“อ้ายจรัลได้ประกาศศักดิ์ศรีของคนเมือง”
“ภาพจำของความเป็นคนเมืองในเพลงของอ้ายจรัลจึงเป็นคนที่รักท้องถิ่น ไม่กลัวใคร แสดงตัวอย่างมั่นใจ และสิ่งที่แฝงอยู่ลึกๆ ในเพลงของอ้ายจรัลก็คือความห่วงใยสังคม”
“อุ้ยคำคนแก่ ท่าทางใจ๋ดี….”
“อ้ายคนจน จ๋ำต้องทนปั่นรถถีบ…”
“อย่ากลับคืนคำเมื่อเธอย้ำสัญญา….”
แม้ จรัล มโนเพ็ชร เจ้าของบทเพลงโฟล์กซองคำเมืองจะจากโลกนี้ไปกว่า 17 ปีแล้ว เมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 แต่บทเพลงของเขายังคงถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ อย่างไม่เคยขาดหายไปจากการรับรู้ของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นทางรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ การประกวดร้องเพลงต่างๆ ศิลปินเปิดหมวก ไปจนถึงในห้องคาราโอเกะ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บทเพลงของจรัล มโนเพ็ชร นั้นผูกโยงเข้ากับเรื่องราวของภาคเหนือ หรือความเป็น ‘ล้านนา’ อย่างไม่อาจแยกจากกันได้
ในเดือนแห่งการรำลึกถึงการจากไปของศิลปินภาคเหนือผู้ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นเลิศทั้งทางด้านดนตรีและการแสดง ทั้งยังเป็นหนึ่งใน ‘ไอคอน’ ของความเป็น ‘คนเมือง’ ที่สังคมจดจำ
‘ปิยกุล ภูศรี’ ชวนคุยกับ ‘ศาสตราจารย์ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง’ หนึ่งในนักวิชาการด้านท้องถิ่นศึกษา เพื่อทำความเข้าใจจรัล มโนเพ็ชร และท้องถิ่นนิยมในมิติที่หลากหลาย พร้อมคำถามที่ว่า การนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาทำให้เป็นสินค้าคือหนทางหนึ่งในการรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรม หรือเป็นการทำลายความจริงแท้ของศิลปะพื้นถิ่น
บทสัมภาษณ์ทางไกลจากสิงคโปร์ชิ้นนี้เป็นการสนทนาออนไลน์ด้วยภาษาเหนือ หรือ ‘คำเมือง’ ก่อนจะถ่ายทอดเป็นบทความภาษาไทยกลาง โดยตั้งใจปล่อยคำเมืองที่สำคัญบางคำไว้ในเนื้อบทความ
จรัล มโนเพ็ชร ในภาพจำของธเนศวร์ เจริญเมือง
อ้ายจรัลเป็นคนที่มีหน้าตาดี มีบุคลิกดี เวลาพูดก็ยิ้มตลอดเวลา เป็นคนเป็นกันเอง ใครไปใครมาก็ทักทาย พูดจาไพเราะ ไม่ว่าร้ายใคร เป็นคนที่มี sense of humor มองโลกในแง่ดี และเป็นคนที่ไม่ปฏิเสธคนอื่น ใครมาขออะไรก็ให้ อ้ายจรัลยังเป็นคนที่เก่งหลายอย่าง อ่านตั๋วเมือง (ตัวอักษรพื้นเมืองล้านนา) ก็ได้ พูดไทยกลางก็เก่ง เสียงดี ร้องเพลงเพราะ เล่นดนตรีได้หลายชนิดทั้งเครื่องดนตรีพื้นเมืองและเครื่องดนตรีสากล เนื่องจากพ่อของอ้ายจรัลเป็นสล่า (ช่าง หรือ ศิลปิน) ก็เลยได้ความรู้จากพ่อมาเยอะ
อ้ายจรัลเป็นคนที่มีตำแหน่งแห่งที่ เพราะแม่ของแกเป็นเจ้า เป็น ‘ณ เชียงใหม่’ พ่อก็ทำงานชลประทาน มีหน้ามีตา มีรายได้ดี ทำให้อ้ายจรัลมีความมั่นใจในตัวเองสูง และเป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในการเป็น “คนเมือง” (คนภาคเหนือ) เวลาพูดเรื่องความเป็นคนเมือง เรื่องล้านนา เรื่องความเป็นมาของท้องถิ่น ตาแกจะเป็นประกาย มีความสุข พูดแบบไม่ก้มหน้า ไม่กลัวใคร เวลาไปแสดงดนตรีที่กรุงเทพฯ แกจะอู้คำเมืองตลอด ไม่เคยพูดไทยกลางเลย จึงพูดได้ว่า อ้ายจรัลเป็นคนที่มีความหยิ่งทะนงในความเป็นคนเมือง เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในความเป็นท้องถิ่นที่สร้างให้ตัวเองเกิดขึ้นมา นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นลักษณะเด่นของจรัล มโนเพ็ชร
โฟล์กซองคำเมือง กับกระแสต่อต้านของศิลปินท้องถิ่นในอดีต
ตอนผมได้ยินเพลงอ้ายจรัลครั้งแรกผมอยู่ที่นิวยอร์กเลยไม่ได้ยินเรื่องนี้ตรงๆ กับหู แต่หลังจากผมกลับมาจากอเมริกา ผมได้ยินคนอื่นเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง เขาบอกว่า คนเมืองส่วนหนึ่งที่เป็นคนสมัยเก่า ก็เล่นซึง เล่นพิณกันไง ซึ่งสมัยนั้นกีต้าร์เป็นเครื่องดนตรีของวัยรุ่น อ้ายจรัลแกก็ชอบ สมัยนั้นมันมีเพลง 500 Miles เพลง Where Have All Flowers Gone? และเพลงต่อต้านสงครามเวียดนามอื่นๆ แกก็เล่นกีต้าร์ และแกก็มีเลือดศิลปินพื้นเมืองของพ่อ เลยแต่งเพลงทำนองฝรั่งด้วยคำเมือง เท่านั้นยังไม่พอ แกยังไปเอาเพลงของคนอื่นอย่าง เสเลเมา คนสึ่งตึง น้อยไจยา มาร้องและเล่นด้วยกีต้าร์ เพราะมันทันสมัย และกีต้าร์ตัวเดียวมันก็เล่นเป็นเพลงได้แล้ว ไม่ต้องใช้หลายเครื่องดนตรี ปรากฏว่าคนเมืองในสมัยนั้นที่ไม่ใช่คนรุ่นผม ไม่ใช่คนรุ่นอ้ายจรัลก็ไม่พอใจว่าอะไรของมันวะ แล้วก็มีคนลือว่าพอแกไปเอาเพลงของคนอื่นมาร้อง เลยทำให้มีบางคนไม่พอใจ
แต่สำหรับผม ผมเป็นคนรุ่นใหม่เหมือนแก ผมว่ามันสนุกดี และเสียงกีต้าร์ก็ไม่ได้ต่างกับเสียงซึงเท่าไหร่นี่ สิ่งที่มันโดนผมที่สุดคือ ผมพยายามแต่งเพลงมา 2-3 ปี แต่ผมทำไม่ได้ พอแกทำได้ ผมนี่สะดุ้งเลยว่า “อ้ายคนนี้มันร้ายบ่ะเฮ่ย มันเป๋นไผ? มันหยังมาเก่ง?” ซึ่งผมเพิ่งมารู้ทีหลังว่าแกอายุเท่าผม (หากวันนี้ จรัล มโนเพ็ชร ยังมีชีวิต จะมีอายุ 67 ปี)
เพลงของอ้ายจรัลเป็นเพลงที่มีความไพเราะ สนุก เนื้อหาดี มีทั้งเพลงแซวสังคม แขวะสังคม และมีความคิดที่ก้าวหน้าอยู่ในเนื้อหาของเพลง สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ ตอนที่เพลงของอ้ายจรัลดังในปี พ.ศ. 2520 ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาปัญญาชนโดนทหารล้อมปราบจนต้องหนีเข้าป่า วัยรุ่นไทยในตอนนั้นเลยไม่มีเพลงฟัง เพราะตอนนั้นเพลงของวงคาราวานถือว่าดังที่สุด พอคาราวานเข้าป่าก็ไม่มีใครแล้ว ซึ่งอ้ายจรัลก็เข้ามาแทนที่พอดี อีกอย่างคือเนื้อหาเพลงของอ้ายจรัลไม่ใช่ซ้ายรุนแรงแบบเพลงคาราวาน ซึ่งถ้าเพลงของอ้ายจรัลมาแรงๆ ก็คงต้องได้เข้าป่าเหมือนกัน เพลงแกเลยออกมาในสองลักษณะเด่นคือ หนึ่ง ท้องถิ่นนิยม ด้วยการร้องเป็นคำเมือง และ สอง เป็นเพลงที่พูดถึงปัญหาสังคม แต่เนื้อหาไม่รุนแรง เช่น สงสารอุ้ยคำที่อยู่คนเดียวตาย แต่ไม่ได้ไปเรียกร้องให้ลุกขึ้นสู้แบบเพลงคาราวาน เป็นเพลงที่เรียกร้องความเห็นใจ และเพลงของอ้ายจรัลยังมีความขี้เล่น แบบเพลงปี้สาวครับ สาวมอเตอร์ไซค์ มันเป็นเพลงที่เหน็บสังคมด้วย แบบว่าจะให้สาวมอเตอร์ไซค์ดมควันจนตายเลย
ได้ยินมาว่าคนเชียงใหม่ชอบเพลงปี้สาวครับ กับ สาวมอเตอร์ไซค์ เพราะมันสนุก แต่คนในกรุงเทพฯ กลับให้เพลงอุ้ยคำเป็นอันดับหนึ่ง เพราะคนจำนวนไม่น้อยในกรุงเทพฯ ก็เป็นคนที่จากบ้านจากเมืองต่างจังหวัดเข้าไปทำงานในกรุงเทพฯ พอฟังแล้วก็คิดถึงคนเฒ่าคนแก่ คิดถึงครอบครัวที่บ้านนอก เพลงอุ้ยคำเลยส่งผลสะเทือนทางอารมณ์อย่างรุนแรง
มโนทัศน์ความเป็นล้านนาในเพลงของจรัล และอิทธิพลต่อการสร้างภาพจำของ ‘ล้านนา’ ในปัจจุบัน
ต้องอย่าลืมว่าในสมัยที่เพลงของอ้ายจรัลกำลังดัง เพลงอีสานมันดังในกรุงเทพฯ แล้ว แต่ไม่มีเพลงของคนเมืองเลย เรื่องราวของคนเมืองที่อยู่ในกรุงเทพฯ สมัยนั้นมีอยู่แค่สองเรื่อง คือ หนึ่ง เป็นนางงามที่ประกวดชนะบ่อยๆ และ สอง ไปเป็นโสเภณี แบบเพลงสาวเหนือก็มีหัวใจ คือโดนผู้ชายกรุงเทพฯ หลอก อย่ามาย่ำยีหัวใจสาวเหนือ คือภาพสาวเหนือมีแต่ความน่าสงสารน่ะ คือหนึ่ง เป็นคนสวย เลยไปเป็นนางงาม กับ สอง โดนคนอื่นหลอก เนื้อหามันมีแค่นี้ และมันเป็นเพลงที่ร้องด้วยภาษาไทยกลาง ที่นี้พอมีเพลงของอ้ายจรัล มันเป็นการเปิดนิมิตใหม่เลย คือ หนึ่ง เปิดที่ทางของเพลงคำเมือง และ สอง อ้ายจรัลได้ประกาศศักดิ์ศรีของคนเมือง
อย่างเพลงล่องแม่ปิง นี่สวนกับเพลงสาวเหนือก็มีหัวใจเลยนะ เพราะบอกว่า สาวเชียงใหม่ต้องเยือกเย็นเหมือนน้ำแม่ปิง ต้องมีศักดิ์ศรี ต้องไม่เป็นขี้ข้า อย่าให้ใครมาหลอก เป็นเพลงที่ปลุกให้สาวคนเมืองยืนขึ้นมาอย่างผงาด และเพลงของอ้ายจรัลมีความเป็น ‘ลูกกรุง’ เพราะร้องกับกีต้าร์ เนื้อหาก็ไม่ได้พูดแค่เรื่องกลางทุ่งกลางนาอย่างเดียว อย่างเพลงผักกาดจอ พูดถึงจอผักกาดซึ่งเป็นของกินชาวบ้านก็จริง แต่ก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นอาหารของคนทุกข์คนยาก หรือเพลงตากับหลาน ที่พูดถึงตากับหลานจูงมือกันข้ามถนนแล้วโดนรถชน หรือ เพลงน้อยไจยา ก็เป็นเรื่องราวของคนในเมือง ชนชั้นกลางในเมืองจึงรับได้กับเพลงของอ้ายจรัล และพอเพลงของอ้ายจรัลดัง คนเมือง (ล้านนา) ที่อยู่ในเมือง อยู่ในกรุงเทพฯ ก็มีความภาคภูมิใจในความเป็นคนเมือง ในศิลปวัฒนธรรมต่างๆ กล้าพูดคำเมืองในกรุงเทพฯ จากที่แต่ก่อนไม่เคยพูด และอายที่จะบอกว่าเป็นคนเมือง
ภาพจำของความเป็นคนเมืองในเพลงของอ้ายจรัลจึงเป็นคนที่รักท้องถิ่น ไม่กลัวใคร แสดงตัวอย่างมั่นใจ และสิ่งที่แฝงอยู่ลึกๆ ในเพลงของอ้ายจรัลก็คือความห่วงใยสังคม อย่างเพลงรางวัลแด่คนช่างฝัน ที่พูดถึงการเป็นคนมีอุดมการณ์ ทำให้อ้ายจรัลถูกจดจำในฐานะปัญญาชนคนเมืองที่มีอุดมการณ์ และมีทัศนคติที่ดีต่อสังคม
แต่ความเป็นล้านนาที่ถูกนำเสนอนั้นมันถูกทำให้งดงาม ‘เกินไป’ (romanticized) หรือเปล่า?
ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอ้ายจรัลเติบโตมากับเพลงพื้นบ้าน และเพลงกรุงเทพฯ ที่ดูถูกคนต่างจังหวัด โรงเรียนต่างๆ ในภาคเหนือไปจนถึงในสถานีวิทยุก็พูดภาษาไทยกลางกันตลอด ก่อนหน้าอ้ายจรัล มีคนเมืองเพียงคนเดียวที่พูดคำเมืองออกสื่อ นั่นก็คือ เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่ ไทยรัฐเอาไปลงข่าวว่าเจ้าดวงเดือนให้สัมภาษณ์เป็นคำเมือง แต่สมัยก่อนทีวีมันยังไม่แพร่หลายไง วิทยุก็นานๆ จะสัมภาษณ์เจ้าดวงเดือนซักทีนึง คนก็รู้แค่ว่าเจ้าดวงเดือนเป็นคนเชียงใหม่ รณรงค์ให้พูดเชียงใหม่ ก็รู้อยู่แค่นั้น แต่เพลงคำเมืองของอ้ายจรัลมันไปทั่วหมดเลย
ผมเชื่อว่าอ้ายจรัลต้องการ romanticized คือจงใจพูดถึงด้านดีของล้านนา ด้านดีของคนเมือง เพื่อประกาศความเป็นคนเมืองออกมา เพราะมันถูกกดขี่ข่มเหงมานานแล้ว ในแง่นี้ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ มันก็เป็นการ romanticized อยู่แล้ว และผมต้องพูดว่าเป็นการ romanticized ที่ก้าวหน้า ไม่ใช่คนเมืองหน่อมแน้ม แต่เป็นคนเมืองที่มีกึ๋น มีความห่วงใยสังคม ไม่ใช่คนเมืองแค่กินลาบ กินแกงฮังเล แต่เป็นคนเมืองที่มีคุณภาพ
เพลงของอ้ายจรัลก็มีการพูดถึงความไม่ดีไม่งามในสังคมภาคเหนืออยู่เหมือนกัน แต่มันไม่ใช่ปัญหาของคนเมืองอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข อย่างเพลงตากับหลาน พูดถึงคนที่ขับรถไปชนตากับหลานตายหน้าโรงเรียน เป็นการพูดถึงปัญหาจราจร ว่าทำไมถึงขับรถไวกันนักกันหนา หรือเพลงที่พูดถึงระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับสังคม นอกจากนี้ อ้ายจรัลยังมีเพลงที่พูดถึงสังคมที่เสื่อมโทรม เราจึงต้องทำใจให้นิ่ง และนึกถึงพระศาสนา โอ้โห…เพลงนี้นี่ร้ายขนาด มันขึ้นสู่ระดับปรัชญาเลยนะครับ
จรัล มโนเพ็ชร กับการเป็นคลื่นลูกที่ 3 บนเส้นทางการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา
คลื่นลูกที่หนึ่งในกระแสการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาคือ อ.ไกรศรี นิมมานเหมินท์ ในช่วงปี 2490 ปลายๆ ท่านกลับมาจากเมืองนอก และทำหนังสือพิมพ์ ‘คนเมือง’ รณรงค์ให้คนสวมใส่ชุดพื้นเมือง และตั้งโครงการขันโตกดินเนอร์ให้คนใส่ชุดพื้นเมืองไปกินขันโตก และรณรงค์ให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คลื่นลูกที่สองคือ หลังจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้วในปี พ.ศ. 2507 เริ่มมีอาจารย์ที่เป็นคนเมืองเริ่มทำการสอนประวัติศาสตร์ล้านนา อาจารย์กลุ่มนี้ไปเรียนการอ่านการเขียนตั๋วเมือง แล้วก็ไปพบคำว่า ‘ล้านนา’ ที่มีไม้โทจารึกอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์หนึ่ง ทำให้เราภูมิใจมาก เพราะนี่คือหลักฐานว่าเราคือ ‘ล้านนา’ ขัดแย้งกับสิ่งที่รัฐบาลกรุงเทพฯ บอกมาตลอดว่าเราเป็น ‘ลานนา’ เป็น ‘ลานนาไทย’ และเราค้นพบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
คลื่นลูกที่สามคือ อ้ายจรัล มโนเพ็ชร ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 ที่ทำให้บทเพลงคำเมืองดังผ่านวิทยุทั่วประเทศ ซึ่งในช่วงนั้นถือว่าทั้งการขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมผ่านเพลงของอ้ายจรัล และหนังสือตำราวิชาการต่างๆ ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน มันเลยมีความหนักแน่น ซึ่งตอนนั้นก็มีศิลปินคำเมืองขึ้นมาหลายราย แต่ดังที่สุดคืออ้ายจรัล เพราะแกทำให้คนเมืองดังไปทั่วประเทศ
จนถึงปี พ.ศ. 2538 ก็เกิดคลื่นลูกที่สี่ตามมา คือมีนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เขียนหนังสือเกี่ยวกับล้านนามากขึ้น อย่างผมก็เขียนหนังสือชื่อ ‘มาจากล้านนา’ อ.สุรพล ดำริห์กุล เขียนหนังสือชื่อ ‘แผ่นดินล้านนา’ อ.สรัสวดี อ๋องสกุล เขียนหนังสือชื่อ ‘ประวัติศาสตร์ล้านนา’ ในปี พ.ศ. 2529 ผมเขียนหนังสือเรื่อง ‘เชียงใหม่ 700 ปี’ เป็นหนังสือเล่มแรกที่มีตั๋วเมืองขึ้นหน้าปก เพื่อบอกว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะฉลองเมืองเชียงใหม่มีอายุ 700 ปี และก่อนหน้านี้ ถึงจะมีคำว่า ‘ล้านนา’ แต่ก็ถูกใช้เป็น ‘ล้านนาไทย’ อยู่ดี เรื่องนี้ผมหักเลย ผมออกมาบอกว่า ล้านนา ก็คือ ล้านนา ไม่มีล้านนาไทย ล้านนาลาว ล้านนาพม่า ไม่ต้องมีคำอื่นตาม
พอผมเขียนในปี 2529 ว่าอีก 10 ปี เชียงใหม่จะมีอายุ 700 ปี คนก็เอาตาม มีการรณรงค์ มีการเตรียมงาน และอ้ายจรัลก็ได้แต่งเพลงในโอกาสนี้ด้วย นั่นคือเพลง ‘ล้านนา’
ทำไมถึงยังไม่มีจรัล มโนเพ็ชร คนที่สองบนแผ่นดินล้านนา?
เป็นคำถามที่ดีนะครับ ผมคิดว่าอ้ายจรัลเป็นคนเก่งมาก เพราะเกิดในครอบครัวศิลปิน เล่นดนตรีเก่ง แต่งเพลงเก่ง ตัวตนของอ้ายจรัลก็เป็นคนเสียงดี หน้าตาดี แล้วถ้าสังเกตดูจะเห็นว่าเพลงของแกครึ่งหนึ่งเป็นคำเมือง ครึ่งหนึ่งเป็นภาษาไทย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าผู้จัดการก็ต้องมองเรื่องของการตลาด เพราะคงกลัวคนภาคอื่นจะเบื่อ ซึ่งผมคิดว่าเป็นคงเป็นสิ่งที่นายทุนกำหนดไว้ว่าคำเมืองครึ่งหนึ่ง-ไทยกลางครึ่งหนึ่ง ทีนี้พอนักร้องเพลงคำเมืองรุ่นหลังๆ จะร้องเพลงแบบอ้ายจรัล ผมคิดว่าด้วยความลึกซึ้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงหน้าตารอยยิ้ม คนรุ่นหลังยังมีไม่เท่าที่อ้ายจรัลมี อ้ายจรัลตั้งมาตรฐานไว้สูง ซึ่งเพลงคำเมืองรุ่นหลังๆ ก็สนุกในแบบของเขา แต่ว่าการแสดงออกในเรื่องอุดมการณ์ของศิลปินรุ่นหลังก็ไม่ชัดเจนและแนบเนียนเท่าอ้ายจรัล
อ้ายจรัลเป็นคนที่มีมหาวิทยาลัยเป็นของตัวเองคือพ่อของแก (พ่อสิงห์แก้ว มโนเพ็ชร) ที่เป็นคนเก่งมาก แกก็เลยมีความรู้เรื่องพื้นเมืองดีไปด้วย ในขณะที่การศึกษาไทยไม่ได้ส่งเสริมเรื่องท้องถิ่น เรื่องประวัติศาสตร์ล้านนา แล้วถามว่าใครจะมีองค์ความรู้เรื่องล้านนาอย่างที่แกมี อย่างผมรู้เรื่องประวัติศาสตร์ล้านนาเพราะผมอ่านหนังสือคนเดียว แต่ผมไม่มีเลือดศิลปิน ผมก็แต่งเพลงคำเมืองไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ ใจถึงแต่ฝีมือไม่ถึง ซึ่งผมคิดว่าระบบการศึกษาของบ้านเราไม่สามารถผลิตคนแบบอ้ายจรัลได้ วิชาประวัติศาสตร์ล้านนาก็เป็นวิชาเลือกในมหาวิทยาลัย คุณรู้มั้ย ทุกวันนี้นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปีหนึ่งมีเป็นหมื่นคน มีคนเรียนวิชาประวัติศาสตร์ล้านนาที่วิชาเลือกอยู่ในคณะมนุษย์ศาสตร์ประมาณ 20 คน มันเลยไม่มีทางที่จะผลิตคนแบบจรัล มโนเพ็ชร ขึ้นมาได้อีก
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าก็คงมีคนที่อยากทำเพลงคำเมืองให้มีความพื้นเมืองจัดๆ แบบอ้ายจรัลเหมือนกัน แต่ถามว่าใครจะมาเป็นนายทุนให้คุณ ความจริงแล้วหลังยุคอ้ายจรัล ผมคิดว่าควรเป็นยุคของตลาดในท้องถิ่นเอง ไม่ต้องไปดังที่กรุงเทพฯ แล้ว ดังที่บ้านเราเลย ผลิตเทปออกมาก็ขายให้คนบ้านเราเลย แต่ก็ปรากฏว่าไม่มีใครมาสนับสนุน ซึ่งผมคิดว่าคงเพราะไม่มีกลุ่มทุนธุรกิจมาหนุนให้มันเกิดขึ้น
แต่ตอนนี้ ดนตรีจากค่ายเพลงเล็กๆ จากท้องถิ่นก็กำลังกระชับพื้นที่เข้าสู่ศูนย์กลางมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างจากเพลง ‘คำแพง’ ที่ในวันนี้มียอดวิวใน YouTube สูงถึง 440 ล้านวิวเข้าไปแล้ว ปรากฏการณ์นี้กำลังบอกอะไรเรา?
ถึงไม่มีศิลปินแบบอ้ายจรัลแล้ว แต่ก็ยังมีศิลปินท้องถิ่นอย่าง ปฏิญญา ตั้งตระกูล, คำหล้า ธัญยพร, กระแต อาร์สยาม หรือศิลปินคนอื่นๆ ก็ดังอยู่ตรงโน้นตรงนี้ตลอด โดยมีเพลงของอ้ายจรัลที่เปิดซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นตัวยืนอยู่แล้ว เพลงอีสานก็ดังไม่หยุดยั้ง เพลงใต้ก็ดังขึ้นมาทีหลัง นี่คือความเป็นท้องถิ่นนิยม และ 5-10 ปีมานี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตก็เข้ามามีส่วนสำคัญ ทำให้ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องฟังเพลงจากกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียวแล้ว เทคโนโลยีเลยเข้ามามีส่วนสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่นทีละน้อยๆ อย่างผมนี่เชยไปเลย เพราะอย่าง ‘คำแพง’ ผมยังไม่ได้ฟังเลย จริงๆ เปิด YouTube ก็ได้ฟังแล้ว
แต่มันก็ยังมีปัญหาสองเรื่องก็คือ รัฐไม่ยอมรับการกระจายอำนาจ ไม่ยอมรับความเข้มแข็งของท้องถิ่น ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐไม่ยอมปรับปรุงระบบการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น แต่งว่า (แสร้งว่า) มีปณิธานมหาวิทยาลัยข้อที่ 4 ทำนุบำรุงส่งเสริมท้องถิ่น ก็มีแต่เอาละอ่อนมาฟ้อน แต่งตัวชุดพื้นเมือง ป้ายต่างๆ ก็มีตั๋วเมือง ซึ่งเอาไว้อวดเฉยๆ แต่ไม่มีสาระอะไรเลย แค่เอาไว้อวด ไว้เรียกทีวีมาถ่าย แต่การศึกษาเกี่ยวกับท้องถิ่นก็ยังเหมือนเดิม เพราะถูกส่วนกลางดูดกลืนความคิดไปมาก คนเมืองเราเลยอ่อนแอไป อ้ายจรัลเป็นคนที่จุดประเด็นขึ้นมา แต่ก็ไม่ได้ไปไหนไกลมาก เพราะระบบส่วนกลางเข้มแข็งมาก
สุดท้ายแล้ว การนำศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาทำให้เป็นสินค้าคือหนทางหนึ่งในการรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรม หรือ เป็นการทำลายความจริงแท้ของศิลปะพื้นถิ่น ซึ่งเราควรให้น้ำหนักกับอะไรมากกว่ากัน?
ระบบการผลิตในปัจจุบันเป็นระบบทุนนิยมที่ต้องหากำไร ซึ่งการทำกำไร คุณก็ต้องทำให้เป็นสินค้า มันถึงขายได้ มันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นแบบนี้อยู่แล้วโดยธรรมชาติของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทีนี้ ถ้าเราไม่ทำให้มันเป็นสินค้า ผมว่าก็คงยาก เพราะคุณทำออกมาแล้วคุณจะไปเผยแพร่ที่ไหน คุณต้องมีเงินมหาศาลเลยนะ อย่างความฝันของผมเนี่ย ผมอยากตั้งมหาวิทยาลัยบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ตั้งสู้กับ มช. เลย และผมจะไม่ทำให้มันเป็นสินค้า แต่ปัญหาก็คือผมไม่มีสตางค์จะทำไง
แต่พอสังคมมันเป็นแบบนี้ เราก็ต้องทำตามระบบของสังคมคือทำให้มันเป็นสินค้า แต่เราต้องทำให้มีคุณภาพดี และไม่แพง จะได้ขายได้เยอะๆ ไม่ใช่ทำเพื่อเอากำไรจนแหมะฮาก (สูงมาก) จนคนซื้อไม่ไหว อีกด้านหนึ่งเราต้องรณรงค์ให้ระบบการศึกษามันตระหนักถึงเรื่องของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้น ให้มันเป็นการเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ และถ้าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น การศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่นก็เกิดมากขึ้นโดยอัตโนมัติ สมมติว่า มีผู้ว่าราชการจังหวัดจากการเลือกตั้งเป็นคนบ้านเรา เขาก็ต้องลงมาทำเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะเขาต้องรับใช้ท้องถิ่น
นี่คือความเป็นจริงของสังคมที่เราต้องยอมรับว่า รัฐทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอด้วยระบบการศึกษาแบบนี้ แล้วเดี๋ยวนี้พอทำอะไรเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นออกมาแล้วคนก็จะวิจารณ์น้อย ร้องเพลงคำเมืองผิดๆ ถูกๆ คนก็ไม่รู้หรอก และวัฒนธรรมท้องถิ่นจะลำบากไปเรื่อยๆ สิ่งที่เป็นความหวังตอนนี้ก็คือสื่อออนไลน์ แต่มันก็ไปโผล่ตรงนู้นทีตรงนี้ที มันยังสามารถรวมพลังกันได้ นอกจากต้องมีคนเก่งมากๆ แบบอ้ายจรัลออกมา ซึ่งนานๆ มันก็จะมีซักคนหนึ่ง