(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของมังงะซิลเวอร์สปูน)
โลกมังงะปัจจุบันนั้นท่วมท้นไปด้วยเนื้อหาแฟนตาซีจนบางทีอดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘เลี่ยน’ กับเรื่องราวที่หลุดขอบจินตนาการ บรรณาธิการอาวุโสผู้หวังดีจึงแนะนำให้ผมอ่านซิลเวอร์สปูน (Silver Spoon หรือ Gin no Saji) มังงะชีวิตเด็กมัธยมปลายโดยอาจารย์ฮิโรมุ อาราคาว่า เจ้าของผลงานแขนกล คนแปรธาตุ (Fullmetal Alchemist) ที่หลายคนรู้จักกันดี
เรื่องราวในซิลเวอร์สปูนเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนเทคนิคการเกษตรโอเอะโสะ บนเกาะฮอกไกโด ที่ ฮะจิเคน ยูโงะ นักเรียนสายสามัญที่ไร้พื้นฐานทางการเกษตรจับพลัดจับผลูเข้ามาเป็นนักเรียนใหม่เพราะต้องการหลีกหนีความเครียดจากระบบการแข่งขันในเมืองใหญ่ แรงกดดันจากครอบครัว รวมถึงตามหาเป้าหมายในชีวิต
มังงะความยาว 15 เล่มจบบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของเกษตรกรโดยเฉพาะการปศุสัตว์ได้อย่างเข้าอกเข้าใจ จนอดไม่ได้ที่จะมองย้อนกลับมาที่ภาคเกษตรกรรมของไทยว่ามีส่วนไหนเหมือน ส่วนไหนต่าง และยังขาดอะไรเพื่อนำพาเกษตรกรไทยให้ไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
โทคิวะ เคจิ: ลูกชายฟาร์มไก่ที่ตัดสินใจสืบทอดกิจการ
สำหรับผม เคจิคือ ‘ภาพจำ’ ของลูกหลานเกษตรกร เพราะนอกจากจะเรียนไม่เก่งอย่างรุนแรงแล้ว ยังใจเร็วด่วนได้ ใช้ชีวิตโผงผางตรงไปตรงมา และมีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือเรียนให้จบเพื่อจะได้กลับไปช่วยทำฟาร์มที่บ้านโดยไม่สนการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย แถมยังตัดสินใจมีครอบครัวค่อนข้างเร็วในช่วงเวลาที่เพื่อนยังไม่ทันจบมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ดี แม้เคจิจะไม่เก่งในห้องเรียน แต่ก็รู้รายละเอียดเกี่ยวกับไก่เป็นอย่างดีเพราะคลุกคลีมาตั้งแต่เด็ก แถมยังมีไอเดียแปลกประหลาดมานำเสนอซึ่งบางครั้งก็เป็นเรื่องง่ายๆ ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง เช่น การติดแบรนด์สินค้าสาวน้อยชุดนักเรียนบนไส้กรอกหมูเพื่อกระตุ้นยอดขาย หรือการทำโยเกิร์ตห้องอาบน้ำชายที่กลายเป็นผลิตภัณฑ์ในตำนาน
แต่ภาพจำดังกล่าวดูจะสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครัวเรือนเกษตรไทย เพราะลูกหลานจากภาคการเกษตรแบบโทคิวะนั้นมีแนวโน้มลดน้อยถอยลงทุกที ข้อมูลล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2561 พบว่าแรงงานภาคเกษตรไทยร้อยละ 46 มีอายุเกิน 60 ปีแถมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอายุหัวหน้าครอบครัวก็ขยับเพิ่มเป็น 58 ปี ตัวเลขดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะนอกจากสะท้อนว่าคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาเฉลี่ยสูงกว่าไม่สนใจการเกษตรแล้ว ผลิตภาพในภาคการเกษตรยังแปรผกผันกับอายุของแรงงานอีกด้วย
โคมาบะ อิจิโร่: ลูกชายฟาร์มล้มละลายผู้ไม่อาจวิ่งตามฝัน
อิจิโร่ เด็กหนุ่มอันดับต้นๆ ของห้องที่มีทักษะทางกีฬาเป็นเลิศโดยมีความฝันว่าจะเป็นนักเบสบอลมืออาชีพเพื่อปลดหนี้ของที่บ้าน แต่เขากลับไปไม่ถึงฝันเมื่อแม่และน้องสาวฝาแฝดไม่อาจหาเงินมาเพียงพอต่อการใช้หนี้จนกิจการล้มละลาย ต้องขายฟาร์มและปศุสัตว์ทั้งหมด โคมาบะจึงตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อทำงานพิเศษและวิ่งไล่ตามความฝันใหม่คือการรื้อฟื้น ‘ฟาร์มโคมาบะ’ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
ฉากที่เด็กหนุ่มอนาคตไกลต้องลาออกกลางคันอ่านยังไงก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าอาจารย์ฮิโรมุโคตรใจร้ายทำกันได้ลงคอ แต่นี่ก็คือความจริงที่เกษตรกรทุกคนต้องเผชิญ เพราะเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ความเสี่ยงสูงกว่าที่หลายคนเข้าใจ
การทำเกษตรหนึ่งแปลงมีความผันผวนตั้งแต่ปัจจัยการผลิตอย่างเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ยค่ายา ค่าน้ำ ค่าแรงงาน ในระหว่างทางก็เสี่ยงที่จะเผชิญโรคระบาด น้ำแล้งก็แย่ ฝนตกเยอะก็พัง สุดท้ายเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็ต้องมาเจอกับราคาสินค้าเกษตรที่ผันผวน สรุปง่ายๆ คือต้นทุนก็ไม่แน่นอน ผลผลิตที่ได้ก็ไม่แน่นอน ราคาขายก็ไม่แน่นอน เรียกว่าเสี่ยงสูงลิ่วราวกับลงทุนในเฮดจ์ฟันด์
จึงไม่น่าแปลกใจที่ครัวเรือนในภาคการเกษตรจะมีหนี้สูงขณะที่รายได้ต่ำ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของชาวนาไทยทั้งหมด 4.5 ล้านครัวเรือนมีหนี้สินเฉพาะที่กู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมากกว่า 200,000 บาท อีกราว 20 เปอร์เซ็นต์มีหนี้สินมากกว่า 400,000 บาท โดยจำนวนนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในโครงการพักหนี้หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ฮินาดะ ทามาโกะ: ลูกสาวฟาร์มใหญ่ผู้เชี่ยวชาญการเงิน
ทามาโกะ ตัวละครตัวโปรดของผมที่มีนิสัยรักเงินเป็นชีวิตจิตใจ เป็นที่พึ่งพาของเพื่อนๆ ในการบริหารจัดการเงิน การคำนวณกำไรขาดทุน ทำบัญชี และงานบริหารจัดการต่างๆ ความฝันของเธอคือเข้ายึดครอง ‘กิก้าฟาร์ม’ กิจการของที่บ้านซึ่งมีพื้นที่ร่วมสองพันไร่และขยายให้ใหญ่โตขึ้นกว่าเดิม พร้อมนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรใหม่ๆ มาช่วยประหยัดต้นทุน
แม้ว่าการทำการเกษตรจะอิงกับดินฟ้าอากาศ และสิ่งมีชีวิตอย่างไก่ หมู ปลา เป็ด ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมองการเกษตรแบบโรแมนติกว่าคือการใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองซึ่งดูเป็นเรื่องที่หลงยุคหลงสมัยเพราะในปัจจุบัน ภาคเกษตรแทบทั้งหมดเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายเข้าห่วงโซ่อุปทานแล้วจึงนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าส่งขายให้กับคนเมืองทั้งในและต่างประเทศ การบวกลบคูณหารต้นทุนอย่างแม่นยำเพื่อให้ทำเกษตรแล้วมีกำไรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ในประเทศไทย การทำการปลูกพืชบางชนิดยิ่งทำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งจนมากขึ้นเท่านั้น เช่น ข้าว อ้อย และยางพาราที่มีการศึกษาพบว่าผลกำไรต่อไร่ยังคงติดลบ ขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมันก็ยังปริ่มๆ จะขาดทุน โดยอัตรากำไรสุทธิมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
หากจะเลือกใครสักคนมาต้นแบบของคนรุ่นใหม่คือจะมาช่วยพลิกฟื้นภาคการเกษตรไทย ผมตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าคนคนนั้นคือทามาโกะ
มิคาเงะ อากิ: ลูกสาวผู้แบกรับความคาดหวังให้สืบทอดฟาร์มครอบครัว
มิคาเงะ นางเอกหน้าหวานผู้หลงรักม้าแต่ตัดสินใจไม่วิ่งตามความฝันที่จะทำงานในแวดวงม้าแข่งเนื่องจากเป็นลูกสาวคนเดียวของครอบครัวที่ต้องแบกรับความคาดหวังว่าจะต้องกลับมาสืบทอดกิจการ ‘ฟาร์มมิคาเงะ’ ต่อจากรุ่นพ่อแม่ แต่ฮะจิเคนเพื่อนสนิทที่ต่อมาได้พัฒนาความสัมพันธ์เป็นคนรักได้พยายามผลักดันให้เธอบอกความรู้สึกในใจให้ครอบครัวได้รับทราบ สุดท้ายที่บ้านก็ยอมโอนอ่อนผ่อนตาม โดยวางเงื่อนไขว่ามิคาเงะจะต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยให้ได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับเด็กหัวช้า แต่โชคดีที่มีฮะจิเคนคอยวางแผนติวอย่างขะมักเขม้น
แม้เรื่องราวของมิคาเงะจะค่อนข้างใกล้เคียงกับโทคิวะที่ถูกคาดหวังว่าจะกลับมาช่วยทำการเกษตรที่บ้าน แต่จุดต่างที่สำคัญคือมิคาเงะตัดสินใจไปทำงานนอกภาคเกษตรซึ่งเกี่ยวพันกับการดูแลม้าสำหรับการแข่งขันท่ามกลางเสียงคัดค้านจากคนที่บ้าน
แต่ในประเทศไทย เหตุการณ์อาจสวนทางกันเพราะครัวเรือนในภาคการเกษตรต่างพยายามผลักดันให้ลูกเรียนจบสูงๆ เพื่อหางานนอกภาคการเกษตรทำเนื่องจากรายได้สม่ำเสมอกว่า ปัจจุบัน ครัวเรือนเกษตรกรไทยต้องพึ่งพารายได้นอกภาคการเกษตรในสัดส่วนที่สูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์โดยเฉพาะครัวเรือนที่ขาดทุนจากการทำการเกษตร นอกจากนี้ ครัวเรือนราวครึ่งหนึ่งต้องพึ่งพาเงินโอนที่ได้รับจากญาติที่ทำงานต่างจังหวัดเพื่อจุนเจือครอบครัว
ฮะจิเคน ยูโงะ: ลูกชายมนุษย์เงินเดือนที่มาตามหาความฝันในอุตสาหกรรมการเกษตร
ฮะจิเคน ตัวเอกที่พัฒนาจากเด็กมัธยมผู้หลงทางสู่เด็กหนุ่มผู้วิ่งตามความฝันอย่างไม่ลดละ ภายใต้สิ่งแวดล้อมของโรงเรียนใหม่ที่ต้องอาศัยทั้งกำลังกายและกำลังสมอง ฮะจิเคนพยายามอย่างเต็มที่ในฐานะ ‘ชายผู้ปฏิเสธไม่เป็น’ อาสารับทำงานทุกอย่างจนกระทั่งล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล ในช่วงเวลาสามปี ฮะจิเคนคือตัวละครที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเปลี่ยนความฝันสู่สตาร์ตอัพฟาร์มหมู ‘เลี้ยงแบบปล่อยทุ่ง (free range)’ ที่นอกจากจะต้นทุนต่ำ รสชาติดี ยังให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์อีกด้วย
เรื่องราวของฮะจิเคนคือแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ว่า ‘สตาร์ตอัพ’ ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในเฉพาะแวดวงเทคโนโลยี ไม่มีต้องแอปพลิเคชัน หรือสรรสร้างแพลตฟอร์มใดๆ แต่หัวใจของธุรกิจเกิดใหม่คือการแสวงหาเทคนิค วิธีการ หรือนวัตกรรมที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของเราแตกต่างจากสิ่งที่มีอยู่ในตลาด
น่าเสียดายที่ผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงซึ่งจดทะเบียนเป็นบริษัทในไทยมีอยู่เพียงไม่กี่พันราย นับเป็นเพียงหยิบมือหากเทียบกับธุรกิจการขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ที่มีการจดจัดตั้งบริษัทร่วมสองแสนราย ภาคการผลิตราวเจ็ดหมื่นราย และธุรกิจรับเหมาก่อสร้างราวหกหมื่นราย
‘โรงเรียน’ คือคำตอบ?
ตอนที่อ่านซิลเวอร์สปูนแรกๆ ผมปักใจเชื่อว่าถ้ามีโรงเรียนเทคนิคการเกษตรแบบครบวงจรซึ่งลูกหลานเกษตรกรสามารถเข้าถึงได้แบบโอเอะโสะน่าจะเป็นลู่ทางในการยกระดับภาคการเกษตรในไทย หลังจากสืบค้นไปไม่นานก็พบว่าไทยเองก็มีโรงเรียนเกษตรเฉพาะทางในชื่อ ‘วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี’ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดังนั้น การศึกษาอาจไม่ใช่ทางออกที่เรากำลังมองหา
ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าจะชุบชีวิตภาคการเกษตรไทยให้กลับมาเป็น ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ ต้องอาศัยความรู้ความสามารถและแรงงานของคนรุ่นใหม่ แต่ปัญหาดังกล่าวก็คล้ายไก่กับไข่ เพราะคนรุ่นใหม่ที่มีทางเลือกย่อมไม่สนใจงานภาคเกษตรที่ใช้แรงงานหนัก ความเสี่ยงสูง แถมยังผลตอบแทนต่ำ แต่ในขณะเดียวกันถ้ายังไม่มีน้ำใหม่ไหลเข้าสู่ภาคการเกษตร คุณภาพชีวิตของเกษตรกรก็มีแนวโน้มแต่จะดิ่งลงเหว
ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหา โดยปรับกลยุทธ์จากนโยบายเน้นช่วยเหลือระยะสั้น ทั้งประกัน จำนำ หรือเงินช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งมักทำให้เกษตรกรรับความเสี่ยงมากเกินไปโดยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว สู่การเน้นหนุนเสริมด้านเทคโนโลยีและความรู้เพื่อจูงใจให้เกษตรกรปรับพฤติกรรมและทำการเกษตรแบบ ‘หวังผล’ มากยิ่งขึ้น
ประเทศไทยมีแรงงานในภาคเกษตรสูงถึงราวร้อยละ 30 และใช้ที่ดินไปกับการเกษตรร้อยละ 40 แต่กลับสร้างผลผลิตได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ นี่คือทางที่เราต้องเลือกระหว่างการมุ่งมั่นเพิ่มมูลค่าในภาคการเกษตร หรือกัดฟันย้ายแรงงานและแปลงสภาพที่ดินสู่การทำธุรกิจที่มีผลิตภาพมากขึ้น
นี่คือปัญหาคาราคาซังในภาคการเกษตรไทยซึ่งอาจไม่โรแมนติกอย่างที่คนเมืองอย่างเราๆ ท่านๆ เข้าใจ
อ่านเพิ่มเติม
ภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทยจะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สถานการณ์สูงวัยกับผลิตภาพและการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทย
Farms, Farmers and Farming: a Perspective through Data and Behavioral Insights