คลาดเคลื่อนเดือนไปจิ๊ดนึง แต่คงยังไม่สายเกินไปที่จะเขียนถึงหัวข้อเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศที่เพิ่งผ่านไป
(ไม่สายจริงๆ ฉันถามตัวฉันเองแล้วว่าช้าไปมั้ย? ตัวฉันเองก็บอกว่าไม่ช้าหรอก กำลังดี โอเค, จบโมโนลอคการสนทนากับตัวเอง)
เพราะเรื่องเด่นประเด็นร้อนในนาทีนี้ คงหนีไม่พ้นเรื่องการค้นหาและช่วยเหลือน้องๆ ทั้ง 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง (ในวินาทีที่ฉันเขียนอยู่นี่ เพิ่งพบตัวกันไปหมาดๆ) กับเรื่องการประกวดความงามที่เพิ่งจบไปท่ามกลางเสียงวิจารณ์อื้ออึง
แต่ทั้งสองประเด็นนี้ก็มีมุมน่าสนใจถึงความหลากหลายทางเพศให้ได้มองกัน
#เอ็มเว่น #เว่นเอ็ม : แอคเคาท์ที่ฮอตฮิตและเรียกได้ว่า ‘เกิด’ จากการรายงานสถานการณ์การกู้ภัยบริเวณถ้ำหลวงอย่างรวดเร็ว ว่องไว ตามติดสถานการณ์แบบไม่ตีฟูดราม่า ก็คือแอคเคาท์ของเอ็มไทย ที่สามารถทำให้เกิดฟอลโลเวอร์ไปแตะหลักล้านได้ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยสไตล์การทวิตอัปเดตแบบมีลูกล่อลูกชน มีอารมณ์ขันแบบพองามเพื่อลดความเครียดให้คนอ่าน
พอรายงานข่าวกันหามรุ่งหามค่ำ เลยมีตัวแทนของอีกแอคเคาท์ ก็คือร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น (ในที่นี้จะเรียกสั้นๆว่า ‘7’) แสดงความห่วงใย โดยมีจุดแข็งเป็นร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงของตัวเองมาให้กำลังใจเหล่าผู้ติดตามข่าวและแอดมินของเอ็มไทย
ให้กำลังใจกันไปมา ก็เกิดการสร้างคาแรคเตอร์ของทั้งสองแอคเคาท์ขึ้น คือหนุ่ม 7 กับหนุ่ม M จิ๊จ๊ะ ฮิฮะกันไปมาให้เกิดความชุ่มชื้นในหัวใจสายจิ้น และสร้างรอยยิ้มให้คนตามอ่านสถานการณ์ ซึ่งฉันว่าน่าสนใจที่ตัวแทนความห่วงใยและความอัปเดตทันสถานการณ์สามารถอยู่ในร่างความเป็นชายได้ทั้งสองฟากฝั่ง
คนโบราณอย่างฉันจะคุ้นกับการที่คนห่วงใยเป็นผู้หญิง ฝ่ายออกหน้างานเป็นผู้ชาย ซึ่งนับว่าเป็นความเคยชินที่ตกยุคไปแล้วอย่างสิ้นเชิง แถมการ ‘จิ้น’ ระหว่าง #เอ็มเว่น หรือ #เว่นเอ็ม นี้ ก็เป็นจุดแปลกใหม่ของการเป็นตัวแทนบริษัทหรือสำนักข่าวที่ไม่ได้มีพรีเซนเตอร์เฉพาะ แต่สายจิ้นก็สามารถวาดคาแรคเตอร์ของทั้งสองฝั่งได้จาก ‘น้ำเสียง’ ในการทวิต ว่าฝั่งไหนมีบุคลิกแบบใด
เรียกว่านอกจากก้าวไกลไปทั้งความลื่นไหลในอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว ยังสร้างหนทางทำการตลาดใหม่ๆ ให้กับองค์กรอีกด้วย ซึ่งฉันว่าน่าจะได้เห็นมากขึ้นในอนาคต แต่เป็นเรื่องที่ถ้าย้อนไปสัก 20 ปีที่แล้ว เอาไปเล่าให้ใครฟังเขาคงหาว่าฉันบ้า
ดีดีดี ฉันชอบอะไรแบบนี้
การประกวดความงาม : ก็มีความเห็นที่แตกต่างขัดแย้งกันเหมือนทุกๆ ปีน่ะนะ แต่สิ่งที่เป็นความต่างแน่ๆและน่าจะสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการประกวดก็คือ อังเฆล่า ปอนเซ่ ทามาโช่ ชนะการประกวดมิสยูนิเวอร์สของสเปน และเธอจะได้เป็นตัวแทนของประเทศ ไปประกวดกับสาวงามจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อหาผู้ที่จะได้ครอบครองมงกุฎมิสยูนิเวิร์สประจำปี 2018
อังเฆล่าเป็นสาวข้ามเพศค่ะ เธอผ่าตัดแปลงเพศตั้งแต่ปี 2014 เคยผ่านเวทีประกวดมาแล้วแต่พลาดไป จนมาถึงปีนี้ที่เธอได้ครองมงกุฎ และเป็นตัวแทนของประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ
เรื่องนี้คงต้องทำให้เรานิยามอะไรหลายๆ อย่างกันใหม่หมด ความกว้างขวางของ ‘ความงาม’ ในยุคปัจจุบันนั้นวัดจากอะไร ผู้หญิงโดยกำเนิดจะรู้สึกได้เปรียบหรือเสียเปรียบกับการเข้ามาแข่งขันโดยสาวข้ามเพศหรือไม่ หรือการประกวดความงามที่ใครหลายคนมองว่า เป็นการลดคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือเพียงหน้าตา (แม้คำถามรอบชิงสุดท้ายจะโคตรยากก็ตาม แต่มันก็ต้องมีหน้าตามาเกี่ยวด้วยอยู่ดี) จะกลายเป็นการลด/เพิ่มคุณค่าของความงามที่ไม่จำกัดเพศกำเนิดอีกต่อไป
สเปนอาจจะพลาดโอกาสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกในปีนี้ แต่ยังมีเวทีความงามให้ได้ลุ้นกัน ว่าสเปนจะสร้างความหมายใหม่ให้การประกวดครั้งนี้ได้หรือเปล่า
ดีดีดี ฉันชอบอะไรแบบนี้
ยิปซี คีรติ : ในการถ่ายแฟชั่นครั้งล่าสุด ยิปซี -สาวสวยเซ็กซี่ เฮลธ์ตี้ และเป็นขวัญใจใครหลายคน-ก็ให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่าเธอเป็นไบเซกชวล และแม้จะมีคนรู้ใจในตอนนี้เป็นผู้ชาย แต่ยิปซีก็ยืนยันว่ารสนิยมทางเพศ (ซึ่งแน่นอนค่ะ ว่าเกี่ยวข้องกับความรักนั่นแหละ) ของเธอเป็นไบเซกชวล
ฉันชอบมากที่เธอพูดเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ได้ออกตัว ขอโทษขอโพย หรือแข็งกร้าวเป็นพิเศษแต่อย่างใด แต่พูดและอธิบายอย่างธรรมดา เป็นเรื่องเรื่องหนึ่งในชีวิตที่ถ้าใครอยากรู้ เธอก็ยินดีจะตอบ
วงการไทยดูจะคุ้นเคยกับการ ‘คัมเอาท์’ ของฝ่ายชายที่บอกว่าตัวเองเป็นเกย์ แต่ก็น่าแปลกที่พอบอกว่าเป็นเกย์เมื่อไหร่ ภาพพจน์ก็จะกลายเป็นคนตลก ต้องแต่งหญิง หรือต้องมีโชว์แบบบียอนเซ่ตลอดเวลา ในขณะที่เลสเบี้ยนนั้นดูจะเรียบง่ายกว่า ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ตัวเองมากนัก
ไปๆ มาๆ ฉันยังเคยคุยเล่นกับเพื่อน ว่ายุคนี้หาดาราหญิงหน้าใหม่ใส่ชุดว่ายน้ำนี่ไม่ยากแล้ว แต่ที่หายากคือนักแสดงชายหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยผ่านการแสดงเป็นคู่จิ้นกับเพศเดียวกัน หรือมีสัมผัสอย่างถึงเนื้อถึงตัว ซึ่งถือว่าเป็นการเซอร์วิสให้แฟนๆ ได้ฟินจิกหมอนกันไป
เหลือบมองไปทางฝั่งฮอลลีวูด นักแสดงชายไม่น้อยที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ แต่ก็ไม่ได้ลุกขึ้นมาขำกันทุกคน บางคนก็ยังรับบทพระเอก รับบทผู้ร้ายกันไปตามปกติ ตั้งแต่รุ่นใหญ่อย่างท่านเซอร์ เอียน แมคเคลเลน ที่ประกาศตัวตั้งแต่ปีที่ฉัน 8 ขวบนั่นแน่ะ ว่าเป็นเกย์ แต่ท่านเซอร์ก็รับบทในหนังแฟรนไชส์ดังๆ อย่าง X-Men หรือ The Lord of The Ring ได้แบบไม่ต้องแสดงอะไรตุ้งติ้งขำขัน
หรือลุคส์ อีแวนส์ที่หล่อเข้ม เป็นพระเอกแบบร้ายๆ สไตล์แดรกคูล่า หรือเป็นพ่อลูกสองนักผจญภัยในฮอบบิทเขาก็แสดงได้สมบทบาทดี โดยไม่ได้เอาเพศสภาพหรือรสนิยมใดๆ อันเป็นส่วนตัวมาข้องเกี่ยวกับงาน และฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขามีสเน่ห์น้อยลงแต่อย่างใดในจอหนัง แม้จะรับรู้รสนิยมทางเพศของเขาก็ตาม ทางเลสเบี้ยนก็มีเยอะแยะเหลือจะกล่าวไปอีก ซึ่งจะให้ยกมาพูดก็คงพูดกันไม่จบ
ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมา ฉันก็อยากสรุปว่า คุณคือคุณ ไม่ใช่สิ่งที่คนคิดว่าคุณ ‘ต้องเป็น’ คุณไม่จำเป็นต้องอารมณ์ดีผิดปกติ หรือต้องแต่งหญิงแต่งชายตลอดเวลา
คุณไม่ได้ต้องรู้สึกผิดจากคำว่า ‘เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี’ เรื่องนี้มันธรรมดา เพศไหนก็ควรจะ ‘ดี’ ได้ในแบบของตัวเองโดยไม่ต้องเกร็งกับการจับจ้อง กลัวว่าจะมีคนว่าเป็นคนผิดเพศแล้วยังพูดไม่เพราะ หรือสูบบุหรี่ หรือกินเหล้า หรือเป็นคนไม่ร่าเริง หรืออยากเตะฟุตบอล หรืออะไรใดๆ ก็ตามบนโลก เพราะที่สุดแล้วเราทุกคนล้วนเหมือนกันในความเป็นคน
สุขสันต์เดือนแห่งความหลากหลายทางเพศนะคะทุกคน