ค่ำคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ราวกับถนนทุกสายมุ่งสู่วัดแขกสีลม บรรดา LGBTQs ต่างประดับประดาด้วยชุดกึ่งอินเดียกึ่งจักรๆวงศ์ๆ กรุยกรายร่วมงานประเพณีประจำปีแห่พระแม่อุมาเทวี เหมือนเช่นงานนวราตรีทุกปี และดูเหมือนว่าจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นที่สนใจของนักสังคมวิทยามานุษยวิทยาและนักวิชาการด้าน Queer ในไม่กี่ปีมานี้ ว่าทำไมคนรักเพศเดียวกันและข้ามเพศจำนวนมากถึงศรัทธาเทพเจ้าในศาสนาฮินดู โดยเฉพาะเทพผู้หญิง
ในสังคมพหุเทวนิยมอย่างวัฒนธรรมฮินดู เทวดานางฟ้าเทพเจ้าแต่ละคนก็มีบทบาทหน้าที่ คาแรคเตอร์แตกต่างกันออกไป ชีวประวัติและคุณประโยชน์ ถูกเลือกนำมาบูชาแล้วแต่ของเทพเจ้าแต่ละองค์เข้ากับความศรัทธาของศาสนิกชนตามอัธยาศัย แต่พระอุมาเทวีหรือพระมารีอัมมันประจำวัดแขกสีลมจากอินเดียใต้ที่เกย์กะเทยไทยนิยมกราบไหว้กันก็ไม่ได้เป็นเทพประจำ LGBTQs แต่อันที่จริงไม่ว่าใครก็สามารถแสดงความเคารพบูชาได้ไม่เลือกเพศสภาพเพศวิถี ไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์แล้วจะต้องไหว้เทพคนนี้ เป็นเลสเบี้ยนต้องไหว้เทพคนนี้ แปลงเพศแล้วต้องเปลี่ยนไปไหว้อีกเทพนึง
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าก็มีเทพเจ้าเพื่อกะเทยโดยเฉพาะในอินเดียปากีสถาน ซึ่งในหลายๆ ปีมานี้ ผู้ที่ร่วมงานขบวนแห่พระอุมาบนถนนสีลมในไทย ก็เริ่มมีการนำรูปเคารพเทพเจ้านี้มาตั้งรับขบวนแห่ด้วย และเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือ ‘พระแม่พหุชรา’ (Bahuchara Mata)
พหุชรา เป็นเทวีท้องถิ่นซึ่งต่อมาถูกนำมารวมกับนิกายศักติ ถือว่าเป็นภาคหนึ่งของพระแม่แห่งจักรวาลที่ได้รับการกราบไหว้บูชาทั่วอินเดีย ประติมานวิทยา (Iconography) ของเธอ คล้ายกับเทวีในนิกายศักติทั่วไป ที่มี 4 -8 แขน 2 ขา ในมือถือตรีศูล ดาบ อาวุธจำนวนมาก คัมภีร์ ดอกบัว มีมือสักมือที่ว่าจากอาวุธทำท่าประทานพร ขี่ไก่ตัวผู้เป็นพาหนะอันเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์และค่านิยมทางศาสนาที่มักจะให้เทพมีพาหนะเป็นสัตว์[1]
ชีวประวัติ (ซึ่งก็ไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับฮิจรานัก) เล่าว่า เธอถือกำเนิดในวรรณสูง ‘วรรณจรัญ’ ที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐราชสถานและคุชราต ตะวันตกของอินเดีย กล่าวกันว่า ครั้งหนึ่งโจรร้ายพยายามข่มขืนเธอ เพื่อไม่ให้ ‘ความเป็นหญิง’ ของเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศ เธอจึงคว้าดาบมาเฉือนเต้านมตัวเอง (แทนที่จะต่อสู้กับโจร) บางตำนานกล่าวว่าเธอจับได้ว่าสามีแอบเข้าไปในป่าเพื่อไปมีเพศสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน ด้วยความโกรธแค้นเสียใจเธอจึงสาปสามีจนอวัยวะเพศชายร่วงตกลงมา!! ใช่ๆ ตำนานว่าเช่นนั้น จากนั้นเธอก็ได้บังคับสามีแต่งหญิงไปตลอด อีกตำนานมีอยู่ว่า มีเจ้าชายผู้หนึ่ง เกิดมาจากการที่กษัตริย์ผู้พ่อบวงสรวงขอพรจากพหุชราให้ได้บุตร แต่เมื่อได้บุตรสมใจ เจ้าชายผู้นั้นที่เกิดมาเป็นเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เมื่อเจ้าชายโตเป็นหนุ่มพหุชราก็ได้มาเข้าฝันและสั่งให้สักการะบูชาเธอและมีอัตลักษณ์แบบผู้หญิงเพื่อเป็นการรักษา ไม่เช่นนั้นจะสาปให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศไปอีก 7 ชาติ บ้างก็ว่าเธอสั่งให้เขาตัดจู๋ออกและแต่งหญิงเพื่อให้พ้นจากสภาพ ‘ความเป็นชาย’ อันจำกัดจำเขี่ย
พหุชราได้รับการยอมรับว่าเป็นเทวีประจำ ‘ฮิจรา’ (hijra) ผู้ซึ่งไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เป็นอีกเพศสภาพหนึ่ง ที่มีประชากรจำนวนมากในเขตวัฒนธรรมอินเดียเหนือ
ที่ได้ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาและกระบวนการตัดอวัยวะเพศชายออก (ไม่ได้ผ่าตัดแปลงด้วยวิทยาการทางการแพทย์สมัยใหม่ด้วยนะ แต่พวกเธอมีกระบวนการตัดจู๋และสมานแผลกันเองตามคติความเชื่อดั้งเดิม) เปลี่ยนจากผู้ชายทั่วๆ ไปสู่เพศฮิจราที่เสื้อผ้าหน้าผมแบบผู้หญิง ห่มส่าหรี มีจริตจะก้านแบบผู้หญิง มีพลังเชื่อมต่อกับพระผู้เป็นเจ้า พวกเธอมีพลังวิเศษสามารถประทานพรและสาปส่งใครก็ได้[2]
แต่ถึงกระนั้นฮิจราไม่ใช่เพศที่ 3 และก็ไม่ได้รับการยอมรับทางสังคมมากนัก เพราะถือว่าเป็นคนนอกวรรณะ แม้จะมีการต่อสู้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตมากมายและยาวนาน ฮิจราจึงยังคงประกอบอาชีพเป็นผู้ให้บริการทางเพศและเชิญไปเต้นระบำรำฟ้อนอวยพรในงานแต่งงานและแรกเกิดเด็กตามความเชื่อดั้งเดิม ทำให้ฮิจรามีตัวตนและสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกระหว่างความยั่วยวนทางเพศและบำเพ็ญตบะ การผ่าตัดแปลงเพศของฮิจราเชื่อว่าเป็นไปตามอำนาจบันดาลและคำอนุญาตของพระแม่ และกระทำกันในวัดประจำพหุชรา ระหว่างการผ่าตัดสดๆ อันน่าหวาดเสียวผู้ที่จะเป็นฮิจราก็ต้องท่องบนชื่อพหุชราเป็นการสวดมนต์ เพื่อให้การผ่าตัดสำเร็จลุล่วงด้วยดี พวกเธอรอดตาย ไม่เสียเลือดจนหมดตัวหรือแผลผ่าตัดติดเชื้อ พหุชราจึงเป็นเทวีผู้ให้ชีวิตใหม่กับเธอ[3]
ด้วยเป็นส่วนหนึ่งของนิกายศักติ ฮิจรามักบูชาเธอด้วยรูปอวัยวะเพศหญิง ‘โยนี’ ในฐานะศูนย์รวมพลังอันยิ่งใหญ่แห่งจักรวาล ก็เหมือนที่ฮินดูบางนิกายไหว้อวัยวะเพศชาย ‘ศิวลึงค์’ น่ะแหละ แต่อินเดียช่วงอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ มีรายงานของอังกฤษว่า ฮิจราบูชาโยนี เพราะพวกเธอปรารถนาเรียกร้อง ‘ความเป็นหญิง’ และการมีอวัยวะเพศหญิง[4]
แม้ไทยจะไม่มีเพศสภาพฮิจรา แต่มีพหุชราที่ชายรักเพศเดียวกันและสาวประเภทสองบางกลุ่มบูชา เช่นเดียวกับ อรรธนารีศวร (Ardhanarishvara) ที่เป็นอีกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาเดียวกัน ถือกันว่าเป็นพระศิวะปางที่มีพลังผู้หญิงครึ่งหนึ่ง เพราะมีพระอุมาผู้เป็นภรรยาตามปกรณัมมารวมร่างด้วย กลายเป็นเทพมี 2 เพศในร่างเดียวกันครึ่งต่อครึ่ง ซ้ายเพศนึงขวาเพศนึง เชื่อกันว่าเป็นปางคุ้มครองและอุปถัมภ์ฮิจรา LGBTQ ไทยก็สมาทานมาบูชาเช่นกัน
แม้ว่าจะเป็นความเชื่อพหุเทวนิยมที่เต็มไปด้วยเทวีเทวดามากมายหลากหลาย แต่ก็ตั้งอยู่บนหลักทวิลักษณ์ทางเพศ ที่มีเพียงชายกับหญิงเท่านั้น
แต่ฮิจราเองที่ไม่ใช่ทั้งหญิงหรือชาย รักเพศเดียวกันหรือต่างเพศตามบรรทัดฐานเพศวิถีตะวันตก แต่ถูกอธิบายว่าเป็น ‘เพศที่ 3’ เป็นเพศสภาพท้องถิ่นและสถานะพิเศษทางสังคม ที่แม้จะก้าวข้ามเพศชายไปสู่เพศฮิจรา แต่ก็เลือก ‘ความเป็นหญิง’ มาใช้พัฒนาเป็นเพศสภาพเฉพาะของเธอเอง
ไม่ว่าอย่างไร เทวนิยมฮินดูก็เป็นศาสนาพราหมณ์ที่ปรับตัวเพื่อความหลากหลายตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และชุมชน และกลืนกลายศาสนาเทวนิยมท้องถิ่น เหมือนกับที่มีการผูกเรื่องให้เทวีท้องถิ่นอย่างพหุชรา สัมพันธ์กับนิกายศักติ สัมพันธ์กับอุมาที่เป็นเจ้าแม่กระแสหลักว่า พหุชราเกิดมาจากน้ำตาของอุมาที่ร้องไห้เพราะความสงสารชีวิตฮิจราที่เป็นชนชายขอบของสังคมฮินดู เช่นเดียวกับที่ฮิจราที่เป็นคนนอกวรรณะ ถูกกีดกันผลักไสไล่ส่งออกจากสังคม กราบไหว้บูชาเทวีที่มาจากหญิงวรรณะสูงเพื่อให้มีตัวตนและสถานะทางสังคม
เช่นเดียวกับ LGBTQs ไทยที่หันมากราบไหว้เทวีแสดงตนเป็นสาวกมากขึ้น หันมาบูชาศาสนาที่มีความยืดหยุ่นลื่นไหลได้ ก็เป็นภาพสะท้อนถึงการแสวงหาพื้นที่ทางสังคมในมิติทางศาสนาความเชื่อ ที่แสดงความเชื่อความศรัทธาไปพร้อมกับอัตลักษณ์ทางเพศได้ ที่ศาสนาเดิมของพวกเขาและเธอไล่ต้อนและไม่ต้อนรับ
อย่างไรก็ตามการแสวงหาพื้นที่และตัวตนด้วยการอิงศาสนาความเชื่อดั้งเดิมอาจไม่ก่อให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตในเชิงโครงสร้าง หลายศตวรรษที่ผ่านมาฮิจราพยายามอ้างความเชื่อทางศาสนาและอ้างคัมภีร์ตำนานเพื่อให้สังคมยอมรับ ซึ่งทำให้พวกเธอเป็นได้แค่เพียงแขกรับเชิญในงานแต่งและงานแรกเกิดบุตร กระทั่งหันมาเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหว อ้างสิทธิมนุษยชนในปลายศตวรรษที่ 20 จนได้รับการยอมรับทางกฎหมายให้เป็นพลเมืองของอินเดีย สามารถมีบัตรประชาชน มีสิทธิการศึกษา สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งใน ปี 2011 และใน 2014 พวกเธอก็ได้รับการยอมรับให้สมัครรับเลือกตั้งได้
เกย์และกะเทยจำนวนนึงในไทยก็เช่นกันที่จะได้รับการยอมรับมีพื้นที่ก็เมื่อเธอองค์ลงเจ้าเข้าตามซุ้มต่างๆข้างเส้นทางขบวนแห่เทวีในงานนวราตรีวัดแขกสีลม ซึ่งเป็นการเคารพเธอในระดับปัจเจกและในนามสิ่งศักดิ์สิทธิ์ความเชื่อส่วนบุคคล แต่ละซุ้มสำนักทรงในงานจึงต้องแข่งขันกัน ไฟต์กันแสดงกฤษดาภินิหารเพื่อให้คนกราบไหว้ ก่อนที่จะมีขบวนแห่เทวีจากวัดเคลื่อนผ่านและเสร็จพิธี
แล้วพวกเขาและเธอก็ทยอยกันกลับบ้านกลับช่องไปอยู่ในโครงสร้างที่ยังไร้ซึ่งสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเช่นเดิม
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Kanodia, Kunal. Bahuchara Mata. Intermountain West Journal of Religious Studies. Vol. 7, No. 1 (2016), pp. 87-119.
[2] Nanda, Serena. Neither Man Nor Woman: The Hijras of India. Belmont, Calif. : Wadsworth, c1999.
[3] Penrose, Walter. Hidden in History: Female Homoeroticism and Women of a “Third Nature” in the South Asian Past. Journal of the History of Sexuality. Vol. 10, No. 1 (Jan., 2001), pp. 3-39.
[4] Kanodia, Kunal. Bahuchara Mata. Intermountain West Journal of Religious Studies. Vol. 7, No. 1 (2016), pp. 87-119.