ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านเหล่าผู้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยให้สัมภาษณ์กับสื่อหลากสำนักว่า ‘โตมาในครอบครัวชนชั้นกลาง’ แต่พอคลิกเสิร์ชหาประวัติใน LinkedIn แล้วเจอว่าเขาหรือเธอจบมัธยมศึกษาหลักสูตรนานาชาติ บินไปเรียนต่อปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยไอวี่ลีกในสหรัฐอเมริกา แล้วกลับมาต่อปริญญาโทที่เกาะอังกฤษ ก่อนจะมาทำธุรกิจที่ประเทศไทยโดยใช้เงินทุนส่วนตัวของครอบครัว
แหมคุณ! ถ้ามีกำลังส่งลูกไปไกลขนาดนี้ ครอบครัวคงต้องเป็นระดับเศรษฐีน้อยๆ แล้วล่ะครับ
ผมเข้าใจนะ ว่าทำไมหลายคนชอบกล่าวอ้างว่าตัวเองมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง (แต่ก่อนผมเองก็ชอบบอกแบบนั้น) เพราะมันเป็นการตอกย้ำว่าความสำเร็จที่บรรลุได้ในปัจจุบันมาจากหยาดเหงื่อแรงงาน ความรู้ความสามารถและความพยายามของตนเอง ขณะที่ ‘โชค’ ที่แรนดอมเกิดมาในครอบครัวผู้มีอันจะกินนั้นเป็นปัจจัยส่วนน้อย (ซึ่งไม่จริง)
ทุกครั้งที่เราพูดถึงชนชั้นกลางซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็น ‘คนไทยส่วนใหญ่’ เรามักจินตนาการกันเอาเองว่าคนเหล่านั้นหน้าตาเป็นอย่างไร แต่จินตภาพของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป บางคนอาจนึกภาพมนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศกลางกรุงเทพฯ ที่มีเงินเดือนราว 20,000 บาท บางคนอาจคิดว่าเป็นเจ้าของธุรกิจเล็กๆ ที่มีรายได้ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ส่วนผมเองก็เคยเข้าใจผิดคิดว่าครอบครัวข้าราชการที่มีเงินเดือนรวมกันเกินแสนนั้นเป็นเรื่องแสนจะปกติธรรมดาของคนไทย
ในบทความนี้ เราจะร่วมกันตามหาหน้าตาของ ‘คนไทยส่วนใหญ่’ โดยใช้สถิติจากภาครัฐประกอบกับงานวิจัยซึ่งผลลัพธ์ที่ได้อาจผิดคาดสำหรับใครหลายคน
ใช้ค่ากลางอะไรดี?
หากไปเปิดตำราคณิตศาสตร์ระดับมัธยม เราคงคุ้นๆ กับการหา ‘ค่ากลาง’ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่ามัธยฐาน (Median) และค่าฐานนิยม (Mode) เพื่อให้เห็นภาพถึงความแตกต่างระหว่างสามค่ากลางนี้ ผมขอยกตัวอย่างงานเลี้ยงรุ่นสมัยมหาวิทยาลัยที่คำถามยอดฮิตคือ ‘เงินเดือนเท่าไหร่?’
สมมติว่าเพื่อนร่วมรุ่นที่นัดแล้วมาจริงๆ มีกัน 5 คน (เศร้าแต่จริง) โดยมีเงินเดือนเรียกลำดับจากน้อยไปมากดังนี้ (A) ผู้เสียสละทำงานมูลนิธิเงินเดือน 10,000 บาท (B) เริ่มงานข้าราชการเงินเดือน 15,000 บาท (C) ทำงานข้าราชการเหมือนกันเงินเดือน 15,000 บาท (D) ทำบัญชีให้บริษัทขนาดเล็กเงินเดือน 15,000 บาท (E) ทำบริษัทสอบบัญชียักษ์ใหญ่ เงินเดือน 20,000 บาท
หากเรานำมาเรียงเฉพาะเลข จะได้เป็น 10,000 / 15,000 / 15,000 / 15,000 และ 20,000
จากตัวอย่างนี้ เราสามารถคำนวณค่าเฉลี่ยโดยการนำตัวเลขทั้งหมดมาบวกกันแล้วหาด้วย 5 จะได้เท่ากับ 15,000 บาท ส่วนค่ามัธยฐานคือการหยิบ ‘คนที่อยู่ตรงกลาง’ ซึ่งก็คือคนที่สาม ดังนั้นมัธยฐานก็เท่ากับ 15,000 บาทเช่นกัน ส่วนค่าฐานนิยม คือตัวเลขที่ซ้ำมากที่สุดนั่นก็คือ 15,000 บาทอีกนั่นแหละ จะเห็นได้ว่าตัวอย่างนี้ค่ากลางทั้งสามค่าจะเท่ากันเป๊ะ
แต่ช้าแต่ สมมติว่าระหว่าง 5 คนกำลังนั่งคุยกันอย่างออกรส คุณ (F) ผู้โด่งดังประจำคณะก็ปรากฏตัว พร้อมกับเปิดเผยว่าตนเองทำธุรกิจ 7 อย่าง ได้เงินแต่ละเดือนอยู่ที่ประมาณ 420,000 บาท
กลุ่มตัวอย่างใหม่จึงกลายเป็น 10,000 15,000 15,000 15,000 20,000 และ 420,000
เมื่อนำมาหาค่ากลางอีกครั้ง เราจะพบว่าค่ามัธยฐานและฐานนิยมยังคงเดิมคือ 15,000 บาทซึ่งสามารถฉายภาพค่ากลางกลุ่มตัวอย่างได้ดี ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลับกระโดดขึ้นไปเป็น 82,500 บาทซึ่งกลายเป็นค่าแทนของ ‘อะไรก็ไม่รู้’ เพราะนอกจากจะห่างจากกลุ่มค่ากลางดั้งเดิมแล้ว ตัวเลขดังกล่าวยังไม่เข้าใกล้ค่าผิดปกตินั่นคือรายได้ของนาย (F) แม้แต่น้อย
ดังนั้น สำหรับข้อมูลที่มีค่าสุดโต่ง กล่าวคือการมีคนบางกลุ่มบางก้อนร่ำรวยล้นฟ้าแบบไม่เกรงใจใครแต่คนส่วนใหญ่จินตนาการถึงความร่ำรวยเหล่านั้นไม่ออก การใช้ค่าเฉลี่ยจึงไม่สามารถฉายภาพค่ากลางของข้อมูลได้อย่างแม่นยำ ดังนั้น ทางเลือกที่เหมาะสมกว่าในการค้นหา ‘คนไทยส่วนใหญ่’ คือการใช้มัธยฐานสำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ แล้วนำมาประกบกับค่าฐานนิยมสำหรับข้อมูลเชิงคุณภาพนั่นเอง
อาชีพและคุณลักษณะเชิงประชากรศาสตร์อื่นๆ
หากพลิกดูสถิติของภาครัฐ เราจะทราบได้ทันทีว่าคนไทยส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมและการประมง โดยคิดเป็นจำนวนสูงถึง 13.4 ล้านคน รองลงมาคือแรงงานในภาคขายส่ง ขายปลีก และซ่อมเครื่องยนต์ 6.4 ล้านคน และภาคการผลิต 5.4 ล้านคน จากกำลังงานของไทยที่มีจำนวน 38.3 ล้านคน เหล่าเกษตรกรคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์
จากสถิติข้างต้น ผู้เขียนคาดว่าหลายคนคงเดาได้ว่าแรงงานส่วนใหญ่ในไทยไม่ได้อยู่ในระบบสวัสดิการของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคมหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) โดยสถิติล่าสุดของสำนักงานประกันสังคมพบว่ามีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เท่ากับ 11 ล้านคน ขณะที่จำนวนสมาชิกกบข. มีเพียง 1.1 ล้านคนเท่านั้น เราจึงสามารถสรุปได้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการดังกล่าว
ในมิติด้านการศึกษา พบว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนปีที่อยู่ในโรงเรียนของคนไทยอายุ 15 – 59 ปี จะอยู่ที่ 9.52 ปีหรือประมาณจบระดับประถมศึกษาปีที่ 6 โดยประชากรไทยวัยแรงงานร้อยละ 33.51 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา อย่างไรก็ดี แนวโน้มของวัยแรงงานที่จบการศึกษาระดับประถมนั้นมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
รายงานของ UNFPA ระบุว่าครอบครัวของคนไทยส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็นครอบครัว 3 รุ่นซึ่งหมายถึงปู่ยาตายายอยู่กับรุ่นลูกวัยแรงงานและหลานวัยเรียนโดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 33 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่หากแบ่งภูมิลำเนาเป็นระดับภูมิภาค จะพบว่าคนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 ล้านคน รองลงมาคือภาคกลางราว 17 ล้านคน โดยที่กรุงเทพฯ จะเป็นจังหวัดที่มีประชากรตามทะเบียนบ้านมากที่สุดถึง 5.5 ล้านคน
รายได้และสินทรัพย์
สถิติรายได้เป็นสถิติหนึ่งที่ภาครัฐจัดเก็บอย่างแพร่หลาย แต่มักถูกนำมาเผยแพร่ในรูปค่าเฉลี่ยไม่ใช่ค่ามัธยฐาน แต่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย พ.ศ. 2560 โดยสํานักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉายภาพสถิติดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ โดยจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ของไทยตามรายงานดังกล่าวสูงถึง 19,031 บาทต่อเดือน นับว่าสูงลิ่วหากเทียบกับรายได้มัธยฐานที่ 6,531 บาทต่อคนต่อเดือน
ค่ามัธยฐานดังกล่าวดูจะสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าค่ามัธยฐานของครัวเรือนไทยที่ทำงานนอกระบบจะอยู่ที่ 17,517 บาทต่อครัวเรือน มีเงินออมเพียง 1,055 บาทต่อครัวเรือนโดยมีเพียงร้อยละ 66 ที่สามารถเก็บออมเงินได้ อัตราการออมที่น้อยนิดนี้สะท้อนออกมาในยอดเงินฝากบัญชีธนาคารซึ่งพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ถึงจะมีบัญชีเงินฝากก็จริง แต่ค่ามัธยฐานของเงินในบัญชีอยู่ที่ 3,142 บาทเท่านั้น
ในมิติของสินทรัพย์นั้น ผมเองพยายามหาแล้วหาอีกแต่ก็ยังไม่เจอแหล่งข้อมูลที่โดนใจ ที่จะพอน่าหยิบมาใช้อยู่บ้างก็เป็นการศึกษาของทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่พบว่าเกษตรกรไทยราว 40 เปอร์เซ็นต์ไม่มีที่ดินทำกินของตนเอง ขณะที่เกษตรกรที่มีที่ดินทำกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นแปลงขนาดเล็กกว่า 10 ไร่ ส่วนด้านกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยพบว่าร้อยละ 71 ของคนไทยมีกรรมสิทธิ์ กล่าวคือคนส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องเช่าบ้านอยู่นั่นเอง
ค่าใช้จ่ายและหนี้สิน
น่าเสียดายที่ผมไม่สามารถค้นข้อมูลค่าเฉลี่ยของรายจ่ายระดับบุคคลได้ เพราะข้อมูลที่จัดเก็บโดยสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายในระดับครัวเรือน ซึ่งครัวเรือนไทยที่ทำงานนอกระบบจะมีค่ามัธยฐานของรายจ่ายแต่ละเดือนเท่ากับ 14,096 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของค่าเฉลี่ยรายจ่ายรายเดือนของครัวเรือนในกรุงเทพฯ ในปีเดียวกันซึ่งสูงถึง 35,350 บาท
หากพิจารณาข้อมูลด้านหนี้สินก็นับว่าน่าสนใจ เพราะค่าเฉลี่ยมูลหนี้ของคนไทยทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 180,000 บาท โดยค่ามัธยฐานตามตัวเลขของธนาคารแห่งประเทศไทยจะอยู่ที่ราว 150,000 บาท แต่หากเจาะลึกเฉพาะกลุ่มเกษตรกรนอกระบบซึ่งนับเป็น ‘คนไทยส่วนใหญ่’ ก็จะพบกับตัวเลขที่น่าประหลาดใจ เพราะข้อมูลของการศึกษาของทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่าเกษตรกรไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งมีหนี้สินมากกว่า 200,000 บาท นั่นหมายความว่าเกษตรกรไทยโดยเฉลี่ยแล้วมีหนี้สินมากกว่าคนไทยทั้งประเทศ
‘คนไทยส่วนใหญ่’ สำคัญอย่างไร?
หากนำสถิติแต่ละส่วนมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน เราจะพอเห็นภาพว่า ‘คนไทยส่วนใหญ่’ ในความเป็นจริงและที่จินตนาการได้อาจผิดแผกแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
คนไทยคนนั้นจบการศึกษาระดับประถม ทำงานในภาคเกษตรกรรม เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้อยู่ในประกันสังคม อาศัยในครอบครัว 3 รุ่น มีบ้านเป็นของตัวเอง ทั้งครอบครัวหาเงินได้ราวเดือนละ 17,517 บาท เก็บออมได้เดือนละ 1,055 บาท แต่ละคนมีเงินในบัญชี 3,142 บาท ขณะที่ต้องแบกรับหนี้สินกว่า 200,000 บาทที่ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะใช้หมด
อ่านแล้วอาจรู้สึกเศร้าจนเราสงสัยว่าจะลำบากลำบนหาโฉมหน้า ‘คนไทยส่วนใหญ่’ ไปทำไม
คำตอบหนึ่งอยู่ในทฤษฎีผู้ออกเสียงมัธยฐาน (Median Voter Theorem) ที่ว่าถ้านักการเมืองต้องการชนะการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สามารถแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คนมายกมือโหวตให้ตัวเอง นโยบายที่ใช้ในช่วงหาเสียงจะต้องถูกต้องโดนใจ ‘ผู้ออกเสียงมัธยฐาน’ ซึ่งหมายถึงคนที่มีสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ ‘กลางๆ’ และจะมีจำนวนมากที่สุดภายในประเทศ
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมภายหลังพรรคการเมืองหนึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามจากนโยบายช่วยเหลือภาคเกษตรและการเข้าถึงสาธารณสุขแบบเสมอภาค พรรคการเมืองที่พยายามตั้งต้นว่ามีอุดมการณ์ฝั่งตรงข้ามกลับเลือกนำเสนอนโยบายที่คล้ายกันอย่างกับแกะ สาเหตุก็เพราะหากจะชนะเลือกตั้ง ก็ไม่มีทางเลือกนอกจากเอาอกเอาใจเหล่าผู้ออกเสียงมัธยฐานนั่นเอง
ผมยอมรับนะครับว่าการปะติดปะต่อภาพ ‘คนไทยส่วนใหญ่’ แบบนี้อาจถูกตั้งคำถามถึงความแม่นยำของข้อมูลและสมมติฐานต่างๆ ซึ่งผมขอน้อมรับทุกคำวิจารณ์โดยดุษฎี และขอชวนกันมาคิดต่อว่าโฉมหน้าคนไทยคนนั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งผมมั่นใจมากกว่าไม่ใช่มนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศกลางกรุงเทพฯ เจ้าของธุรกิจเล็กๆ หรือครอบครัวข้าราชการอย่างแน่นอน
อ่านเพิ่มเติม
ความสามารถในการออมของครัวเรือนไทยเปรียบเทียบระหว่างแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ