มนุษย์ไม่เคยอยู่ใกล้ชิดกันมากขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์
แต่ก็ไม่เคยมาก่อนเลยอีกเช่นกัน, ที่มนุษย์จะ ‘เหงา’ ได้ขนาดนี้
ที่จริงแล้ว ไม่ใช่แค่อารมณ์ความรู้สึกเฉยๆ แต่กำเนิดของความเหงามีที่มาจากวิวัฒนาการของมนุษย์
ในปี 2006 นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยาอย่าง จอห์น คาเชียพโพ (John Cacioppo) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ได้เสนอทฤษฎีทางจิตวิทยาวิวัฒนาการขึ้นมาทฤษฎีหนึ่ง ทฤษฎีนี้อธิบายว่า ‘ความเหงา’ เป็นเรื่องจำเป็นต่อวิวัฒนาการของมนุษย์
เขาบอกว่า ในฐานะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่รอดมาได้ไม่ใช่แค่เพราะเราแข็งแรง เหมาะสม หรือมีอาวุธที่ธรรมชาติให้มาอย่างสมองเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ธรรมชาติมอบให้เรามาด้วยก็คือการปกป้องทางสังคมหรือ Social Protection ที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกเหงา
ความแข็งแกร่งของเผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่ตรงความสามารถในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน แต่คำถามก็คือ อะไรทำให้มนุษย์มารวมตัวกันก่อเป็นชุมชน (หรือฝูง) ที่มีพลังได้ตั้งแต่ต้นเล่า
จอห์นเสนอว่า – สิ่งนั้นก็คือความเหงา
ตามทฤษฎีของเขา ความเจ็บปวดของการต้องอยู่ลำพังเป็นตัวขับเคลื่อนเราให้เสาะหา ‘ความเป็นเพื่อน’ (Companionship) ด้วยการมารวมตัวกันเป็นฝูง ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยบางอย่างให้เกิดขึ้น ความเหงาจึงดำรงอยู่กับมนุษยชาติเรื่อยมา เพราะมันเป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการเป็นสัตว์สังคม
เวลามนุษย์เราพลัดหลงจากฝูง เราจะเกิดความเจ็บปวดหลายระดับ เป็นกลไกหลายชั้นที่เกิดขึ้นเพื่อพยายามทำให้เราต้องตะเกียกตะกายกลับไปหาฝูงให้ได้ กลไกอย่างแรกสุดก็คือความเหงา ถัดมาคือความกลัว แล้วจากนั้นก็เป็นความหิว
ความเหงาเกิดขึ้นในสภาวะที่เรายังไม่เจออันตรายอะไรมากนัก มีแค่ความเปล่าเปลี่ยวในใจ จึงอยากพบเจอคนอื่น ส่วนความกลัวเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเราตระหนักว่าอยู่ห่างจากฝูงไกลหรือนานเกินไปแล้ว ทำให้เรา ‘ต้อง’ พยายามกลับไปสู่ฝูงให้ได้ ยิ่งเมื่อเกิดความหิว ก็จะกระตุ้นเร้าให้เราต้องยิ่งพยายามกลับเข้าหาฝูงให้เร็วที่สุด
ทั้งความเหงา ความกลัว และความหิว จึงเป็นกลไกทางวิวัฒนาการที่ฝังอยู่กับมนุษย์เรามาตลอด
นักวิทยาศาสตร์จาก MIT ค้นพบสมองส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งในสมองของหนู เรียกว่า Dorsal Raphe Nucleus ซึ่งหากกระตุ้นสมองส่วนนี้ จะทำให้หนูที่ถูกแยกมาขังตามลำพัง เริ่มออกตามหาเพื่อน นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เป็นสมองบริเวณนี้นี่เองที่รับผิดชอบต่อความเหงาของหนู นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มีการเชื่อมโยงเซลล์ประสาทในสมองกับความเหงา และคาดว่าในมนุษย์ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ ยังมีรายงานการศึกษาของ สตีฟ โคล (Steve cole) ซึ่งเป็นนักวิจัยด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียในลอสแองเจลิสด้วยว่า คนที่มีความเหงานั้น จะมีระดับของสารนอร์อีพิเนฟริน (Norepinephrine) ในเลือดสูงกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งสารนี้จะมักจะเกิดขึ้นในคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ถึงเป็นถึงตาย จึงกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว รวมถึงผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมา รวมทั้งไปปิดกั้นระบบภูมิคุ้มกันด้วย ทำให้ ‘คนเหงา’ ติดเชื้อง่ายกว่าปกติ ซึ่งโคลก็สรุปออกมาว่า คนที่มีความสัมพันธ์ทางสังคมแข็งแรง (คือไม่เหงา) มักจะมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงไปด้วย จึงเป็นการยืนยันว่าความเหงาเกี่ยวพันกับระบบในร่างกาย ซึ่งก็ไปเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการอีกทีหนึ่ง
อะไรก็ตามที่มาพร้อมกับวิวัฒนาการของมนุษย์แปลว่าเป็นเรื่องสังคมด้วย เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมที่มีวิวัฒนการร่วมกัน เมื่อมีสังคม ก็ย่อมมีเรื่อง ‘อำนาจ’ หรือ ‘การเมือง’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เมื่อเป็นเรื่องการเมืองและสังคม ก็เป็นไปได้อีกเช่นกันที่ความเหงาจะไม่ใช่แค่ปัญหาของปัจเจกหรือเหงาใครเหงามัน โดยเฉพาะ ‘ความเหงายุคใหม่’ หรือ Modern Loneliness นั้น อาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะ ‘โครงสร้าง’ ของสังคมที่เราอยู่ เอื้อให้เราเกิด ‘ความเหงา’ ขึ้นมาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก็ได้
มีอีกงานวิจัยหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Sociological Review เป็นงานร่วมกันของมหาวิทยาลัย Duke และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา งานนี้มีการสัมภาษณ์คนอเมริกันที่เป็นผู้ใหญ่ราว 1,500 คน แล้วได้ข้อสรุปว่า คนเหล่านี้มีถึงหนึ่งในสี่ที่ยอมรับว่าพวกเขาไม่มีใครจะคุยด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหา ความทุกข์ส่วนตัว หรือกระทั่งความสำเร็จ แล้วถ้าไม่นับรวมสมาชิกในครอบครัว ตัวเลขก็จะสูงถึงเกิน 50% นั่นแปลว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่คนอเมริกัน (อย่างน้อยก็ในกลุ่มตัวอย่างนี้) เกินครึ่งจะเป็นคนที่ ‘เหงา’ และความเหงาแบบนี้ย่อมไม่ใช่ความเหงาที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญแบบต่างคนต่างเหงาแน่ๆ แต่น่าจะเป็นความเหงาที่มีที่มาทางสังคมบางอย่าง
การศึกษาในผู้สูงวัยย่ิงขับเน้นแพทเทิร์นของสถิติแบบนี้มากยิ่งขึ้น นั่นทำให้นักสังคมศาสตร์หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ปัญหาเรื่องความเหงาจะไม่ใช่แค่ปัญหา ‘ซอฟท์ๆ’ แบบส่วนตัวๆ ของคนทั่วไปเสียแล้ว การวิจัยเรื่อง ‘ความโดดเดี่ยวทางสังคม’ (Social Isolation) มีมากมายที่สรุปว่า ความเหงาหรือโดดเดี่ยวในเชิงสังคม ส่งผลร้ายหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อย่างในรายงานนี้ของ American Psychological Association ที่นำเอาการศึกษาหลายชิ้นมาวิเคราะห์ นับรวมๆ กันแล้วเป็นการศึกษาในคนมากกว่า 3 ล้านคน พบว่าความโดดเดี่ยวในทางสังคมนั้น อย่างน้อยเป็นอันตรายเท่าๆ กับโรคอ้วนหรือ Obesity นั่นคือทำให้เราเสียชีวิตได้ โดยคนที่มีความเหงาหรือโดดเดี่ยวในสังคมมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ 26%
ในอังกฤษก็ไม่น้อยหน้าอเมริกา เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เธเรซา เมย์ ก็เพิ่งมอบหมายงานรัฐมนตรีกระทรวงกีฬาและสังคม อย่างเทรซี เคราช์ (Tracey Crouch) ให้ไปดูแลเรื่อง ‘ความเหงา’ ของผู้คนเป็นพิเศษ คนก็เลยเรียกขานเธอว่าเป็น ‘รัฐมนตรีกระทรวงความเหงา’ หรือ Minister of Loneliness ไปเลย
ที่ทั้งอังกฤษและอเมริกาให้ความสนใจกับความเหงาเชิงโครงสร้างกันมาก ก็เพราะตระหนักว่าความเหงาเชิงโครงสร้างนั้นเกิดขึ้นเพราะการตัดขาดจากสังคมและชุมชน ซึ่งส่งผลร้ายลึกลงไปถึงระดับปัจเจกอีกที มีรายงานตีพิมพ์ใน Preceedings of the National Academy of Sciences ว่า คนชั้นกลางและคนใช้แรงงานผิวขาวที่มีการศึกษาน้อย อายุระหว่าง 45-54 ปี กำลังเสียชีวิตมากกว่าที่เคยเป็น โดยเป็นการตายที่เกิดจากการฆ่าตัวตาย การใช้ยาเสพติด การดื่มแอลกอฮอล์ และโรคที่เกี่ยวกับตับ รายงานนี้บอกว่า สภาวะเหล่านี้เกิดจากการพังทลาย (Breakdown) ของคนกับสังคม ทำให้คิดว่าตัวเองไม่มีความหมายและเป้าหมายใดๆ ในชีวิตแล้ว
คำถามก็คือ อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านี้ขึ้น?
บทความของ ไมเคิล บาเดอร์ (Michael Bader) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาและนักจิตวิเคราะห์จากซานฟรานซิสโก บอกว่ามีนักวิเคราะห์และนักทฤษฎีจำนวนมากพยายามอธิบายว่าปัจจัยอะไรจึงก่อให้เกิด ‘เทรนด์’ แบบนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าไม่ได้มีปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งอย่างเดียว แต่เกิดจากหลายๆ ปัจจัยรวมกัน เช่น ปัจจุบันนี้ไม่ค่อยมีองค์กรทางสังคมและชุมชนมากเหมือนสมัยก่อน การทำงานและการเดินทางในแต่ละวันที่ยาวนานมากขึ้น ทำให้คนถูกตัดขาดออกจากการมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ครอบครัวที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว รวมไปถึงการที่คนต้องทำงานหลายๆ จ็อบเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง หรือการที่คนมีการสนทนาตรง (Direct Personal Converstions) กับคนอื่นลดลง เพราะหันไปใช้โซเชียลมีเดียกันมาขึ้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นไปได้ด้วย โดยอุดมคติที่อยู่เบื้องหลังปัจจัยพวกนี้อีกที ก็คืออุดมคติแบบปัจเจกนิยมหรือ Individualism ที่ทำให้คนเรา (โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในเมือง) ตัดขาดจากคนอื่นทั้งอย่างจงใจและไม่ตั้งใจ ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
จอห์น คาเชียพโพ (John Cacioppo) ยังบอกด้วยว่า นอกจากความเหงาจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์มีวิวัฒนาการอยู่รอดมาได้แล้ว ในอีกด้านหนึ่ง ความเหงาเองก็มีวิวัฒนาการในตัวขึ้นมาด้วยเหมือนกัน เขาเรียกทฤษฎีความเหงานี้ว่า Evolutionary Theory of Loneliness หรือ ETL ซึ่งทำให้ความเหงาสมัยใหม่ ไม่เหมือนกับความเหงาสมัยดึกดำบรรพ์ และอาจเป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายได้ว่า – ทำไมคนเราถึงเหงามากขึ้นเรื่อยๆ
จอห์นบอกว่า ในสังคมสมัยใหม่ เมื่อคนเราสมาทานอุดมคติแบบปัจเจกนิยมและสามารถมีชีวิตอยู่แบบโดดเดี่ยวได้โดยไม่ต้องพึ่งพาฝูงเพื่อความอยู่รอดเหมือนสมัยก่อน (เช่นมามีชีวิตในเมืองสมัยใหม่ที่ไม่ต้องร่วมแรงกันไปล่าสัตว์หรือลงแขกเกี่ยวข้าว) เราก็เลยไม่ต้องการชุมชน ซึ่งในด้านหนึ่งก็สบายดี เนื่องจากไม่ต้องมีกฎเกณฑ์ จารีต หรือขนบของชุมชนที่อาจรัดรึงชีวิตผูกติดเข้ามาด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้เราแต่ละคนไม่มีชุมชนมาคอยดูแล จึงต้องรับผิดชอบกับสวัสดิภาพของตัวเองล้วนๆ ซึ่งมีผลทำให้คนเรา ‘เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง’ กันมากขึ้น โดยจอห์นและคณะรายงานไว้ในวารสาร Personality and Social Psychology Bulletin เอาไว้ว่า ความเหงานั้นเกี่ยวข้องกับการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-Centeredness) อย่างที่หลายคนอาจคิดไม่ถึง
จอห์นบอกว่า ความเหงามักจะนำคนเหงาไปสู่อาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และกลับกัน คนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาก ก็เป็นไปได้ที่คนคนนั้นจะเหงามากขึ้นในอนาคต
งานวิจัยนี้ทำในชาวชิคาโกอายุระหว่าง 50-68 ปี จำนวน 230 คน เป็นเวลา 11 ปี โดยเขาคิดวิธีให้คะแนนความเหงาและอาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง จากนั้นก็วัดค่าทั้งสองนี้กับแต่ละคนทุกๆ ปี เขาพบความสัมพันธ์ระหว่างความเหงากับอาการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง คือถ้าอย่างหนึ่งเพิ่ม อีกอย่างก็จะเพิ่มขึ้นในปีถัดไปด้วย ดังนั้นจึงพูดได้ว่า ยิ่งเหงาก็ยิ่งอยากอยู่คนเดียว แต่ยิ่งอยากอยู่คนเดียวก็ยิ่งเหงา จึงกลายเป็นวงจรความเหงาที่ทวีขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
ที่น่าสนใจในอีกด้านหนึ่งก็คือบทความของไซมอน คูเพอร์ (Simon Kuper) ใน Financial Times เขาบอกว่า ความเหงาทำให้คนเรารู้สึกเปลี่ยวคว้าง เมื่อมาเจอคนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงกัน ก็เลยเกิดความรู้สึกว่าคนพวกนี้เป็น ‘เผ่า’ (Tribe) เดียวกัน แบบเดียวกับที่มนุษย์โบราณผู้พลัดฝูงสามารถค้นหาฝูงเจอ เขาอธิบายว่า สมัยก่อนโน้น คนเราจะสร้างตัวตนของเราผ่านครอบครัว การไปโบสถ์ เพื่อนบ้าน และงาน แต่ปัจจุบันสิ่งเหล่านี้หายไปเกือบหมด คนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานเร็วเกินกว่าจะรู้สึกแนบแน่นอะไรกับที่ทำงาน รวมทั้งไม่ได้มีเพื่อนร่วมงานที่จะกลายมาเป็นเพื่อนจริงๆ ได้ด้วย คนเราเลิกไปโบสถ์ โบสถ์จึงไม่มีหน้าที่ทางสังคมแบบที่เคยมีอีกแล้ว และเมื่อความเหงาผลักดันให้เราเอาตัวเองและความคิดของตัวเองเป็นศูนย์กลาง ความโดดเดี่ยวทางสังคมที่เกิดขึ้นนี้จึงเหลือแค่มิติเดียวที่พอจะเติมเต็มให้ตัวเองได้ นั่นคือความคิดและความเชื่อทางการเมืองที่ต้องตรงกัน
ด้วยเหตุนี้ ความเหงาจึงเป็นตัวการสร้าง Political Tribe ให้เกิดขึ้น มีรายงานจาก Pew Research Center บอกว่า คนอเมริกันกลุ่มที่เคยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในทางการเมือง หันมาหาตัวตนในทางการเมืองแบบเผ่ากันมากขึ้น ซึ่งแสดงออกมาชัดเจนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่มีผลลัพธ์คือโดนัลด์ ทรัมพ์ และสอดคล้องกับความเหงาที่เพิ่มมากขึ้น
แล้วจะทำอย่างไรกันดี?
นอกจากวิธีแก้ปัญหาความเหงาในด้านจิตวิทยาที่มีผู้เสนอกันมามากมายแล้ว ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกแนวทางหนึ่ง นั่นคือข้อเสนอของซูซาน เลนนาร์ด (Suanne Lennard) ที่บอกว่าจะต่อกรกับปัญหาความเหงาเชิงโครงสร้างได้ ก็ต้องแก้กันที่โครงสร้าง และโครงสร้างใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เราควรใช้เพื่อต่อสู้กับความเหงา – ก็คือการออกแบบเมือง
เธอบอกว่า เมืองสมัยใหม่กับอุดมคติแบบปัจเจกนิยมนั้นมาด้วยกัน เราสร้างเมืองและที่อยู่ของเราในแบบที่ทำให้เกิดการตัดขาด (ซึ่งก็คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางนั่นเอง) ดังนั้น เมืองที่จะต่อสู้กับความเหงาได้ จะต้องเป็นเมืองที่มีสาธารณูปโภคที่เอื้อให้เกิดชีวิตทางสังคมและชุมชนขึ้นมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือต้องมีพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และโอบรับผู้คน (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เปลี่ยนศูนย์กลางจักรวาลจากพื้นที่ส่วนตัวของคนแต่ละคนมาสู่พื้นที่สาธารณะ)
เธอเสนอด้วยว่า พื้นที่สาธารณะแต่ละแห่งควรจะโอบล้อมด้วยตึกที่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้ในระดับ Human Scale โดยที่ทั้งเด็ก ผู้สูงวัย และคนพิการ ต้องสามารถไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นมา เมืองใหญ่สมัยใหม่จึงต้องแบ่งตัวเองออกเป็นเมืองยิบย่อย เธอใช้คำว่าต้องมี Compace Urban Fabric หรือ ‘เนื้อเมือง’ ที่มีขนาดเล็ก ที่จะนำทุกสิ่งทุกอย่างเข้ามาอยู่ใกล้กันได้ในรัศมีเดิน
เป็นเมืองแบบนี้นี่เอง ที่จะลด ‘ความเหงา’ โดยเฉพาะ ‘ความเหงาเชิงโครงสร้าง’ ลงได้อย่างชะงัดที่สุดในความเห็นของเธอ
จะเห็นได้ว่า ความเหงาเป็นเรื่องซับซ้อน อาจซับซ้อนมากกว่าที่หลายคนคิด ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงมิติต่างๆ ในชีวิตมนุษย์ได้หลากหลาย ตั้งแต่วิวัฒนาการ สารเคมีในร่างกาย กระทั่งถึงการเมืองและการออกแบบเมืองด้วย
มนุษย์ไม่เคยอยู่ใกล้ชิดกันมากขนาดนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์
แต่ก็ไม่เคยมาก่อนเลยอีกเช่นกัน, ที่มนุษย์จะ ‘เหงา’ ได้ขนาดนี้
คุณล่ะครับ – รู้สึก ‘เหงา’ บ้างไหม?