แผ่นปูพื้นถนนนั้นแตก รอยร้าวแล่นจากปลายหนึ่งสู่อีกปลายหนึ่ง ถ้ามันเป็นหัวใจ เรามักเรียกอาการนี้ว่าหัวใจสลาย แต่ในเมื่อมันเป็นเพียงแผ่นปูพื้นถนนที่มีหน้าที่วางตัวให้เหยียบย่ำ จึงคล้ายไม่มีใครใส่ใจดูแล หรือแม้กระทั่งสนใจมัน
รอยแตกร้าวไม่ได้เกิดขึ้นกับแผ่นปูพื้นถนนเพียงแผ่นเดียว มันเกิดขึ้นกับแผ่นนั้นแผ่นนี้ ตรงนั้นตรงนี้ และบางคราวก็ไม่เพียงแตกร้าว ทว่าแตกทำลายอย่างยับเยิน บางแผ่นหายไป เผยให้เห็นทรายและดินที่เคยอัดตัวกันแน่นอยู่เบื้องล่าง แต่บัดนี้กลายเป็นหลุมลึก ส่งผลให้บางคราวก็กระเดิดขึ้นเมื่อถูกเหยียบ ส่งน้ำที่ขังอยู่ในแอ่งให้กระเซ็นขึ้นมาเปรอะเปื้อนเรียกเสียงขยะแขยง
ถ้ามันเป็นหัวใจจริงๆ มันก็เป็นหัวใจที่วางไว้ให้เท้ากระทบกระแทก เหยียบย่ำ ในสถานะของสิ่งที่อยู่ ‘ต่ำ’ ที่สุด ในโครงสร้างสังคมของเรา
คำถามเก่าแก่คำถามหนึ่งก็คือ – ระหว่างการทำให้คนออกมาเดินบนทางเท้า แทนที่จะนั่งรถไปไหนมาไหนใกล้ๆ เพื่อให้ผู้คนเห็นคุณค่าของการเดิน และทำให้ทางเท้าพัฒนาขึ้น กับการพัฒนาทางเท้าเสียก่อน ให้มันสวยสะอาดน่าเดิน แล้วผู้คนถึงจะออกมาเดินนั้น – อย่างไหนเราควรทำก่อน
ฟังดูเป็นคำถามที่ซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วไม่เลย
ที่จริงแล้ว ทั้งสองวิธีนำไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน อย่างแรกทำให้การเดินเป็น pop culture เสียก่อน แล้วทางเท้าก็จะพัฒนาขึ้นมาเองด้วยฝีมือของใครต่อใคร ส่วนอย่างที่สอง คือการทำทางเท้าให้น่าเดินเสียก่อนด้วยฝีมือของผู้มีอำนาจ แล้วผู้คนก็จะออกมาเดินกันเอง หากประสบความสำเร็จ ในที่สุด การเดินก็จะกลายเป็น pop culture ไปได้ไม่ยากนัก
ในสังคมไทย การเดินเป็นสมบัติของคนชั้นล่าง พูดได้ว่า การเดินเป็นวิธีสัญจรของคนชั้นต่ำสุดในสังคมที่เกิดขึ้นได้ด้วยอวัยวะต่ำสุด – คือเท้า ในโครงสร้างของสังคมแบบชนชั้นนิยม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่เท้าและการเดินจะไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีเทียบเท่าวิธีเดินทางแบบอื่น มันคือมรดกอย่างหนึ่งที่เราได้รับมาจากบรรพบุรุษ แต่เราไม่เคยมองเห็น
สิ่งที่เรายกย่องเสมอมา ก็คือวัฒนธรรมรถยนต์
วิธีสร้างเมืองโดยใช้วัฒนธรรมรถยนต์ได้แบ่งแยกเมืองออกเป็นย่านๆ มันทำให้ ‘สเกล’ ของเมืองเปลี่ยนไป จาก Human Scale กลายเป็น Car Scale เห็นได้จากเมืองใหญ่อย่างลอสแองเจลิส เราไม่สามารถเดินไปปากซอยเพื่อซื้อข้าวหมูแดงมากินเป็นอาหารเที่ยงได้ แต่ในแอลเอ เราต้องขับรถเสมอ เพราะสเกลของเมืองทำให้ไม่มีใครเดินไหว
รถยนต์สำหรับแอลเอ จึงเป็นเสมือนองคาพยพที่สามสิบสาม เป็นปัจจัยที่ห้าและทำให้รถยนต์กลายเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งซึ่งแบ่งแยกเมืองออกเป็นย่านๆ ทุกวันนี้ การเดินทางคือหัวใจของมนุษยชาติ และเราก็เดินทางโดยพึ่งพิงสิ่งที่เราไม่อาจควบคุมได้ เราพึ่งพิงบริษัทรถยนต์ บริษัทน้ำมัน บริษัทก่อสร้าง และเราก็ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เมื่อเกิดมาในสังคมแบบนี้ มันบังคับให้เราต้องมีไลฟ์สไตล์บางอย่าง เช่น เมื่อซื้อบ้านจัดสรรอยู่ในย่านชานเมือง จึงต้องมีรถยนต์เพื่อ ‘หนี’ ออกมาจากใจกลางเมืองหรือดาวน์ทาวน์ อันเป็นย่านธุรกิจ แต่กระนั้น ก็เกิดการต่อสู้ต่อรองกับวิถีแบบวัฒนธรรมรถยนต์ขึ้นมา
ขบวนการการออกแบบเมืองแนวใหม่ที่เรียกว่า New Urbanism พยายามทำให้เมืองเล็กๆ รักษา Human Scale ของตัวเองไว้ และเมืองใหญ่จำนวนมากก็หันหน้าเข้าหาระบบขนส่งมวลชน ปรับเปลี่ยนเนื้อเมืองของตัวเองเพื่อให้ผู้คนสามารถเดินทางไปมาได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพารถยนต์และน้ำมันแต่เพียงอย่างเดียว สนับสนุนการเดิน และทำให้เมืองกลายเป็น ‘เมืองเดินได้’ ที่มี Walkability
คำถามก็คือ – แผ่นพื้นปูถนนที่แตกร้าวตามทางเท้าของกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงนั้น กำลังตะโกนบอกเราว่ากรุงเทพฯ มีสำนึกต่อเรื่องการเดินอย่างไร?
เฮนรี่ เดวิด ธอโร (Henry David Thoreau) เคยเขียนหนังสือเล่มเล็กๆ เล่มหนึ่งว่าด้วยการเดินล้วนๆ หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า Walking ธอโรต่อต้านเมือง เขารู้ดีว่าหากยังอยู่กับเมืองต่อไป เขาจะไม่มีโอกาสได้เดิน เขาจึงย้ายตัวเองออกไปอยู่ริมบึงวอลเดน แล้วเขาก็เดิน เดินพลางครุ่นคิด การเดินทำให้เขามองเห็นความงามของใบไม้สีแดงหลากเฉดฉูดฉาดแห่งอเมริกาเหนือ ได้คิดถึงการไม่เชื่อฟังรัฐเพื่อเหตุผลที่ดีงาม ได้สร้างวิธีคิดเรื่องอารยะขัดขืน ได้เล่าให้เราฟังถึงการปีนขึ้นไปนั่งอยู่บนต้นไม้ ใต้ท้องฟ้าอันงดงาม เขาไม่เพียงอยากเดิน ทว่าได้สร้าง ‘เหตุปัจจัย’ เพื่อให้พร้อมสำหรับการเดินขึ้นมาด้วย และเขาก็เดินวันละเกือบสิบชั่วโมง ทอดน่องไปในป่าอันงดงาม
การเดินของนักคิดอย่างเฮนรี่ เดวิด ธอโร ทำให้ผมคิดถึงการเดินของนักคิดอีกคนหนึ่ง คนคนนั้นก็คือลุดวิก แวน บีโธเฟนเขาได้ชื่อว่าเป็นคีตกวีที่ชมชอบการเดินเล่นในป่าของกรุงเวียนนาและที่อื่นๆ เขาเดิน และฟังเสียงกระจุ๋งกระจิ๋งของสายลม ธารน้ำ และสรรพสัตว์ที่กู่ร้องหากัน เขาฟังเสียงสายฝน พายุคำราม สายน้ำถะถั่ง เขาเดินอยู่ในมัน ทั้งความงามจุ๋มจิ๋มของธรรมชาติ และความโหดร้ายปานจะฉีกทึ้งร่างยามธรรมชาติเกรี้ยวกราด งานอย่างซิมโฟนีหมายเลขหกของเขาสะท้อนเสียงที่ได้จากการเดินเล่นในป่าออกมาชัดเจน และแม้เมื่อเขาหูหนวกสนิทแล้ว ซิมโฟนีหมายเลขเก้า รวมถึงงานเชมเบอร์มิวสิคยุคท้ายๆ และบทเพลงประกอบพิธีมิสซา ก็บอกเราถึงการเดินทางสู่แห่งหนที่ไม่มีมนุษย์คนไหนรู้จัก ถ้าธอโรเดิน แล้วทำให้เขาได้สำรวจความคิดเชิงปรัชญาการเมือง บีโธเฟนก็เดิน เพื่อให้ได้สำรวจลึกลงไปในจิตใจและปรัชญาชีวิต พร้อมทั้งสะท้อนออกมาในเสียงดนตรีของเขา
กระทั่งในการปฏิบัติธรรมก็ยังมีการเดิน
ติช นัท ฮันห์ พระเซนชาวเวียดนาม ผู้ผ่านความร้ายกาจของสงครามในเวียดนาม สอนผู้คนถึงการเดินอย่างมีสติ การเดินที่ไม่ได้พาเราไปแห่งหนใด ไม่ได้ยินสิ่งใด ไม่ได้เห็นสิ่งใด นอกจากการกลับมาอยู่กับตัวของเราเอง เป็นการเดินง่ายๆ ที่แม้เหยียบแมลงบางตัวไป ก็หาใช่เรื่องต้องลงโทษตนเองไม่
ในบางแง่ การเดินจึงไม่ใช่แค่การพาตัวเองจากจุดเอไปจุดบี แต่มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น
ว่าแต่ – กรุงเทพฯ จะเป็น ‘เมืองเดินได้’ หรือ Walkable City กับเขาได้ไหม?
ก่อนตอบคำถามนี้ อาจต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อน ว่าสังคมไทยนั้นไม่มี ‘วัฒนธรรมการเดิน’ มาเป็น ‘ฐาน’ รองรับเพื่อให้เกิด ‘เมืองเดินได้’ การไม่มีวัฒนธรรมการเดินนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะวัฒนธรรมจะก่อให้เกิดการต่อสู้ต่อรองที่จะมี ‘วิถี’ แห่ง ‘ชีวิต’ ในแบบที่ตัวเองเป็นอยู่
ถ้าเราไปดูคำว่า ‘เดิน’ ในภาษาไทย เราจะเห็นว่าภาษาไทยนั้นมีคำว่า ‘เดิน’ ที่ ‘จำกัด’ มาก โดยมากเป็นคำที่ใช้ในภาษาวรรณคดีมากกว่าจะเป็นภาษาในชีวิตประจำวัน (เช่น เยื้องย่าง ยุรยาตร ฯลฯ) แม้กระทั่งคำว่า ‘เดิน’ ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันเอง ก็ไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำที่เรารับมาจากภาษาเขมร
แต่ในภาษาอังกฤษ มีคำที่มีความหมายว่า ‘เดิน’ ในแบบต่างๆ หลายสิบคำ บางเว็บไซต์บอกว่า Synonym ของคำว่า Walk นั้น มีอยู่ด้วยกันถึงราว 60 คำ เช่น Trudge คือการเดินแบบลากฝีเท้าอันหนักอึ้งเหน็ดเหนื่อย, Stroll คือการเดินแบบเอื่อยเฉื่อยเหมือนคนที่กำลังเดินเล่น รวมไปถึงคำอื่นๆ อีกมาก แม้กระท่ังคำที่วิลิศมาหราอย่าง Peregrinate หรือ Constitutional ก็ยังมีความหมายถึงการเดินได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม มีคำว่าเดินอยู่คำหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจที่สุด นั่นก็คือคำว่า Ramble
Ramble คือการ ‘เดินเรื่อยเปื่อย’ ประเภทที่ไร้จุดหมายและไร้เส้นทาง ซึ่งฟังดูเหมือนคนที่เดินแบบนี้เป็นคนที่ไม่ค่อยจะได้เรื่องสักเท่าไหร่ใช่ไหมครับ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะในประเทศอังกฤษนั้น มีสมาคมที่เรียกว่า Ramblers Association หรือสมาคมคนเดินเรื่อยเปื่อย ซึ่งไม่ได้ทำงานเรื่อยเปื่อย แต่ทว่าเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้าน ‘สิทธิ’ ของ ‘นักเดิน’ หรือ Rights of Walkers
เราจะเห็นได้ชัดเลยนะครับ ว่าเพราะมี ‘ฐาน’ ที่เป็น ‘วัฒนธรรม’ แห่งการเดินอยู่ก่อนแล้ว วัฒนธรรมจึงก่อให้เกิดความคิดเรื่อง ‘สิทธิ’ ขึ้นมา เรื่องสิทธินั้นไม่ได้เกิดข้ึนลอยๆ แต่มันมีฐานที่เป็นวิถีชีวิต และคนอื่นๆ ที่อยู่ร่วมในสังคมก็ ‘เห็น’ ด้วยว่ามีคนที่มีวิถีชีวิตเช่นนี้อยู่จริง เพราะฉะนั้นการต่อสู้เพื่อให้เกิดสิทธิที่จะ ‘เป็น-อยู่-คือ’ ในแบบที่ตัวเองเป็นจึงเกิดขึ้น
สมาคมเดินเรื่อยเปื่อยของอังกฤษนั้นต่อสู้เพื่อให้เกิด Rights of Way Act หรือกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการใช้ทางขึ้นมา ซึ่งสิทธิในการใช้ทางนั้นสำคัญมากนะครับ คนจำนวนมากอาจคิดว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นของฉัน เพราะฉะนั้นฉันจะไม่ให้ใครผ่านทาง แต่ถ้าพื้นที่นั้นๆ เข้าตามข้อกำหนด เช่น เป็นพื้นที่ปิดล้อมที่กีดขวางการสัญจรและไม่ได้มีการใช้งานในแบบส่วนตัว ก็อาจจำเป็นต้องเปิดให้สาธารณชนสามารถเดินผ่านพื้นที่นั้นๆ ได้โดยใช้เส้นทางที่จำกัด คือไม่ได้บุกเข้าไปได้ทุกหนแห่งในพื้นที่นั้น
แต่คำถามก็คือ-แล้วถ้าหันมามองสังคมไทยล่ะ เรามี ‘วัฒนธรรมการเดิน’ ที่เข้มแข็งมากพอจะก่อให้เกิดสำนึกใน ‘สิทธิ’ ที่จะมี ‘เมืองเดินได้’ แล้วหรือยัง?
เงื่อนไขอีกอย่างของการเป็น ‘เมืองเดินได้’ แบบยุคใหม่ วงอยู่บนฐานของ Urbanization หรือ ‘ความเป็นเมือง’ ดังที่สหประชาชาติบอกว่า คนทั่วโลกจะกลายเป็น ‘คนเมือง’ ถึง 75% ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่คำถามก็คือ – แล้วความเป็น ‘คนเมือง’ ของคนไทยนั้นมีมากพอหรือยังที่จะทำให้เราลุกขึ้นมา ‘เดิน’ ในเมือง แทนที่จะใช้รถยนต์ตามที่เราคุ้นเคยกับวัฒนธรรมรถยนต์มานานแสนนาน
การที่มนุษย์กำลังจะย้ายเข้ามาเป็น ‘คนเมือง’ กันมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์โลกนั้น ไม่ได้แปลว่าเราจะทำแค่ ‘ย้ายก้น’ จากที่อยู่แห่งหนึ่งมาอยู่ในที่อยู่อีกแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Urbanization นั้น ทำให้เราต้องเปลี่ยน ‘วิธีคิด’ ไปด้วยหลายอย่าง และอย่างหนึ่งก็คือการเปลี่ยนจากชุมชนนิยมแบบเดิมๆ มาเป็นปัจเจกนิยมมากขึ้นด้วย
เมืองยุคใหม่ทำให้คนเราคลายตัวจากการใช้พื้นที่แบบส่วนตัว (Private) มาหาวิธีใช้พื้นที่แบบสาธารณะ (Public) มากขึ้น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่ที่หนาแน่นแออัดกว่าชนบท ทำให้มนุษย์เมืองให้ความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะมากขึ้น
และการเดิน ก็คือวิธีสัญจรที่พาเราแทรกซอนเข้าไปในพื้นที่สาธารณะ (ในฐานะปัจเจก) ได้อย่างลึกซึ้งกว่าวิธีสัญจรแบบอื่นๆ ดังนั้น การรักษาเมืองให้มี Human Scale และมีลักษณะโอบรับเปิดกว้าง (Inclusive) จึงเป็นเรื่องสำคัญอันเป็น ‘ฐาน’ ให้เกิดการเดิน
และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต้องมีวัฒนธรรมมารองรับเสียก่อน
คำถามก็คือ – สังคมไทยเราเป็นสังคมแบบไหน ฐานคิดทางวัฒนธรรมและสังคมของเรา ทำให้เรามองการเดินอย่างไร และฐานที่เราเป็น จะเอื้อให้เกิด ‘เมืองเดินได้’ ขึ้นมาได้อย่างไร
บางทีคำตอบอาจอยู่ที่ความแตกร้าวและกระเดิดของแผ่นปูพื้นถนนที่เห็นกันเกลื่อนกล่นทั่วไปในกรุงเทพฯ ก็ได้
เพราะสิ่งเหล่านี้มีสภาพอย่างไร Walkablity ของกรุงเทพฯ ก็มีสภาพอย่างนั้น
Illustration by Kodchakorn Thammachart
หมายเหตุ : ปรับปรุงจากหลายบทความว่าด้วยการเดินที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้ในที่ต่างๆ