ไม่นึกไม่ฝันว่าในทศวรรษนี้ศตวรรษนี้ยังมีการล้อเลียนเยาะเย้ยคนอื่นอยู่ เพียงเพราะคนนั้นตัวอ้วน จึงไปจัดวางสถานะให้เขาเป็นตัวตลก เที่ยวไปเหยียดคนอ้วนที่พบเห็นตามที่ต่างๆ อันเนื่องมาจากสำนึกให้คุณค่าความอ้วนว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย ประหวั่นพรั่นพรึง เป็นสัญลักษณ์และภาพตัวแทนของความขี้ริ้วขี้เหร่ ผลจากความไม่รู้จักควบคุมตนเองไม่ควบคุมอาหาร ขี้เกียจ ตะกละตะกราม ไม่มิวินัยทั้งการกินและออกกำลังกายที่นับวันยิ่งจะกลายเป็นศีลธรรมตัดสินความดีเลวมากขึ้น ซ้ำยังนำไปสู่วาทกรรมความป่วยไข้ จัดให้เป็น ‘โรคอ้วน’
ทั้งๆ ที่ตั้งแต่ 1967 มีนักกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อต่อต้านการเหยียดคนอ้วนที่นิวยอร์ก ในช่วงเวลาแห่งการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคทางวัฒนธรรมด้วยคนรุ่นหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า นำไปสู่การก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง National Association to Advance Fat Acceptance (NAAFA) ใน 2 ปีถัดมา เพื่อสร้างการยอมรับให้กับมนุษย์ทุกไซส์ ต่อต้านการเลือกปฏิบัติเพียงเพราะคนนั้นอ้วน
ขณะเดียวกันในช่วงปลาย 1960s ในสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มมีกลุ่มนักสตรีนิยมที่เรียกว่า Fat feminism หรือ fat-positive feminism (แปลไงดีอะ ‘สตรีนิยมอ้วน’ เหรอ ก็ไม่โอปะ ทับศัพท์ดีกว่า) ปรากฏตัวขึ้น ถือว่าเป็นอีกสำนักในกลุ่มสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 2 ที่เริ่มท้าทายปิตาธิปไตยในระดับโครงสร้าง พวกเธอเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการเลือกปฏิบัติทางไซส์กับการกดขี่ทางเพศ มุ่งแก้ไขปัญหาสถานะเป็นรองของผู้หญิงไซส์ใหญ่ แต่การเคลื่อนไหวของสตรีนิยมสำนักก็ยังนี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก National Organization for Women (NOW) ก็ไม่ได้การสนับสนุน พวกเธอจึงร่วมมือกับองค์กรพิทักษ์สิทธิคนอ้วนอย่าง NAAFA ก่อตั้งองค์กรกันเองเช่น Fat Underground ในปี 1973 ซึ่งสมาชิกผู้ก่อตั้งองค์กรก็ได้ออก Fat Liberation manifesto ในปีเดียวกัน ประกาศว่าการเหยียดคนอ้วนก็ไม่ต่างไปจากการเหยียดเพศ[1]
สตรีนิยมกลุ่มนี้ได้คลอดหนังสือ fat feminist เล่มแรกและโดยผู้หญิงเองชื่อ Shadow on a Tightrope: Writings by Women on Fat Oppression โดยคุณแม่ Lisa Schoenfielder และ Barb Wieser เมื่อปี 1983 ที่รวบรวมบทความ บทกลอน บันทึกประสบการณ์ของหญิงอ้วนภายใต้ปิตาธิปไตยผอมนิยม เช่นการเข้าไม่ถึงโอกาสในที่สาธารณะเช่นสปอร์ตคลับ การว่าจ้างงาน และโอกาสที่จะได้สวมเสื้อผ้าสวยๆ เพราะมันถูกผลิตให้คนผอมใส่ทั้งนั้น ไปจนถึงการถูกด่าทอ รังแก เกลียดชัง และอาชญากรรมทางการแพทย์ ซึ่งนักเขียนส่วนใหญ่ในเล่มก็เป็นหญิงรักหญิง จึงสะท้อนให้เห็นการกดทับที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเพศสภาพ เพศวิถี ไปจนถึงขนาดร่างกายของพวกเธอ และในปีถัดมาก็เริ่มมีนิตยสารสำหรับสาวไซส์ใหญ่ Radiance เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ความรักและเคารพตัวเอง โดย Alice Ansfield เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ ในทศวรรษนี้ห้องเสื้อต่างๆ ก็เริ่มผลิตเพื่อหญิงไซส์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งทศวรรษ 1990 องค์กรแห่งชาติสำหรับผู้หญิงอย่าง NOW จึงหันมาให้ความสำคัญกับหญิงอ้วน ร่วมกันเคลื่อนไหวยังผลักดันไปสู่การหมุดหมายวันที่ 6 พฤษภาคมให้เป็น International No Diet Day (INDD) เพื่อสร้างความยอมรับการทุกหุ่นและเรือนร่างของมนุษย์อันหลากหลาย ซึ่งรวมถึงคนอ้วนด้วย และตระหนักถึงสุขภาพ อันตรายจากการอดอาหารและการลดความอ้วนที่ผิดวิธี เริ่มเฉลิมฉลองวันนี้ครั้งแรกที่อังกฤษในปี 1992 ก่อนที่บรรดานักสตรีนิยมสำนักต่างๆ ในทั้งอเมริกา บราซิล แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อิสราเอล จะเริ่มเฉลิมฉลองตามกันในปีต่อมา
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ในปีเดียวกันนั้น ค.ศ. 1992 หรือ พ.ศ. 2535 เพิ่งจะเริ่มปล่อยเพลง ‘ไม่อ้วนเอาเท่าไร’ ล้อคนอ้วนอยู่เลย
“…อยากจะเอาหัวใจให้ไป ก็ชอบใจอยู่เหมือนกัน แต่ควงกันเดินแล้วต้องคิดอีกนาน เดี๋ยวโดนเพื่อนล้อแย่เลย…อ้วนเอาไว้ให้ใคร อ้วนไปเพื่ออะไร… บอกซิเออ เธอจะเอาเท่าไร เอาเท่าไร ไม่อ้วนเอาเท่าไร…”
เป็นที่น่าสังเกตว่าขบวนการพยายามขจัด fat phobia เข้ากันได้ดีกับ feminism และก็ถูกนักสังคมวิทยาจัดกลุ่มคล้ายคลึงกัน ให้เป็นคลื่นลูกที่หนึ่ง ลูกที่สอง และสาม ตามรูปแบบทฤษฎีและยุคสมัย เพราะวาทกรรมความอ้วนผอมและความงามเป็นกระบวนการแทรกแซงทางสังคมที่เข้ามายุ่มย่ามจัดระเบียบเนื้อตัวร่างกาย อัตลักษณ์ ไปจนถึงความสัมพันธ์ทางเพศ และตีตราตัดสินให้เป็น ‘ความปรกติ’ และ ‘ความผิดปรกติ’ ผู้หญิงถูกคาดหวังไม่ให้ ‘น้ำหนักเกิน’ เพื่อให้น่ามองเย้ายวน ผู้หญิงอ้วนฉุร่างกายใหญ่โตถูกมองว่าเหมือนผู้ชาย มี ‘ความเป็นหญิง’ น้อย ขณะที่ผู้ชายอ้วนตุ๊ต๊ะก็ทำให้พวกเขาถูกลดทอน ‘ความเป็นชาย’ ถูกมองว่าไม่แมนสมชายชาตรี มีเต้านมแก้มก้นเหมือนผู้หญิง จู๋เล็กไม่สมกับตัวบ้าง บ้างก็ว่าพุงบังจู๋มองไม่เห็น[2]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรือนร่างผู้หญิงที่มายาคติความงามควบคุมกำกับดุเดือดเข้มข้นกว่าผู้ชาย วาทกรรมความอ้วนจึงครอบงำโลกทัศน์และเนื้อตัวร่างกายของพวกเธอมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงหลายนางจึงรู้สึกผิด หมดความมั่นใจในการเคารพตนเอง และรู้สึกอัปลักษณ์ขี้เหร่ที่น้ำหนักเกิน ‘มาตรฐาน’[3]
Naomi Wolf เฟมินิสต์ชาวอเมริกันเสนอในปี 1990 ว่า เพราะ ‘ความสวย’ ซึ่งเป็นมายาคติเข้ามาแทนที่การนิยามคุณค่าความหมายสูงสุดของผู้หญิงแบบเก่าที่นิยามผู้หญิงให้อยู่กับ ‘ความเป็นแม่’ การเป็นแม่บ้านผูกติดกับครอบครัวและการเลี้ยงลูกมาสู่ความสวยความงามในฐานะผู้หญิงประสบความสำเร็จ มายาคติความงามนั้นทำให้ผู้หญิงเชื่อว่าความงามมีมาตรฐานของมัน ซึ่งผู้หญิงทุกคนต้องทำให้มันเป็นรูปธรรมด้วยเรือนร่างหน้าตาของพวกเธอ ผู้ชายล้วนต้องการหลงใหลผู้หญิงเช่นนั้น มากไปกว่านั้นความงามเองก็เป็นอำนาจของผู้ชายและสถาบันของผู้ชาย ทำให้ผู้ชายยังคงมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง[4]
ขณะเดียวกัน Wolf ยังกล่าวว่า ความงามยังเป็นเรื่องของพฤติกรรมด้วยไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา มีประวัติศาสตร์และทำปฏิบัติการร่วมกับมิติต่างๆ ทางสังคม เช่น วัฒนธรรม เพศสัมพันธ์ และแม้แต่ศาสนาเพื่อให้มันดำรงอยู่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับธุรกิจการค้าที่แสวงหาผลกำไรเป็นหลักและสื่อมวลชนที่ทำให้มายาคติความงามเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไปพร้อมกับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางศัลยกรรม และนำไปสู่สุขภาพที่ไม่ดีของผู้หญิง เช่นการกินอาหารแบบผิดๆ การอดอาหารลดความอ้วนแบบเสี่ยงต่อสุขภาพเพื่อให้มีหุ่นเพรียวลม การดัดแปลงร่างกายศัลยกรรมความงาม[5]
ความไม่น่าพิศมัยของอ้วนจึงกระจัดกระจายในทุกมิติและอยู่ยั่งยืนยง แม้แต่มิติของภาษา ที่ ‘อ้วน’ กลายเป็นคำหยาบ อันที่จริงก็ไม่หยาบหรอก หากแต่การเที่ยวไปทักเนื้อตัวร่างกายคนอื่น ยิ่งไม่รู้จักมักจี่ไม่สนิทสนมกันนี่ถือว่าตั้งตนเป็นศัตรูนะ
และในโครงสร้างภาษาที่มีระดับชนชั้นของสังคมที่ยังมีการแบ่งลำดับช่วงชั้นด้วยภาษา จึงเกิดสำนวน ‘ทรงพระสแลนเดอร์’ แทน ‘ทรงพระเจริญ’ ด้วยเชื่อว่าหากแปลตรงๆ ตามคำศัพท์แล้วแปลว่า ตัวอ้วน
ด้วยโครงสร้างปิตาธิปไตยผอมนิยมเช่นนี้ ในฐานะหญิงอ้วนจึงได้รับโอกาสทางสังคม คุณค่าน้อยกว่าหญิงผอม เธอต้องอดทนและเผชิญการเลือกปฏิบัติหลายชั้นกว่าผู้ชายและผู้หญิงด้วยกันเอง ต้องต่อสู้ดิ้นรนไม่เพียงสร้างการยอมรับในฐานะผู้หญิง แต่ยังต้องพิสูจน์ตนเองว่าเธอมีศักยภาพในฐานะคนอ้วนอีกด้วย
ความน่ากลัวน่าปริวิตกของความอ้วน จึงไม่ได้เพราะเป็นอุปสรรคต่อสุขภาพ แต่เพราะการนิยามความหมาย การจัดลำดับคุณค่ามนุษย์และความงาม ที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่ต่างจากคนผอม
ด้วยมายาคติความงามของปิตาธิปไตย ผู้ชายไม่ใช่ผู้ร้าย คนผอมก็ไม่ใช่ศัตรู เพียงแต่มันเปิดโอกาสให้ผู้หญิงอ้วนถูกจัดลำดับให้ต่ำกว่าผู้หญิงผอม ผู้หญิงหลายคนยอมเจ็บตัวเจ็บปวดและอุทิศตนเองและเวลาไปเพื่อความสวยความงาม เพราะ ‘ความงาม’ เป็นอีกกระบวนการในการสร้าง ‘อำนาจ’ ของพวกเธอ ไม่แค่เฉพาะทำให้พวกเธอเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายชึ้นในระดับปัจเจก หากแต่ยังสามารถยกระดับตนเองเหนือนางอื่นๆ ได้ในปฐพี
เราจึงเห็นผู้หญิงบางนางจัดลำดับคุณค่าความเป็นคนระหว่างผู้หญิงด้วยกันผ่านหน้าตาและไขมัน ‘ส่วนเกิน’ ผู้หญิงผอมบอบบางบางนางจึงจิกแรงล้อเลียนผู้หญิงอ้วนได้ ทั้งๆ ที่นางเองก็ตกอยู่ในรูปแบบการกดทับชุดเดียวกัน ที่ต้องอุทิศตนเอง ตบแต่งดัดแปลง เจ็บตัวและผ่านกระบวนการศัลยกรรมมากมาย เพื่อให้ได้เฉียดกับความงามตามมายาคติ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Harjunen, Hannele. 2009. Women and Fat: Approaches to the Social Study of Fatness, Jyväskylä: University of Jyväskylä, Studies in Education, Psychology and Social Research, pp. 55-56.
[2] Abigail C. Saguy. May 2012. Why Fat is a Feminist Issue. Sex Roles 66(9-10), pp. 600-607.
[3] Naomi Wolf. 1991. The Beauty Myth How Images of Beauty Are Used Against Women. Morrow, New
York.
[4] Ibid.
[5] Ibid.