หากการตัดสินใจของคนคนหนึ่งเปลี่ยนไปเล็กน้อยในคืนที่ตึงเครียดของวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1983 วันนี้ก็คงเป็นวันครบรอบ 39 ปีของการเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่อาจไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ดั่งเช่นในวันนี้ คนที่เบี่ยงเบนเส้นเวลาให้พวกเรารอดพ้นจากกัมมันตภาพรังสีและความอดอยากทั่วโลกคือ พันโท ตานิสลาฟ เปตรอฟ (Stanislav Petrov) แห่งสหภาพโซเวียต ผู้ได้ตัดสินใจทำบางอย่างที่ช่วยโลกของเราให้พ้นจากสงครามนิวเคลียร์ ชายผู้กลายเป็นวีรบุรุษของคนทั่วโลก แต่กลายเป็นผู้ถูกลบเลือนลืมหายไปในประเทศของตนเอง
สงครามเย็นในช่วงปีค.ศ.1983 เป็นช่วงเวลาที่ตึงเครียดมาก มีการการสร้างขีปนาวุธหัวรบนิวเคลียร์ไปตั้งไว้หลายแห่งทั่วโลก คาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกามีหัวรบหัวรบนิวเคลียร์กว่า 30,000 หัว และสหภาพโซเวียตมีราว 55,000 หัว ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1983 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกายังได้พูดถึงสหภาพโซเวียตในระหว่างการปราศรัยของสมาคมผู้เผยแพร่ศาสนาแห่งชาติ โดยได้กล่าวถึงสหภาพโซเวียตว่าเป็น “อาณาจักรแห่งความชั่วร้าย”
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเรียกได้ว่าแตกหักกันขั้นรุนแรงโดยเฉพาะเหตุการณ์ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1983 ที่กองทัพสหภาพโซเวียตได้ทำการยิงเครื่องบินโดยสารของเกาหลีใต้ สายการบิน Korean Air Lines เที่ยวบินที่ 007 ตกหลังจากที่เครื่องบินลำนี้หลงเข้าไปในน่านฟ้าของสหภาพโซเวียต ผู้โดยสารและลูกเรือ 269 คนบนเครื่องบินเสียชีวิตทั้งหมด รวมไปถึง แลร์รี แมคโดนัลด์ สมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกาและชาวอเมริกันอีก 61 คน เหตุการณ์นี้ยิ่งส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความรู้สึกต่อต้านสหภาพโซเวียตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกา
ราวเที่ยงคืนของวันที่ 26 กันยายน ค.ศ.1983 เสียงไซเรนส่งเสียงก้องกังวานกระจายไปทั่ว “Serpukhov-5” มันคือศูนย์ตรวจจับนิวเคลียร์ล่วงหน้าลับสุดยอดแบบใหม่ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงมอสโก จอขนาดใหญ่ที่ติดตั้งด้านบนของห้องปฏิบัติการมีหน้าจอที่สีแดงฉาน พร้อมฉายคำขนาดมหึมาคำเดียวที่บ่งบองถึงลางร้ายที่กำลังมา “START” ข้อความนี้ส่งมาจากระบบคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของโซเวียตที่ทำการประมวลผลโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมตรวจจับการยิงขีปนาวุธ และตอนนี้มันก็เตือนว่าสหรัฐอเมริกาเพิ่งเปิดฉากยิงขีปนาวุธข้ามทวีป 1 ลูก จุดหมายปลายทางของมันคือสหภาพโซเวียต และมันก็กำลังจะมาถึงใน 28 นาทีต่อจากนี้
ข้อความสีแดงฉานด้านบนที่ไม่มีใครเคยพบเจอมาก่อนในการปฏิบัติงานจริง เปตรอฟผู้ที่เป็นหัวหน้าห้องปฏิบัติการตรวจจับขีปนาวุธในตอนนั้นตกตะลึง เขาทำอะไรไม่ถูก มันคือสิ่งที่เขาและทีมงานซ้อมเตรียมพร้อมมาโดยตลอด แต่มันเป็นเพียงสิ่งที่เขาอยากให้มันเกิดขึ้นแค่ตอนซ้อมเท่านั้น ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้นจริง ในตอนนี้บนจอเรดาร์ด้านหน้าของเขาด้านมุมซ้ายบนแสดงให้เห็นสัญลักษณ์ขีปนาวุธจำนวน 1 ลูกที่กำลังพุ่งเข้ามา และคอมพิวเตอร์ได้คำนวณความเป็นไปได้ของเหตุการณ์นี้ว่า “เป็นไปได้สูงที่สุด”
และหากการเตือนนี้เป็นความจริง เขาจะต้องโทรแจ้งข้อมูลไปยังผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของสหภาพโซเวียต และมันจะส่งต่อไปยัง ยูรี อันโดรปอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตในขณะนั้นเพื่อให้เขาตัดสินใจว่าจะโต้กลับด้วยขีปนาวุธนิวเคลียร์ใส่สหรัฐอเมริกาหรือไม่ และแผนของสหภาพโซเวียตในตอนนั้นชัดเจนแน่นอนว่าหากสหรัฐอเมริกายิงใส่พวกเขา โซเวียตก็จะต้องตอบโต้กลับด้วยการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ใส่แผ่นดินของสหรัฐอเมริกาเช่นกัน
นั่นหมายถึงจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 จุดเริ่มต้นของความสูญเสียที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลก อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดบนโลกในตอนนั้นหากคำนวณแล้วจะสามารถทำลายโลกซ้ำไปมาได้หลายพันครั้งเลยทีเดียว
แต่เปตรอฟตัดสินใจไม่เชื่อคอมพิวเตอร์ เขาคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผลเลยที่สหรัฐอเมริกาจะปล่อยขีปนาวุธลูกเดียว การอ่านข้อมูลของคอมพิวเตอร์จะต้องผิดพลาดอย่างแน่นอน เขาสั่งให้ทีมงานทุกคนตรวจสอบสัญญาณ เปิดคู่มือทุกเล่มที่หาได้ และหาข้อผิดพลาดการแจ้งเตือนนี้ แต่เครื่องมือตรวจจับขีปนาวุธรุ่นใหม่ของสหภาพโซเวียตมันผิดพลาดได้ง่ายปานนั้นเชียวหรือ? ระบบประมวลผลของคอมพิวเตอร์นำข้อมูลมาจากดาวเทียมของสหภาพโซเวียตซึ่งโคจรสอดส่องน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกาอยู่ตลอดเวลา ระบบเตือนภัยนี้ประกอบไปด้วยดาวเทียมทั้งหมด 9 ดวงที่สลับกันโคจรผ่านน่านฟ้าสหรัฐอเมริกา มันจะคอยตรวจจับวัตถุที่มีไอจรวดพุ่งด้วยความเร็วสูงออกจากน่านฟ้าของสหรัฐอเมริกาเหนือเส้นขอบฟ้าที่พวกเขาตีไว้ ซึ่งนั่นอาจหมายถึงขีปนาวุธ ดาวเทียมนี้ก็จะทำการติดตามวัตถุเหล่านั้นและทำการประมวลผลความเร็วและทิศทางผ่านคอมพิวเตอร์เพื่อดูว่าจะไปตก ณ จุดไหน ในเวลาเท่าไหร
คอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลทั้งหมดคำนวณ และส่งไปยังห้องปฏิบัติการ หากตรวจพบว่ามีขีปนาวุธ มันจะทำการประมวลผลซ้ำไปมาถึง 30 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้มันเป็นความจริง และหน้าจอ “START” สีแดงฉานพร้อมเสียงไซเรนดังแจ้งเตือนภัย ก็เกิดจากคอมพิวเตอร์ที่ประมวลผลถึง 30 รอบเรียบร้อยแล้ว สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครตรวจพบว่าสัญญาณนี้มันผิดพลาด และมันก็พยายามบอกว่าสิ่งที่โชว์อยู่นั้น คือความจริง
ความจริงที่ขาดการตรวจสอบไปเพียงหนึ่งอย่าง
นั่นคือการตรวจสอบด้วยการมองจากสายตา
เมื่อยังไม่มีใครเห็นขีปนาวุธที่พุ่งมานี้ด้วยสายตาจริง เปตรอฟจึงตัดสินใจยังไม่โทรศัพท์ไปหานายทหารระดับสูงของกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศสหภาพโซเวียตว่าตอนนี้มันเกิดอะไรขึ้น เพราะทันทีที่เขายืนยันกับพวกเขาว่าขีปนาวุธนี้เป็นความจริง ไม่มีทางเลยที่พวกเขาจะเมินเฉยและไม่ตอบโต้กลับแก่สหรัฐอเมริกาในรูปแบบเดียวกัน
สถานการณ์แย่ลงอีกครั้ง สัญญาณเตือนภัยดังขึ้นอีกครั้ง ดาวเทียมและระบบคอมพิวเตอร์ระบุว่ามีขีปนาวุธนิวเคลียร์ข้ามทวีปลูกที่ สอง สาม สี่ และ ห้า ถูกยิงขึ้นมาจากบริเวณใกล้เคียงกันในเวลาไม่ถึง 5 นาที และเป้าหมายก็คือสหภาพโซเวียตเช่นเคย ระบบคอมพิวเตอร์คำนวณความน่าจะเป็นของเหตุการณ์นี้อยู่ที่ 100% หน้าที่ของเปตรอฟตอนนี้คือการส่งคำแจ้งเตือนไปยังสายการบังคับบัญชา เพื่อให้ฝ่ายของตนเองสามารถระดมยิงกลับได้ก่อนที่ขีปนาวุธของสหรัฐอเมริกาจะพุ่งลงมาทำลายล้างความสามารถในการโจมตีกลับไปนั้นจนหมดสิ้น
แต่เปตรอฟก็ยังคงลังเล ท่ามกลางสถานการณ์ทีตึงเครียดถึงขีดสุด พร้อมกับคอมพิวเตอร์ที่ยังคงยืนยันการยิง 100% โดยที่ไม่มีใครพบว่ามันเป็นสัญญาณผิดพลาด หากเป็นคนอื่นทั่วไปคงหาได้ยากที่จะมายืนลังเลให้เวลานับถอยหลังไปเรื่อยๆ แบบนี้ แต่วิศวกรอย่างเขารู้ดี เปตรอฟรู้ว่าระบบคอมพิวเตอร์นี้ถูกนำมาใช้เร็วเกินไป และมันยังไม่เคยมีการทดสอบระบบที่เหมาะสม ดังนั้นถึงแม้มันจะบอกว่า 100% เปตรอฟก็ไม่คิดว่าระบบมันจะเชื่อถือได้
เปตรอฟใช้สัญชาตญาณของตนเองต่อสู้กับการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ขีปนาวุธเพียง 5 ลูก จากศักยภาพที่สามารถยิงได้ทีละประมาณ 1,000 ลูกของสหรัฐอเมริกาดูเหมือนจะน้อยเกินไปที่จะเป็นการโจมตีใส่สหภาพโซเวียต ท่ามกลางไซเรนที่ยังคงคร่ำครวญ แสงสีแดงจ้าที่แจ้งเตือนยังคงกะพริบอยู่บนหน้าจอ เวลานับถอยหลังที่ลดถอยลงเรื่อยๆ กดดันให้เปตรอฟต้องทำการตัดสินใจที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เปตรอฟตัดสินใจว่านี่คือ ”สัญญาณผิดพลาด” เขาตัดสินใจว่านี่คือทางออกที่เสียหายน้อยที่สุด เพราะอีกทางออกหนึ่งผลของมันคือประชากรกว่าครึ่งบนโลกอาจต้องบาดเจ็บและล้มตาย เปตรอฟยืนนิ่งไม่ทำอะไรกับมันเป็นเวลากว่า 15 นาที จนในที่สุด หนึ่งในเรดาร์ที่ตรวจจับขีปนาวุธก็แจ้งเตือนมาว่าไม่พบขีปนาวุธใดๆ สัญญาณเตือนในตอนแรกค่อยๆ หายลงไป หน้าจอเรดาร์ไม่มีวี่แววของขีปนาวุธ และเสียงไซเรนกลับเงียบงันเหลือเพียงเสียงถอนหายใจและดีใจของทุกคนในห้องปฏิบัติการ
ความผิดพลาดของระบบนี้เกิดจากวงโคจรของดาวเทียมเกิดอยู่ในตำแหน่งที่ตรวจพบการสะท้อนของแสงอาทิตย์บนเมฆที่อยู่ระดับสูงเหนือมลรัฐนอร์ทดาโคตาคล้ายคลึงกับเส้นแนวไอจรวดของขีปนาวุธ ระบบจึงได้เข้าใจผิดว่ามันคือขีปนาวุธที่วิ่งเข้ามา เปตรอฟพบจุดบกพร่องนี้ที่ไม่มีใครเคยคาดคิด และเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เขาจึงได้แก้ไขระบบโดยการเพิ่มข้อมูลอ้างอิงอัตโนมัติจากข้อมูลดาวเทียมตัวอื่นที่อยู่ในตำแหน่งวงโคจรค้างฟ้า ซึ่งจะมองลงมาจากมุมที่ต่างออกไป (วงโคจรค้างฟ้า (geostationary orbit) เป็นวงโคจรที่มีระยะทางห่างจากพื้นโลกราว 35,786 กิโลเมตรขึ้นไปเหนือ และทิศทางการโคจรทวนจะเข็มนาฬิกาเหมือนทิศทางการหมุนของโลก ทำให้ดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรค้างฟ้าแทบจะอยู่นิ่งในตำแหน่งเดิมตลอดเวลา)
สิ่งที่เปตรอฟทำไม่ต่างอะไรกับฮีโร่ผู้ปกป้องไม่ให้โลกของเราเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เขาปกป้องชีวิตคนไปได้หลายร้อยล้านคน เราอาจคิดว่าสิ่งนี้จะทำให้เขาได้รับการยกย่องและเป็นผู้มีชื่อเสียง แต่ไม่เลย หลังจากที่เขาได้รายงานเรื่องนี้ออกไป กลับไม่มีใครแพร่งพรายออกไป ประชาชนหรือสื่อไม่เคยได้ยินเรื่องราวนี้ แม้แต่ทหารที่อยู่นอกสายการบังคับบัญชาของเปตรอฟก็ไม่รู้เรื่องนี้เลยจนกระทั่งปีค.ศ.1998 หรือ 7 ปีภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย
สิ่งที่เขาทำกลับถูกมองว่าเป็นการสร้างความอับอายให้กับกองทัพอันเรืองไกรของสหภาพโซเวียต เขาถูกย้ายออกจากศูนย์แห่งนั้น และได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อื่นอย่างเงียบๆ ก่อนที่จะถูกบีบบังคับให้เกษียณอายุก่อนกำหนดจากกองทัพโซเวียตในปีค.ศ.1984 และเสียภรรยาด้วยโรคมะเร็งในอีกไม่กี่ปีต่อมา
ปี ค.ศ.1998 หลังจากเรื่องราวของเปตรอฟถูกเผยแพร่ออกไป การตัดสินใจที่กล้าหาญของเปตรอฟกลับได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ในปี ค.ศ.2006 เปตรอฟถูกเชิญไปยังสำนักงานใหญ่สหประชาชาติเพื่อสดุดีในสิ่งที่เขาทำ ถึงแม้เขาจะออกทัวร์ต่างประเทศหลายครั้งและให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศนับไม่ถ้วน แต่เขาก็ไม่เคยใช้ชีวิตที่แตกต่างออกไปจากเดิมให้สมกับสิ่งที่เขาเคยช่วยเอาไว้ เปตรอฟยังคงกลับมาอาศัยอยู่ในแฟลตเล็กๆ ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวบนเงินบำนาญเพียงเล็กน้อยในกรุงมอสโกว์จนกระทั่งเสียชีวิตในปีค.ศ.2017 เหลือไว้เพียงความทรงจำของชายคนหนึ่งผู้เคยต้องตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
อ้างอิงข้อมูลจาก