เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีดราม่าที่แพร่สะพัดในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับเรื่องของ ‘รอยสัก’ แต่ในตอนนี้เราไม่ได้จะมาตัดสินว่าการสักเป็นเรื่องเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทยหรือไม่ หากเราจะขอใช้กระแสนี้เล่าถึงรอยสักในบริบทของศิลปะให้อ่านกันดีกว่า
ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ มีหลักฐานปรากฏว่า การสักนั้นมีมาตั้งแต่ยุคหินเก่าตอนปลาย จากการค้นพบเครื่องมือในการสัก และงานปั้นดินรูปมนุษย์มีรอยสักของวัฒนธรรมคูคูเตนี-ตรีพิลญา (Cucuteni-Trypillia culture) ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ในช่วง 5,400 ถึง 2,700 ปี ก่อนคริสตกาล ส่วนหลักฐานการสักครั้งแรกบนร่างกายมนุษย์ถูกค้นพบบนร่างกายของมนุษย์น้ำแข็ง เอิตซี (Otzi The Iceman) มัมมี่สภาพสมบูรณ์ที่มีอายุกว่า 5,000 ปี ของมนุษย์แห่งยุคน้ำแข็ง หรือบนร่างมัมมีอียิปต์ที่มีอายุ 2,000 ปี ก่อนคริสตกาล ไปจนถึงชาวกรีกโบราณ ชาวมายาและแอซเท็ก ชาวโพลีนีเซียน ชาวยิวและชาวคริสเตียนในยุคแรก และชาวญี่ปุ่น ฯลฯ
รอยสักมีหน้าที่หลายอย่าง ทั้งเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย เครื่องหมายระบุเผ่าพันธุ์ เครื่องแบ่งสถานะชนชั้น ตั้งแต่อาชญากร โสเภณี ไปจนถึงนักรบของบางชนเผ่า ชนชั้นสูงของบางอารยธรรม และจักรพรรดิของบางชนชาติ บางครั้งเป็นเครื่องหมายในการหยามเหยียดและลดทอนความเป็นมนุษย์ของบางชาติพันธุ์ ดังเช่นในกรณีนาซีเยอรมันสักหมายเลขตีตราลงบนร่างกายชาวยิว
ในยุคสมัยใหม่ รอยสักกลายเป็นเครื่องประดับของผู้มีชื่อเสียงเงินทอง อย่างนักร้อง นักดนตรี และนักแสดงชื่อดัง หรือเป็นเครื่องหมายแห่งความขบถต่อต้านกฎระเบียบและค่านิยมในสังคม
บ่อยครั้ง รอยสักยังมักจะถูกบันทึกเอาไว้ในโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะอย่างอุกิโยเอะในยุคเอโดะ ศิลปินอุกิโยเอะระดับปรมาจารย์ อุตากะวะ คุนิโยชิ (Utagawa Kuniyoshi) ก็มักจะวาดภาพซามูไรและนักซูโม่ร่างกายลายพร้อยด้วยรอยสักอันวิจิตรพิสดาร หรือผลงานภาพถ่ายของศิลปินร่วมสมัยหลายต่อหลายคน
ในยุคปัจจุบัน รอยสักกลายเป็นแขนงหนึ่งของงานศิลปะร่วมสมัย เหล่าบรรดาศิลปินสัก (Tattoo artist) เองก็ไม่ได้มีแค่เพียงเพศชาย หากยังมีศิลปินสักเพศหญิงหลายคน หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เจมี ซัมเมอร์ส (Jamie Summers) ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินสักที่มีชื่อเสียงที่สุดในสหรัฐอเมริกา หลังจากจบการศึกษาจากสถาบันศิลปะซานฟรานซิสโก (San Francisco Art Institute) เธอทำงานจิตรกรรม ประติมากรรม เซรามิก และสร้างชื่อในฐานะจิตรกรและประติมากร ผู้มีสตูดิโอในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก ก่อนที่จะหันเหมาทำศิลปะลายสัก สำหรับเธอ ศิลปะการสักคือจุดเปลี่ยนของชีวิต เธอใช้เวลาหลายเดือนในการค้นคว้าเกี่ยวกับลายสักแต่ละลายโดยเฉพาะเจาะจง โดยมากมักเป็นลวดลายศิลปะนามธรรมอันซับซ้อนวิจิตรบรรจง เธอกล่าวว่า
“ฉันไม่ได้คิดว่ารอยสักเป็นแค่ภาพที่ฉันสร้างลงไปบนร่างกายคน แต่ฉันคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของคนแต่ละคนที่ปรากฏให้เห็นขึ้นบนผิวหนัง ฉันจึงคิดว่าแต่ละภาพที่ฉันสร้างสรรค์ให้ผู้ถูกสักแต่ละคน จะอยู่กับเขาตลอดไป ควรจะเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพวกเขา ดังนั้นฉันจึงพยายามสื่อสารกับพวกเขาอย่างลึกซึ้งและแท้จริงก่อนที่จะออกแบบลายสักแต่ละลายขึ้นมา”
หรือศิลปินหญิงอย่าง รูธ มาร์เทน (Ruth Marten) ที่กล่าวว่าตนเอง ‘เกิดมาเพื่อเป็นศิลปินสัก’ ผู้ทำให้รอยสักเป็นมากกว่างานฝีมือในการประดับตกแต่งร่างกาย หากแต่เป็นการทำงานศิลปะลงบนเนื้อหนังร่างกายมนุษย์ นอกจากเธอจะแสดงผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมในหอศิลป์ที่นิวยอร์กแล้ว เธอยังทำงานศิลปะลายสักที่ออกแบบให้ลูกค้าแต่ละคนโดยเฉพาะ หรือแม้แต่การทำงานศิลปะลายสักในแบบคอนเซ็ปชวล ที่ถูกทำขึ้นในรูปแบบของศิลปะแสดงสด ดังเช่นในผลงาน Homage to Man Ray Tattoo (1977) ที่เธอทำงานศิลปะแสดงสดสักลายรูป F hole หรือ ช่องเสียงไวโอลิน ลงบนแผ่นหลังเปลือยเปล่าของศิลปินพังก์ร็อกสาว จูดี้ ไนลอน (Judy Nylon) เพื่อล้อเลียนและคารวะผลงานภาพถ่าย Ingres’s Violin (1924) ของศิลปินเซอร์เรียลลิสม์ผู้โด่งดังอย่าง แมน เรย์ (Man Ray) นั่นเอง
ศิลปินเหล่านี้ต่างพัฒนาเทคนิคและแนวคิดของศิลปะการสักให้กว้างไกลขึ้น และยกระดับให้ศิลปะแขนงนี้มีความลึกซึ้งไม่แพ้งานศิลปะในแขนงอื่นๆ
ศิลปินร่วมสมัยบางคน ใช้การสักเป็นเครื่องมือในการสื่อสารถึงประเด็นทางความคิดในผลงานตนเอง ไม่ว่าจะเป็น ซานติอาโก เซียร่า (Santiago Sierra) ศิลปินชาวสเปน ผู้ทำงานศิลปะที่เป็นส่วนผสมของงานประติมากรรมสังคม (social sculpture) และประเด็นทางการเมือง ด้วยศิลปะการแสดงสดและศิลปะจัดวางสุดอื้อฉาว ที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเขามักจะว่าจ้างเหล่าบรรดาคนชายขอบและคนด้อยโอกาสทางสังคม ที่ตกเป็นเหยื่อและเบี้ยล่างในโลกทุนนิยมอย่างแรงงานพลัดถิ่น โสเภณี หรือผู้ลี้ภัย มาทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แสดงงานศิลปะ โครงการศิลปะของเขามักจะใช้บุคคลชายขอบที่ด้อยโอกาสเหล่านี้ มาทำงานในฐานะแรงงานที่ประกอบกิจกรรมอันไร้ประโยชน์และน่าอดสู ซึ่งถูกตีความว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมแบบทุนนิยม
เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในโลกศิลปะในฐานะศิลปินผู้ท้าทายความคิดเกี่ยวกับประเด็นความถูกต้องทางการเมือง (Political Correctness) และสร้างความขุ่นเคืองให้แก่นักสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อเปิดโปงความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยแนวทางศิลปะ ที่พัฒนาจากศิลปะแบบมินิมอล และคอนเซ็ปชวล จนกลายเป็นกิจกรรมทางศิลปะต่างๆ อย่าง ศิลปะการแสดงสด ประติมากรรม ภาพถ่าย วิดีโอ ภาพยนตร์ และศิลปะจัดวาง
เซียร่าใช้กระบวนการสักในผลงานของเขาอย่าง 250 cm Line Tattooed on 6 Paid People Espacio Aglutinador, Havana, Cuba, December 1999 (1999) ที่เขาว่าจ้างแรงงานอพยพลี้ภัยด้วยเงินจำนวน 30 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับรายได้รายวันของแรงงานอพยพเหล่านี้ ให้มานั่งเรียงแถวให้ช่างสักหลังเป็นลายเส้นตรงต่อๆ กันเป็นความยาว 250 ซม.
หรือผลงาน 160 cm Line Tattooed on 4 People El Gallo Arte Contemporáneo. Salamanca, Spain. December 2000 (2000) ที่เขาว่าจ้างโสเภณีติดยา ด้วยเงินจำนวนเท่ากับราคาที่พวกเธอจะซื้อเฮโรอีนได้หนึ่งช็อต ให้มานั่งเรียงแถวให้ช่างสักหลังเป็นลายเส้นตรงต่อๆ กันเป็นความยาว 160 ซม.
ด้วยผลงานเหล่านี้เซียร่าต้องการเปิดโปงอำนาจความเหลื่อมล้ำในสังคมทุนนิยมที่กดทับผู้ลี้ภัยคนชายขอบเหล่านี้จนแทบไม่เหลือความเป็นมนุษย์
ผลงานเหล่านี้ส่งให้เซียร่ากลายเป็นดาวเด่นของวงการศิลปะร่วมสมัยโลก และดึงดูดความสนใจสาธารณชนให้หันมาสนใจในสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยและแรงงานชายขอบในสังคมยุคนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดข้อถกเถียง และทำให้เขาถูกโจมตีจากผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักสิทธิมนุษยชน ที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ว่าผลงานชิ้นนี้ไม่ได้ทำให้สถานการณ์อันเลวร้ายของผู้ลี้ภัยและแรงงานชายขอบเหล่านั้นลดน้อยลงแต่อย่างใด เพราะเมื่อนิทรรศการสิ้นสุดลง แรงงานและผู้ลี้ภัยเหล่านั้นก็ถูกปล่อยกลับไปสู่สถานะเดิม ในโลกเดิมที่พวกเขาถูกกดขี่ ในขณะที่ศิลปินอย่างเซียร่ากลับเป็นผู้รับผลประโยชน์ทุกอย่าง ซึ่งยืนยันได้จากการที่เขาได้ตะเวนแสดงผลงานไปทั่วโลก
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยหลายคนก็ต้องการเข้าร่วมในการแสดงสดครั้งนั้นของเซียร่า เพราะหวังว่าจะใช้นิทรรศการครั้งนั้นป่าวประกาศให้โลกรับรู้ถึงสถานการณ์อันเลวร้ายของพวกเขา
หรือผลงานของ วิม เดลวอย (Wim Delvoye) ศิลปินชาวเบลเยียม ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะอันแปลกประหลาดชวนช็อก ผลงานส่วนใหญ่ของเขาหมกมุ่นอยู่กับร่างกายของสิ่งมีชีวิต เขามักเชื่อมโยงความน่าดึงดูดใจเข้ากับความน่ารังเกียจขยะแขยง สร้างออกมาเป็นผลงานที่มีความขัดแย้งในตัว อย่างแท้จริง จนทำให้ผู้ชมงานรู้สึกหนักใจปนกระอักกระอ่วน ว่าจะจ้องมองอย่างลุ่มหลงหรือเบือนหน้าหนีดี ในขณะที่นักวิจารณ์ศิลปะบางคนกล่าวว่าเดลวอยเป็นศิลปินที่เปลี่ยนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับนิยามและต้นกำเนิดของความงามอย่างสิ้นเชิง
การทำงานศิลปะของเขาครอบคลุมความสนใจอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของร่างกาย คูถวิยา (Scatologist : การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมูลและสิ่งปฏิกูล เพื่อค้นคว้าข้อมูลทางร่างกาย พฤติกรรม และถิ่นอาศัยของสิ่งมีชีวิตต่างๆ) ไปจนถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและหน้าที่ของศิลปะในระบบเศรษฐกิจการตลาดในยุคสมัยปัจจุบัน
เดลวอยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากผลงานที่ใช้สัตว์ที่คนบริโภคเป็นอาหารอย่าง ‘หมู’ ที่ในบางประเทศ (โดยเฉพาะประเทศจีน) เป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ในบางวัฒนธรรมก็รังเกียจและมองมันว่าเป็นตัวแทนของความสกปรกโสโครก เป็นสื่อในการทำงานศิลปะ โดยเดลวอยซื้อหมูจากฟาร์ม แล้วนำพวกมันมาสักบนหลังด้วยลวดลายน่ารักอย่างลายการ์ตูนดิสนีย์ ไปจนถึงรอยสักโหดๆ ของสิงห์นักบิด หรือแม้แต่ลวดลายหรูหราอย่างโลโก้ของหลุยส์ วิตตอง แล้วนำหมูเหล่านั้น แสดงในฟาร์มศิลปะของเขา หลังจากหมูเหล่านั้นตาย หนังที่ถูกสักลวดลายจะถูกเอาไปทำเป็นงานศิลปะ หรือแม้แต่ขายให้กับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ เพื่อทำสินค้าในจำนวนจำกัด
ผลงานชุดนี้ของเขาสร้างความช็อกและขุ่นเคืองให้กับสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าบรรดานักสิทธิสัตว์ในเบลเยียม จนเขาต้องย้ายไปทำงานชุดนี้ในประเทศจีน ที่กฎหมายคุ้มครองสิทธิสัตว์ไม่ค่อยเข้มงวดเท่าไหร่นัก โดยเขาออกมาแก้ต่างว่า หมูที่เขานำมาทำงานศิลปะเหล่านี้อยู่ดีมีสุขกว่าตอนอยู่ในฟาร์มมากนัก เพราะถ้าอยู่ในฟาร์มต่อไป ท้ายที่สุดพวกมันก็ต้องจบชีวิตด้วยการถูกเชือดไปเป็นอาหารอยู่ดี
นอกจากสักหมูเป็นงานศิลปะแล้ว เดลวอยยังทำงานศิลปะด้วยการสักบนร่างกายคนจริงๆ อีกด้วย โดยคนที่ยอมสละแผ่นหลังให้สักนั้นเป็นชายผู้มีชื่อว่า ทิม สไตเนอร์ (Tim Steiner) โดยเดลวอยใช้เวลาสักลายรูปพระแม่มารี หัวกะโหลกเม็กซิกันและดอกกุหลาบ นกนางนวล ค้างคาว กุมารจีน และปลาคาร์ฟญี่ปุ่น บนแผ่นหลังสไตเนอร์ไปทั้งหมดกว่า 40 ชั่วโมง ในช่วงระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นก็มีนักสะสมงานศิลปะชาวเยอรมันคนหนึ่ง ชอบลายสักนี้มากจนขอซื้อมัน โดยตกลงว่าจะจ่ายเงินล่วงหน้าให้สไตเนอร์ แลกกับหนังบนแผ่นหลังที่มีรอยสัก เพื่อเอาไปสะสมในคอลเล็คชั่นศิลปะของเขา หลังจากที่สไตเนอร์เสียชีวิตแล้ว
รอยสักเองก็เป็นผลงานศิลปะที่ใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเพศได้ ดังเช่นในผลงานของศิลปินเฟมินิสต์ชาวออสเตรีย วาลี เอ็กซ์พอร์ต (VALIE EXPORT) อย่าง Body, Sign, Action (1970) ที่สักรูปสายรัดถุงน่องที่ดึงรั้งปลายถุงน่องบนต้นขา สายรัดถุงน่องนี้แสดงถึงความเป็นวัตถุทางเพศของชุดชั้นในผู้หญิง หรืออันที่จริงก็คือร่างกายผู้หญิงนั่นแหละ ด้วยการสักตัวเองจริงๆ (ซึ่งรอยสักจะติดตัวเธอไปอย่างถาวร) ด้วยรูปสัญลักษณ์ของวัตถุทางเพศ เธอแสดงการเสียดสีแนวคิดของผู้ชาย ที่มองร่างกายผู้หญิงเป็นเครื่องมือสำหรับความพึงพอใจทางสายตา แต่ในทางกลับกัน การทำการสักในที่สาธารณะ และถ่ายภาพเปลือยของตัวเองกับรอยสักของเธอ ก็เป็นการแสดงออกถึงการปลดแอกผู้หญิงจากค่านิยมทางเพศที่กดทับพวกเธออยู่เช่นเดียวกัน
ท้ายที่สุด ไม่ว่าการสักจะถูกมองว่าเหมาะสมหรือไม่ เป็นของสูงหรือต่ำอย่างไร อาจจะต้องปล่อยให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณหรือจริตของแต่ละคน แต่ที่แน่ๆ จากที่ยกตัวอย่างทั้งหลายแหล่ให้มา ก็พอจะแสดงให้เห็นแล้วว่า อย่างน้อยๆ รอยสักก็เป็นศิลปะกับเขาได้เหมือนกัน ว่าไหมครับท่านผู้อ่าน
อ้างอิงจาก