ความขัดแย้งในซีเรีย ก่อการร้ายในฝรั่งเศส วิกฤตเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐอเมริกา และความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี
ดูเหมือนทุกพื้นที่บนเปลือกโลกจะคุกรุ่นไปด้วยควันปืนและคาวเลือด จนง่ายมากที่เราจะคิดตามไปว่า มนุษยชาติกำลังเดินทางไปสู่ความรุนแรงที่เหมือนจะปราศจากเงื่อนไข แท้จริงแล้วในฐานะ Homo Sapiens เราโหยหาความรุนแรงโดยธรรมชาติกระนั้นหรือ? บาดแผลอันบาดลึกในหน้าประวัติศาสตร์ไม่สามารถเป็นบทเรียนที่สอนเราได้เลยหรือ?
ช่วงนี้ครบรอบ 72 ปี เหตุการณ์ฝันร้ายของมนุษยชาติบทหนึ่ง เมื่อระเบิดปรมาณูที่อัดแน่นไปด้วยยูเรเนียม ‘ลิตเติ้ล บอย’ ถูกทิ้งจากเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา มันระเบิดเหนือเมืองฮิโรชิมาด้วยความสูงจากพื้นดิน 600 เมตร ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 คร่าชีวิตผู้คนกว่า 140,000 ภายในสิ้นปีนั้น และถือเป็นการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในฝั่งแปซิฟิกอย่างเบ็ดเสร็จ จากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา มนุษย์จะนิยามสันติสุขอย่างไร เพราะหลังจากเหตุสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงกว่า 72 ปีดูเหมือนสถานการณ์โลกจะยังไม่ใกล้กับคำว่าสันติสุขเลยสักกระผีกเดียว
“เราอยู่ในช่วงเวลาที่สงบที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ”
“We are living in the most peaceful time in human history”
อย่างน้อยคำนี้ก็ปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อดัง The Better Angels of Our Nature เขียนโดยนักจิตวิทยา Steven Pinker เมื่อเขาพลิกย้อนดูหน้าประวัติศาสตร์โลก ที่ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติสามัญที่ใครๆ ก็ชี้นิ้วให้คนที่เกลียดชังตายได้โดยไม่ต้องแบกรับความผิด ทั้งการฆ่าฟันคนต่างกลุ่มก๊ก การล่าแม่มดหมอผี สงครามศาสนาที่รวบรวมศรัทธาจนแปรเปลี่ยนให้เป็นไฟสงครามเพื่อย่ำยีชาติอื่นๆ
โลกเราค่อนข้างมาไกลกว่าครั้งอดีตมาก ประชาคมโลกพัฒนาขึ้นอย่างมีหลักฐานแจ่มแจ้งว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือหลักอีกแล้ว วิวัฒนาการของความเป็นรัฐในแต่ละพื้นที่เอื้ออำนวยให้มีการค้าอย่างเสรีและสม่ำเสมอ ผู้คนรู้จักสิทธิที่ตนเองพึงมีต่อชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าคนยุคก่อนๆ
อย่างไรก็ตามแม้ความรุนแรงจะลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เหตุการณ์ 9/11 สงครามก่อการร้าย ความขัดแย้งในซีเรียและอิรักยังคงดำเนินไปโดยมีกลไกซับซ้อน จากข้อมูลของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุว่ามีผู้คนกว่า 65 ล้านคนถูกบังคับให้ย้ายถิ่นที่อยู่จากวิกฤตความรุนแรง ซึ่งเป็นอัตรามากที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา และดัชนี Global Terrorism Index 2015 ก็ยังระบุอัตราผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้นถึง 9 เท่า จากปี 2000 เป็นต้นมา
แม้เราจะอยู่ในยุคสมัยที่สงบสุขที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ความรุนแรงมักไหลผ่านการตัดสินใจของพวกเราอยู่ตลอดเวลา
เทรนด์ความรุนแรง
“มีข่าวดีอยู่หน่อยๆ ความรุนแรงยังเป็นสิ่งที่หายากอยู่ดี” คำพูดนี้กล่าวโดย Lewis Fry Richardson อดีตนักอุตุนิยมวิทยาที่ผันตัวมาเป็นนักวิเคราะห์ด้านความขัดแย้ง พบว่า 1.6 เปอร์เซ็นต์ คือจำนวนคนที่ตายด้วยน้ำมือของมนุษย์ด้วยนับตั้งแต่ปี 1820 ถึง 1945 นอกจากนั้นนักสังคมวิทยา Randall Collins ยังมีความเชื่อที่ค้านกับความคิดของคนทั่วไปว่า ธรรมชาติมนุษย์นั้นก็ไม่สามารถเดินไปหาความรุนแรงได้ง่ายดายนัก แม้การชกต่อยในร้านเหล้าก็มักเริ่มต้นแค่เพียงคนเดียวที่ไปปะทะกับอีกคน ไม่ถึงกับชุลมุนยกพวกต่อยพังร้านเหมือนในภาพยนตร์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารเพียง 15 ถึง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ยิงสวนทหารฝ่ายตรงข้ามเมื่อถูกยิงกดดัน ส่วนใหญ่มักหนีไปตั้งหลักหรือไม่ก็ยิงอากาศเพื่อข่มขวัญ (Firing in the air) มิได้ยิงอย่างจงใจเอาเลือดเอาเนื้อ โดยทั่วไปแล้ว Randall Collins มีแนวคิดว่า มนุษย์จะเข้าสู่ความรุนแรงเต็มตัวก็เมื่อตกอยู่ภายใต้ความกดดันทางสังคมที่ค่อนข้างสาหัส จนเลือกใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือการันตีการหลุดพ้นจากสถานะนั้นๆ ออกมา ซึ่งในยุคที่มนุษย์ทุกคนมีแนวคิด ‘ปัจเจกนิยม’ มากกว่า ‘ชาตินิยม’ แต่ละประเทศจึงหาคนสมัครใจมาเป็นทหารสู้รบได้ยากขึ้น และการเหนี่ยวนำจิตใจผู้คนไปสู่การบรรลุสงครามเบ็ดเสร็จก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เหมือนครั้งอดีตอีกแล้ว มีคนไม่เอาด้วยเยอะและพวกเขาก็มีปากมีเสียงที่จะสื่อสารความต้องการนั้น
ในหนังสือที่ Steven Pinker เขียนระบุว่า ความรุนแรงในองค์รวมค่อนข้างลดลงเรื่อยๆ ตลอด 10 ปี ทั้งการก่ออาชญากรรม การข่มขืน ความรุนแรงในครอบครัว แม้กระทั่งสงครามก็มีอัตราที่ลดลงตามไปด้วย
- จากข้อมูลของสำนักงานยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติหรือ UNODC รายงานในปี 2012 พบว่ามีคน 500,000 คนทั่วโลกถูกฆาตกรรม
- The Global Terrorism Index รายงานในปี 2014 ว่า คน 33,000 คนถูกสังหารจากเหตุก่อการร้าย
- และ Uppsala Conflict Database รายงานในปี 2015 ว่ามีคนเสียชีวิตจากความขัดแย้งรวม 118,435 คนต่อปี
- แต่จากรายงานขององค์กรอนามัยโลก WHO นั้นแสดงตัวเลขที่น่าตกใจกว่า เพราะมีคน 800,000 คนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในทุกๆ ปี
คราวนี้เมื่อโลกของเรามีประชากรราว 7.4 พันล้านคน เท่ากับว่า เรามีอัตราการตาย (Mortality Rate) จากเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ เท่ากับ 20 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเทียบกับอัตราการตายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วสูงกว่าถึง 435 คนต่อประชากร 100,000 คน นับว่าเราค่อนข้างมาไกลทีเดียว
อย่างไรก็ตามหากจะใช้ข้อมูลทางสถิติอย่างเดียวก็เหมือนเราเอาอัตราเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงไปผูกกับเหตุภัยธรรมชาติอย่าง ‘แผ่นดินไหว’ ไปสักหน่อย เพราะมีอัตราเทียบเคียงที่ค่อนข้างเท่ากัน นักปรัชญา John Gray ยังไม่เชื่อว่าสถิติและตัวเลขจะสามารถตอบคำถามความรุนแรงได้แจ่มแจ้งนัก เพราะ คุณยังจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ รูปแบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สภาพทางสังคม และจิตวิทยามวลชนของประเทศนั้นๆ ร่วมด้วย เนื่องจากสังคมเป็นระบบที่มีความซับซ้อนและมักก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดเดายาก ดั่งเช่นเม็ดทรายเพียงเม็ดเดียว ก็อาจทำให้ภูเขาทรายถล่มมาทั้งกองได้ เช่น เหตุลอบสังหาร Archduke Frabz Ferdinand ที่นำไปสู่จุดเริ่มต้นของไฟสงครามโลกครั้งที่ 1
สันติสุขอันยาวนาน
นับตั้งแต่เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ยังไม่เกิดความขัดแย้งในระดับแตกหักระหว่างชาติมหาอำนาจด้วยกันนัก ระเบิดนิวเคลียร์ที่ทุกคนหวาดกลัวก็ถูกใช้เพียง 2 ครั้งเท่านั้นในสงครามที่แล้ว แม้เราจะอยู่ภายใต้ความกดดันของสงครามเย็นมาแล้วก็ตาม ยิ่งมองไปที่เทคโนโลยีทางการทหารในปัจจุบันที่มีอำนาจล้างจนสามารถลบประวัติศาสตร์มนุษย์ไปจากพื้นผิวโลกได้เลย แต่เราก็ยอมรับว่ายังห่างไกลวันสิ้นโลก (Armageddon) อยู่มากโข
Steven Pinker ตั้งคำถามว่า อะไรที่ทำให้การตัดสินใจของมนุษย์เปลี่ยนไป ทำไมคนปัจจุบันปฏิเสธความรุนแรงมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วิวัฒนาการของรัฐเองก็มักงอกเงยในจิตใจของผู้คนเช่นกัน แนวคิดเรื่องเสรีภาพพัฒนาไปสู่ทุกภูมิภาคแล้ว องค์กรระหว่างประเทศและสหประชาชาติเองนำเสนอนโยบายใหม่ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งระเบียบและความเรียบร้อย การใช้สารเคมี อาวุธชีวภาพ หรือนิวเคลียร์ก็เป็นของต้องห้ามในระดับสากลโลกแล้ว แม้ Steven Pinker จะกล่าวว่า ‘Long Peace’ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ ‘True Peace’ แต่ความช่วยเหลือระหว่างชาติด้วยกันจะเป็นกุญแจดอกใหม่ๆ ที่เปิดพื้นที่ให้เราพูดคุย มากกว่าบ่อนทำลายด้วยความรุนแรงเฉกเช่นอดีต
โลกอาจจะยังไม่พบสันติสุขอย่างแท้จริง แต่ก็สงบกว่าแต่ก่อน มิใช่ความบังเอิญหรือความฟลุคผ่านสถิติ ตั้งแต่การเคลื่อนไหวของขบวนการสิทธิพลเมือง (Civil Rights Movement) ที่เริ่มมาต่อเนื่องกว่า 50 ปี และการประท้วง Black Lives Matter ในสหรัฐอเมริกา หรือเหตุการณ์เรียกร้องที่เกิดขึ้นทุกวัน ทุกละติจูดและลองจิจูด แม้จะทำให้เราตลบอบอวนด้วยกลิ่นความขัดแย้ง แต่เป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่การหาทางออกร่วมกันในท้ายที่สุด
แม้มันจะง่ายกว่าหากเราโฟกัสไปยังคุณสมบัติเชิงลบของมนุษย์ แต่จาก Global Peace Index ก็นำเสนอข่าวดีต่อโลกเช่นกันที่เราลดความรุนแรงมาได้มากกว่าในอดีต แม้สงครามจะดำเนินต่อไป แต่ในประเทศที่สงบสุขก็มักจะมีแนวโน้มสงบสุขมากขึ้นเรื่อยๆ
ดังนั้นแทนที่จะถามว่า “ทำไมถึงมีสงคราม” (Why is there war?) อย่างเดียว มนุษยชาติควรถามว่า “ทำไมถึงมีสันติ” (Why is there peace?) บ้างมิได้หรือ เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้โหยหาความเลวทรามอย่างเดียว แต่เราโหยหาความถูกต้องอันงดงามด้วยของมนุษย์กัน และสิ่งมีชีวิตที่อยู่รายล้อมตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Better Angels of Our Nature: Why Violence Has Declined : Paperback – September 25, 2012 By Steven Pinker
Vision of Humanity – Global Peace Index