สัปดาห์ก่อน ผมมีภารกิจต้องกลับไปทำธุระที่เมืองจิจิบุ จังหวัดไซตามะนิดหน่อย หลังจากนั่งรถไฟด่วนจากโตเกียวใช้เวลาชั่วโมงกว่าๆ เป้าหมายหนึ่งนอกจากการติดต่องาน ก็คือการไปนั่งกินอาหารในร้านอาหารเก่าแก่ประจำเมือง ในตึกที่อายุเกือบร้อยปีในย่านการค้าในเมืองนี้ และก็อยากจะไปเช็คว่า ตอนนี้เมืองนี้เขายังอาศัยกระแสอนิเมะเรื่อง Ano Hana ที่ผมเคยเขียนถึงรึเปล่า ซึ่งพอไปถึง ก็ยังพอเห็นได้บ้าง แม้จะไม่ได้เน้นหนักเหมือนเมื่อสี่ห้าปีก่อนแล้ว ป้ายอะไรต่างๆ ยังมีให้เห็น และร้านขายของที่ระลึกก็ยังมีสินค้าจะอนิเมะเรื่องดังกล่าว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ มาหลายจุดที่เริ่มหันมาเกาะกระแสความฮิตของเรื่อง Kimetsu no Yaiba ดาบพิฆาตอสูรบ้าง
แต่ประเด็นคือ เขาก็ไม่ได้แค่เกาะกระแสแบบไม่ได้มีที่มาที่ไปนะครับ แต่เป็นเพราะว่า ย่านการค้านถนนสายเล็กๆ ของเมืองจิจิบุนี่ ให้บรรยากาศเหมือนหลุดมาจากในเรื่อง Kimetsu no Yaiba เพราะว่าย่านการค้านี้มีอาคารหลายแห่งที่สร้างมาตั้งแต่ยุคไทโช ซึ่งก็เป็นยุคสมัยที่เป็นฉากของเรื่อง Kimetsu no Yaiba นั่นเอง
ยุคไทโช คือยุคที่สั้นๆ แค่ 15 ปี เนื่องจากจักรพรรดิไทโชสุขภาพไม่ดีนัก ทำให้ยุคสมัยของท่านสั้นมาก และเป็นยุคสมัยสั้นๆ ที่คั่นกลางระหว่างสองยุคสำคัญคือ ยุคเมจิ ที่ประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยุคโชวะ ยุคที่ญี่ปุ่นรุ่งเรืองและฮึกเหิมไปบุกประเทศอื่น ก่อนจะแพ้สงครามแล้วยังกลับมาฟื้นประเทศได้ใหม่อีกครั้งได้
แต่ถึงจะเป็นยุคสั้นๆ แต่ก็เป็นยุคที่มีเสน่ห์เอามากๆ จนทุกวันนี้ เวลาคนญี่ปุ่นมองย้อนกลับไปยัง “วันดีๆ ในอดีต” ก็มักจะมียุคไทโชโผล่ขึ้นมาในหัว จนมีคำว่า 大正浪漫 ไทโชโรมัน หรือความโรแมนติกยุคไทโช คล้ายๆ กับคนไทย ถ้าแต่งชุดไทยย้อนยุคก็มักจะไปเอาชุดไทยจากยุครัชกาลที่ 5 มาเป็นแบบ หรือคนอังกฤษก็อาจจะกลับไปแต่ตัวแบบวิคตอเรียนหรือเอ็ดเวิร์เดียนก็ได้
แล้วทำไมยุคที่สั้นแค่นี้
แต่กลับมีเสน่ห์ต่อชาวญี่ปุ่นได้ขนาดนั้น?
ก็เพราะมันเป็นยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงและมีความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมเอามากๆ สิครับ
ดูตัวอย่างจากเรื่อง Kimetsu no Yaiba เองก็ได้ครับ แม้ส่วนใหญ่เราจะเห็นพวกทันจิโร่สู้กับพวกอสูรในป่าในเขา หรือตามบ้านนอกคอกนา แต่พอเข้ามาในเมือง เช่นฉากที่เจอมุซังเป็นครั้งแรก ก็จะได้เห็นสภาพเมืองยุคนั้นแล้วว่า เริ่มพัฒนากลายเป็นเมืองที่มีการค้าขายไปจนกระทั่งกลางคืน มีตึกรามบ้านช่องแบบตะวันตก และวัฒนธรรมตะวันตกต่างๆ เช่น เสื้อสูทสีขาวพร้อมหมวกเฟโดร่าของมุซัง (ไมเคิล แจ๊คสัน แห่งยุคไทโชชัดๆ) รวมไปถึงรถไฟที่กลายมาเป็นพาหนะในการพาความเจริญออกไปสู่เมืองต่างๆ ตามเส้นทาง ขนาดจิจิบุที่ทุกวันนี้ผมเดินทางจากโตเกียวโดยรถไฟด่วน ยังต้องใช้เวลาชั่วโมงกว่าเพื่อไปกลางหุบเขา แต่กลับมีตึกรามบ้านช่องสวยๆ ทันสมัยอยู่ไม่น้อย
เพราะยุคไทโชเป็นยุคที่ญี่ปุ่นรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาอย่างเต็มที่ หลังจากที่ปิดประเทศไปนานในยุคของโชกุนตระกูลโตกุกาวะ พอเริ่มค้าขายกับต่างชาติในยุคเมจิแล้ว การค้าขายก็รุ่งเรืองและคนญี่ปุ่นก็พร้อมที่จะรับความตะวันตกเข้ามาในวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ทำให้ยุคนี้มีคำเรียกวัยรุ่นที่แต่งตัวทันสมัยแบบสากลนิยมตะวันตกว่า โมเดิร์นบอยและโมเดิร์นเกิร์ลเลยทีเดียว
ถ้าเพียงแค่รับอิทธิพลตะวันตกมาเฉยๆ อาจจะยังไม่น่าประทับใจ แต่ญี่ปุ่นในยุคไทโชคือเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากรบชนะทั้งรัสเซียและจีนไปในยุคเมจิตอนปลาย ญี่ปุ่นก็กลายเป็นชาติเล็กๆ ที่ขึ้นมายืนทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจต่างๆ ทั่วโลก และยังร่วมเป็นประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการปักหมุด
สร้างชื่อของญี่ปุ่นในเวทีระดับโลก
รวมไปถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สื่อใหม่ เช่น ภาพยนตร์หรือแผ่นเสียงก็เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคม ทำการเผยแพร่วัฒนธรรมเป็นไปได้เร็วขึ้น สถานะของชนชั้นกลางก็เริ่มมีบทบาทสูง มีบริษัทใหม่ๆ และกิจการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมไปถึงอาชีพต่างๆ และการมีบทบาทในทางสังคมของสตรี ที่เริ่มออกมาทำงานนอกบ้านในกิจการใหม่ๆ เหล่านี้ ไม่แปลกอะไรที่คนญี่ปุ่นจะมองว่านี่คือยุคเรืองรองของตัวเองเป็นอย่างมาก ซึ่งพอมองย้อนกลับไปด้วยความถวิลหาในวันวานที่งดงาม เพราะมันคือยุคที่สามัญชนเองก็มีวัฒนธรรมของตนเองที่เป็นที่จดจำ
เมื่อญี่ปุ่นเปิดรับโลกตะวันตกด้วยแนวคิดที่พยายามที่จะทันสมัยให้ทัดเทียมกับทางตะวันตก ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาวัฒนธรรมต่างๆ ของตนเองไว้ ทำให้ยุคนี้เป็นยุคที่การผสมผสานวัฒนธรรมมทั้งสองฟากออกมาได้อย่างมีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งก็ได้ทิ้งมรดกต่างๆ ให้เราได้ชมไม่น้อยเหมือนกัน
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจนถึงทุกวันนี้ก็คือ ตึกรามอาคารต่างๆ ที่สร้างในยุคนี้ ก็คืออาคารที่ปูนทรงตะวันตก มีรูปทรงเหลี่ยมชัดเจน หรือบางที่ก็เป็นอาคารไม้แต่มีการปรับรูปทรงให้เข้ากับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ ทุกวันนี้ก็ยังคงมีหลายเมืองที่มีอาคารเก่าแก่เหล่านี้อยู่เรียงรายกันเป็นกลุ่ม และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสบรรยากาศแบบ Taisho Roman ได้เต็มที่
ซึ่งที่จิจิบุที่ผมไปก็พยายามสร้างจุดเด่นตรงนี้เพิ่มขึ้นมา เพราะอาคารหลายแห่งก็สร้างในยุคไทโช หรือใกล้ๆ กัน เช่น ร้านอาหารที่ผมแวะก็สร้างเมื่อปีโชวะที่ 2 นั่นเอง นอกจากนี้ก็ยังมีร้านขายสินค้าแบบโบราณ หรือร้านถ่ายรูปกับพรอพแบบโบราณอีกด้วย
นอกจากที่จิจิบุแล้วเรายังสามารถไปเสพบรรยากาศยุคไทโชได้ในหลายๆ ที่ เช่น กินซังออนเซน ในจังหวัดยามากาตะ หรือถ้าเอาใกล้โตเกียวหน่อยก็ที่เมืองคาวาโกเอะ ในจังหวัดไซตามะเหมือนกับจิจิบุ ที่นั่งรถออกไปประมาณ 40 นาทีก็ถึงแล้ว และมีตึกรามบ้านช่องโบราณให้เดินเที่ยวได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้ายังไม่หนำใจ ก็ควรไป หมู่บ้านไทโชญี่ปุ่น Nihon Taisho Mura ที่เมืองเอนะ ในจังหวัดกิฟุได้ครับ แต่ถ้าอยากจะหาตึกสไตล์ไทโชที่อยู่ใกล้ๆ ก็ไม่ต้องไปไหนไกลครับ ดูสถานีโตเกียว ฝั่งมารุโนะอุจิได้เลยครับ อาคารสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของสถานีโตเกียวและยังคงใช้งานในปัจจุบัน ก็ก่อตั้งขึ้นในปีไทโชที่ 3 นี่เองครับ
พูดถึงการเสพบรรยากาศ ถ้าจะไปให้เต็มที่ก็ต้องแต่งตัวให้เข้ากัน ซึ่งยุคไทโชนี่ก็เป็นยุคที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามาทำให้การแต่งกายของญี่ปุ่นเปลี่ยนไปไม่น้อย
นอกจากชุดแบบตะวันตกจ๋าแล้ว
ยังมีการผสานเข้ากับชุดสไตล์ญี่ปุ่น
จนเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งชุดนักเรียนชายแบบกะคุรัน ที่ก็มาจากเครื่องแบบทหาร ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ และรวมไปถึงการใส่ผ้าคลุมขนาดใหญ่ หรือหมวกมีปีกด้านหน้า ก็มาจากยุคนี้ล่ะครับ นอกจากชุดนักเรียน เครื่องแต่งกายชายญี่ปุ่นยุคนี้ก็ได้รับอิทธิพลจากเครื่องแบบทหารตะวันตกไม่น้อย ก็ถือว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง สำหรับผู้หญิงชุดที่เป็นเหมือนตัวแทนของยุคนี้ก็คือชุดฮาคามะ ที่ปัจจุบันนิยมใส่กันในพิธีจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ก็เป็นที่นิยมในยุคนี้ เพราะเป็นชุดของนักเรียนหญิงนั่นเอง โดยลายที่เราเห็นได้บ่อยมักจะเป็นลายลูกศร ที่มากับสีที่เป็นที่นิยมในยุคนี้เช่น สีม่วง หรือสีแดงอ่อน (#757199 และ #DA003D)
ถ้าใครอยากจะอินยุคนี้ก็แต่งแบบนี้ได้ครับ มีทั้งแบบญี่ปุ่นเลย หรือแบบผสมกับตะวันตกด้วยให้เลือกตามความชอบได้ครับ ถ้าใครอยากจะเห็นการแต่งกายของสาวๆ ในยุคนี้ ก็ให้ลองหา MV เพลง Harujion Ga Saku Koro ของ Nogizaka46 ดูครับ เพราะ MV นี้คือเซ็ตติ้งเรื่องเป็นโรงเรียนหญิงล้วนในยุคไทโชครับ
ไหนๆ พูดเรื่อง Kimetsu no Yaiba แล้ว เครื่องแต่งกายของหน่วยพิฆาตอสูรในเรื่องก็สะท้อนแฟชั่นยุคนี้ได้ดีครับ เครื่องแบบแบบตะวันตก ผสมกับเสื้อคลุมแบบญี่ปุ่น ที่มีลวดลายที่เป็นที่นิยมในยุคไทโช ก็กลายมาเป็นจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของเรื่องนี้ ที่ทำให้ใครต่อใครแต่งคอสเพลย์ตามเต็มไปหมด ก็ถือว่าเป็นมรดกอีกอย่างหนึ่งของยุคไทโชที่กลับมาฮิตในยุคนี้ได้ ไม่แปลกที่แหล่งท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศยุคไทโชจะชวนนักท่องเที่ยวให้ไปถ่ายรูปคอสเพลย์ให้สมจริงในสถานที่ท่องเที่ยวของตัวเองครับ
แม้ไทโชจะเป็นยุคที่มีช่วงเวลาสั้นมาก แถมยังโดนประกบด้วยสองยุคสำคัญของญี่ปุ่น แต่กลับได้ทิ้งมรดกที่น่าประทับใจไว้มากมาย และเป็นรากฐานในการพัฒนาสังคมญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ จนไม่แปลกใจที่แม้จะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นในยุคนี้เหมือนกัน แต่ชาวญี่ปุ่นก็มองย้อนกลับไปยังยุคไทโชด้วยสายตาถวิลหาเป็นอย่างดี
อ้างอิงข้อมูลจาก