเหมือนกัน เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเอามาคุยกัน และคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้มีทัศนคติต่อประจำเดือนและการใช้ผ้าอนามัยในแง่ลบเหมือนอดีต แล้วพัฒนาการของผ้าอนามัยก็ทำออกมาได้ดี เวลาใช้งานก็ไม่ได้ลำบาก หรือขนาดที่เล็กและบางลงก็ช่วยเพิ่มทางเลือกในการแต่งตัวของเด็กหญิงรุ่นใหม่ด้วย
น่าเสียดายที่ระหว่างที่เขียนงานชิ้นนี้ สุดท้ายแล้ว ทางห้างก็ตัดสินใจยกเลิกระบบนี้ไปแล้ว เพราะเสียงวิจารณ์มากกว่าที่คาดคิดไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่กล้าหาญและน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะจะได้เป็นการสร้างบทสนทนาต่อยอดนี่ล่ะครับ และตัวกลุ่มพนักงานเองก็ยังบอกว่าไม่ได้ถอดใจ แต่จะพยายามหาแนวทางในการรณรงค์เรื่องนี้ต่อไปอีก
และจุดที่ผมคิดว่าน่าสนใจอีกจุดก็คือ ดีไซน์ของเข็มกลัดก็คือตัวละคร Seiri Chan หรือ น้องประจำเดือน ที่เป็นตัวละครหลักของมังงะชื่อดังกล่าวนั่นเอง และสำหรับผมแล้ว นี่ก็ถือว่าเป็นมังงะที่น่าสนใจเอามากๆ ในช่วงปีที่ผ่านมาเลยครับ
Seiri Chan เป็นตัวละครหรือจะเรียกว่าเป็นคาแรกเตอร์แทนประจำเดือน
ที่แวะเวียนมาหาตัวละครหญิงในเรื่องแต่ละตอน
ผมไม่เคยอ่านฉบับรวมเล่มนะครับ แต่ที่อ่านบนเว็บคือเป็นมังงะแบบตอนเดียวจบ เล่าเรื่องราวประสบการณ์ของผู้หญิงที่มีต่อประจำเดือนในแต่ละแง่มุม ตัว Seiri Chan นี่ จะว่าเป็นตัวละครที่ ‘น่ารัก’ ก็พูดยากหน่อยครับ ดูหน้าตาแล้วจะบอกว่า “หน้าบู้จนน่ารัก” ก็ว่าได้ และที่น่าสนใจคือ เป็นตัวละครที่ไม่ได้มีการแสดงออกทางสีหน้าเลย หน้าตายตลอด ตั้งแต่ตอนโผล่มาว่า “สวัสดี กลับมาอีกแล้ว” ก็โผล่มาแบบไม่ให้สุ่มให้เสียง แล้วเข้ามาก็เหมือนเป็นภาระเกาะติดตัวเอก ไปไหนต่อไหนตลอด บางครั้งก็เป็นเหมือนน้ำหนักคอยถ่วงให้ตัวเอกลากไปไหนมาไหนอย่างยากลำบาก ซึ่งก็สมกับเป็นตัวแทนของประจำเดือนนั่นล่ะครับ มาแล้วมันลำบากแน่นอน
แต่ทัศนคติของตัวละครที่มีต่อ Seiri Chan ก็น่าสนใจนะครับ เขาไม่ได้แค่แสดงถึงความลำบากของการมีประจำเดือน แต่ไปไกลกว่านั้น โดยอาศัยการเล่าเรื่องที่ดีนี่ล่ะครับ เช่นตัวละครตัวหนึ่ง ไปเที่ยวทะเลกับแฟนครั้งแรก แต่กลับกลายเป็นว่า Seiri Chan เกาะปีกเครื่องบินไปด้วย ลงสนามบินปุ๊บ ก็เหนื่อยยากลำบาก กินของเย็นก็ไม่ได้ และสุดท้าย จากที่เป็นแผนการเที่ยวโรแมนติก แผนก็ต้องพังเพราะ Seiri Chan แถมในเรื่องยังมีอีกตัวละครนึงที่ไม่มีชื่อ แต่เป็นคาแรกเตอร์คล้าย ‘เห็ด’ ที่เป็นตัวแทนของความกระสันของฝ่ายชาย ซึ่งตัวแฟนหนุ่มพอตกดึก เจ้าเห็ดนี่ก็ขยายตัวจนพังกรงเหล็กออกมา และบอกฝ่ายหญิงว่า “ปูผ้าบนเตียงไว้ ก็โอเคแล้วล่ะ” แต่สุดท้ายก็โดน Seiri Chan ใช้ ‘หมัดประจำเดือน’ ต่อยสวนกลับไป
ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ ฝ่ายหญิงโมโหและเกลียดสิ่งที่เกิดขึ้นจนร้องไห้ เธอไม่ได้โมโหที่ฝ่ายชายบุกเข้ามาแบบนั้นอย่างเดียว แต่โมโหตัวเองที่อุตส่าห์มาเที่ยวแบบนี้แล้วแต่ดันมีประจำเดือน และยังน้อยใจที่ฝ่ายชายไม่เข้าใจ สุดท้ายฝ่ายชายก็ออกไปนั่งสงบสติ และได้ Seiri Chan ช่วยปลอบใจ และปรับทุกข์ว่าตัวเองก็ไม่เข้าใจระบบร่างกายฝ่ายหญิง เพราะโตมาก็ถูกแยกกันตลอด ไม่ได้มีใครสอนให้เข้าใจฝ่ายหญิงเท่าไหร่ ซึ่งก็เป็นการชี้ปัญหาได้อย่างน่าสนใจเช่นกัน ก่อนที่ทั้งสองจะปรับความเข้าใจกันได้
ตัวอย่างอื่นที่น่าสนใจก็เช่น การเล่าเรื่องของผู้หญิงทำงานที่เผลอนอนกับเพื่อนร่วมงานไปที แล้วฝ่ายชายจะพยายามฉวยโอกาสอีกครั้ง แต่ก็โดนหมัดประจำเดือนสวนไป พร้อมทั้งบอกว่า ถ้าผู้หญิงไม่สมัครใจ อย่าคิดว่าเคยได้แล้วจะได้อีกนะ ส่วนตัวผู้หญิงพอรู้ตัวอีกที ก็กอด Seiri Chan ร้องไห้ เพราะกลัวว่าจะไม่มาหากันอีก (พลาดท้องนั่นล่ะครับ)
หรือเรื่องราวของผู้หญิงที่ต้องการมีลูกกับสามีแต่ไม่มีซะที การมาเยือนของ Seiri Chan ในแต่ละเดือนคือเครื่องหมายแสดงว่าความพยายามในเดือนที่ผ่านมาก็สูญเปล่า ซึ่งตอนนี้ก็จบสวยได้เหมือนกันครับ ไล่อ่านแต่ละตอนแล้วคิดว่าทำออกมาได้ดีมากๆ และเข้าใจความรู้สึกผู้หญิงได้เป็นอย่างดี และเป็นการนำเสนอที่น่าสนใจ ไม่ได้หนักเกิน แม้ตัว Seiri Chan จะไม่ได้ออกมาน่ารักคิวต์ๆ แบบเห็นแล้วรักเลย แต่ผมว่าการดีไซน์ออกมาแบบนี้มันทำให้เราเข้าใจได้ดีกว่า เพราะว่ามันไม่ได้เป็นการพยายามเคลือบน้ำตาลหลอกล่อ แต่กลับทำให้เห็นอย่างจริงจังว่า เออ มันก็ไม่ได้ดูน่ารักนะ ดูเป็นภาระมากกว่า แต่ก็คือสิ่งที่ต้องอยู่คู่กับเราไปนี่ล่ะ
แน่นอนว่า เมื่อได้เป็นเข็มกลัดในห้างไดมารุ ก็มีมังงะ Seiri Chan ตอนพิเศษเกี่ยวกับไอเดียในการใช้เข็มกลัดในห้างนั้นด้วยล่ะครับ ก็จัดว่าอธิบายสถานการณ์ออกมาได้ดีมากๆ ตัว Seiri Chan ก็เป็นที่พูดถึงในสังคมญี่ปุ่นมาเรื่อยๆ เท่าที่ผมสังเกตมา และกำลังจะมีฉบับภาพยนตร์อีกด้วยครับ (ตามสไตล์ญี่ปุ่น อะไรดังหน่อยก็รีบทำฉบับภาพยนตร์หรือละครทีวี) ซึ่งผมก็มองว่า เรื่องแบบนี้ ยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยทำความเข้าใจ และกระตุ้นบทสนทนาต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสังคมได้มากยิ่งขึ้น ก็หวังว่าก้าวย่างต่างๆ ในครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนสังคมญี่ปุ่น ให้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญได้มากขึ้นกว่าเดิม
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม