งานสัปดาห์หนังสือรอบนี้ (ตุลาคม พ.ศ.2562) ดูเหมือนว่าจะเงียบเหงา หนอนหนังสือดูจะบางตาเป็นพิเศษ คงเป็นเพราะสถานที่จัดใหม่คือเมืองทองธานีโอ่อ่ากว้างขวางจนทำให้ผู้คนไม่เบียดเสียดอย่างที่เคยจัดศูนย์สิริกิติ์ และเพราะยังไม่มีรถไฟฟ้ารถไฟใต้ดินไปถึง ก็เลยทำให้ใครหลายคนขี้เกียจเผชิญกับคมนาคมขนส่งอันเลวร้ายแบบกรุงเทพๆ
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีหนังสือออกใหม่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ
ท่ามกลางนิยาย LGBTQ นิยายวาย นิยายยูริ (ในกรณีที่ใช้เพศสภาพเพศวิถีตัวละครหลักจัดแบ่งประเภทนิยาย) แฟนฟิคที่ออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ก็พัฒนาไปไกลถึงขั้นโรแมนติกแฟนตาซี ยูริผสม beasty verse อย่างเรื่อง Lamia Creed ทาสอสรพิษ ที่เป็นเรื่องเซ็กซ์ระหว่างมนุษย์กับครึ่งคนครึ่งงู อารมณ์นาคีแบบยูริสายดาร์ก กลายเป็นอีกรสนิยมทางวรรณกรรมที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับรสนิยมทางเพศเสมอไป
แม้ประเภทของนิยายไม่ควรถูกแบ่งด้วยเพศสภาพเพศวิถีของตัวละครหลัก เหมือนเป็น ‘นิยายเกย์’ ‘นิยายเลสเบี้ยน’ แยกออกมาจาก ‘นิยาย’ (ที่หมายถึงตัวละครหลักเป็นรักต่างเพศ) เพราะนั่นเท่ากับว่าความรักเพศเดียวกันเป็นอะไรที่ไม่ปรกติ และเพศวิถีเพศภาพก็ลื่นไหลได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าวรรณกรรมหลายเรื่องตั้งใจเล่าเรื่องวิถีชีวิตกามารมณ์ของคนรักเพศเดียวกัน รวมทั้งสร้างอรรถรสแบบ homoeroticism เพื่อจะบอกว่ามันต่างไปจากของชายหญิงรักต่างเพศ
วรรณกรรมประเภทนี้ครั้งหนึ่งไปกระจุกอยู่ในนิตยสารเกย์ ที่นอกเหนือจากจะมีภาพถ่ายหนุ่มหล่อโป๊ๆ เปลือยๆ แล้ว ยังอุดมไปด้วยนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแต่งเล่าถึงชีวิตเกย์ บทความสารคดี ประสบการณ์เสียว นิตยสารเกย์เฟื่องฟูเป็นที่นิยมอ่านกันมากในหมู่เกย์กระฎุมพีไทยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ไล่มาถึง 1990 เช่นนิตยสารมิดเวย์ (พ.ศ. 2529-2544) มิถุนาจูเนียร์ (เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2527 ก่อนจะตัด ‘จูเนียร์’ ออกจากชื่อไปในปี พ.ศ. 2529 เหลือเฉพาะ ‘มิถุนา’ จำหน่ายถึง พ.ศ. 2540) มรกต (พ.ศ. 2528-2541) นีออน (พ.ศ. 2527-2539) จนถือได้ว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของสิ่งพิมพ์เกย์ มีการรวมเล่มเรื่องสั้นจากนักเขียนหลายคนที่เคยตีพิมพ์ลงนิตยสารเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค เช่น หน้ากากชีวิต (พ.ศ. 2534)
Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ (2562) โดยนามปากกา กวีวัธน์
ก็เป็นอีกนิยายเรื่องสั้นที่ต้องการสร้างอรรถรสและเล่าถึงชีวิตรักของเกย์
ที่ออกมาใหม่ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือเมืองทองธานี เป็นการรวบรวมเรื่องราวความสัมพันธ์ขมๆ 13 เรื่อง ความรักข้างเดียว การเป็นส่วนเกิน คำลวง การเก็บงำความรู้สึกทั้งรักและไม่รัก การร่วมรัก ความกำหนัดและความกระสันรัญจวน ที่ได้กลายเป็นความทรงจำและสิ่งประกอบสร้างบุคลิกของตัวละคร
ด้วยความที่ตัวละครเอกของเรื่องทั้ง 13 เหมือนเป็นคนเดียวกันหมด เพียงแต่เปลี่ยนชื่อผู้เล่า ช่วงเวลาและสถานที่ให้ต่างกันออกไป จึงเสมือนบันทึกความทรงจำของคนที่เคยมีความรัก หรือบันทึกถึงคนรักเก่า ที่ชวนให้เราหันมาสำรวจอดีตความสัมพันธ์ ความรักความใคร่ครั้งเก่าของเราเองว่า มันทำหน้าที่ประกอบสร้างตัวตนของเราอย่างไร
เพราะความทรงจำมักกระจัดกระจายอยู่ทุกอณูชีวิต ตั้งแต่เตียงนอนที่เราลืมตาขึ้นมาในแต่ละวัน ถนนหนทางลูกรัง รถเข็นส้มกับผลส้มเหี่ยวๆ ใบต้นหูกวาง กล้องฟิล์ม เก้าอี้พลาสติกในศาลาวัด ไฟล์ในคอมพิวเตอร์ สีของท้องฟ้าใกล้พลบค่ำ รสชาคาโมมายล์ กลิ่นปาก กลิ่นกางเกงกีฬา เซ็กซ์ครั้งแรก เซ็กซ์ครั้งล่าสุด และเจลหล่อลื่นอันเหนอะหนะ
Tangerine จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่ให้บรรยากาศหว่องๆ ยามเย็น ระหว่างการรอขึ้นรถตู้อันแสนเชื่องช้า เพื่อจะกลับบ้านจากงานสัปดาห์หนังสือ
ทั้งบรรยากาศและบาดแผลของตัวละครที่มีมากกว่านิยายพาฝัน อารมณ์เปลี่ยวแกมเศร้า กึ่งหงี่กึ่งเหงา ตั้งแต่การรักคนมีเจ้าของ การรอคอยคนรักติดต่อมา กายสัมผัสของชายต่างวัย การสำเร็จความใคร่ด้วยมือลับๆ กับลูกเพื่อนพ่อใต้ผ้าห่ม ไปจนถึงเซ็กส์หมู่ที่ยกโขยงเอากันถึง 7 คน เท่าจำนวนนางสงกรานต์ ยังชวนให้ผู้อ่านวัยนึงย้อนกลับไปคิดถึงเรื่องสั้นอมทุกข์และประสบการณ์เสียวสมัยแอบอ่านนิตยสารโป๊เกย์ทศวรรษ 1980 -1990
เหมือนได้ย้อนกลับไปงานสัปดาห์หนังสือสมัยที่ยังจัดในสวนลุมพินี ท้องสนามหลวง คุรุสภา หรือศูนย์สิริกิติ์สมัยที่ยังไม่มีรถไฟใต้ดิน แม้ว่าข้าวของเครื่องใช้สาธารณูปโภคอย่าง โน๊ตบุ๊ก สมาร์ตโฟน อิโมติคอน แอพพลิเคชั่นหาคู่ รถไฟฟ้า ร้านสะดวกซื้อ และสำบัดสำนวนในบทสนทนาจะย้ำเตือนให้เราอยู่กับยุคมัยปัจจุบันก็ตาม
เช่นเดียวกับการรับมือกับสภาวะอกหักของตัวละคร
ขณะที่วรรณกรรมเรื่องราวของเกย์ในอดีตเต็มไปด้วยทุกข์ระทม ‘บัลลังก์ใยบัว’ (พ.ศ. 2516) และ ‘ประตูที่ปิดตาย’ (พ.ศ. 2517-2518 ในนิตยสารสตรีสาร) โดยนามปากกา กฤษณา อโศกสิน ที่เป็นรักที่ต้องปกปิดหลบๆ ซ่อนๆ หลอกลวงจนน่าเวทนา ‘สวรรค์ปิดชีวิตเกย์’ (ลงนิตยสารสาวสวย รวมเล่มปี พ.ศ. 2531) โดยนามปากกา จริต มายา, ‘ซากดอกไม้’ (พ.ศ. 2539) โดยวีรวัฒน์ กนกนุเคราะห์ เหมือนหนังในช่วงเวลาเดียวกันเช่น ‘เพลงสุดท้าย’ (พ.ศ. 2528) ที่เล่าโศกนาฏกรรมกะเทยนางโชว์นาม สมหญิง ดาวราย ที่จบชีวิตลงด้วยการยิงตัวตายคาเวที หนังเรื่องนี้ประสบผลสำเร็จทำรายได้ท่วมท้นจนมีภาคต่อคือ ‘รักทรมาน’ (พ.ศ. 2530) ในปีเดียวกันก็มีหนังเรื่อง ‘ฉันผู้ชายนะยะ’ (พ.ศ. 2530) และหนังที่เล่าถึงเลสเบี้ยน ‘พิศวาท’ (พ.ศ. 2530) ที่ทั้งหมดไม่มีตัวละครใดเลยจะสมหวังในรัก ซ้ำยังต้องจมดิ่งอยู่ในห้วงทุกข์
ในช่วงเวลานั้น เกย์ในวรรณกรรมจึงกลายเป็นเพศที่โหยหาความสมหวังในรักที่ไม่มีทางเป็นไปได้ และลงท้ายด้วยการอกหักเสมอ ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องลงคอลัมน์ปรึกษาระบายปัญหาชีวิต (agony column) ชื่อ ‘ชีวิตเศร้าชาวเกย์’, ‘ชีวิตเศร้า’ หรือ ‘ระเบียงรักสีม่วง’ ในนิตยสารแปลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ก่อนจะรวมเล่มเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คชื่อ ชีวิตเศร้าชาวเกย์ (พ.ศ. 2521) เพื่อให้ปลงตก เป็นอุทาหรณ์สอนใจเก้งว่า อย่าริรักเพศเดียวกัน แต่จงกลับตัวกลับใจไปรักต่างเพศซะ ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่กับความอกหักไปตลอด เดี๋ยวถูกผู้ชายหลอกบ้าง หนีไปแต่งงานบ้าง ถูกนอกใจบ้าง เพราะรักของเกย์ฉาบฉวยประเดี๋ยวประด๋าว
ทว่าความเชื่องช้ำเปล่าดายในความสัมพันธ์ของ Tangerine ไม่ได้เกิดจากสังคมรักต่างเพศนิยมบีบบังคับกีดกันหรือสาปส่ง หากแต่เกิดเพราะการตัดสินใจของตัวละครเอง พวกเขาในเรื่องต่างไม่ได้โหยหาความรักความเมตตา ไม่มาฟูมฟายตีอกชกหัวเหมือนในภาพตัวแทนเกย์ตามวรรณกรรมหนังละครยุค 80s-90s เพื่อให้ใครมาเห็นใจเวทนาสงสาร
เท่ากับว่า กวีวัธน์ได้ปฏิวัติสภาวะอกหักของเกย์ให้มันเป็นแค่
เรื่องราวชีวิตรักที่เกิดอีกครั้ง ที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป
หรือเราเป็นผู้ตัดสินใจ เป็นผู้เดินออกมาเอง และเอาเข้าจริงไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใดก็ทุกข์ได้ ความรักไม่ว่าจะของคนรักเพศเดียวกันหรือต่างเพศก็ผิดหวังได้ทั้งนั้นแหละ ด้วยเหตุนี้บางสถานการณ์บางตอน ชายหญิงรักต่างเพศเองก็คงเคยเจอะเจอเช่นนกัน ไม่ว่าจะเป็นแอบรักข้างเดียว โดนหลอก นอกใจ ปันใจ เจอคนที่ไม่ใช่ หรือกลายเป็นคนที่ไม่ใช่
ผู้เขียนจึงระบายสีเรื่องราวต่างๆ ทั้ง 13 เรื่องให้เป็นสีส้มแก่หม่นๆ เหมือนท้องฟ้าโพล้เพล้ผีตากผ้าอ้อม ที่พร้อมจะมืดลงแล้วสว่างอีกครั้งพร้อมกับแสงอรุณรุ่งของวันใหม่ ไม่ใช่สีม่วงช้ำเลือดช้ำหนองที่เอามาป้ายสีเกย์ให้เป็นสัญลักษณ์ของความผิดหวังชอกช้ำระกำทรวง ทั้งเป็นการส่วนตัวที่ถูกชายคนรักทอดทิ้ง รวมถึงถูกโครงสร้างรักต่างเพศนิยมทำร้ายอย่างที่ผ่านมา เหมือนกับที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ของ หนังสือ หน้ากากชีวิต กล่าวว่าที่รวมเล่มก็เพื่อต้องการให้เห็นว่าความเป็นเกย์มันแสนจะขมขื่นกับความรู้สึกที่ต้องถูกสังคมกีดกันและไม่ยอมรับ ซ้ำยังถูกผู้ชายเสแสร้งทำเป็นรักและมีเบื้องหลังอยู่เสมอเหมือนสวมหน้ากากอยู่ พร้อมกับอวยพรให้เกย์ผู้อ่านมีรักที่สมหวัง[1]
และในความหม่นๆ ช้ำๆ และเปล่าดายของ Tangerine ก็ใช่ว่าตัวละครจะตกเป็นเหยื่อเพียงคนเดียว เพราะต่างก็เป็นผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ ขณะที่เกิดความทรงจำและรอยช้ำในใจ พวกเขาบางคนก็ได้ฝากร่องรอยนั้นให้กับใครอีกคนเช่นกัน
และที่สำคัญ Tangerine สอนให้รู้ว่า รักของเกย์ที่มันไม่สมหวัง ไม่ใช่เพราะมันไม่มีอยู่จริง ไม่จีรังยั่งยืน หากแต่ที่มันไม่สมหวังนี่แหละที่ทำให้มันเป็นรักนิรันดร์ เพราะการที่พลัดพรากห่างไกลออกไปจนมองไม่เห็น มันจึงไม่ถูกมองข้ามเหมือนคู่รักที่อยู่ด้วยกัน และการที่มันไม่ได้เติมเต็มให้แก่กันก็ทำให้ต้องโหยหาอยู่ตลอดเวลากันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] รวมเรื่องสั้นชุด “หน้ากากชีวิต”. กรุงเทพ : เมน’ส คลับ, 2534.