มิเป็นการเกินเลยแน่แท้ ถ้าจะเอ่ยว่าตลอดอายุ 30 ปีของผมนั้น ภาพยนตร์แสนรักอันตราตรึงหทัยเสมอมาไม่เสื่อมคลายย่อมได้แก่ ‘Taste of Cherry’ ผลงานของผู้กำกับชาวอิหร่านนามอับบาส เคียรอสตามี (Abbas Kiarostami) ซึ่งครั้งแรกสุดที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมเพิ่งจะอายุเต็ม 20 ปี
ช่วงเดือนมกราคม คริสต์ศักราช 2020 พลันเกิดกระแสสนใจความรู้เกี่ยวกับอิหร่านครามครัน คงน่าจะเหมาะหากนำเสนอถึงผลงานภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากประเทศอิหร่าน
‘Taste of Cherry’ หรือ ‘Ta’m e Guilass’ ออกฉายในปีคริสต์ศักราช 1997 ประสบความสำเร็จอย่างมากและคว้ารางวัลชนะเลิศปาล์มทองคำ (Palme d’Or) จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปีนั้น อับบาส เคียรอสตามี ถ่ายทอดความสามัญแห่งมนุษย์อย่างเรียบง่ายและลงตัว แม้ช่วงต้นๆ ชวนเหนื่อยหน่าย เพราะดำเนินเรื่องแช่มช้าอืดอาด แต่กลับค่อยๆ ปลุกเร้าความใคร่รู้และดึงดูดให้ผู้ชมค้นหาว่า เหตุไฉนรสชาติลูกเชอร์รี จึงมีบทบาทต่อสภาวะที่มนุษย์เผชิญการตัดสินใจในชั่วขณะสำคัญของชีวิต
‘Taste of Cherry’ เปิดเรื่องที่มิสเตอร์บาดี (Mr.Badii) ชายชาวอิหร่านวัยกลางคนขับรถยนต์เรนจ์โรเวอร์ (Range Rover) ไปทางตอนเหนือของกรุงเตหะราน รถแล่นตามถนนบนเนินเขาเลี้ยวลดคดเคี้ยวและฟุ้งฝุ่น มิสเตอร์บาดีปรารถนาชวนใครสักคนมาทำงานให้ตน เขายินดีจ่ายเงินจำนวนมากถึง 200,000 โทมันส์ (Tomans คือ สกุลเงินตราของอิหร่าน) หากใครคนนั้นทำสำเร็จ ชายวัยกลางคนหยุดรถถามชายหนุ่มคนหนึ่งที่เพิ่งเดินมาจากตู้โทรศัพท์ว่าจะทำงานให้เขาได้หรือไม่ ชายหนุ่มปฏิเสธ เขาจึงขับรถต่อ แวะทักทายชายหนุ่มผู้ถือถุงพลาสติกกำลังเก็บของเก่าจะนำไปขายโรงงานรีไซเคิล เอ่ยคำถามเดิมและได้รับการปฏิเสธอีกหน
มิสเตอร์บาดีขับรถไปเรื่อยๆ จนเจอทหารหนุ่มขี้อาย เขาเลยรับขึ้นรถ อาสาไปส่งที่ค่ายทหาร และชวนพูดคุยถึงเรื่องต่างๆ ทราบความว่าทหารหนุ่มมาจากคูดิซทาน (ถิ่นฐานชาวเคิร์ดในอิรัก) ชายวัยกลางคนเสนอให้คนหนุ่มช่วยทำงานให้ ทหารชาวเคิร์ดปฏิเสธเพราะเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมืองและวิงวอนให้ขับรถกลับไปส่งที่ค่าย แต่ชายวัยกลางคนไม่เลิกโน้มน้าว ทหารหนุ่มจึงเปิดประตูลงรถวิ่งหนี
มิสเตอร์บาดีขับรถมาจอดที่เหมืองซีเมนต์ ทักทายกับคนเฝ้าเหมืองซึ่งเป็นพวกอัฟกานี (Afghani) ที่ลี้ภัยเข้ามาในอิหร่านและชักชวนไปนั่งรถเล่นพูดคุยคลายความเหงา คนเฝ้าเหมืองปฏิเสธ แต่ชี้ไปยังชายผู้นั่งอยู่ด้านข้างถนนใกล้ๆ ต้นไม้ แนะนำว่าเป็นญาติของตน อีกทั้งเป็นศิษย์โรงเรียนสอนศาสนา ให้ลองชวนดู ถ้อยสนทนาบนรถยนต์เรนจ์โรเวอร์เผยว่าศิษย์โรงเรียนสอนศาสนาหนีภัยสงครามมาจากอัฟกานิสถานและกำลังต้องการหางานทำ มิสเตอร์บาดีฉวยโอกาสยื่นข้อเสนอ แน่นอน เขาถูกปฏิเสธ ศิษย์โรงเรียนสอนศาสนาพยายามยกพระคัมภีร์อัลกุรอานและเรื่องบาปกรรมมาโน้มน้าวชายวัยกลางคน ยืนยันหนักแน่นจะไม่ยอมทำงานให้เป็นอันขาด
ที่ผมเขียนเล่า คุณผู้อ่านไม่เคยชมภาพยนตร์คงขมวดคิ้วกังขา
ตกลงงานที่มิสเตอร์บาดีเพียรเสนอใครๆ คืออะไรกันแน่?
ครับ มิสเตอร์บาดีวางแผนจะฆ่าตัวตายในคืนวันนั้น เขาขับรถพาทหารหนุ่มและศิษย์โรงเรียนสอนศาสนาไปดูหลุมฝังศพที่เขาขุดไว้บนเนินเขา ชายวัยกลางคนตั้งใจกินยานอนหลับแล้วมานอนตรงหลุมฝังศพนี้ งานที่จะให้ช่วยทำก็แค่มาเรียกเขาสองครั้งตอนเช้าวันรุ่งขึ้นเวลา 06.00 น. หากเขาไม่ตื่น จงกลบดินฝังเขาเสีย แล้วนำเงินในกระเป๋าท้ายรถจำนวน 200,000 โทมันส์ไปได้เลย
หลังจากมิสเตอร์บาดีย้อนมาส่งศิษย์โรงเรียนสอนศาสนาที่เหมืองซีเมนต์ เขาขับรถมาจอดตรงจุดหนึ่งในเขตเหมือง นั่งพักกลางดงฝุ่นสักครู่ เขาได้พบชายหน้าย่น หนวดและผมสีขาวชื่อว่ามิสเตอร์บาเกรี (Mr.Bagheri) ทั้งสองนั่งรถไปด้วยกัน สนทนากัน ชายผมขาวเป็นชาวอาเซอรี (Azeri ถิ่นฐานอยู่บริเวณตอนเหนืออิหร่านและในอาเซอร์ไบจาน) ทำงานในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปฏิบัติหน้าที่เรียกว่า ‘taxidermist’ หรือนักสตัฟฟ์สัตว์ ซึ่งเป็นผู้ทำสัตว์ที่ตายแล้วให้เหมือนยังมีชีวิตอยู่โดยอาศัยวิธียัดไส้และเย็บ (ดูเหมือนในหนังคือนกกระทา) เพื่อใช้ในการทดลองของนักเรียน มิสเตอร์บาเกรีกำลังต้องการเงินเพื่อไปรักษาลูกชายที่ป่วยหนัก มิสเตอร์บาดีจึงยื่นข้อเสนอ ชายชาวอาเซอรีตกลงรับทำงาน สัญญาจะกลบดินฝังศพให้ ขณะเดียวกันก็เริ่มพรั่งพรูเรื่องราวหล่นลงมาจากริมฝีปาก
“ผมจะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวผมให้ฟัง มันเกิดขึ้นหลังจากผมแต่งงานไม่นานนัก เราต่างก็มีปัญหากันทุกรูปแบบ ผมชักเอือมระอากับมัน เลยตัดสินใจว่าจะยุติมันซะให้หมด เช้ามืดวันหนึ่ง ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ผมหยิบเชือกมาไว้ในรถ ผมตั้งใจไว้แล้วว่าอยากจะฆ่าตัวตาย ผมจึงเดินทางไปเมียเน่ห์ เรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 1960 ผมไปถึงสวนต้นหม่อน ผมจอดรถที่นั่น ตอนนั้นยังมืดอยู่ ผมโยนเชือกขึ้นไปบนต้นไม้ แต่มันเกี่ยวไม่อยู่สักที ผมลองหนหนึ่ง, หนสอง แต่ไร้ผล เพราะฉะนั้นผมเลยปีนขึ้นต้นไป แล้วมัดเชือกจนแน่น ตอนนั้นผมรู้สึกว่ามีอะไรนุ่มๆ ใต้ฝ่ามือผม ลูกหม่อนนั่นเอง ลูกหม่อนหวานฉ่ำ ผมกินไปลูกหนึ่ง มันหวานฉ่ำจริงๆ ต่อมาก็ลูกที่สอง แล้วก็ลูกที่สาม ทันใดนั้นผมก็เห็น พระอาทิตย์กำลังโผล่ขึ้นเหนือยอดเขา ทั้งพระอาทิตย์ ทั้งทิวทัศน์ ทั้งพฤกษชาติ ช่างงดงามอะไรอย่างนี้ จู่ๆผมก็ได้ยินเสียงเด็กๆ มุ่งหน้าไปโรงเรียนกัน พวกแกหยุดดูผม พวกแกขอให้ผมเขย่าต้นหม่อนให้ ลูกหม่อนร่วงลงไป แล้วพวกเด็กๆ ก็เก็บกิน ผมรู้สึกเป็นสุขมากๆ เลย เสร็จแล้วผมเลยเก็บลูกหม่อนเอากลับบ้าน เมียผมยังหลับอยู่ พอเธอตื่น เธอเลยกินลูกหม่อนเข้าไปเหมือนกัน แถมเธอยังชอบมันซะด้วยสิ ผมจากบ้านไปฆ่าตัวตาย แต่ดันกลับมาพร้อมลูกหม่อน ลูกหม่อนช่วยชีวิตผมไว้ ลูกหม่อนช่วยชีวิตผมไว้”
(ถ้อยความจาก Subtitle ภาษาไทยของภาพยนตร์ ซึ่งแปล cherry เป็นลูกหม่อน อนึ่ง ผมได้ดูหนังเรื่องนี้โดยมี Subtitle ภาษาไทยจากแผ่น DVD ของร้านเฟม วีดีโอ ท่าพระจันทร์ในตำนาน)
มิสเตอร์บาดีแวะส่งมิสเตอร์บาเกรีที่พิพิธภัณฑ์ เน้นย้ำอีกครั้งเรื่องงานพร้อมบอกให้ชายชาวอาเซอรีเอาเงินในกระเป๋าไปก่อน แต่ชายหน้าย่นผมขาวไม่ยอมรับเงินจนกว่าจะทำงานเสร็จสิ้น มิสเตอร์บาดีขับรถแล่นต่อ ทว่าเกิดความรู้สึกบางอย่างในใจ จึงขับรถย้อนกลับไปพิพิธภัณฑ์ เขาบอกกับชายชาวอาเซอรี เช้าวันรุ่งขึ้น ถ้าเรียกสองครั้งแล้วเขาไม่ตื่น ให้โยนหินใส่เขาสักสองครั้งก่อน บางทีเขาอาจจะตื่นขึ้นมาได้ มิสเตอร์บาเกรีบอกว่าจะโยนหินให้สามครั้งทีเดียว
เช้ามืด ภายหลังมิสเตอร์บาดีละหมาดเสร็จ เขาขับรถไปยังหลุมฝังศพ พายุฝนคะนอง ฟ้าแลบแปลบปลาบ ชายวัยกลางคนนอนลืมตาอยู่ในหลุมฝังศพ แล้วค่อยๆ ปิดตาลง
‘Taste of Cherry’ ปิดฉากลงที่ภาพกลุ่มทหารเดินขบวนขึ้นภูเขา กล้องถ่ายภาพยนตร์ปรากฏ อับบาส เคียรอสตามี ผู้กำกับปรากฏตัว โฮมายูน เออร์ชาดี (Homayoun Ershadi) ผู้แสดงเป็นมิสเตอร์บาดีก็เดินออกมาจากหลุมฝังศพ นั่นคือฉากจบที่สร้างความพิศวงแก่ผู้ชมยิ่งนัก หรือบางทีอาจจะหมายความว่านักแสดงได้เดินออกมาจากความเป็นตัวละครในเรื่องแล้ว และเขากำลังจะดำเนินชีวิตจริงต่อไปกระมัง อย่างไรก็ดี ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสิ่งต่างๆ ให้ขบคิดตีความและแกะรอยมากมาย มิหนำซ้ำยังสะท้อนสภาพสังคมอิหร่านไว้พึงพิจารณา
ใน ‘Taste of Cherry’ เผยภูมิทัศน์กรุงเตหะรานรวมถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านผ่านสายตามองของตัวละครมิสเตอร์บาดี สภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ลำบากยากแค้น ช่างแตกต่างสิ้นเชิงกับเขาซึ่งมีฐานะดี ถนนบนเนินเขาเลี้ยวลดคดเคี้ยวฟุ้งฝุ่นแสดงนัยความเจริญยังมาไม่ถึง ขณะเดียวกัน การที่ตัวละครเอกขับรถวนไปเวียนมาตลอดเรื่องยังแสดงความรู้สึกสับสนว้าวุ่นภายในจิตใจ มองไม่เห็นทางหลุดพ้นปัญหา สังเกตต้นไม้ที่รถแล่นผ่านมีสีน้ำตาล และบางต้นก็ตายแล้ว ประหนึ่งสัญลักษณ์ความแห้งแล้งห่อเหี่ยวใจ ทว่าตอนท้ายจะเห็นฉากต้นไม้สีเขียวสื่อความสดชื่นของชีวิตที่เปี่ยมล้นความหวังจะดำรงอยู่
ตัวละครหลักๆ ที่มิสเตอร์บาดีสนทนาด้วยไม่ว่าจะทหารหนุ่ม ศิษย์โรงเรียนสอนศาสนา และมิสเตอร์บาเกรี ล้วนครองสถานะคนต่างถิ่นจากชาติอื่นที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในอิหร่าน ทหารหนุ่มเป็นชาวเคิร์ดจากอิรัก คนเฝ้าเหมืองและศิษย์โรงเรียนสอนศาสนาเป็นพวกอัฟกานีลี้ภัยจากสงครามในอัฟกานิสถาน ส่วนมิสเตอร์บาเกรีก็เป็นชาวชาวอาเซอรี เหล่านี้อาจทำให้เข้าใจว่าประเทศอิหร่านประกอบด้วยบุคคลหลากหลายเชื้อชาติ
หน้าที่การงานของมิสเตอร์บาเกรีในฐานะผู้ทำสัตว์ที่ตายแล้วให้เหมือนยังมีชีวิตอยู่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าเชื่อมโยงเข้ากับบทบาทของเขาต่อการเปลี่ยนแนวคิดมิสเตอร์บาดี แน่ล่ะ ชายวัยกลางคนเสมือนคนที่ตายไปแล้ว เพราะปราศจากความอยากมีชีวิต แต่ชายชาวอาเซอรีช่วยชุบชีวิตชีวาขึ้นมาใหม่ ทำให้เขารู้สึกเสียดายชีวิตของตนเอง เห็นได้จากตอนมิสเตอร์บาดีบอกมิสเตอร์บาเกรีว่าถ้าปลุกเขาแล้วยังไม่ตื่น อย่าเพิ่งกลบดินฝังเขาทันที ให้ลองโยนก้อนหินใส่เขาก่อน เผื่อว่าจะตื่นขึ้นมาอีก
ประเด็นที่ผมได้รับรู้จากการชม ‘Taste of Cherry’ คือคุณค่าความมีชีวิต รสชาติเชอร์รี่เปรียบเปรยถึงรสชาติการดำรงชีพต่อไป แม้อุปสรรคจะสร้างความท้อถอยและความสิ้นหวังที่จะมีลมหายใจ รสชาติลูกหม่อนช่างหวานฉ่ำเสียเหลือเกิน หวานฉ่ำจนผู้ชิมฉุกคิดได้ว่าหากมีชีวิตอยู่ต่อไปคงได้ลิ้มรสชาติหวานฉ่ำเช่นนี้อีก จึงเปลี่ยนใจจากการก่ออัตวินิบาตกรรม เพื่อชื่นชมดื่มด่ำความงดงามของชีวิตในวันถัดๆ ไป คล้ายๆ หนังของเคียรอสตามีเตือนสติว่าเราทุกคนล้วนเผชิญปัญหา เมื่อปัญหาเกิดที่ใด ก็จงแก้ปัญหาที่นั่น สอดคล้องกับเรื่องเล่าของมิสเตอร์บาเกรี
“มีชาวเติร์กคนหนึ่งไปหาหมอ เขาบอกหมอว่า ‘พอผมเอานิ้วแตะตัวเอง มันเจ็บเหลือเกิน แตะหัว ก็เจ็บที่หัว พอแตะขา มันเจ็บเหลือเกิน แตะท้อง แตะมือ มันเจ็บเหลือเกิน’ หมอตรวจเขา หลังจากนั้นก็กล่าวว่า ‘ร่างกายปรกติดี แต่นิ้วคุณหักต่างหากเล่า'”
ไม่แปลกเลยที่ผมตกหลุมรัก ‘Taste of Cherry’ ตั้งแต่แรกได้สัมผัสภาพพจน์ผ่านสายตาและเงี่ยหูฟังเสียงเล่าของตัวละคร มิหนำซ้ำ ผมยังเพียรแนะนำภาพยนตร์เรื่องนี้ให้ใครต่อใครหลายคนที่บ่นๆ เปรยๆ ว่าระทดระท้อได้ทดลองร่วมชิมรสหวานแห่งชีวิตเช่นกันตลอดหลายปีล่วงผ่าน อับบาส เคียรอสตามียังกลายเป็นผู้กำกับในดวงใจ ผมเสาะหาผลงานภาพยนตร์อีกหลายชิ้นของเขามาดื่มด่ำ (หลายเรื่องถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของเด็กๆ) ได้รับอรรถรส ความรู้ และแง่คิดเฉียบคมอันน่าประทับจิตมิรู้เลือนตราบทุกวันนี้ แม้เคียรอสตามีจะโบกมืออำโลกใบนี้ไปในวัย 76 ปีเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม คริสต์ศักราช 2016
หวนระลึกภาพยนตร์ ‘Taste of Cherry’ อันเกี่ยวข้องกับเรื่องความตายและผลไม้แล้ว ความนึกของผมบังเอิญผุดพรายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในห้วงยามมรณกรรมแห่งอดีตท่านผู้นำของเมืองไทยเยี่ยงจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมาสมทบ อาจจะเรียกเทียบเคียงชื่อหนังของอับบาส เคียรอสตามีได้ทำนองว่า Taste of Strawberry
งานเขียนของ ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท ซึ่งอวดคำโปรย “เป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มเดียวที่เขียนขึ้นในทันทีที่ข่าวอสัญกรรมของจอมพล ป. พิบูลสงครามแพร่สะพัดมาถึงเมืองไทย เขียนโดยผู้ที่ได้เข้าพบและสัมภาษณ์พันเอกอนันต์ – พลเรือตรีประสงค์ พิบูลสงคราม และคุณจีรวัสส์ ปันยารชุน เป็นคนแรก ณ บ้านซอยชิดลม” เป็นหลักฐานระบุข้อมูลดังกล่าว
ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทยทราบกันแน่ๆ ว่า จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงแก่อสัญกรรม ณ บ้านพักไม่ห่างไกลกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พุทธศักราช 2507 แต่จุดที่ผมสะดุดตาจากการเคยอ่านงานของม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์ ก็คือ ก่อนท่านจอมพลจะสูญสิ้นลมหายใจ เขาได้รับประทานสตอว์เบอร์รี ดังความที่ว่า
“ท่านผู้หญิงละเอียดได้เล่าต่อไปว่า หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้นั่งดูโทรทัศน์ชั่วครู่ แล้วก็ออกไปเดินเล่นในสวนต้นไม้ในบริเวณบ้าน ปลูกต้นไม้เล็กๆ น้อยๆอย่างที่เคยทํามาเป็นกิจวัตรเพราะ ความชอบทํา แล้วก็กลับเข้ามานั่งพักผ่อน แล้วรับประทานอาหารค่ำ เมื่อเวลาประมาณสองทุ่ม เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ จอมพล ป. ได้เรียกสตรอเบอรี่มารับประทาน ๔-๕ ผล นั่งพักอยู่สักครู่ก็เข้าห้องนอน โดยมีท่านผู้หญิงตามเข้าไปด้วย”
ระหว่างพูดคุยกันในห้องนอน จอมพล ป. บอกว่ารู้สึกใจหวิวและเจ็บหน้าอก ท่านผู้หญิงละเอียดโทรศัพท์เรียกนายแพทยประจำตัวมา ครั้นนายแพทย์มาตรวจอาการแล้ว ได้ฉีดยาบํารุงหัวใจให้หนึ่งเข็ม รอดูจนท่านจอมพลหายวาบหวิวหัวใจ จึงขอตัวกลับ
ประมาณสามทุ่ม (21.00 น.) จอมพล ป. ลุกขึ้นจะขอเข้าห้องน้ำ ส่วนท่านผู้หญิงนอนอ่านหนังสือ จนมาเอะใจอีกทีตอนเที่ยงคืน เนื่องจากจอมพลยังไม่กลับเข้ามานอน พอตามไปดูก็พบจอมพลนอนฟุบอยู่ในห้องน้ำ คิดว่าคงหลับ แต่เข้าไปปลุกจึงทราบว่าสิ้นใจเสียแล้ว ท่านผู้หญิงร้องเรียกคนใช้ให้มาช่วย โทรศัพท์ตามแพทย์พร้อมแจ้งสถานทูตไทยในกรุงโตเกียว ผลการชันสูตรศพปรากฏว่าหัวใจวาย
พิธีศพและการฌาปนกิจศพของอดีตท่านผู้นำจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
หนังสือของ ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุทให้รายละเอียดอีกว่า ย้อนไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พุทธศักราช 2506 ผู้สื่อข่าวแห่งสํานักข่าวต่างประเทศสัมภาษณ์จอมพล ป. พิบูลสงครามที่ญี่ปุ่น โดยจอมพลได้กล่าวตอนหนึ่ง
“เราและท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามจะต้องกลับประเทศไทยในวันหนึ่งแน่ เพราะเรามีแผนการอยู่แล้ว ส่วนจะกลับเมื่อใดนั้น อยู่ที่สถานการณ์ในประเทศได้เปลี่ยนแปลงใหม่ และให้การต้อนรับแก่ข้าพเจ้าด้วยดีแล้ว”
แต่มิทันได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน ก็สูญสิ้นลมปราณเสียก่อน
ความตายหรือความ ‘นอนแน่’ ย่อมเป็นความแน่นอนที่มนุษย์ทุกคนมิอาจหลีกเลี่ยงการเผชิญ กระนั้น รสชาติความมีชีวิตก็เป็นอะไรที่คนเราต้องทำความรู้จักให้ถ่องแท้เช่นกัน
นั่งเขียนสาธยายถึงทั้งภาพยนตร์อิหร่าน ‘Taste of Cherry’ และข้อมูลทำนอง Taste of Strawberry มาหลายบรรทัดจนชักจะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง บัดนี้ ผมขออนุญาตไปคว้าลูกเชอร์รีและลูกสตอ…เบอร์รีมาเคี้ยวเพิ่มพลังสักหน่อยเถอะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
- ชนม์สวัสดิ์ ชมพูนุท, ม.ร.ว. ชีวประวัติและการต่อสู้ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. พระนคร: ประมวลสาส์น, 2507
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ (บรรณาธิการ). กาลานุกรมสยามประเทศไทย, 2485-2554. กรุงเทพฯ: โพสต์บุ๊กส์, 2555
- สนธยา ทรัพย์เย็น (บรรณาธิการ). ฟิล์มไวรัส 1 ฉบับเรียบง่าย ปลอดสัญลักษณ์. กรุงเทพฯ: โอเพ่นบุ๊คส์, 2541