“Everything is art”
คือประโยคที่อาจทำให้คนที่ไม่ได้เป็นศิลปิน หรือไม่ได้ทำงานด้านศิลปะสงสัยถึงความเป็นไปได้ เพราะในชีวิตประจำวันของเราอาจไม่ได้สวยงามมีสุนทรียะเหมือนอย่างที่ได้เสพงานสวยๆ ในแกลอรี่เพียงอย่างเดียว แต่ศิลปะคือมุมมองของศิลปินที่อยากจะถ่ายทอดเรื่องราว หรือความรู้สึกอะไรสักอย่างออกมา จึงทำให้ ‘กรอบ’ ของคำว่าศิลปะ จึงไม่ใช่ภายในเฟรม กระดาษ หรือผืนผ้าใบเท่านั้น ศิลปินกลับมองทุกอย่างเป็นเพียง Space หรือพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่จำเป็นต้องครบองค์ประกอบทางศิลปะอย่างในทฤษฎีก็ได้ เมื่อเงื่อนไขของพื้นที่ไม่ใช่ข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ผลงาน ลองไปสำรวจดูกันว่าพื้นที่ไหนที่จะกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้บ้าง เพราะศิลปะจะอยู่ที่ไหนก็ยังเป็นศิลปะอยู่นั่นเอง
กราฟิตี้บนผนัง กับจุดยืนต่อสังคม
บนพื้นผิวของผนังปูนอันว่างเปล่าในที่สาธารณะ คือพื้นที่สร้างสรรค์ผลงานของศิลปะที่เรียกว่า ‘กราฟิตี้’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Street Art หรือศิลปะข้างถนน ที่หลายครั้งคือพื้นที่แสดงออกจุดยืนทางการเมืองหรือสังคมของศิลปิน เพราะด้วยพื้นที่ส่วนใหญ่มักถูกเจาะจงในพื้นที่สาธารณะ จึงไม่แปลกที่คนทั่วไปมักจะมองเห็นได้ไม่ต่างอะไรกับป้ายบิลบอร์ดโฆษณา ที่สร้างอิทธิพลทางความคิดต่อผู้ที่พบเห็น จุดเริ่มต้นในยุคแรกที่กราฟฟิตี้เป็นที่กล่าวถึงในประวัติศาสตร์ คือวีรกรรมของกลุ่ม The White Rose ที่เลือกใช้เครื่องมืออย่างกราฟฟิตี้เป็นอาวุธในการต่อต้านเผด็จการนาซีผ่านข้อความต่อต้านบนผนัง ก่อนที่กราฟิตี้แพร่กระจายทั่วโลกจนพัฒนากลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของอเมริการาวปี 1970 ที่ความนิยมเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวัฒนธรรมดนตรีแนวฮิปฮอป
เมื่อเอ่ยถึงยุคปัจจุบัน น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก Banksy ศิลปินกราฟิตี้ชาวอังกฤษผู้ไม่เคยเปิดเผยตัวตน ที่สร้างผลงานจาก Block Stencil อันมีเอกลักษณ์ ผลงานของเขาไม่เพียงแค่สะท้อนมุมมองกัดจิกที่มีต่อสังคม ทุนนิยม และการเมืองของโลกเท่านั้น มูลค่าของผลงานยังมหาศาลอีกด้วย ผลงานอย่าง ‘Child labor’ ที่สะท้อนถึงปัญหาแรงงานเด็กในอังกฤษ ถึงขั้นมีคนเลาะแผ่นกำแพงนั้นไปประมูลขายออนไลน์ด้วยราคาสูงกว่า 5 แสนเหรียญ หรือล่าสุดกับผลงาน ‘Girl with Balloon’ ที่มีผู้ประมูลด้วยราคาสูงกว่า 1.1 ล้านเหรียญ ก่อนเขาจะเล่นตลกร้ายด้วยการทำให้ผลงานทำลายตัวเองลง ซึ่งหลายคนมองว่าอาจเป็นสัญญะอะไรบางอย่างที่เขามีต่อโลกทุนนิยม ทำให้ยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับงานของเขามากขึ้นไปอีก
รอยสักบนผิวหนัง กับตัวตนที่ไม่มีวันลบเลือน
ผิวหนังของมนุษย์ อาจเป็นพื้นที่ในการสร้างผลงานศิลปะเพียงอย่างเดียว ที่พื้นที่อื่นๆ ไม่สามารถมีคุณสมบัติเทียบเคียงได้ เพราะผิวหนังเปรียบได้กับผืนผ้าใบอันมีชีวิต ซึ่งต้องอาศัยการยินยอมพร้อมใจของเจ้าของพื้นที่ ก่อนที่ศิลปินจะตัดสินใจสร้างสรรค์ผลงานอะไรลงไปบนพื้นที่นั้นๆ รอยสักจึงเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนทั้งตัวตนของทั้งผู้ถูกสัก และลายสักของศิลปินไปพร้อมๆ กัน แรกเริ่มเดิมทีนั้น รอยสักบนร่างกายอาจเป็นเพียงแค่การรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม จากการค้นพบร่างของชายที่มีนามว่า Ötzi ที่คาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 5,300 ปีก่อนในแถบยุโรป โดยปรากฏรอยสักกว่า 57 รอยบนร่างกายในจุดที่คาดว่าเกี่ยวข้องกับการบำบัดด้วยการฝังเข็ม ในขณะที่การสักลายแรกเริ่ม ก็ไม่ได้ถูกมองให้เป็นศิลปะ แต่เป็นเพียงสัญลักษณ์หรือการสร้างเครื่องหมายเพื่อบ่งบอกถึงความเชื่อทางศาสนา ไปจนถึงการแบ่งชนชั้นของนักโทษ หรืออาชญากร ก่อนที่ในยุคใหม่ศิลปะบนเรือนร่างก็ได้รับการขยายออกไปในหลากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก อย่างเทรนด์ของการสักข้อความตัวเล็กๆ ตามต้นแขนหรือต้นขา ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่เจ้าของรอยสักเชื่อด้วยการแลกกับความเจ็บปวด ขณะเดียวกันการสักแบบใหญ่เต็มแขนหรือการสักด้วยลวดลายแบบดั้งเดิม ก็ยังได้รับความนิยมอยู่ ซึ่งจุดประสงค์ของการสักลายนั้นก็เป็นเรื่องปัจเจกของแต่ละคน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือเป็นการ Self expression ผ่านศิลปะรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าเจ้าของรอยสักจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจโชว์ แต่เมื่อใดที่เราเห็นรอยสักของคนอื่นก็นำไปสู่การตีความถึงตัวตนของผู้นั้น อย่างที่ Johnny Depp นักแสดงผู้หลงใหลการสักเคยกล่าวไว้ว่า “My body is my journal and my tattoos are my story.”
ความเป็นดิจิทัล กับการเสพรูปแบบใหม่
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่การสร้างผลงานศิลปะไม่ได้จำกัดอยู่แค่การใช้สีถ่ายทอดลงบนวัสดุ แต่เป็นสีสันที่เกิดจากการดีไซน์แสงให้ออกมาในรูปทรงต่างๆ แล้วไปตกกระทบลงบนพื้นที่จัดแสดงอีกที เรียกได้ว่าเป็น Digital Art หรือศิลปะแห่งดิจิทัลที่เกิดจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยีในยุคใหม่อย่าง โปรเจกเตอร์ เครื่องยิงเลเซอร์ ไปจนถึงอุปกรณ์ในการทำเอฟเฟกต์ต่างๆ เช่น ควันหรือดรายไอซ์ โดยมีการควบคุมแสงและเอฟเฟกต์ทั้งหมด ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยเฉพาะ นับเป็นความก้าวล้ำของการแสดงศิลปะที่ฉีกไปจากกรอบเดิมๆ ของพื้นที่ที่เราคุ้นเคย
ความโดดเด่นอย่างหนึ่งของงานศิลปะดิจิทัลเหล่านี้ คือการทำให้ผู้ชมกลายเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงาน โดยผันแปรไปตามปฏิกิริยาการเคลื่อนไหวที่ถูกจับผ่านเซ็นเซอร์ อย่างเช่นผลงานของ teamLab กลุ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดิจิทัลชื่อดัง ที่เพิ่งเปิด MORI Building DIGITAL ART MUSEUM: teamLab Borderless พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลถาวรแห่งแรกที่ย่านโอไดบะ โตเกียว เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จัดแสดงผลงานอย่างเช่น โคมห้อยจากเพดานที่เปลี่ยนสีตามจังหวะการก้าวเดิน ห้องที่เต็มไปด้วยลำแสงที่เปลี่ยนทิศทางได้อย่างอิสระ หรือน้ำตกที่จำลองมาจากแสงดิจิทัล ส่วนบ้านเราเองก็มีกลุ่ม Eyedropper Fill ที่นิยามตนเองว่าเป็น Multimedia Designer ที่ทดลองนำภาพ แสง และพื้นที่มาดีไซน์ให้เกิดเป็นผลงานศิลปะที่สร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ชมได้อย่างน่าทึ่ง
ตัวถังรถ BMW กับพื้นที่สร้างสรรค์อันไร้ข้อจำกัด
เชื่อว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนที่กำลังเลือกซื้อรถสักคัน นอกจากเรื่องของฟังก์ชัน และสเป็กของเครื่องยนต์ตามที่ต้องการแล้ว คือเรื่องของดีไซน์การออกแบบทั้งภายนอก และภายในที่สะท้อนถึงรสนิยมของผู้เลือก อย่างเช่นรถของ BMW ที่เพียงแค่ตัวถังอันเกลี้ยงเกลา และรูปทรงอันหรูหราก็เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่งแล้ว แต่ Hervé Poulain นักแข่งและนักประมูลรถชาวฝรั่งเศสเกิดไอเดียอยากจะทำให้ตัวถังของรถ BMW 3.0 CSL มีสีสันเพิ่มขึ้นมา เขาจึงไปชวน Alexander Calder ประติมากรคนสำคัญของอเมริกาในช่วงศตวรรษที่ 20 เปลี่ยนตัวถังรถ ให้กลายเป็นแคนวาสสำหรับสร้างงานศิลปะ ซึ่งเป็นผลงานมาสเตอร์พีซชิ้นสุดท้ายในชีวิตของเขา และเป็นผลงานชิ้นแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของ BMW Art Car Collection ตั้งแต่ปี 1975 ที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน
ความท้าทายของการใช้ตัวถังรถเป็นพื้นที่สร้างสรรค์งานศิลปะ คือการไม่มองรูปทรงตัวถังของรถเป็นข้อจำกัด แต่กลับมองเป็นพื้นที่ที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรก็ได้ อย่างเช่นผลงาน BMW Art Car ของ Andy Warhol เจ้าพ่อศิลปะป๊อปอาร์ต ที่เลือก BMW M1 เพื่อบอกเล่าความเร็วของรถรุ่นนี้ จึงทำให้สีสันอันสดใสบนตัวถังเปรอะเปื้อนและเบลอราวกับรถที่ทะยานไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูง จนมาถึงยุคปัจจุบันที่การสร้างสรรค์งานเป็นมากกว่าแค่การเพนต์สีลงบนตัวถัง ผลงานของศิลปินสาวร่วมสมัยรุ่นใหม่ชาวจีนนามว่า Cao Fei ที่เปลี่ยน BMW M6 GT3 เป็นพื้นที่บอกเล่าจิตวิญญาณของความเป็นเอเชียโบราณที่เปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคปัจจุบัน โดยนำเสนอผ่านวิดีโอ เทคโนโลยี AR และตัวถังของรถสีดำคาร์บอนที่ผสานเข้าด้วยกัน สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยได้อย่างลงตัว
นอกจาก BMW Art Car จะมีการตระเวนจัดแสดงให้คนทั่วโลกได้ยลโฉมความสวยงามของรถจริงๆ แล้ว BMW Art Car ยังถูกย่อส่วนในรูปแบบของ die-cast car หรือโมเดลรถเหล็กที่หลายคนรู้จักกันดี ในสเกล 1:18 ที่ถอดรายละเอียดทั้งตัวรถและการลงสีมาจากรถต้นฉบับได้อย่างครบถ้วน
ติดตามรายละเอียดการจัดแสดงได้เร็วๆ นี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.thoughtco.com/definition-of-texture-in-art-182468
https://www.widewalls.ch/graffiti-history-10-important-moments/the-richest-street-artists/
https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_tattooing
https://www.huffingtonpost.com/reef-karim-do/psychology-of-tattoos_b_2017530.html
https://thematter.co/pulse/7-wonders-in-teamlab-borderless/53029
http://www.artcar.bmwgroup.com/en/art-car/