การจากไปของ หลุยส์ จา เจ้าของนามปากกา ‘กิมย้ง’ นักข่าวและเจ้าพ่อนิยายกำลังภายในชาวฮ่องกง เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของแวดวงวรรณกรรมจีน และวรรณกรรมโลก แม้ว่ากิมย้งจะมิได้รังสรรค์ผลงานชิ้นใหม่มานานหลายทศวรรษแล้ว นิยายกำลังภายในของเขาที่ชาวไทยคุ้นเคยกันดีจากหนังสือและซีรีส์โทรทัศน์ที่ถูกนำกลับมาฉายอยู่เนืองๆ ตั้งแต่ ‘มังกรหยก’ ‘กระบี่เย้ยยุทธจักร’ และ ‘อุ้ยเสี่ยวป้อ’ ก็จะยังตราตรึงเป็นอมตะ โลดแล่นอยู่ในบู๊ลิ้มมิเสื่อมคลาย พร้อมกระจายสัจธรรมให้คนรุ่นหลังสดับตรับฟัง
“คนมีชีวิตในโลก ไม่อาจมีอิสระสมบูรณ์พร้อม คิดหวังปลดเปลื้องทุกสิ่งได้คิดปรุโปร่ง มิใช่วิสัยผู้คนธรรมดา ผู้คนที่กระตือรือร้นต่อการเมืองและมัวเมาอำนาจ ถูกความทะเยอทะยานผลักดันให้กระทำเรื่องราวผิดมโนธรรมประจำใจแท้ที่จริงเป็นบุคคลที่น่าเวทนา”
ในโลกของเกม มีเกมจากจีน ญี่ปุ่น และไต้หวันจำนวนไม่น้อยที่ตั้งอยู่ในบู๊ลิ้มของกิมย้ง เกมที่ผู้เขียนเล่นแล้วเห็นว่าเข้าถึง ‘จิตวิญญาณ’ และสื่อ ‘สาร’ ที่ซ่อนจากปลายปากกาของกิมย้งได้ดีที่สุดเกมหนึ่ง คือ Tales of Wuxia: The Pre-Sequel จาก เหอลั่ว สตูดิโอ (Heluo Studio) ค่ายจีนผู้พัฒนาเกมนิยายกำลังภายในมาช้านาน
แม้จะจั่วหัวชวนงงว่า ‘Pre-Sequel ’และออกหลังภาคแรกคือ Tales of Wuxia (ซึ่งไม่เคยมีแปลเป็นภาษาอังกฤษ) การเล่นภาคแรกมาก่อนก็ไม่จำเป็นแต่อย่างใด เพราะเส้นเรื่องไม่เกี่ยวกัน ภาคนี้เปิดฉากด้วยบรรยากาศอึมครึม พลพรรคเหนือมนุษย์จากเถียนหลง (พรรคสวรรค์) กับเฟิงตู (พรรคนรก) ประจันหน้ากัน สัประยุทธ์ช่วงชิงความเป็นหนึ่งในบู๊ลิ้ม ราชสำนักแทนที่จะหาวิธีหย่าศึกกลับออกโองการรับรอง ‘เพลานิรโทษ’ (Acquit Period) ให้ สำนักกำลังภายในทุกแห่งในราชอาณาจักรเหมือนได้เช็คเปล่า รัฐบาลยอมให้ต่อสู้ ฆ่าฟัน ทำสงครามห้ำหั่นกันได้ตามอำเภอใจโดยราชสำนักนิ่งดูดาย
เมื่อคชสารโรมรัน หญ้าแพรกย่อมแหลกลาญ และผู้แสวงสันติย่อมไม่อาจนิ่งเฉย เมื่อพรรคสวรรค์กับพรรคนรกจะรบราอย่างเปิดเผย สำนักกำลังภายในอื่นๆ ที่ใฝ่สันติและสันโดษก็ตกที่นั่งลำบาก ถูกกระทบกระแทกจากสงคราม โดนบุกรุกหรือบ่อนทำลาย เราเล่นเป็นจอมยุทธ์หนุ่มสองคน ศิษย์น้องกับศิษย์พี่จากสำนักเล็กๆ ในหุบเขาไกลปืนเที่ยง ถูกเจ้าสำนักส่งไปสอบสวนกลเม็ดเล่ห์กระเท่ห์ของสมาคมลับอะไรสักแห่งที่กำลังฉวยโอกาสจากเพลานิรโทษ บุกโจมตีสำนักอื่นซึ่งหน้าอย่างเหี้ยมโหด แสดงเจตนาว่าจะล้างทั้งสำนัก ดูเหมือนไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากจะกระหายอยากเป็นใหญ่ ครองตำแหน่งสำนักกำลังภายในหนึ่งเดียวในยุทธภพ
หลังจากที่ทำความคุ้นเคยกับระบบการต่อสู้และระบบหลักๆ ในเกมในฉากเปิดกลางสมรภูมิรบ พระเอกทั้งคู่ก็ออกเดินทางจากหุบเขาอันเงียบสงบสวยงาม เดินทางไปเตือนสำนักกำลังภายในอื่นๆ และสืบเบาะแสว่าเจ้าสมาคมลับนี่เป็นใครกัน และมันต้องการอะไรกันแน่
ในแง่ระบบเกม Tales of Wuxia: The Pre-Sequel คือส่วนผสมที่ลงตัวอย่างยิ่งระหว่าง JRPG (Japanese RPG เกมสวมบทบาทสไตล์ญี่ปุ่น) กับ WRPG (Western RPG เกมสวมบทบาทสไตล์อเมริกันหรือยุโรป) ถึงแม้กราฟิกจะเป็นแนว JRPG ชัดเจน
เกมนี้ให้อิสระกับเราอย่างยิ่งในการเดินทางไปทำเควสท์รองต่างๆ ซึ่งก็มีมากมายหลายร้อยทั่วทั้งบู๊ลิ้ม ซึ่งก็คือแผนที่จีนทั้งประเทศ นอกจากคู่หูหลักที่เราควบคุมในเกม ระหว่างเล่นจะได้พบปะเพื่อนจอมยุทธ์มากหน้าหลายตา หลายคนเราต้องประมือให้เขายอมรับในวรยุทธ์ก่อน จึงจะยอมมาเป็นพวก ทั้งเกมมีจอมยุทธ์กว่า 30 คนที่เราดึงมาร่วมคณะได้ และคณะของเราก็มีสมาชิกสูงสุดได้ถึง 9 คน
Tales of Wuxia: The Pre-Sequel ไม่บอกเราตั้งแต่ต้นว่าเราต้องทำอะไร รู้แต่ลางๆ ว่าเรามีหน้าที่สอบสวนสมาคมลับที่กำลังระรานสำนักกำลังภายในอื่นๆ แต่จับต้นชนปลายยังไม่ถูกว่าจะสอบสวนอย่างไรดี ตอนต้นเกมเรารู้แต่ชื่อของปราการหลัก 5 แห่งของสมาคมลับแห่งนี้ แต่ไม่รู้ว่ามันอยู่ตรงไหนบ้างบนแผนที่บู๊ลิ้มอันกว้างใหญ่ไพศาล สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ เดินทางไปเยี่ยมเยือนสำนักกำลังภายในและเมืองต่างๆ เท่าที่เรารู้จัก สะสมเบาะแส ช่วยคน (และผี) ที่ต้องการความช่วยเหลือมากมายระหว่างทาง โดยหวังว่าสักวันจะได้เบาะแสที่ทำให้พันธกิจหลักคืบหน้า
การที่เกมไม่กำหนดเควสท์หลักอย่างเฉพาะเจาะจง ไม่ระบุเป้าหมายให้ชัดๆ ไม่บอกว่าอะไรสำคัญ อะไรไม่สำคัญ ทำให้การเล่น Tales of Wuxia: The Pre-Sequel ได้อารมณ์เหมือนกับกำลัง ‘ผจญภัย’ ในดินแดนบู๊ลิ้มอย่างแท้จริง ซึ่งทีมพัฒนาเกมก็บรรจงสร้างบู๊ลิ้มในเกมให้ตรงตามตัวหนังสือของกิมย้ง (ถึงแม้จะใช้ชื่อตัวละครหรือสำนักต่างๆ จากนิยายกิมย้งตรงๆ ไม่ได้ เนื่องจากติดปัญหาลิขสิทธิ์)
ในเกมนี้เราจะได้ฝึกวรยุทธ์และประมือทุกวิชาจากนิยายทุกเล่มของนักเขียนอมตะอย่างเต็มอิ่ม ทั้งสายลมปราณ ดรรชนี กระบี่ พิษ ดนตรี หมัดเมา ฯลฯ
ตัวละครทุกตัวในเกมล้วนแต่มีสีสัน มีประวัติน่าค้นหา และไม่ชัดว่าใครอยู่ฝ่ายธรรมะ ใครอยู่ฝ่ายอธรรม ในสวรรค์มีมาร และนรกมีเทพ ฝ่ายเทพบางครั้งไม่ลังเลที่จะใช้กลอุบายในการเอาชนะมาร ผีสังกัดฝ่ายมารบางครั้งมีเมตตายิ่งกว่าเทพ และวิญญูชนบางคนก็เป็นวิญญูชนแต่เปลือก เมื่อการกระทำเผยความจริงว่าเป็นวิญญูชนจอมปลอม
และการกอบกู้ชาติ แก้ปัญหาสาธารณะ หรือคลี่คลายความขัดแย้งลงอย่างถาวร บ่อยครั้งก็จำต้องมองให้พ้นสังกัดสำนักเทพ-มาร
บทเรียนทั้งหมดข้างต้นที่แฟนประจำกิมย้งรู้จักดี ได้รับการถ่ายทอดใน Tales of Wuxia: The Pre-Sequel อย่างสนุกสนานสละสลวย (ตรงนี้ควรหมายเหตุว่า ภาษาจีนต้นฉบับซึ่งผู้เขียนอ่านไม่ออกในเกมนี้คงสละสลวยกว่าภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นในเกมหลายเท่า แต่คำแปลภาษาอังกฤษในเกมก็จัดว่าไม่เลวร้ายนัก พอเข้าใจว่าใครกำลังพูดเรื่องอะไร ถึงแม้ผู้ออกแบบจะยอมจำนน ไม่แปลบทกวีและบทเพลงต่างๆ ในเกม ยังคงตัวอักษรจีนตามต้นฉบับ ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาอยู่บ้าง เช่น เวลาที่ต้องตอบปัญหาเชาวน์หรือความรู้รอบตัวแลกไอเท็มหรือวรยุทธ์ แต่ก็โชคดีที่ของเหล่านี้ไม่แจ่มมาก หากแม้นพลาดไปก็มิควรต้องเสียดาย)
สำนักกำลังภายในยอดนิยมจากนิยายกิมย้งล้วนแต่มีตัวตนอยู่ในเกม ตั้งแต่พรรคกระยาจก พรรคสุริยันจันทรา เม้งก่า ง๊อไบ๊ บู๊ตึ๊ง และแน่นอน วัดเส้าหลิน ซึ่งในเกมนี้แบ่งเป็นเส้าหลินใต้ กับเส้าหลินเหนือ วรยุทธ์ยอดนิยมที่เราจะได้ใช้เองหรือดูศัตรูใช้ในเกมก็มีตั้งแต่ สิบแปดฝ่ามือพิชิตมังกร ไม้เท้าตีสุนัข ลมปราณภูตอุดร กระบี่หกชีพจร คัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น เก้ากระบี่เดียวดาย เคลื่อนย้ายจักรวาล ฯลฯ รวมถึงการใช้พิษสารพัดชนิด
ระบบเลเวลอัพ (level up ทำให้ตัวละครเก่งขึ้น) ของเกมนี้ให้อารมณ์สอดคล้องกับการฝึกวรยุทธ์เช่นกัน ตัวละครทุกตัวในเกมมีค่าสำคัญสี่ค่า ได้แก่ ความแข็งแกร่งของมือ (arm strength) พลังชีวิตหรือลมปราณ (vitality) สติปัญญา (comprehension) และความว่องไว (movement) แทบทุกสิ่งที่เราทำในเกมนี้ ไม่ว่าพิชิตศัตรู ช่วยชาวบ้าน ได้คัมภีร์ใหม่ ฯลฯ จะให้ ‘ค่าเปิดมุมมอง’ (perspective points) มาเข้ากองกลาง ตัวเลขนี้นำมาเพิ่มค่าสำคัญให้กับจอมยุทธ์คนไหนเมื่อไรก็ได้ แต่การเพิ่มวรยุทธ์จะต้องอาศัยการเรียนรู้วิชาใหม่ๆ จากคัมภีร์ ซึ่งก็มีให้เสาะแสวงมากมายในบู๊ลิ้ม บางครั้งเราจะได้เป็นรางวัลจากการทำเควสท์ เราเลือกวิชาได้อย่างมาก 1 วิชา กับอีก 6 กระบวนท่าที่จะใช้ในการต่อสู้ ทุกวิชาและกระบวนท่าเลเวลอัพผ่านค่าประสบการณ์ (experience) ที่จะได้โดยอัตโนมัติจากการต่อสู้และทำเควสท์ อัพเลเวลได้สูงสุดระดับ 10 จากนั้นต้องเปลี่ยนไปฝึกวิชาหรือกระบวนท่าใหม่
นอกจากระบบเลเวลอัพ ระบบการต่อสู้ในเกมนี้ โดยเฉพาะเวลาประมือกับวายร้ายตัวสำคัญหรือ ‘บอส’ ในเกม ก็ให้อารมณ์เหมือนนิยายกำลังภายในเช่นกัน
ฉากการต่อสู้ซูมลงมาเป็นสมรภูมิหกเหลี่ยม เราสลับกันเดินกับศัตรูคนละตา (turn-based)คล้ายเกม RPG วางแผนอย่าง Final Fantasy Tacticsตัวละครมี ‘วิชากำลังภายใน’ (internal style) เหมือนกับเรา บอสตัวหนึ่งอาจดึงสมุนมาป้องกันตัวทุกครั้งที่ถูกโจมตี อีกตัวมีเกราะเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่หลบเลี่ยงคมดาบได้ อีกตัวอาจฟื้นพลังชีวิต 10%ทุกตา เป็นต้น วิชาเหล่านี้ทำให้เกิดสไตล์เฉพาะตัว เราต้องสังเกตและค้นหาจุดอ่อนให้เจอก่อนที่จะโจมตีสำเร็จ เช่น บอสจอมว่องไว หลบหลีกการโจมตีเก่งมาก อาจต้องเจอวิชาผนึกลมปราณ รัวหมัดให้ ‘งง’ (dizzy) หรือตัวแข็งอยู่กับที่เสียก่อน ส่วนบอสที่มีพลังโจมตีสูงๆ บางตัวยิ่งต้องใช้ลมปราณ (energy) มาก ฉะนั้นต้องใช้กระบวนท่าที่สามารถดูดพลังได้ เพื่อให้เกิดอาการบาดเจ็บภายใน มันจะได้ใช้พลังโจมตีสูงไม่ได้ เป็นต้น บ่อยครั้งในครึ่งหลังของเกมเราจะพ่ายแพ้และสู้ใหม่หลายรอบ ก่อนจะหา ‘ทางแก้’ เจอ ราวกับกำลังแก้กลหมากรุกที่สนุกมาก
สิ่งที่เจ๋งมากนอกเหนือจากการให้อารมณ์ฝึกวรยุทธ์ คือ ทีมพัฒนาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเควสท์ต่างๆ อย่างเหนือชั้น ยกตัวอย่างเช่น คนแปลกหน้าจากไหนก็ไม่รู้อาจมาวิงวอนขอให้เราช่วยส่งจดหมายไปให้เพื่อน แต่กลับกลายเป็นว่าจดหมายนั้นอาบยาพิษ เรากลายเป็นชนวนจุดความขัดแย้งระหว่างสำนักกำลังภายในสองสำนักโดยบังเอิญ แต่ความขัดแย้งนั้นก็เผยเบาะแสใหม่ออกมาเกี่ยวกับปราการของสมาคมลับ หรือพอผ่านไปสักพัก เราจะไปต่อไม่ได้เพราะจุดหมายของเควสท์อันหนึ่งมีภาษาที่ไม่มีใครในคณะอ่านออก ต้องไปทำเควสท์อื่นก่อน จากนั้นต่อมาอีก 30 ชั่วโมง (ในเวลาจริง) เราถึงจะเจอจอมยุทธ์ที่มาร่วมคณะ โชคดีที่เขาอ่านภาษานี้ออก ทำให้เควสท์ที่ค้างไว้ชาติที่แล้วเดินหน้าต่อได้
การออกแบบระบบเควสท์แบบ ‘หลวม’ คือไม่บอกเป้าหมายเราตรงๆ แต่ร้อยเรียงเควสท์ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างมีเหตุมีผลขอเกมนี้ ดียิ่งกว่านั้นอีกด้วยความหลากหลายของเควสท์ บางครั้งเราต้องปลอมตัวเป็นหมอผีเพื่อหลอกให้ชาวบ้านเอาข้าวไปให้มารสาวที่โดนพิษร้ายกิน (“บางครั้งการทำดีก็บังคับให้เราทำอะไรแย่ๆ” จอมยุทธ์สาวปลอบใจ) แม้แต่เควสท์แบบ ‘fetch’ (เอาของจาก ก. ไปให้ ข.) ซึ่งมักจะเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากในเกม RPGเกมนี้ก็ทำออกมาได้อย่างน่าสนใจด้วยโครงสร้าง ‘หลวม+โยงใย’ ที่กล่าวถึงข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น เราจะเจอพระภูเขาขอบินฑบาตข้าวหนึ่งถุง แต่ท่านไม่รู้เลยว่าเราจะหาซื้อข้าวนั้นได้ที่ไหน พอเราเดินทางไปถึงหมู่บ้านใกล้ๆ ก็เจอพ่อค้ากำลังขายข้าว แต่โก่งราคาแพงกว่าเดิมนับสิบเท่าเพราะประชาชนกำลังกลัวผี สนทนากับคนต่อคิวก็ได้ความว่า ลือกันสะพัดว่าเจ้าเมืองเมืองนี้หายตัวไป และเกี่ยวข้องอะไรสักอย่างกับผีที่ผุดขึ้นมาหลอกคน สืบเบาะแสไปสักพักเราก็จะเจอตัววายร้ายตัวสำคัญจากสมาคมลับ
ลักษณะ ‘ใยแมงมุม’ แบบนี้ของการผจญภัยในเกม ทำให้เรารู้สึกเหมือนกำลัง ‘ผจญภัย’ อย่างเป็นธรรมชาติ และเควสท์เหล่านี้ก็ล้วนแต่น่าติดตาม หรืออย่างน้อยก็ตลกน่ารัก มีเควสท์น้อยมากที่เป็นเส้นตรงเฉยๆ ไม่สัมพันธ์กับเควสท์อื่น ทำให้เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะมีเควสท์ 15-20 อันที่ยังไม่ได้บรรลุพร้อมกัน และจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดเกม
การเล่นเกมนี้เกมเดียวจะทำให้ถึงบางอ้อว่า เรื่องราวในยุทธภพที่กิมย้งรจนาเป็นอมตะไม่เสื่อมคลาย เนื่องจากสะท้อนสัจธรรมที่ว่า ในเทพมีมาร และในมารมีเทพ สิ่งนอกกายอย่างป้ายต่างๆ ที่สังคมแปะให้กับเรา บ่อยครั้งโดยที่เราไม่ปรารถนานั้น หาใช่ประกาศิตฟ้าหรือโองการจากสวรรค์ จิตใจของคนเรานั้นยากแท้หยั่งถึง การจำแนกผิดถูกแห่งยุคสมัยไม่จีรังยั่งยืน และแม้ผู้รักสันโดษบางคราวก็ไม่อาจฝืนทนเสียงเพรียกแห่งมโนธรรม
“ธรรมแห่งฟ้ายากบอกกล่าว เรื่องราวคนยากหยั่งทราบ พวกเราเพียงมุ่งประพฤติคุณธรรม แต่เป็นวาสนาหรือคราเคราะห์ไม่จำเป็นต้องนึกถึง”
เหตุใดนิยายกำลังภายในจึงจะอยู่ค้ำฟ้าเหนือกาลเวลา? Tales of Wuxia: The Pre-Sequel เฉลยคำตอบที่ชัดเจนสนุกสนาน สร้างสุดยอดประสบการณ์จอมยุทธ์ชนิดติดหนึบวางไม่ลง ตลอดเวลาหนึ่งร้อยกว่าชั่วโมงของการท่องยุทธภพในจอ.