[คำเตือน : เปิดเผยเนื้อหาสำคัญใน Sing Street]
หลังจากที่ Begin Again ได้พาเราไปสำรวจชีวิตนักดนตรีในมหานครนิวยอร์คมาแล้ว ปีนี้ John Carney ผู้กำกับสัญชาติไอริชก็ได้ชวนเราหวนกลับสู่ ดับลิน บ้านเกิดของเขาด้วยภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง Sing Street
Sing Street พาเราย้อนกลับไปไอร์แลนด์ในช่วง 1980s เล่าเรื่องของ Conor เด็กชายวัย 15 ที่นอกจากครอบครัวจะมีปัญหาและพ่อแม่จะหย่ากันให้ได้ (แต่ทำไม่ได้เพราะกฏหมายไอร์แลนด์ในตอนนั้นยังไม่อนุญาตให้หย่า) แล้ว เขายังต้องย้ายโรงเรียนอันเป็นผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจที่ปะทะเข้าอย่างจัง ทั้งพ่อก็ตกงาน แม่ก็ถูกลดวันทำงาน จนสู้จ่ายค่าเทอมของโรงเรียนเก่าไม่ไหว แม้จะหงุดหงิดในช่วงแรกที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียน แต่เพราะการย้ายที่เรียนนี่เองที่ทำให้คอเนอร์ได้พบกับ Raphina และตกหลุมรักหญิงสาววัย 16 ที่ยืนเต๊ะจุ๊ยคาบบุหรี่หน้าประตูโรงเรียนในทันที จนเขาถึงขั้นเดินไปบอกกับเจ้าตัวซื่อๆ ว่า อยากได้เธอมาเป็นนางเอกมิวสิควิดีโอให้กับวงดนตรีของเขา ทั้งๆ ที่ตอนที่บอกไปวงดนตรีที่เขาขี้โม้ไว้ยังไม่แม้จะเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ
ว่ากันแล้ว เรื่องของนักเรียนจับกลุ่มตั้งวงดนตรีไม่ใช่อะไรที่ใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ Sing Street โดดเด่นขึ้นมาคือ การที่หนังไม่ได้ตั้งท่าจริงจัง หรือจัดวางวงดนตรีสมัครเล่นของคอเนอร์กับเพื่อนไว้บนความฝันอันทะเยอทะยานประมาณว่า ‘วงเราจะต้องออกเทปให้ได้’ หรือ ‘วงเราจะไปเขย่าวงการเพลงที่อังกฤษให้ได้’ อะไรพวกนั้น หนังกลับเลือกที่จะจดจ่อกับประเด็นเล็กๆ แค่ คอเนอร์อยากจีบหญิงเลยก่อตั้งวงดนตรีขึ้นมา ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาจากการมีวงก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่หรือไปไกลจากเป้าหมายเดิมที่เขาวางไว้ พูดอีกอย่างคือ หนังไม่ได้สนใจว่าสุดท้ายแล้วเส้นทางนักดนตรีได้พาชีวิตของคอเนอร์ไปไกลแค่ไหน แต่เลือกที่จะพาเราไปจับจ้องเสี้ยวเวลาเล็กๆ ที่เขาได้แต่งเพลงและเล่นดนตรีจีบสาวคนหนึ่งแค่เท่านั้น ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ Sing Street เป็นหนังที่ดูมีชีวิตและลมหายใจเป็นของตัวเอง
แม้ราฟีนาจะเป็นเหตุผลสำคัญให้คอเนอร์ทุ่มเทกับการเล่นดนตรีก็จริง แต่จะพูดว่าเธอเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เขามุ่งมั่นทางดนตรีอยู่ได้ก็อาจไม่ถูกเสียทั้งหมด เพราะสำหรับคอเนอร์ ดนตรีคือสิ่งที่ช่วยเยียวยาเขาจากบาดแผลที่ชีวิตเขาต้องเผชิญ ซึ่งไม่แค่เฉพาะปัญหาครอบครัวแตกแยก แต่เขายังมีเรื่องกับครูใหญ่ผู้คอยใช้อำนาจกดทับเสรีภาพของเขาเอาไว้ ยังไม่รวมถึงปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนั้นที่ส่งผลถึงคอเนอร์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
ฉากหลังของหนังคือไอร์แลนด์ที่กำลังดิ่งร่วง ขนาดที่ชาวไอริชจำนวนมากเลือกที่จะละทิ้งแผ่นดินเกิด และหันไปแสวงหาหนทางสู่ชีวิตที่ดีกว่าในลอนดอน และตัวราฟีนาเองก็เป็นหนึ่งคนกลุ่มนี้ เธอใฝ่ฝันอยากจะเป็นนางแบบ จนวันหนึ่งก็ได้พาตัวเองไปถึงเมืองหลวงของเกาะอังกฤษได้สำเร็จ แต่น่าเศร้าที่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นไปดังหวัง ท้ายที่สุดเธอจึงต้องพาร่างกายอันบอบช้ำหวนกลับสู่ดับลินอีกครั้งหนึ่ง โชคดีที่ในโมงยามอันอ่อนล้า หญิงสาวก็ได้บทเพลงของคอเนอร์ที่พยุงเธอเอาไว้ไม่ให้ร่วงหล่น เฉกเช่นเดียวกับที่ดนตรีได้ช่วยคอเนอร์เสมอมา
หนังเรื่องนี้ถูกถ่ายถอดผ่านสายตาของเด็กผู้ชายเป็นหลัก ซึ่งด้วยวิธีนำเสนอด้วยมุมมองนี้ น่าสังเกตว่าบ่อยครั้ง คอเนอร์จะจับจ้องไปที่แม่ของเขา หรือกระทั่งบางการกระทำเองก็เลือกที่จะปฏิบัติกับแม่มากกว่าพ่อ เช่นในฉากที่เขาแอบเข้าไปในห้องนอนของพ่อกับแม่ คอเนอร์ก็เลือกที่จะบอกรักแค่แม่เท่านั้น หรือในฉากที่เขาและ Brendan ผู้เป็นพี่ชายนั่งจับจ้องแผ่นหลังของแม่ที่นั่งสูบบุหรี่ท่ามกลางแสงอาทิตย์ พวกเขาพูดถึงแม่ด้วยน้ำเสียงคล้ายจะอาลัยอาวรณ์ถึงกิจกรรมโปรดที่แม่จะรีบกลับบ้านมาเพื่อรับแสงแดดในยามเย็น ว่าแต่อะไรคือคำอธิบายถึงพฤติกรรมนี้ของพี่น้องทั้งสอง?
Sigmund Freud นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรียชื่อดังเคยเสนอแนวคิดเรื่อง Oedipus Complex ไว้ว่า เด็กชายจะเก็บความหลงใหลแม่ตัวเองไว้ที่ระดับจิตไร้สำนึก (unconcious) นึกอิจฉาพ่อที่ได้ความรักจากแม่ไป และพยายามจะเป็นให้ได้ดั่งพ่อ เมื่อเติบโตขึ้นหากเด็กชายยังยึดติด (Fixate) กับความรู้สึกนี้อยู่ เป็นไปได้ที่ปมนี้จะส่งผลถึงการเลือกคนรักของเขา ที่จะหาหญิงที่คล้ายคลึงกับแม่ตัวเอง
และน่าเชื่อว่าที่ตัวคอเนอร์เองจะยังยึดติดกับความรู้สึกนี้ สังเกตุจากการเลือกคู่รักของเขาที่สะท้อนถึงปมอีดีปุสที่ไม่อาจคลี่คลายได้ ซึ่งคือตัวราฟีนาที่เป็นภาพสะท้อนของแม่นั่นเอง
พี่ชายต่างวัยของคอเนอร์เคยเล่าถึงวีรกรรมก๋ากั่นของแม่ในวัยสาวที่ให้ภาพว่าเธอสนใจในเรื่องความฝันและความรัก มากกว่าที่จะมองสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน
พฤติกรรมของราฟีนาในบางครั้งดูเหมือนว่าเธอจะไม่คิดหน้าคิดหลัง แต่เธอก็เข้มแข็งและยึดมั่นในความคิดของตัวเอง เหมือนกับแม่ที่เด็ดเดี่ยวและเชื่อในการตัดสินใจของตน ทั้งจากสมัยที่ยังรักและเลือกเริ่มต้นชีวิตคู่กับพ่อ และในปัจจุบันที่เธอตั้งใจจะแยกทาง นี่เองที่เป็นบุคลิกอันคล้ายคลึงกันระหว่างราฟีนากับแม่ของคอเนอร์
หรืออย่างในฉากที่ทุกคนในบ้านดูมิวสิควิดีโอกันในห้องรับแขก แม่ก็แสดงท่าทีว่าสนใจสื่อรูปแบบใหม่นี้ เช่นเดียวกับราฟีน่าเองก็สนใจอยากเล่นมิวสิควิดีโอให้กับวงของคอเนอร์
อีกจุดหนึ่งที่อาจมองประเด็นนี้ในหนังได้ไกลขึ้นคือ พฤติกรรมของตัวคอเนอร์ที่แม้จะรู้ว่าราฟีนามีคนรักอยู่แล้ว ทว่าก็ไม่อาจหักห้ามตัวเองไว้ได้ ทั้งบางครั้งยังกล่าวยุให้เธอเลิกรากับแฟนของเธอไป ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้เองที่แม่ของคอเนอร์ก็กำลังมีชู้กับชายอีกคนหนึ่ง กล่าวคือ เมื่อแม่ไม่ได้รักพ่ออีกต่อไป ชายอื่นที่กุมหัวใจแม่ไว้ได้จึงเป็นสิ่งที่คอเนอร์พยายามจะเป็น สำหรับเขาอาจไม่ใช่เรื่องผิดอะไรนักตราบใดที่เขาได้ความรักของแม่ หรือในที่นี้ ‘ราฟีนา’ มาเป็นของตัวเอง
เช่นนั้นแล้ว ภาพของซิกมุน ฟรอยด์ที่แปะอยู่บนผนังห้องนอนของแบรนดอนจึงอาจไม่ใช่แค่สาเหตุเรื่องความชอบส่วนตัวของพี่ชายเสียทีเดียว
สัญญะหนึ่งที่ปรากฏอย่างโดดเด่นใน Sing Street คือ ‘ประตู’ ซึ่งสะท้อนถึงนัยยะของการ ‘ก้าวพ้นอะไรบางอย่าง’ หรือ ‘ก้าวไปสู่อะไรบางอย่าง’ ที่ถูกนำเสนอออกมาในหลายระดับ เห็นได้จาก
1) การพบกันครั้งแรกระหว่างคอเนอร์กับราฟีนาเกิดขึ้นที่ประตูโรงเรียน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่คอเนอร์เพิ่งโดนต่อยมาหมาดๆ เขารู้สึกหดหู่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ‘ภายใน’ โรงเรียน แต่แล้วก็ได้พบราฟีนาที่อยู่ ‘ภายนอก’ โรงเรียนที่ทำให้ลืมหม่นหมองไป
2) ประตูของโรงยิมโรงเรียนในฉากคอนเสิร์ตช่วงท้ายที่เปิดรอด้วยหวังว่าจะเห็นราฟีนาจะเดินเข้ามา ฉากนี้สำคัญตรงที่ว่า คอเนอร์ไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้อย่างสมบูรณ์ในโรงเรียนเพราะถูกกดทับด้วยอำนาจของครูใหญ่ พูดอีกอย่างได้ว่า โรงเรียนคือพื้นที่อันแสดงถึงความอ่อนแอของคอเนอร์ และเฉพาะเมื่อเขาก้าวพ้นรั้วสถานศึกษาออกไปแล้วเท่านั้น ที่เขาถึงจะแสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่
แต่ในฉากแสดงคอนเสิร์ตนี้ คอเนอร์ตั้งใจจะคัดง้างกับอำนาจโดยการแต่งเพลงล้อเลียนครูใหญ่ เขาได้เลือกแล้วที่จะไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการทางเสรีภาพอีกต่อไป และเปลี่ยนให้โรงเรียนเป็นพื้นที่อันเข้มแข็งที่เขาจะได้เฉิดฉาย เพียงแต่เงื่อนไขสำคัญที่เขาจะปลดปล่อยตัวเขาอย่างสมบูรณ์ได้จำเป็นต้องมีราฟีนา หญิงสาวที่ทำให้คอเนอร์ได้รับความกล้าหาญนี้จากการเล่นดนตรี กล่าวคือ คอเนอร์ต้องการจะพิสูจน์ให้ราฟีนาเห็นว่า เป็นเพราะเธอที่ทำให้เขากล้าที่จะลุกขึ้นสู้ เป็นเพราะเธอที่ทำให้เขาสะบั้นโซ่ตรวนแห่งอำนาจของครูใหญ่ลงได้ เช่นนั้นจึงทำให้ฉากที่ทั้งคู่วิ่งออกจากประตูโรงเรียนด้วยกันหลังคอนเสิร์ตจึงแสดงถึงการประสานกันระหว่างสภาวะของ ‘ภายนอก’ และ ‘ภายใน’ ด้วยประตูที่ถูกเปิดออก
3) ประตูในสถานะของเส้นแดนระหว่างไอร์แลนด์ และอังกฤษ หรือพูดให้กว้างขึ้นคือ ประตูที่กั้นระหว่างไอร์แลนด์กับโลกภายนอก ครั้งหนึ่ง แบรนดันเคยพยายามที่จะหนีไปเยอรมนี แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว และจำต้องติดอยู่กับบ้าน ฝังตัวเองอยู่ในห้อง และไม่นึกอยากออกไปไหนอีก ในฉากสุดท้ายของหนังที่เบรนดันขับรถมาส่งคอเนอร์กับราฟีนาเพื่อขับเรือจากไอร์แลนด์ไปอังกฤษ ในทางหนึ่งจึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของเบรนดัน ที่ในที่สุดก็ได้ส่งต่อคบเพลิงที่อยากหลบหนีออกจากไอร์แลนด์ได้สำเร็จ
การเดินทางไปอังกฤษของคอเนอร์กับราฟีนานั้นว่าไปแล้วแม้จะเป็นการตัดสินใจที่บ้าระห่ำเพราะเป็นการตัดสินใจทันด่วนและไม่มีแผนการที่ชัดเจนคอยรองรับ แต่ตรงนี้เองก็เป็นเน้นย้ำความโดดเด่นของ Sing Street นั่นคือ มันไม่ใช่หนังที่พูดถึงความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ เพราะในท้ายที่สุดก็เป็นไปได้ว่า ชีวิตในอังกฤษของทั้งคู่อาจล้มเหลวไม่เป็นท่า คอเนอร์อาจถูกด่าเช็ดจากค่ายเพลงว่าห่วย และราฟีนาก็อาจโดนปฏิเสธซ้ำๆ ว่าเธอเป็นนางแบบไม่ได้
ที่สุดแล้วทั้งสองอาจต้องพาความหวังอันพังทลายกลับคืนสู่ดับลินอีกครั้ง แต่นั่นคือเรื่องที่เราจะไม่รู้ และนั่นคือเรื่องที่จะไม่ถูกเล่า เพราะเฉพาะแค่เศษเสี้ยวชีวิตเล็กๆ ของคอเนอร์และราฟีนาที่ถึงจะถูกบอกเล่าแค่เพียงสั้นๆ ก็นับว่าเพียงพอแล้วที่ทำให้เรารักพวกเขา เช่นเดียวกับที่ทำให้เราตกหลุมรักหนังเรื่องนี้