ประมาณ 20 ปีก่อนเห็นจะได้ ผมติดรถคุณพ่อของเพื่อนสนิทคนหนึ่งกลับบ้านซึ่งอยู่ทางเดียวกัน ผมจำได้แม่นยำว่ามีจังหวะหนึ่งที่สัญญาณไฟจราจรเปลี่ยนจากเหลืองเป็นแดงขณะที่รถยนต์กำลังจะผ่านสี่แยก คุณพ่อของเพื่อนไม่ทันระวังตัวเพราะเรากำลังคุยกันอย่างออกรสชาติ โดยไม่ได้ตั้งใจคุณพ่อได้ขับรถฝ่าไฟแดง เป็นเหตุให้ตำรวจจราจรซึ่งทำหน้าที่กวดขันวินัยจราจรอย่างเงียบๆ หลังสี่แยก—ในมุมมืดที่ไม่มีใครมองเห็น แสดงตัวเรียกให้รถหยุดและขอใบอนุญาติขับขี่ เพื่อออกใบสั่งโทษฐานทำผิดกฎจราจร
คุณพ่อเพื่อนซึ่งมีอาชีพเป็นนักข่าวได้ส่งบัตรประจำตัวนักข่าวให้ และหลังจากการพูดคุยไม่นาน คุณตำรวจก็ปล่อยให้รถไปต่อโดยไม่ได้ออกใบสั่ง เนื่องด้วยในบทสนทนาคุณพ่อได้อ้างถึงและบอกเล่าให้คุณตำรวจได้ทราบว่า คุณพ่อรู้จักและมีความสนิทสนมกับผู้กำกับในท้องที่รวมทั้งคุณนายผู้กำกับ ทั้งยังเคยได้ช่วยงานสถานีตำรวจต้นสังกัดของคุณตำรวจอย่างไรบ้าง
“วันหลังพี่แวะไปดื่มกาแฟที่บ้านผมบ้างนะครับ” คือประโยคที่คุณพ่อกล่าวอำลาคุณตำรวจ
“การมีอาชีพเป็นสื่อมวลชนและรู้จักคนมีอำนาจมันเป็นทุนทางสังคม” คุณพ่อของเพื่อนหันมาพูดกับพวกเราหลังขับรถผ่านจุดนั้นมาได้ไม่นาน และนั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินคำว่า ‘ทุนทางสังคม’
ปิแอร์ บูร์ดิเยอ : ทุน ฟีลด์ และความแตกต่างทางสังคม
ทุนทางสังคม (social capital) ไม่ใช่เรื่องใหม่บนโลกใบนี้ ในทางวิชาการมีผู้เสนอเรื่องนี้มาเป็นเวลานับร้อยปีแล้ว แต่ผู้ที่เสนอแนวคิดซึ่งสามารถอธิบายได้อย่างเป็นระบบและเป็นที่ยอมรับมากที่สุดคนนึงคือ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) นักสังคมวิทยา/มานุษยวิทยา/ปรัชญา ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ได้เสนอว่า ‘ทุน’ มีหลายรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่ทุนทางเศรษฐกิจ (economic capital) ในรูปแบบของเงินทอง ทรัพย์สิน ที่เราคุ้นเคยเท่านั้น แต่ทุนยังปรากฏในรูปแบบอื่นๆ อีกหลายรูปแบบ และทุนแต่ละรูปแบบมีความสัมพันธ์ระหว่างกัน สามารถเปลี่ยนรูปจากประเภทหนึ่งเป็นอีกประเภทหนึ่งได้[1]
ในความหมายที่กว้างที่สุด ‘ทุน’ หมายถึงทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น หากทรัพย์สินที่มีไม่ก่อให้เกิดทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นจะไม่นับเป็นทุน เช่น เงินฝากที่ไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีผลตอบแทน จะถือเป็นเพียงทรัพย์สิน ไม่นับเป็นทุน แต่หากเรามีทรัพย์สิน อาทิ อสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป หรือเรามีรายได้เพิ่มเติมจากการให้เช่า ทรัพย์สินเหล่านั้นถือเป็นทุน
นอกเหนือจากทุนทางเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคยแล้ว บูร์ดิเยอเสนอว่ายังมีทุนรูปแบบอื่นอีก คือ ทุนทางวัฒนธรรม (cultural capital) ทุนทางสังคม (social capital) และทุนเชิงสัญลักษณ์ (symbolic capital)
สำหรับทุนทางวัฒนธรรม บูร์ดิเยอได้จำแนกให้ย่อยลงไปอีก ได้แก่
- ทุนทางวัฒนธรรมที่ฝังตัวอยู่ในรูปการแสดงออกของร่างกายและจิตใจ (embodied state) ทุนทางวัฒนธรรมรูปแบบนี้มักต้องอาศัยระยะเวลาในการประกอบตัวเป็นรูปร่าง อาทิ บุคลิกภาพ ความรู้ ความสามารถทางภาษา ทักษะ รสนิยม ฯลฯ
- ทุนทางวัฒนธรรมที่ถูกทำให้เป็นวัตถุ (objectified state) ทุนทางวัฒนธรรมรูปแบบนี้มีความเป็นรูปธรรม บุคคลสามารถครอบครองได้ เช่น ของใช้ฟุ่มเฟือยหรูหรา บ้านหลังใหญ่ รถยนต์ราคาแพง สินค้าแบรนด์เนม ของสะสมที่มีมูลค่า หนังสือ ฯลฯ
- ทุนทางวัฒนธรรมเชิงสถาบัน (institutionalized state) เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่ยึดโยงกับความเป็นสถาบัน เช่น การได้เรียนและจบการศึกษาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง การได้ทำงานในองค์กรขนาดใหญ่
ในสังคมที่ให้คุณค่าแก่คุณสมบัติบางประการ บุคคลสามารถสร้างความแตกต่างให้ตนเอง ผ่านการยอมรับในคุณค่าจากคุณสมบัติต่างๆ ที่มี การที่มีคุณสมบัติพิเศษที่สังคมให้คุณค่า แตกต่างจากบุคคลอื่นในสังคม นำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน เป็นเครือข่ายทางสังคม (network) บูร์ดิเยอมองว่า การเป็นสมาชิกของเครือข่ายหรือในสังคมไทยอาจจะเรียกว่าเป็นคนมีเส้นสาย ถือเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งที่สามารถเอื้อประโยชน์ ได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการอำนวยความสะดวกในสังคมมากกว่า ซึ่งสิ่งนี้เองที่บูร์ดิเยอร์เรียกว่า ทุนทางสังคม (social capital)
ทุนทางสังคมมีผลต่อภาพลักษณ์ของบุคคล ส่งผลต่อการรับรู้และความรู้สึกต่อสถานภาพจากคนในสังคมที่มีต่อบุคคลนั้น ซึ่งบูร์ดิเยอเรียกว่า ทุนเชิงสัญลักษณ์ (symbolic capital) บูร์ดิเยอยังเสนอว่าทุนสามารถแปรสภาพจากประเภทหนึ่งไปอีกประเภทหนึ่งได้
สรุปอย่างง่ายที่สุดคือ บูร์ดิเยอเสนอว่า ผู้ที่มีทุนทางเศรษฐกิจสูง สามารถสร้างทุนทางวัฒนธรรมได้ง่ายกว่า การรวมตัวของผู้ที่มีทุนทางวัฒนธรรมเดียวกันทำให้พวกเขามีทุนทางสังคมที่สูงกว่า ซึ่งทุนทางสังคมที่สูงกว่าสามารถสร้างโอกาสในการสร้างทุนเชิงสัญลักษณ์ และทุนทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นไปอีก
บูร์ดิเยอยังได้เสนอแนวคิดเรื่องฟีลด์ (field) ซึ่งในภาษาไทยอาจจะหมายถึง ‘แวดวง’ หรือ ‘วงการ’ อันเป็นพื้นที่นามธรรมซึ่งบุคคลที่มีลักษณะเฉพาะเหมือนกัน เข้ามารวมกลุ่มใช้ทรัพยากรร่วมกันหรือแย่งชิงแข่งขันกัน เช่น วงการนักแสดง วงการศิลปะ แวดวงนักวิชาการ โดยแต่ละวงการหรือแต่ละฟีลด์ มีความเป็นอิสระต่อกัน แต่ก็ปฏิสัมพันธ์ปะทะสังสรรค์กัน ในแต่ละฟีลด์ บุคคลจะเป็นทั้งผู้เล่นและเป็นผู้กำหนดโครงสร้างในฟีลด์ไปพร้อมๆ กัน โดยภาพรวมบุคคลที่อยู่ในแต่ละฟีลด์จะยอมรับโครงสร้างและกติกาของฟีลด์ แม้ว่าในแต่ละฟีลด์ ผู้ที่มีอำนาจหรือกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจมากกว่าในฟีลด์นั้นๆ จะพยายามควบคุมโครงสร้างและกติกาที่ดำรงความมีอำนาจเหนือกว่าของตนไว้ ขณะที่ผู้มีอำนาจน้อยกว่าก็พยายามท้าทายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกติกาใหม่ ในแต่ละฟีลด์จึงเป็นพื้นที่แห่งการร่วมมือและต่อรองทางอำนาจของผู้ที่อยู่ในฟีลด์
ทุนทางสังคมจึงมีทั้งจากการสร้างสายสัมพันธ์ของกลุ่มคนในวงการเดียวกัน และการสร้างสายสัมพันธ์ข้ามวงการ โรเบิร์ต พุตนัม[2] เรียกทุนทางสังคมที่เกิดจากการสร้างสายสัมพันธ์ของคนในแวดวงเดียวกันว่า Bonding capital และทุนทางสังคมจากการสร้างสายสัมพันธ์ข้ามวงการว่า Bridging capital
การสร้างทุนประเภทต่างๆ เป็นกิจกรรมที่มนุษย์ทำทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวในการต่อสู้ ดิ้นรน แข่งขัน ต่อรอง การสร้างทุนประเภทต่างๆ นี้ ถูกมองว่าเป็นตัวการผลิตซ้ำความแตกต่างทางสังคม (social distinction) ซึ่งทำให้เกิด ‘ชนชั้น’ ในสังคม
บนโซเชียลมีเดีย เราทุกคนคือสินค้า
การแปลงร่างของทุนดังที่บูร์ดิเยอได้นำเสนอเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน เมื่อลองใช้กรอบการอธิบายเรื่องทุนและฟีลด์ของบูร์ดิเยอร์มาพิจารณาคุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย เราจะพบว่าปรากฏการณ์โซเชียลมีเดียฉายให้เห็นภาพนี้อย่างชัดเจน เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียในฐานะเครื่องมือแสนวิเศษในการสร้างและแปรสภาพทุนประเภทต่างๆ ได้ เราใช้ทุนทางเศรษฐกิจในการเข้าถึงเครื่องมือ คือสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เราสามารถเข้าถึงข้อมูล ความรู้ บทเรียนต่างๆ ทักษะ ซึ่งเป็นการสร้างทุนทางวัฒนธรรม
โซเชียลมีเดียถูกใช้ในการติดต่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในฟีลด์และต่างฟีลด์ ผ่านการฟอลโลว์ ขอแอดเป็นเฟรนด์ การติดตามเพจ การเป็นสมาชิกในกลุ่ม กรุ๊ปไลน์ โซเชียลมีเดียถูกใช้ในการสร้างชุมชนของคนที่มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน มีความสนใจในเรื่องบางเรื่องที่เหมือนกัน ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายทั้งในฟีลด์เดียวกันและข้ามฟีลด์ และเป็นสิ่งที่บูร์ดิเยอเรียกว่าทุนทางสังคม หรือในภาษาของพุตนัม คือ Bonding capital และ Bridging capital
นอกจากนั้นเรายังใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการบอกให้โลกรู้ว่าเราทำอะไรบ้าง โฆษณาประชาสัมพันธ์ตัวเอง สร้างภาพลักษณ์ สร้างการรับรู้ต่อผู้อื่น ซึ่งก็คือสิ่งที่บูร์ดิเยอร์เรียกว่าทุนทางสัญลักษณ์
การสร้างรายได้ของบรรดา บล็อกเกอร์ เน็ตไอดอล เซเลบออนไลน์ หรือ ‘อินฟูลเอนเซอร์’ ในภาษาของนักการตลาด ก็สามารถอธิบายได้ด้วยการอธิบายเรื่องทุนและการแปลงสภาพทุนของบูร์ดิเยอ อินฟูลเอนเซอร์นำเอาทุนทางสังคมของตนเอง คือจำนวนผู้ติดตาม จำนวนสมาชิกในเครือข่าย มาแปรเปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่สร้างมูลค่าให้กับตัวของอินฟูลเอนเซอร์เอง ผู้ติดตามได้ถูกอินฟูลเอนเซอร์แปรสภาพเป็นสินค้าของตนเพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้ต้องการใช้ประโยชน์ ผู้ต้องทำการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อินฟูลเอนเซอร์สามารถแปลงทุนเชิงสัญลักษณ์ที่ตนมีไปเป็นทุนทางเศรษฐกิจ
แต่ตัวอินฟูลเอนเซอร์เองก็ไม่ต่างกัน เพราะถูกเครื่องมือที่พวกเขาใช้คือถูกโซเชียลมีเดียเปลี่ยนให้เป็นสินค้าที่โซเชียลมีเดียสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย
เราจึงสามารถใช้โซเชียลมีเดียเป็นทั้งเครื่องมือในการสร้างทุนทางสังคมและทุนเชิงสัญลักษณ์ได้ แต่พร้อมกันนั้นเราทุกคนก็ถูกแปรสภาพเป็นสินค้าบนโซเชียลมีเดียไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะโซเชียลมีเดียก็ทำตัวเป็นตลาดที่วางขายเราไปด้วยในเวลาเดียวกัน
การใช้โซเชียลมีเดียจึงไม่ใช่ของฟรี และมีราคาที่เราต้องจ่าย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Bourdieu, P. (1986) The forms of capital. In J. Richardson (Ed.) Handbook of Theory and Research for the Sociology of Education (New York, Greenwood), 241-258 ดูต่อได้ที่ www.marxists.org
[2] Putnam, Robert D. (2000). Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. New York: Simon & Schuster