ปลายปี 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ‘ลาออก’ จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ และการ ‘ลอยตัวค่าเงินบาท’ ซึ่งส่งผลให้บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ล้มกันระเนระนาด
ในเวลานั้น นอกจากเศรษฐกิจจะวุ่นวายแล้ว ในทางการเมืองก็เกิดความสับสนไม่น้อย เพราะต้นเดือนตุลาคม ก่อนพล.อ.ชวลิตจะลาออก 1 เดือน เริ่มมีข่าวว่าบรรดา ‘ทหาร’ ‘นักธุรกิจ’ และ ‘นักการเมือง’ จำนวนหนึ่ง เตรียมไปอัญเชิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานองคมนตรี กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง ภายในรูปของ ‘รัฐบาลแห่งชาติ’ โดยดึงเอาข้าราชการเทคโนแครตมาร่วมกันกู้วิกฤต และดึงทุกพรรคเข้ามาร่วมรัฐบาล เพราะ ‘ป๋า’ เคยผ่านวิกฤตลดค่าเงินบาทมาก่อนเมื่อปี 2527
สุดท้าย ‘ป๋า’ ก็ไม่ได้คัมแบ็ค เพราะหลังจากพล.อ.ชวลิตลาออก ไม่ว่าจะพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะพรรคฝ่ายค้าน ต่างก็ออกตัวไม่เห็นด้วย และต่างก็ชิงตั้งรัฐบาลกันอุตลุด โดยฝ่ายรัฐบาลเดิมชู พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติพัฒนา ส่วนฝ่ายค้านชู ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับมาเป็นนายกฯ รอบ 2
แต่จัดรัฐบาลไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่า เสียงของฝ่ายรัฐบาลเดิม อยู่ที่ 197 เสียง และเสียงของฝ่ายค้าน กลับอยู่ที่ 196 เสียง ทำให้บรรดาเสียง ส.ส. ทุกเสียง กลับมีความหมาย ว่าผู้จัดการรัฐบาลฝ่ายใดจะดูด ส.ส. ฝั่งตรงข้ามได้ก่อนกัน
สุดท้ายก็กลายเป็น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ดึงเอา 13 ส.ส. ของพรรคประชากรไทย ฝ่ายรัฐบาลเดิม จากที่มีทั้งหมด 18 คน อาทิ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์, วัฒนา อัศวเหม, ยิ่งพันธ์ มนะสิการ ฝืนมติพรรคมารวมเป็นฝ่ายรัฐบาล จนเสียงพุ่งไป 209เสียง ส่งชวนกลับมาเป็นนายกฯ และ 4 งูเห่า ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี
สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทย ที่เหลือ ส.ส.เพียง 5 คน แทนที่จะเป็นเดือดเป็นร้อน กลับแถลงข่าวอย่างอารมณ์ดี เปรียบบรรดา ส.ส. ที่ลาออกด้วย ‘นิทานอีสป’ ชาวนากับงูเห่า ม้าอารี และลามไปถึงประวัติศาสตร์ กรีก-โรมัน เรื่องการลอบสังหาร ‘จูเลียส ซีซาร์’ ของบรูตุส เพื่อรักษาระบอบสาธารณรัฐ
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คิดถึงนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า และเรื่องม้าอารี นิทานนั้นชาวนาเลี้ยงงูเห่าไว้ตัวเดียว แต่สมัยใหม่ชาวนาอย่างนายสมัครเลี้ยงไว้ถึงสิบกว่าตัว ส่วนม้าอารี เป็นเรื่องที่วัวมากระแซะเพราะความหนาว เอาหัวเข้ามาก่อน จากนั้นก็เอาข้างเข้ามาในโรงนา จนม้าต้องหลุดออกไป ได้วัวเข้ามาแทน”
“ไอ้บรูตุสตัวจริงมันเกิดแล้วเตรียมจะแทงผม ผมไม่ใช่ซีซาร์ แต่โชคดีกว่าซีซาร์หน่อยที่มีกระจกส่องดูคนจะแทง เห็นก่อนเลยหลบทัน หรือถ้าคิดว่าผมเป็นชาวนาถูกงูเห่ากัดตอนจบมันต้องตาย แต่ผมมันบังเอิญรู้ใส่เสื้อวอร์มกันไว้เสียก่อน” สมัครเล่าให้ฟัง พร้อมหัวเราะชอบใจที่ได้เปรียบเปรยสิ่งที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ตำนานเรื่อง ‘ม้าอารี’ และเรื่อง ‘จูเลียสซีซาร์’ ดูจะไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเรื่อง ‘ชาวนากับงูเห่า’ ที่กลายมาเป็นอภิธานศัพท์ในการเมืองไทย ซ้ำยังติดตัวบรรดา 13 ส.ส. ไปจนหมดรัฐบาลชวน และยังติดตัว ส.ส.บางคนจนถึงปัจจุบัน แม้หลายคนจะเสียชีวิตไปแล้ว
เมื่อพ้นรัฐบาลชวน ภูมิทัศน์การเมืองเปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญ 2540 พาให้ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทยชนะขาดลอย ในการเลือกตั้งปี 2544 และกลายเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ในปี 2548 ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องไปอาศัยสัตว์เลื้อยคลานเพื่อมาตั้งรัฐบาล การเมืองไทยว่าด้วยเรื่อง ‘งูเห่า’ น่าจะเป็นตำนานที่ไม่ค่อยน่าจดจำในประวัติศาสตร์ไปแล้ว แต่ก็ไม่…
4 ธันวาคม 2551 หลังจากผ่านวิกฤตกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ‘ยึดสนามบิน’ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ‘ยุบพรรค’ พลังประชาชน มัชฌิมาธิปไตย และชาติไทยไปแล้ว และ ส.ส. พลังประชาชนเดิม ย้ายถิ่นฐานไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ก็ถึงเวลาของงูเห่าภาค 2 เมื่อกลุ่ม ‘เพื่อนเนวิน’ ตัดสินใจไม่ไปต่อกับเพื่อไทย แต่หอบเอา ส.ส. 37 เสียง อาทิ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล, ชัย ชิดชอบ,โสภณ ซารัมย์ ฯลฯ ไปยกมือให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี
ที่น่าสนใจคือในเวลานั้น ชวรัตน์เป็นรองนายก รักษาการนายกรัฐมนตรี ส่วนชัยเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงในการ ‘พลิกขั้ว’ ให้ขั้วประชาธิปัตย์เดิม ซึ่งมี ส.ส.เพียง 165 เสียง สามารถรวบรวมเสียงข้างมากจากกลุ่มเพื่อนเนวิน และพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จนเสียงพุ่งเป็น 235 เสียง ให้เป็นรัฐบาลได้สะดวกโยธิน จากการเจรจาของเลขาธิการพรรคที่ชื่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ภายใต้ความร่วมมือของนายทหารนอกราชการผู้มากบารมีอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แต่ ‘ราคา’ ของงูเห่าในปี 2551 นั้นแพงกว่าในปี 2540 มาก เพราะนอกจากต้องเอากระทรวงเกรดเออย่าง กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์ ใปให้บรรดางูๆ แล้ว ยังต้องเอากระทรวงเกรดเออื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไปให้พรรคที่พลิกขั้วอย่างพรรคชาติไทย และกระทรวงพลังงาน ให้พรรคชาติพัฒนา คงเหลือกระทรวงเศรษฐกิจ ‘เกรดเอ’ กระทรวงเดียว คือกระทรวงการคลัง ให้พรรคประชาธิปัตย์บริหาร แน่นอน นั่นย่อมทำให้ประชาธิปัตย์ ‘เข็ด’ กับงูเห่าไม่น้อย
ถ้าเทียบกับพรรคอื่นๆ ในประเทศไทยแล้ว ไม่น่าจะมีใครรู้จักงูเห่าดีเท่ากับประชาธิปัตย์ แม้ว่าปัจจุบัน พล.ต.สนั่น จะเสียชีวิตไปแล้ว และสุเทพจะไม่ได้อยู่ในพรรคประชาธิปัตย์อีกต่อไป…
เพียงแต่รอบนี้ ประชาธิปัตย์ถดถอยมาเป็นพรรคขนาดกลาง ไม่ใช่แกนนำรัฐบาลอีกต่อไป จึงไม่ใช่หน้าที่ของประชาธิปัตย์ ในการหา ‘งูเห่า’ เพียงแต่ไปรอนั่งเป็นรัฐบาลสวยๆ ก็เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจก็คือ ความแตกแยกในพรรค ก็มีความเป็นไปได้สูงที่จะมี ‘งู’ ออกมาจากพรรคเอง ไม่ว่ามติพรรคจะหันไปทางร่วมรัฐบาล หรือหันไปทาง ‘ฝ่ายค้านอิสระ’ ก็ตาม ซึ่งน่าจะได้เห็นชัดๆ ในการขานชื่อโหวตนายกรัฐมนตรี
ไม่มีใครคิดว่าผ่านมา 11 ปี ระบบการเมืองหลัง ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ ยังคงไร้เสถียรภาพ เพราะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตั้งต้นการร่างรัฐธรรมนูญด้วยความตั้งใจให้เกิด ‘รัฐบาลผสม’ เพื่อแก้ปัญหา ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ เพราะกลัวว่าใครบางคนจะกลับมามีอำนาจเหมือนเดิม
ซ้ำยังคิดระบบเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ห้ามให้จำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เกินจำนวน ส.ส. ‘พึงมี’ จนปั่นป่วน มี ส.ส. ปัดเศษ ส.ส. พรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาเต็มไปหมด ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือการจำลองบรรยากาศของป่าดิบชื้น ที่เต็มไปด้วยงูเห่า ซึ่งพร้อมจะแผ่แม่เบี้ยได้ตลอดเวลา เมื่อเสียง ส.ส. ของแต่ละฝ่าย ใกล้กันอย่างมีนัยสำคัญ
แต่อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.ได้กล่าวไว้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้วว่า รัฐธรรมนูญตั้งใจให้มีหลายพรรคการเมืองร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้กำหนดนโยบาย ‘ครอบคลุม’ ทุกด้าน ไม่ได้อยากให้พรรคการเมืองอ่อนแอ
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า กรธ.มีสายตาสั้นเพียงใด เพราะแท้จริงแล้ว บรรดา ‘รัฐบาลผสม’ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ล้วนมีอายุสั้นทั้งนั้น โดยเฉพาะเมื่อพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก มีอำนาจต่อรองสูง และบรรดา ‘สัตว์เลื้อยคลาน’ ต่างก็ออกมาหากินในช่วงเวลารัฐบาลผสมทั้งนั้น ไม่ว่าจะมีนายกฯ ชื่อชวน หรือมีนายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์
ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน จะมีอายุน้อย หรือมีอายุยืดยาว สิ่งที่จำเป็นมากกว่าการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร ก็คือการพยายาม ‘เลี้ยงงูเห่า’ ให้มีเสียงพอในการโหวตร่างกฎหมายสำคัญ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และที่สำคัญ ยังต้องสร้างความพึงพอใจ ไม่ให้ย้ายข้างไป-มา เพราะนั่นจะทำให้รัฐบาลล่มปากอ่าวเอาได้ง่ายๆ
และถ้าเสียงไม่พอ จำเป็นต้อง ‘ซื้อ’ งูเห่า ผู้จัดการรัฐบาลก็ต้องเตรียมเงินถุงเงินถัง หิ้วกระเป๋าเงินเตรียมไว้ตลอดเวลา เพื่อซื้อบรรดา ส.ส. งูเห่าเป็นรอบๆ ทุกครั้งที่มีความจำเป็นต้องโหวต ขณะเดียวกัน ก็ต้องรักษารัฐนาวา ให้พรรคร่วมรัฐบาลที่มีเกิน 20 พรรค ต้องมีความพึงพอใจทุกครั้ง เพราะเมื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง เกิดความไม่พอใจ รัฐบาลจะล้มทันที…
หากต้องการสร้างระบบการเมืองให้พ้นงูเห่า ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจต่อรองให้พรรคกลาง-พรรคเล็ก และสร้างกติกาที่เป็นสากล แทนการหวังให้พรรคการเมืองอ่อนแอด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งในที่สุด อาจจบด้วยการสร้าง ‘ฮีโร่’ จากคนนอก ที่อยู่เหนือระบบเลือกตั้ง นอกระบบรัฐสภาให้เข้มแข็งแทน
งานนี้หวังพึ่งใครไม่ได้ นอกจาก ‘พรรคเก่าแก่’ ที่เคยเลี้ยงงู ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการมองให้ไกลกว่าสถานการณ์เฉพาะหน้า แล้วสร้างวาระปฏิรูปการเมืองใหม่ เพื่อให้พ้นจากระบบการเมืองที่ปราศจากสัตว์เลื้อยคลานเสียที
รวมถึง ต้องร่วมกดดัน ไปยังคณะรัฐประหาร ผู้สร้างระบอบนี้ขึ้นมาด้วยว่า จะ ‘ยอม’ ให้แก้ระบบการเมืองอันยุ่งเหยิงนี้หรือไม่ เพราะในระบอบที่การเมืองอ่อนแอ มักจะมีคนที่อยู่นอกเหนือจากระบบ ‘ได้เปรียบ’ เสมอ