เช้าวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 หรือเมื่อราว 74 ปีก่อน กองทัพสหรัฐอเมริกาส่งเครื่องบินที่บรรทุกระเบิดนิวเคลียร์หย่อนลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เป็นระเบิดลูกแรกจากจำนวน 2 ลูกที่ระเบิดนิวเคลียร์ได้แสดงพลานุภาพแห่งอาวุธทำลายล้างประจักษ์ก้องในโลกใบนี้
ประชาชนฮิโรชิมาเสียชีวิตในทันทีแสนกว่าคน และมีคนที่ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีอีกจำนวนมาก ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ และทำให้โลกได้ตระหนักถึงภัยอันตรายของอาวุธสังหารนี้
ระเบิดครั้งนั้นไม่ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทันที จนต้องมีการหย่อนระเบิดนิวเคลียร์อีกลูกลงที่นางาซากิในสามวันต่อมา (วันที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945) จนนำไปสู่การประชุมลับของรัฐบาลแห่งสมเด็จพระจักรพรรดิ ก่อนตามมาด้วยการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่น
สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนก็คือ ที่เมืองฮิโรชิมานั้น นอกจากประชาชนญี่ปุ่นจะเสียชีวิตแล้ว ยังมีนักโทษสงคราม เป็นทหารอเมริกาอีก 12 นาย ได้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ด้วย
เรื่องราวนี้เป็นความลับอยู่เกือบ 40 ปี จนสหรัฐอเมริกาเองได้ยอมรับถึงการเสียชีวิตในครั้งนั้น และมีการนำรายชื่อทหารอเมริกาทั้ง 12 นายใส่ไปในอนุสรณ์สวนสันติภาพ เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิตที่เมืองฮิโรชิมา
ผู้ที่เรียกร้องคืนความเป็นธรรมให้กับทหารอเมริกันทั้ง 12 นายไม่ใช่คนอเมริกันด้วยกันเอง แต่เป็นคนญี่ปุ่น ซึ่งเขามีอายุเพียงแปดขวบเท่านั้น ในวันที่ระเบิดนิวเคลียร์ทำลายล้างฮิโรชิมา เขารอดชีวิตมาได้ และตลอดชีวิตก็สนใจประวัติศาสตร์และมุ่งมั่นในการค้นหาความจริงให้กับทหารอเมริกาทั้ง 12 นายนี้
ชื่อของเขาคือ ชิเงอากิ โมริ (Shigeaki Mori)
ในวันเกิดเหตุ เขาอยู่ห่างจากจุดที่ระเบิดลงเพียง 2.5 กิโลเมตรเท่านั้น แรงระเบิดทำให้เด็กชายโมริซึ่งกำลังเดินข้ามสะพานกระเด็นร่วงจากสะพานตกน้ำ ฝุ่นควันกระจายเต็มตัว จนมองไม่เห็นอะไรเลยในระยะ 10 เซนติเมตรข้างหน้า แม้แต่ยกมือขึ้น ก็ไม่เห็นมือ
ต้องใช้เวลานานทีเดียว กว่าจะมองเห็นอะไร เด็กชายโมริจึงขึ้นจากน้ำ และได้เห็นผู้คนล้มตายจำนวนมาก ตอนนั้นเขาถึงกับร่ำไห้ออกมา
“ตอนนั้นผมคิดว่าโลกกำลังจะระเบิด แรงระเบิดเป็นอะไรที่เหลือเชื่อมาก”
แต่ที่เหลือเชื่อกว่าก็คือ โมริในวัยเด็ก ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
มันเป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้โมริ ผู้รอดชีวิตและคนญี่ปุ่นทั้งประเทศสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ภายหลังสงคราม เด็กน้อยสนใจและทำคะแนนได้ดีในวิชาประวัติศาสตร์ แต่เมื่อจบการศึกษาเขาไม่ได้ทำงานในสายประวัติศาสตร์ โมริไปทำงานในบริษัทรักษาความปลอดภัยและเป็นคนทำเครื่องดนตรีให้กับบริษัทของยามาฮ่า
แต่ความสนใจในประวัติศาสตร์ยังคงอยู่
โมริใช้เวลาพูดคุยกับผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิด เขาจึงพบว่าทางการบันทึกตัวเลขคลาดเคลื่อน ยิ่งพูดคุยสัมภาษณ์มากขึ้น เขาก็ได้รับข้อมูลสำคัญว่า มีทหารอเมริกัน 12 นายถูกคุมขังอยู่ในช่วงที่มีการทิ้งระเบิด
ในช่วงนั้นคนในสหรัฐอเมริกาไม่เคยทราบว่ามีทหารของตัวเองเสียชีวิตในการทิ้งระเบิดปรมาณู ทหารทั้ง 12 นายถูกลงชื่อว่าหายสาบสูญจากการรบ กินเวลายาวนานหลายปีจนญาติของทหารทั้งหมดเลิกเชื่อว่าจะพบพวกเขาในสภาพมีชีวิตอยู่แล้ว จวบจนในช่วงปี ค.ศ. 1977 มีนักวิจัยค้นพบเรื่องราวนี้จากเอกสารทางการทูต จากนั้นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยพยายามเรียกร้องสอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมของอเมริกาให้ตรวจสอบเรื่องนี้
จนถึงปี ค.ศ. 1983 ทางอเมริกาจึงเริ่มยอมรับอย่างไม่เต็มใจว่า มีทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรก แต่ไม่มีข้อมูลรายละเอียดว่าทหารที่ตายนั้นมีกี่นายและเป็นใครกันบ้าง
นั่นทำให้โมริสนใจในประเด็นนี้ เขารวบรวมข้อมูลชิ้นเล็กชิ้นน้อย ค้นคว้าข้อมูล จนพบว่ามีทหาร 12 นายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์คือทหารของกองทัพบก โดยเป็นลูกเรือในเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งมีเป้าหมายบอมบ์ญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ถูกยิงตก ต้องโดดร่มชูชีพออกมา แล้วถูกจับกุมตัวได้ในที่สุดโดยทางการญี่ปุ่น
โมริสืบค้นและลุยไปถึงจุดที่เครื่องบินดังกล่าวตกซึ่งตั้งอยู่ในเมืองยามากุจิ (อยู่ทางตอนใต้ของฮิโรชิมา ประมาณ 120 กว่ากิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมง) เขาสอบถามคนแถวนั้น ซึ่งหลายคนยังจำเหตุการณ์นั้นได้ดี และชี้จุดที่เครื่องบินตกได้อย่างชำนาญ นั่นทำให้โมริรู้ว่าเครื่องบินลำดังกล่าวชื่อว่า Lonesome Lady
ลูกเรือทั้งหมดถูกคุมตัวโดยทางการญี่ปุ่น ตัวนักบิน คือเรือโท ธอมัส คาร์ตไรต์ (Thomas Cartwright) ถูกคุมตัวแยกไปสอบปากคำที่โตเกียว ขณะที่คนอื่นๆ ถูกนำตัวไปขังไว้ที่ฮิโรชิมาจำนวนเก้าคน โดยนำไปรวมกับทหารอเมริกันอีกสามนายที่ถูกขังอยู่ก่อนแล้ว หลังเครื่องบินของพวกเขาชื่อว่า Taloa ถูกยิงตกเช่นกัน
ที่คุมขังนั้นคือกองบัญชาการสารวัตรทหารชูโกกุ ซึ่งเช้าวันที่ 6 สิงหาคม กองบัญชาการนี้ตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของระเบิดนิวเคลียร์เพียง 400 เมตรเท่านั้น!
ผลก็คือ ทหารอเมริกาทั้งเก้าคนเสียชีวิตทันที อีกสามรายเสียชีวิตในเวลาต่อมา
โมริค้นหาเอกสาร จนพบรายชื่อของทหารทั้งหมด เขาขอความช่วยเหลือไปยังอเมริกา โดยได้รับความช่วยเหลือจากทางการของทั้งสองประเทศน้อยมาก เพราะตอนนี้อเมริกากับญี่ปุ่นไม่ได้เป็นศัตรูกันแล้ว แต่กลับเป็นพันธมิตรให้ความร่วมมือกันในหลายๆ ด้าน การพยายามเปิดความทรงจำนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทางการไม่ค่อยอยากจะยุ่ง
แต่โมริไม่ยอมแพ้ เขามีชื่อทหารหมดแล้ว แต่ก็ต้องได้รับการยืนยันจากทางญาติเพื่อระบุตัวผู้เสียชีวิตให้แน่ชัด เขาถามข้อมูลไปยังอเมริกาซึ่งมี 50 รัฐและประชากรหลายร้อยล้านคน
เป็นงานที่ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก
แต่โมริสัญญากับตัวเองว่า เขาจะต้องระบุตัวตนทหารทั้ง 12 นายให้ได้ก่อนตาย เขาอยากจะเอาชื่อทหารที่เสียชีวิตไปประทับในอนุสรณ์สถานในสวนสันติภาพที่เมืองฮิโรชิมา ซึ่งการจะนำชื่อไปประทับที่ดังกล่าว จะทำได้ก็ต้องได้รับการอนุมัติจากญาติผู้เสียชีวิตเสียก่อน
“ผมเชื่อว่าครอบครัวของพวกเขาก็อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ และผมก็อยากให้พวกเขาได้รู้ เพราะพวกเขาก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน”
ความพยายามนี้ทำให้ทุกเดือนเขาต้องเสียค่าโทรศัพท์ 70,000 เยนในการโทรศัพท์ไปสอบถามผู้เกี่ยวข้องในอเมริกา เป็นความพยายามที่ยากลำบากและใช้เวลายาวนาน ตอนที่เขาพบน้องชายของหนึ่งในทหารที่ตาย เขาถึงกับร้องไห้ออกมาเลย เพราะงานนี้นอกจากจะไม่มีใครช่วยโมริแล้ว ทุกคนยังไม่คิดว่าเขาจะประสบความสำเร็จด้วยซ้ำไป
เมื่อพบการยืนยันตัวตนจากญาติ ทำให้ทราบตัวทหารรายแรกแล้ว ดูเหมือนจากนั้นความสำเร็จก็เริ่มตามมา เมื่อเขาสามารถค้นพบและติดต่อกับร้อยโทธอมัส คาร์ตไรต์ นักบินที่รอดชีวิตเพราะถูกสอบปากคำที่โตเกียวได้
การพบเจอกันนั้น นำไปสู่มิตรภาพอย่างยาวนานกว่า 20 ปี ทั้งสองแลกเปลี่ยนพูดคุยผ่านทางจดหมายหลายร้อยฉบับ และคาร์ตไรต์นี่แหละที่ให้ข้อมูลผู้เสียชีวิตแก่โมริ
การค้นหาอย่างไม่ย่อท้อของโมริ ทำให้ในเวลาต่อมาอดีตกองบัญชาการสารวัตรทหารมีการขึ้นป้ายว่าเป็นที่คุมขังทหารอเมริกาผู้เสียชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ในวันนั้น และในปี ค.ศ. 2012 หลานของประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน (ผู้สั่งทิ้งระเบิดนิวเคลียร์) ได้พาโมริไปวางดอกไม้เพื่อให้ความเคารพและรำลึกถึงทหารอเมริกาที่จากไปในวันนั้นด้วย
ความสำเร็จนี้เอง ทำให้โมริผลักดันตัวเองไปที่เมืองนางาซากิเพื่อตามหาเรื่องราวของเชลยศึกชาวอังกฤษและชาวดัตช์ซึ่งถูกระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่ 2 พรากชีวิตไปเช่นกัน
ลูกหลานของทหารอเมริกาทั้ง 12 นาย ต่างตื้นตันใจในความพยายามของโมริอย่างมาก ผ่านไปเกือบ 60 ปีกว่าที่พวกเขาจะรู้ความจริงถึงรายละเอียดของทหารทั้ง 12 นาย และมันน่าสนใจยิ่งว่าข้อมูลทั้งหมดเกิดจากการรวบรวมของโมริเพียงคนเดียว
เมื่อหนึ่งในลูกหลานของผู้เสียชีวิตไปเยือนบ้านของโมริ ต่างตกตะลึงในกองเอกสารจำนวนมหาศาล
“เขามีข้อมูลหมดว่า ทหารที่เสียชีวิตเป็นใคร มาจากไหน ก่อนเกิดสงครามพวกเขาแต่งงานกับใครบ้าง เรียกได้ว่าเขามีข้อมูลเรื่องนี้ไว้หมด”
นับเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจไม่น้อย เพราะคนที่บอกเล่าเรื่องราวของทหารทั้ง 12 นายนั้น กลับเป็นชาวญี่ปุ่นผู้รอดชีวิตจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้นมา แต่ด้วยความไม่ยอมแพ้ย่อท้อ ทำให้เรื่องราวของทหารทั้งหมดได้รับการเปิดเผย
“เขาเป็นคนที่ดีมาก” ลูกหลานของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งกล่าว
เมื่อปี ค.ศ. 2016 ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่เดินทางมาเยือนสวนสันติภาพที่ฮิโรชิมาเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ เขาได้สวมกอดกับโมริในวัย 81 ปี ประธานาธิบดีโอบามาได้กล่าวถึงผู้เสียชีวิต ผู้สูญเสียจากเหตุการณ์นี้ และได้กล่าวถึงทหารอเมริกาทั้ง 12 นายด้วย
เหตุการณ์นี้ทำให้ภารกิจตลอดชีวิตของชายชราชาวญี่ปุ่นคนนี้ถือว่าได้ประสบความสำเร็จแล้ว ทหารทั้ง 12 นายได้รับการบรรจุชื่อสกุล อายุ ยศ ตำแหน่ง ภูมิลำเนา พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งเพื่อย้ำเตือนให้โลกใบนี้ได้ตระหนักในความโหดร้ายของสงคราม
หากใครเคยไปเยือนสถานที่ดังกล่าว จะรู้ว่า ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมาเยี่ยมชม ทุกจุดมีการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นักเรียนญี่ปุ่นเดินทางมาและปฏิญาณตนต่อหน้ารูปปั้นของซาดาโกะ มีการพับนกกระเรียนพันตัวมาประดับไว้ที่หน้ารูปปั้นดังกล่าวด้วย
ถ้าใครเคยไปเยือน จะต้องเห็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวแห่งโศกนาฏกรรมอันเป็นผลพวงจากสงครามอันโหดร้าย เรื่องราวข้าวของถูกนำออกมาจัดวางเพื่อแสดงและเป็นอนุสรณ์ย้ำเตือนความบ้าคลั่งโหดร้าย การประหัตประหารอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยเผชิญ
เมื่อเดินออกจากพิพิธภัณฑ์ เราจะรู้สึกถึงความงดงามแห่งสันติภาพซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าและบทเรียนสำคัญจากการเดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่ตรงนี้
และมีเพียงผู้พบเห็นความโหดร้ายของสงครามเท่านั้นที่จะรู้ซึ้งถึงคุณค่าแห่งสันติภาพ
พวกเขาจึงเล่าเรื่องราวอย่างต่อเนื่องไม่ยอมเหน็ดยอมเหนื่อย
เพื่อให้โลกและมนุษย์ทุกคนตระหนักและใฝ่หาถึงสันติภาพ
เหมือนดังที่อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตายชีวิตสร้างวีรกรรมร่วมกับคนไทยอีกจำนวนมาก รัฐบุรุษอาวุโสได้เขียนประโยคสำคัญให้เราตระหนักถึงความงามแห่งสันติชัย ไว้ในบทนำของนิยายที่กลายมาเป็นภาพยนตร์ ‘พระเจ้าช้างเผือก’ ว่า
“ชัยชนะแห่งสันติภาพนั้น มิได้มีชื่อเสียงบรรลือนามน้อยไปกว่าชัยชนะแห่งสงครามแต่อย่างใด”
เป็นถ้อยคำที่จริงแท้ทุกประการ