ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างทยอยออกฎหมายรับรองการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน แต่บรูไนกลับจะประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายศีลธรรมทางศาสนาอิสลาม ชาริอะห์ (Sharia/Syariah law) ลงโทษประหารคนรักเพศเดียวกันด้วยการปาหินหรือเฆี่ยนจนตาย ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน ปี 2019 เป็นต้นไป เป็นการเพิ่มมาตรการความรุนแรงจากที่ผ่านมากฎหมายคาดโทษจำคุก 10 ปี ไม่ว่าศาสนิกชนใดก็ตาม จะเป็นช่าวต่างชาติมาพำนักหรือมาเที่ยวในพื้นที่อำนาจรัฐบรูไน[1] จนกรมการกงสุลไทยแจ้งเตือนคนไทยที่จะไปหรืออาศัยในบรูไนให้ระวังตัว
แม้ว่าการรักเพศเดียวกันไม่ควรจะเป็นอาชญากรรมก็ตาม แต่การคบชู้ ข่มขืน และรักเพศเดียวกับก็เริ่มเท่ากับประหารสำหรับบรูไน ตั้งแต่ 2019 หลังจากที่รัฐบาลกษัตริย์ผู้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ พยายามลงโทษประหารคนรักเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แต่ถูกกระแสต่อต้านจากสากลจนต้องยับยั้งไว้ก่อน อันเป็นผลความพยายามสืบเนื่องมาจากโครงการเพิ่มบทลงโทษรุนแรง ความเข้มงวดและเคร่งศาสนาตั้งแต่ 2014 ที่ลงโทษผู้มีลูกนอกสถาบันการสมรส ผู้ไม่ไปละหมาดวันศุกร์ ผู้เผยแพร่ศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลาม และเริ่มลงโทษโบยผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ตัดมือผู้ต้องคดีลักทรัพย์ ตั้งแต่ 2015[2] ประชากรบรูไนมีมากกว่า 450,000 คน และ 67 % เป็นมุสลิมภายใต้กฎหมายชารีอะห์ แต่ทว่านับตั้งแต่ 2014 ไม่ว่าศาสนิกชนใด มุสลิมหรือไม่ก็ตามก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายชารีอะห์ ไม่มีใครหนีพ้นไปได้ในราชอาณาจักรบนเกาะบอร์เนียวแห่งนี้
แม้ประชาคมโลกและองค์กรต่างๆ นอกภาครัฐที่ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจะประณามความป่าเถื่อนอนารยะครั้งนี้ รัฐบาลสุลต่านก็โนสนโนแคร์
และถึงจะเคยลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention Against Torture and Other Cruel, Inhuman and Degrading Treatment or Punishment – CAT) เมื่อ 22 กันยายน 2015 แต่บรูไนก็ไม่เคยให้สัตยาบัน CAT จึงเป็นเพียงเครื่องมือที่นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนในบรูไนใช้กันเสมือนเสียงแมวขู่เท่านั้น
รัฐบาลสุลต่านวัย 70 กว่าปี ยังออกมาปกป้องกฎหมายใหม่นี้ว่า ไม่สนใจว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม บรูไนเป็นประเทศเอกราช และมีอำนาจอธิปไตยที่จะบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศอย่างชอบธรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ และชารีอะห์ก็เป็นกฎหมายเพื่อป้องกันยับยั้งการละเมิดคำสั่งสอนและศีลธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง[3]
ด้วยความคิดว่าตนเองเป็น ‘เจ้าชีวิต’ จริงๆ เพราะระบอบการปกครอง และความร่ำรวยของระบอบกษัตริย์จากการทำธุรกิจเองที่ไม่ได้สุขสบายได้ประกาศอำนาจบารมีบนภาษีราษฎร ไม่เพียงราษฎรต้องจ่ายภาษีให้ ซ้ำสถาบันยังให้การเคหะ ที่พักอาศัย การศึกษา และการดูแลสุขภาพรักษาพยาบาลฟรีหรือในราคาถูก ราษฎรไม่ต้องจ่ายเอง นอกเหนือจากประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่เพิ่งสร้างให้เรียนในโรงเรียนนั้น การปกครองยังสะกดให้ราษฎรปิดปากเงียบได้อยู่
บรูไนจึงกลายเป็นประเทศแรกใน ASEAN ที่ใช้บทลงโทษป่าเถื่อนอนารยะขนาดนี้ ขณะที่อินโดนีเซีย ในปี 2017 อาเจะห์ที่ใช้กฎหมายชารีอะห์มีการการลงโทษเฆี่ยนคู่ชายรักชายเป็นครั้งแรก โดยมีบทบัญญัติทางกฎหมายอิสลามลงโทษคนรักเพศเดียวกันด้วยการเฆี่ยน 100 ทีเข้าคุก100 เดือนและปรับเป็นทอง 1 กิโลกรัม ตั้งแต่ 2014 พวกเขาถูกบุกรุกเข้าไปจับกุมในห้องพักส่วนบุคคล ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นว่ามีอาสาสมัครควบคุมกฎศาสนาคอยสอดส่องเพ็ดทูลเจ้าหน้าที่ แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าในพื้นที่ส่วนบุคคลก็ไม่สามารถกระทำการอันเป็นส่วนตัวได้ ทั้งคู่ถูกตัดสินลงโทษให้โบย 85 ที บริเวณเวทีด้านหน้ามัสยิดในเมืองบันดาอาเจะห์ เพื่อประจานไม่ให้เอาเยี่ยงอย่าง มีผู้ชมหนาแน่นขนัดและโห่ร้องดังลั่นว่าสมควรได้รับการลงโทษ บ้างก็เชียร์ให้ตีแรงขึ้นอีก
“โสมมประชาคมอาเซียน” จึงไม่ใช่คำขวัญติดปากไว้แซะความล้มเหลวและความไม่เกิดประโยชน์อันใดของประชาคมอาเซียนอันเป็นผลผลิตของสงครามเย็น ที่ยังคงพยายามดำรงอยู่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง เพราะไม่มีความสามารถหรือความชอบธรรมใดๆ ในการจัดการปัญหาการละเมิดมนุษยชนหรือการกระทำอันป่าเถื่อนของประเทศสมาชิก
แม้การใช้กฎหมายชารีอะห์จะทำให้ถูกโลกมองค้อนขวับมายังโลกมุสลิม แต่นั่นก็เป็นผลลัพธ์ของปัญหาที่ใหญ่หลวงกว่าและอันตรายกว่า คือ การผูกขาดนิยามความดี ความชั่ว บุญบาป—โลกทัศน์ที่หยุดพัฒนาการของชาติไว้ที่ ‘คนดี’ กับ ‘คนไม่ดี’ ที่เป็นขั้วตรงข้าม—ราวกับคิดอะไรซับซ้อนกว่านั้นไม่เป็น แถมเอามาใช้ในสภา ในพื้นที่ทางการเมืองภาครัฐ และออกกฎหมายเหมือนกับที่สภานิติบัญญัติบรูไนแต่งตั้งโดยคำสั่งของสุลต่าน
ร้ายไปกว่านั้น ยังเอาสำนึก ‘คนดี-คนไม่ดี’ เป็นข้ออ้างเพื่อปราบปรามหรือทำให้ประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหมดคุณค่าความเป็นคนไป กลายเป็น ‘ความดี’ ที่ความไร้มนุษยธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง
กฎหมายรุมปาหินก็เป็นลงโทษประหารแบบโบราณในหลายๆ วัฒนธรรมความเชื่อ ยิวโบราณก็เช่นกัน เพียงแต่ยังคงปรากฏในกฎหมายประเทศโลกอิสลามปัจจุบัน ซึ่งการรุมประชาทัณฑ์ปาหินหรือ “rajm” ในภาษาอารบิก ใช้กับคดีร่วมประเวณีที่ผิดประเพณี ปรากฏในวรรณกรรมและคัมภีร์ศาสนาที่เป็นฐานให้กับกฎหมายชารีอะห์ แต่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ และมีทั้งการลงทัณฑ์ด้วยการรุมปาหินและรูปแบบอื่นๆ ด้วยในคดีเดียวกัน นักวิชาการอิสลามสมัยใหม่ก็ต่อต้านบทลงโทษกรณีนี้ สภานิติบัญญัติในรัฐอิสลามหลายแห่งแม้จะมีบทบัญญัตินี้อยู่ แต่ก็ไม่ปฏิบัติจริง
แต่ไม่ว่าอย่างไรรักเพศเดียวกันก็ไม่ใช่อาชญากรรมอยู่ดี
ด้วยสำนึกเช่นนี้สำหรับประเทศบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเรียก ‘ขวาหัน’ ยังเป็นเรื่องไกลเกินไป เป็นคำที่ใช้เรียกประเทศที่พัฒนาสามัญสำนึกไปไกลในโลกตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป ที่พัฒนาการทางความคิดเสรีนิยมไปไกลกว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 100 ปีแสง (ขนาด ‘ขวานิยม’ ก็ไม่ใช่ขวาแบบสุดโต่งอย่างที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากแต่เป็น ‘ขวาประชานิยม’ ที่ยังหัวก้าวหน้า เชื่อเรื่องความเสมอภาพ ประชาธิปไตย และอารยธรรมตะวันตกที่เป็นขั้วตรงข้ามอารยธรรมอิสลามเท่านั้น) แซงหน้าไปไกลชนิดไม่เห็นฝุ่น ขณะที่ประเทศไทยและประเทศโลกที่สามด้วยกันไม่ได้ขวาหันหรอกเพราะยังไม่ได้เฉียดไปซ้ายหรือกลางเลย ไม่ได้หันไปไหน เพียงแต่ก้มต่ำย่ำอยู่กับที่จนจมลงต่ำเท่านั้น เพราะสำนึกขวาจัด—อนุรักษ์นิยมและฟาสซิสต์—เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและยังได้รับการหวงแหนปกป้องอยู่ ในฐานะเสาหลักและสถาบันเก่าแก่ ด้วยความหวาดกลัว ‘ภาวะสมัยใหม่’
เช่นเดียวกับการใช้ทฤษฎี post-modern มาวิเคราะห์สังคมวัฒนธรรมกับประเทศนี้ก็ผิดฝาผิดตัวผิดที่ผิดทาง เพราะยังก้าวไม่ถึง modern เลย ยังคงอยู่แต่ pre-modern เท่านั้น ตั้งแต่ระบอบการปกครอง ไปจนถึงการดำรงชีวิตเพื่อความอยู่รอดประชากร
การปาหินคนรักเพศเดียวกันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากบางกฎหมายของประเทศโลกที่ 3 ที่อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจเกี่ยวกับประเทศไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ย่อมไม่นำไปสู่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายแบบพหุนิยม (pluralism) อันเป็นหลักสำคัญของประชาธิปไตย เพราะเชื่อว่านั่นไม่ก่อให้เกิดความมั่นคง ยังคงยินยอมหรือจำนนให้ใครสักคนมาสั่งสอนพร้อมกับลิดรอนสิทธิ เสรีภาพ ในการใช้ชีวิต ในนามของคนดีและศีลธรรม ต่อให้ไม่มีกฎหมายห้ามรักเพศเดียวกัน หรือมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันสมรส แต่ก็มีกฎหมายที่ลิดรอนละเมิดสิทธิเสรีภาพด้านอื่นแทน
อ้างอิงข้อมูลจาก