ถึงแม้ว่าท่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะออกมาชี้แจงแล้วว่า ทางกระทรวงฯ ไม่ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้น้องๆ นักเรียน นักศึกษา นำโทรศัพท์มือถือไปใช้ในการบันทึกเสียง และถ่ายภาพพรีเซนเทชั่นหน้าตาน่าเบื่อหน่ายของบรรดาครูอาจารย์ แต่ท่านปลัด ศธ. ก็ดูจะมีเหตุผลประกอบที่ยกมาอ้างแปลกๆ อยู่หน่อยอย่าง ‘โรงเรียนทุกแห่งมีมาตรการเข้มงวดห้ามนำมือถือเข้าห้องเรียนอยู่แล้ว’ (อ้าว! สรุปว่าห้าม หรือไม่ห้าม?)
ใครที่ติดตามข่าวนี้ก็คงจะทราบกันดีนะครับว่า เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาจากการที่ท่านผู้นำของประเทศเปรยๆ ออกมาด้วยความหวังดีในที่ประชุม ‘คณะกรรมการนโยบาย และพัฒนาการศึกษา’ (หรือที่มีชื่อเรียกเก๋ๆ ว่า ‘ซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษา’) ว่าท่านกลัวว่า การที่นักเรียน นักศึกษา นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปถ่ายรูป และบันทึกเสียง (บางทีท่านผู้นำอาจจะไม่ทราบว่า บางครั้งน้องๆ เค้าก็ถ่ายวีดีโอเก็บไว้เลยแหละ) ในห้องเรียนนั้น จะทำให้น้องๆ หนูๆ เขาจะไม่ยอมจดบันทึกกันอีกต่อไปแล้ว ทั้งๆ ที่การจดบันทึกนั้นจะช่วยให้เด็กได้คิด และจดจำ จนทำให้เด็กรุ่นใหม่เหล่านี้ขาดทักษะในการเรียนรู้คือ การ ‘ฟัง-พูด-อ่าน-เขียน’ ที่ครบถ้วน
ยิ่งเมื่อนอกเหนือจากตำแหน่งผู้นำของประเทศแล้ว ท่านยังรับตำแหน่งประธานของซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษานี้ด้วย ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกอะไรที่ท่านปลัด ศธ. จะกระวีกระวาดออกมารับลูก และแม้จะปฏิเสธว่าทางกระทรวงฯ ไม่ได้มีคำสั่งห้ามลงไป แต่ในเมื่อทุกโรงเรียนต่างก็มีมาตรการไม่ให้นำมือถือเข้าห้องเรียนอยู่แล้วนี่เนอะ?
ดังนั้นไม่สั่งก็เหมือนสั่งนั่นแหละนะครับ แหม่
แน่นอนว่า ทุกโรงเรียนก็คงจะไม่ได้มีแนวคิดในการไม่ให้น้องๆ นักเรียนนำเอาโทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องเรียนเพราะอยากจะให้เด็กๆ เหล่านี้มีทักษะในการเรียนรู้ที่ครบถ้วน เช่นเดียวกับที่ท่านผู้นำเปรยออกมาดังๆ ในที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดเมื่อไม่กี่วันมานี้
เพราะแรกเริ่มเดิมทีนั้น การสั่งห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าชั้นเรียนน่าจะเกี่ยวข้องกับ สมาธิในการเรียนของเด็ก (และการสอนของคุณครูจอมเฮี๊ยบ) กลัวว่าเด็กจะแชตจีบกันบ้าง (แชตนินทาหรือด่าครูผู้สอนบ้าง) หยิบเอาเกมขึ้นมาเล่นบ้าง ป้องกันการโกงหรือลอกข้อสอบ และอะไรต่างๆ อีกสารพัด แต่ไม่มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของการเรียนรู้ของเด็กเลยสักนิด
ดังนั้นสิ่งที่น่าสนใจก็คือว่า แต่ละโรงเรียนไม่ทราบกันจริงๆ หรือว่า ในทางกลับกันโทรศัพท์มือถือก็เป็นเครื่องมือมหัศจรรย์ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียน และนักศึกษา?
เมื่อแรกที่เริ่มมีการเรียน (ตั้งแต่ยังเรียนกันอย่างไม่เป็นระบบ มาจนกระทั่งเริ่มมีระบบการศึกษาสมัยใหม่) ในสังคมสยามนั้น ‘กระดาษ’ คงยังเป็นสิ่งที่มีราคาค่างวดระดับแพงหูฉี่ และน้องๆ หนูๆ ในสมัยโน้น ก็ยังต้องหอบเอา ‘กระดานชนวน’ ไปเรียนกัน จนกระทั่งต่อมาเมื่อ ‘กระดาษ’ กลายมาเป็นสิ่งของที่ราคาพอจับต้องได้ ไปจนกระทั่งมีราคาถูกลงในที่สุด การเรียน การสอน ของไทยก็ปรับเปลี่ยนมาใช้กระดาษกันจนหมด ในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ลงมาไม่กี่ปี ก็ไม่เห็นมีใครจะเรียกร้องให้กลับไปใช้กระดานชนวนเหมือนเดิมอีกเลย?
แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะหลงลืมกระดานชนวนไปอย่างไม่ใยดีหรอกนะครับ การที่ทุกวันนี้เรายังคงเรียก อะไรที่ใช้เขียนลงบนกระดาษว่า ‘ดินสอ’ นั่นก็อาจจะเป็นอนุสรณ์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยเก็บเอา ‘กระดานชนวน’ ไว้ในความทรงจำ
เพราะคำว่า ‘สอ’ นั้นมีรากมาจากคำว่า ‘ซอ’ ซึ่งแปลว่า ‘สีขาว’ ในภาษาเขมร คำว่า ‘ดินสอ’ จึงหมายถึง ‘ดินสีขาว’ ซึ่งใช้ขีดเขียนลงไปในอะไรที่ไม่ได้มีพื้นสีขาวเหมือนกัน แต่เป็นพื้นสีอื่น โดยเฉพาะสีดำ อย่างสมุดไทยดำ หรือกระดานชนวนนี่แหละ
ดังนั้นการที่ทุกวันนี้เรายังเรียกอะไรที่เขียนออกมาเป็นสีดำ ด้วยคำที่แปลตรงตัวว่า สิ่งที่เขียนออกมาเป็นสีขาวนั้น ก็คงพอจะเป็นอะไรที่เป็นร่องรอยของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และเทคโนโลยีในยุคสมัยหนึ่งได้
และใน ณ ขณะจิตนี้ เราก็แค่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีเหมือนกับอีกหลายๆ ครั้งในประวัติศาสตร์นั่นแหละครับ รูปแบบของการเข้าถึงความรู้ได้เปลี่ยนจากการไปนั่งขลุกอยู่ในห้องสมุดเพียงอย่างเดียว มาเป็นแค่การกดคลิกเดียวผ่านทางคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนก็อาจจะค้นหาข้อมูลได้ไม่แตกต่างกันนัก (แน่นอนว่า ผมกำลังหมายถึง E-Book หรือไฟล์ PDF ของหนังสือดีๆ อีกสารพัดเล่ม ที่มีแชร์กันให้ว่อนเน็ต มากกว่าข้อมูลผิวๆ และบางครั้งก็ผิดๆ ที่ก็มีอยู่ให้เพียบเช่นกัน) เช่นเดียวกับวิธีในการบันทึกข้อมูล หรือความรู้ต่างๆ ที่ไม่จำเป็นต้องจดด้วยมือเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ก็ในเมื่อเด็กๆ เขามีเทคโนโลยีที่จะช่วยในการจัดเก็บ และเข้าถึงความรู้ที่ดียิ่งขึ้นแล้ว เราจะไปห้ามไม่ให้เค้าใช้ทำไมล่ะครับ? และอันที่จริงแล้วมันควรจะเป็นหน้าที่ของครู-อาจารย์หรือเปล่า ที่ต้องปรับเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน-นักศึกษา?
แต่เอาเข้าจริง ปัญหาอาจอยู่ที่สถานภาพของหนังสือที่ฝังอยู่ในหัวของคนไทยด้วย
มีหลักฐานว่าการเรียนหนังสือของเจ้านายในสมัยรัชกาลที่ 4 จะต้องใช้สมุดไทยดำ ลงเส้นบันทึกเนื้อหาที่จะเรียนด้วยหรดาล (แร่ชนิดหนึ่งประกอบไปด้วยธาตุสารหนู และกำมะถัน ให้สีแดงอมเหลือง) ใส่พานรองนำไปในวันแรกเข้าเรียน ซึ่งต้องเป็นช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (คือวันครู ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์) นอกจากนี้ยังต้องมีพานเครื่องบูชาที่ประกอบด้วยธูปเทียน ดอกเข็ม ดอกมะเขือ และหญ้าแพรก (เพื่อให้ปัญญาแหลมคมเหมือนดอกเข็ม มีความรู้มากเหมือนเมล็ดมะเขือ และรู้เร็วฉับไวเหมือนหญ้าแพรกขึ้น) เมื่อถึงสำนักครูให้ยกพานเข้าไปตั้งตรงหน้า จุดธูปเทียนกราบไหว้บูชา ‘หนังสือ’ ที่ลงเส้นหรดาลเอาไว้นั่นแหละ
ข้อมูลข้างต้นนี้ผมเอามาจากพระนิพนธ์เรื่อง ‘ความทรงจำ’ ซึ่งก็เขียนขึ้นจากความทรงจำตามอย่างชื่อเรื่องจริงๆ ส่วนเจ้าของความทรงจำที่เป็นผู้บันทึกเอาไว้นั้นคือ บุคคลระดับที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น บิดาแห่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยอย่าง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ดังนั้นถ้าใครจะไม่เชื่อผมก็ไปเถียงกับ สมเด็จฯ ท่านเอาเองนะครับ ผมไม่เกี่ยว 😛
ใช่ครับใช่ นี่คือข้อมูลเกี่ยวกับการ ‘ไหว้ครู’ ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ประเทศไทยมีหลงเหลืออยู่ แต่เดิมนั้นเราไม่ได้ไหว้ครูที่เป็นมนุษย์ แต่ไหว้ความศักดิ์สิทธิ์ของครู ซึ่งโดยนัยยะนี้ก็อาจจะหมายถึง ‘ความรู้’ ต่างๆ ที่บันทึกเอาไว้ในหนังสือต่างหาก ในขณะที่การไหว้ครูที่ยังเป็นมนุษย์ขี้เหม็นตัวเป็นๆ เป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นในยุคหลังเท่านั้น และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุให้ผลให้คนไทยมีความเชื่ออย่าง การห้ามเดินข้ามหนังสือ หรือเหยียบหนังสือ เพราะหนังสือนั้นก็มีความศักดิ์สิทธิ์จนต้องกราบไหว้ และบูชานี่เอง
การรู้จักบุญคุณนั้นเป็นสิ่งที่ดีแน่ แต่การสำนึกในบุญคุณกับหนังสือ หรือกระดาษเสียจนไม่ยอมที่จะนำเอาเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาใช้พัฒนาการเรียน-การสอนนั้นก็อาจจะไม่ค่อยดีนัก
และก็คงอาจจะยากสักหน่อยในเมื่อใครต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการศึกษาของเรา ยังดูเหมือนราวกับว่ามีชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่พร้อมจะก้มลงกราบหนังสืออยู่เลย