ครั้งแรกสุดที่ได้ยินคำว่า TCAS จำได้ว่าคนที่อธิบายเรื่องนี้ให้สาธารณชนฟัง เน้นย้ำว่านี่จะเป็นระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ ได้ดีที่สุด
ตอนได้ยิน ยังแอบนึกเอาใจช่วย เพราะคิดว่าปัญหาใหญ่ของวงการการศึกษาไทยไม่ใช่อะไรอื่น นอกเหนือไปจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ นี่แหละครับ
อย่างที่เราต่างรู้กันอยู่ ว่าความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันนี้มีที่มาจาก ‘ต้นทุน’ ของชีวิตที่ไม่เท่ากันมาตั้งแต่ต้น และดูเหมือนรัฐก็ไม่ได้ต้องการจะเกลี่ยกระจายต้นทุนที่ว่านี้ให้ค่อนข้างเสมอกัน เพื่อให้คนทุกคน (รวมทั้งเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับวงการการศึกษามาตั้งแต่อ้อนแต่ออกด้วย) ได้มี ‘โอกาส’ ที่จะเข้าถึงทรัพยากรแห่งชีวิตที่เสมอกันด้วย
ดังนั้น เมื่อแรกรู้ว่าปรัชญาของ TCAS คือการลดความเหลื่อมล้ำ ผมจึงนึกดีใจว่า – ในที่สุด, แม้อยู่ใต้การปกครองแบบที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีคนพยายามทำสิ่งดีๆ ให้สังคม และไม่ใช่ให้แก่สังคมนี้ในปัจจุบันเท่านั้น ทว่ายังเป็นการทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคมแห่งอนาคต ด้วยการพยายามลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่ต้นทางการศึกษา ถือเป็นเรื่อง ‘มองการณ์ไกล’ โดยแท้
แต่แล้วเมื่อปฏิบัติจริง ปัญหาก็เกิดขึ้น TCAS (หรือ Thai University Center Admission System) แสดงให้เราเห็นว่า นี่ไม่ใช่การ ‘ลด’ ความเหลื่อมล้ำ แต่กลับยิ่งไปตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ และ TCAS ก็ได้แปลงร่างไปเป็น T-Caste หรือ Thai Caste หรือชนชั้นวรรณะแบบไทยๆ มันสำแดงให้เราเห็นความเหลื่อมล้ำที่ลดหลั่นเป็นวรรณะ เป็นชนชั้นที่ถูกกำหนดด้วย ‘เงิน’ มาตั้งแต่ต้นทาง
อย่างที่หลายคนคงรู้กันอยู่ ว่า TCAS นั้นมีการคัดเลือก 5 รอบ เริ่มจากการใช้ Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงานมานำเสนอ เป็นการสมัครโดยไม่ต้องสอบข้อเขียนอะไร จะมีผู้ผ่านรอบแรก 44,258 คน ตามมาด้วยรอบที่สอง คือการรับแบบโควตาที่มีการสอบปฏิบัติและข้อเขียน เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือภาคต่างๆ รวมไปถึงนักเรียนในโรงเรียนเครือข่าย ซึ่งก็จะรับไปอีก 68,050 คน
ส่วนรอบที่สามที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ คือการรับตรงร่วมกัน โดยนักเรียนสามารถสมัครสอบและเลือกได้ 4 สาขาวิชา ‘โดยไม่มีลำดับ’ แปลว่าใครเลือกอะไรไป ถ้าคะแนนถึงก็จะได้เป็น ‘ผู้เลือก’ ตัดสินใจอนาคตของตัวเองใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง โดยในรอบที่สามนี้จะรับนักศึกษา 44,390 คน ส่วนคนที่ได้คะแนนต่ำกว่ารองลงไป จะไม่ได้อะไรเลย ต้องไปสอบในรอบที่สี่ ซึ่งเป็นการสอบแบบ Admissions คือสอบร่วมคล้ายๆ รอบที่สาม แต่ที่ต่างไปก็คือเป็นการสมัครสอบและเลือกได้ 4 สาขาวิชา ‘โดยมีลำดับ’ นั่นคือจะได้คณะใดคณะหนึ่งตามที่สมัครเอาไว้ เหมือนกับการสอบ Admissions ในปีที่ผ่านมา ไม่มีโอกาสตัดสินใจอีกรอบ ว่าจะเลือกคณะรองๆ ลงไปได้ดีไหม รอบนี้รับไปอีก 34,744 คน
และสุดท้ายคือรอบที่ห้า ซึ่งเป็นเหมือน ‘รอบเก็บตก’ คือเป็นการรับตรงอิสระ แต่ละมหาวิทยาลัยจะรับตรงด้วยวิธีของมหาวิทยาลัยเอง
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ระบบ TCAS ที่เราเห็นว่าแบ่งเป็นห้ารอบนี้ มันช่วยลด ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ได้จริงไหม? คำถามต่อมาก็คือ – แล้ว ‘ความเหลื่อมล้ำ’ คืออะไรกันแน่?
ในบทความนี้ (thaipublica.org) ของ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ พูดถึงหนังสือ Capital in the Twenty-First Century ของ Thomas Piketty เอาไว้ มีประเด็นหนึ่งน่าสนใจมาก ประเด็นนั้นก็คือการที่สังคมใน ‘ยุคใหม่’ (จะ 4.0 หรือ 0.4 ก็ว่ากันไปน่ะนะครับ) หวนคืนกลับไปสู่ยุคที่เรียกว่า ‘ทุนนิยมจากมรดก’ หรือ Patrimonial Capitalism ซึ่งหมายถึงการที่มนุษย์เราร่ำรวยเพราะ ‘มรดก’ หรือทรัพย์สินที่พ่อแม่หามาให้ แต่ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีความสามารถจากการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยความสามารถ (ต้องบอกไว้ตรงนี้ด้วยว่า – แน่นอนครับว่าโลกย่อมมี ‘ลูกคนรวย’ ที่มีความสามารถอยู่ด้วย แต่คนแบบนั้นย่อมน้อยกว่า ‘คนมีความสามารถ’ ที่ไม่ได้เป็นลูกคนรวยน่ะนะครับ)
ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องซับซ้อน และเราก็ยังไม่มีปัจจัยที่จะวัดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเห็นพ้องต้องกัน ความเหลื่อมล้ำอาจเกิดจากการกดขี่ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือที่ลึกที่สุดก็คือทางวัฒนธรรม โดยอาจเป็นการกดขี่ตรงๆ หรือแนบเนียนแฝงฝังอยู่ในโครงสร้างสังคมก็ได้ แต่รากเหง้าสำคัญอย่างหนึ่งของความเหลื่อมล้ำ ก็คือ ‘ทุนนิยมจากมรดก’ นี่แหละครับ ที่สร้าง ผลิตซ้ำ และธำรงรักษาความเหลื่อมล้ำเอาไว้ให้คงอยู่ และยิ่งเหลื่อมล้ำถ่างกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนที่รวยมีแนวโน้มจะย่ิงรวยขึ้นขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากมี ‘ต้นทุน’ ที่ได้จากพ่อแม่หรือโคตรตระกูลของตัวเอง ทำให้ได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งในบทความของ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ แสดงให้เราเห็นแนวโน้มนี้ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกค่อนข้างชัดเจน
ถ้าเราเอา ‘ทุนนิยมจากมรดก’ มาจับกับเรื่องการศึกษา เราจะเห็นนี่เป็นเรื่องที่ ‘มีผล’ (Effective) ใหญ่มากกับคนที่เพิ่งเริ่มตั้งต้นชีวิต เพราะมันคือ ‘ต้นทุน’ เหมือนการเล่นเกมที่คุณมี Mod เอาไว้โกงเกมตั้งแต่ต้น เช่น โกงให้มีเงินหรือพลังอำนาจมากมายเป็นอนันต์ จึงแทบไม่ต้องกังวลกับอุปสรรคใดๆ ในเกม
แม้ในโลกจริง เราจะไม่สามารถ ‘โกงเกม’ ให้มีเงินหรือพลังเป็นอนันต์ได้ทุกคน แต่เราจะเห็นได้เลยว่า โครงสร้างวิธีคิดขนานใหญ่ของครอบครัวส่วนใหญ่ในสังคมไทย คือการพยายามสั่งสมทั้งเงินและอำนาจเอาไว้ให้ลูกมากที่สุด ที่เป็นอย่างนี้น่าเห็นใจพ่อแม่มาก เพราะเราอยู่ในสังคมที่ไม่ได้มี Safety Net เอาไว้รองรับเลย เช่น เป็นรัฐที่ไม่มีสวัสดิการที่ดีพอสมควรสำหรับคอย ‘รองรับ’ ผู้คนที่ตกหล่นจากมาตรฐานที่สังคมตั้งเอาไว้ ดังนั้น พ่อแม่จำนวนมากจึงไม่เห็นหนทางอื่น นอกจากต้องดิ้นรนสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่งคั่ง แล้วทุ่มเทความมั่งคั่งนั้นไปที่ลูก เพื่อให้ลูกไต่บันไดทางสังคมสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งกว่าที่ตัวเองมี จึงเป็นการสร้างและรักษาสถานภาพแบบ Status Quo เอาไว้ ทำให้เกิดการลดหลั่นเหลื่อมล้ำในหมู่ครอบครัวไทยลงมาเป็นทอดๆ
พูดอีกอย่างก็คือ เด็กจากครอบครัวที่รวยกว่า ย่อมมี ‘โอกาส’ ที่จะไขว่คว้าหา ‘โอกาส’ เพิ่มเติมตั้งแต่ต้น เช่น พ่อแม่ยอมเสียเงินเป็นล้านๆ บาท เพื่อจ่ายเงินกินเปล่าให้โรงเรียนดีๆ เพื่อให้โรงเรียนรับลูกของตัวเองเข้าไปเรียน ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพการศึกษาเท่านั้น แต่ยังเพื่อให้ลูกได้เข้าไปอยู่ใน ‘สังคม’ ที่ดี อันหมายถึงคอนเน็คชั่นแห่งมิตรภาพในวัยเด็ก ที่จะงอกงามไปเป็น ‘เส้นสาย’ ในการทำงานในอนาคต ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในหลายกรณี คำว่า ‘เส้นสาย’ และ ‘สมัครพรรคพวก’ ก็เกลื่อนกลืนเข้าหาคำว่าคอร์รัปชั่นในระดับต่างๆ ซึ่งก็ย้อนกลับไปสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเองและครอบครัว เพื่อส่งต่อความมั่งคั่งและโอกาสเหล่านี้ไปสู่รุ่นลูกอีก เกิดเป็นวงจรไร้ที่สิ้นสุดของ ‘ทุนนิยมจากมรดก’
นี่จึงเป็นกลไกการทำงานของ ‘ทุนนิยมจากมรดก’ ในประเทศที่ไม่มีการเกลี่ยต้นทุนด้วยกลไกที่เรียกว่า ‘ภาษีมรดก’ ที่เป็นธรรมและมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ และเราสามารถเห็นการทำงานของ ‘ทุนนิยมจากมรดก’ ที่รุกล้ำเข้ามาในอาณาแห่งการศึกษาได้เด่นชัดขึ้นเมื่อเกิดระบบ TCAS
TCAS ในแต่ละรอบ เด็กต้องเสียเงินค่าสมัครทั้งหมด นั่นคือต้นทุนที่เด็กต้องจ่าย ยิ่งอยู่ในข่ายที่ถูกกล่าวหาว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ แต่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษาเพื่อยกระดับสถานะของตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องจ่ายมากเท่านั้น ในรอบแรกที่พิจารณาจาก Portfolio นั้น เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยก็คือ เด็กที่ครอบครัวมีฐานะดีกว่า ร่ำรวยมากกว่า ย่อมมี ‘โอกาส’ จะสร้าง Portfolio ที่ดีกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน แน่นอนว่าแค่มีฐานะดีอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยพอเพียงสำหรับการสร้าง Portfolio ดีๆ หรอกนะครับ แต่ต้องมีความเก่งและความพากเพียรสม่ำเสมอด้วย แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่า เด็กที่ฐานะดีกว่าย่อมสามารถเข้าถึง Resource ต่างๆ ได้มากกว่า ผ่านเส้นสายใยโยงหรือคอนเน็คชั่นที่อาจจะมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ และผ่านเส้นสายใยโยงที่มาจาก ‘เงิน’ ของครอบครัว ทั้งการเข้าโรงเรียนกวดวิชา การเข้าถึงอุปกรณ์การศึกษา การเข้าถึงเทคโนโลยี จึงมีโอกาสร้าง Portfolio ที่ดีกว่าเด็กฐานะยากจน ยิ่งเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันก้าวไกลมากขึ้น ช่องว่างนี้ก็ยิ่งถ่างกว้างขึ้นด้วย ต่อให้มีเทคโนโลยีออนไลน์ต่างๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีโอกาส ‘เข้าถึง’ ความรู้ต่างๆ ได้อย่างเสมอหน้ากัน
ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม TCAS รอบแรกในทางปฏิบัติ จึงเป็นการคัดเด็กที่เก่ง มีความสม่ำเสมอ และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือโดยเฉลี่ยแล้วมี ‘ฐานต้นทุน’ ที่ดีกว่าเข้าไปสู่ระบบการศึกษาระดับสูง
รอบถัดๆ มาก็มีวิธีคิดคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะรอบสามที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะคือการ ‘ให้โอกาส’ กับ ‘เด็กเก่ง’ ที่จะได้ ‘เลือก’ ว่าตัวเองอยากมีวิถีชีวิตต่อไปในอนาคตอย่างไร เช่นถ้าสมัครไป 4 อันดับแล้วสอบผ่าน ก็จะสามารถกลับมาเลือกได้อีกทีว่าสรุปแล้วอยากเป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักบัญชี เป็นนักเศรษฐศาสตร์ หรือเป็นอะไร ในขณะที่รอบสี่ (ซึ่งถ้าดูจากเจตนารมณ์ของระบบ TCAS ย่อมเท่ากับเป็นเด็กที่เก่งไม่เท่ากับรอบสาม) เด็กไม่ได้มี ‘โอกาส’ เลือกที่เท่าเทียมกับรอบสาม เพราะจะสามารถสอบติดได้แค่อันดับเดียว
ดังนั้น ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ในทางปฏิบัติ TCAS จึงคือการ ‘ให้โอกาส’ เด็กเก่งเหนือเด็กไม่เก่ง โดยลืมดูไปว่า ‘ความเก่ง’ นั้น มีที่มาจาก ‘โอกาส’ ที่เหนือกว่าอยู่แล้วหรือเปล่า จึงไม่ได้มีกลไกอะไรที่จะคัดกรองหรือสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคให้เกิดขึ้น ทว่ายังคงเป็นการคัดเด็กเก่งที่มี ‘นัยแฝง’ (Implication) เป็น ‘ฐานต้นทุน’ ที่ดีกว่าเข้าไปสู่ระบบการศึกษาระดับสูงอยู่ดี
ที่แย่ก็คือรอบสุดท้ายหรือรอบที่ห้า ซึ่งมีนัยบ่งชี้ว่าเป็น ‘รอบเก็บตก’ คือเด็กต้องไปสมัครเรียนตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ ‘ยังเหลือ’ ที่ให้เลือกเรียนอยู่
ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเด็กที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยรอบที่ห้านั้น เป็นเด็กที่เป็นที่ ‘พึงปรารถนา’ จากระบบการศึกษาของเราน้อยกว่าเด็กที่สอบเข้าได้ตั้งแต่รอบแรกๆ ซึ่งถ้าให้ทาย ผมคิดว่าจะยิ่งไปเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางสถานะให้กับเด็กเหล่านี้ในอนาคตมากกว่าจะลด
สำหรับผม TCAS คือระบบ ‘ตะแกรงร่อน’ ที่เร่ิมต้นด้วยการร่อนตะแกรงละเอียดที่สุดก่อน เพื่อให้ได้เนื้อดินที่ละเอียดเนียนมีคุณภาพดีที่สุด เมื่อคัดสิ่งที่ดีที่สุดไปแล้ว จึงค่อยคัดสิ่งที่ ‘เหลือ’ ต่อในรอบถัดๆ ไป ตะแกรงที่ใช้ร่อนจึงค่อยๆ มีลักษณะ ‘หยาบ’ ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งถ้าหากว่าสังคมไม่ได้เริ่มต้นที่ ‘ทุนนิยมจากมรดก’ ทว่าเริ่มต้นที่ความเท่าเทียมเสมอภาคกันตั้งแต่ต้น ก็จะไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นการคัด ‘คนเก่ง’ เข้าไปก่อนคนไม่เก่ง (โดยยังไม่ได้พูดว่านิยามของคำว่า ‘เก่ง’ คืออะไรนะครับ) แต่เมื่อระบบ TCAS มาวางตัวอยู่บนโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวแบบนี้ มันเลยย่ิงสะท้อนแสงเปล่งประกายให้เห็นความบิดเบี้ยวนี้ชัดขึ้นไปอีก
คำถามก็คือ – แล้วจะทำอย่างไรดี?
ผมไม่ใช่นักการศึกษา ไม่รู้เรื่องการศึกษาอะไรมากนัก แต่กระนั้นผมก็แอบคิดอยู่ว่า หลักการ ‘ตะแกรงร่อน’ ที่เลือกเอาสิ่งที่ ‘ดีที่สุด’ ไปก่อนนั้น ไม่น่าจะเป็นหลักการที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะมันเท่ากับการ ‘มอบโอกาส’ กับ ‘ผู้มีโอกาส’ อยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ด้อยโอกาส กลับไม่ได้มีโอกาส – หรือไม่ก็มีโอกาสน้อยกว่า, ที่จะเข้าสู่อาณาเขตแห่งความรู้ ผลลัพธ์ก็คือ ในระยะยาว เราจะกลายเป็นสังคมที่มีแต่คนรวยที่รู้มากและคนจนที่รู้น้อย ซึ่งจะเป็นสังคมที่อันตรายอย่างยิ่ง
แต่ถ้าเราลอง ‘กลับข้าง’ วิธีการ ‘ร่อน’ ที่ว่าดูล่ะครับ เช่น เริ่มต้นด้วยการไม่ ‘ร่อน’ อะไรเลย คือให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาตามที่ตัวเองต้องการได้โดยไม่มี ‘ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม’ มาเป็นตัวการตั้งต้นดูบ้าง มันจะเป็นอย่างไร
ผมจะลองยกตัวอย่างดูนะครับ (ซึ่งก็จะเป็นการเสี่ยงเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนหรือสอนหนังสือสังฆราชแน่ๆ แต่ก็จะลองเสี่ยงดูครับ) เช่นระบบการศึกษาในเยอรมนี นักเรียนแค่สอบผ่านสิ่งที่เรียกว่า Abitur ซึ่งเป็นระบบการสอบที่เทียบเคียงได้กับการสอบ A-Levels ในอังกฤษ หรือถ้าเป็นของไทยก็คือเป็นการ ‘สอบไล่’ ให้จบระดับมัธยมศึกษา ก็จะสามารถ ‘สมัคร’ เข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ต้องการได้โดยเสรี
ฟังแล้วหลายคนคงบอกว่าถ้าทำแบบนี้ ทุกคนก็ต้องแย่งกันไปสมัครมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่สุดมหาวิทยาลัยก็รับไม่ได้ ก็ต้องมาสอบแข่งขันกันอยู่ดี แต่ความซับซ้อนของการสามารถสมัครเรียน ‘ที่ไหนก็ได้’ อยู่ตรงนี้ครับ
ในเยอรมนีนั้น สถาบันการศึกษาชั้นสูงมีอยู่สองแบบใหญ่ๆ แบบแรกก็คือ ‘มหาวิทยาลัย’ อย่างที่เราคุ้นกันนี่แหละ คือเป็นสถาบันทางวิชาการ มีการเรียนการสอนโน่นนั่นนี่อย่างที่เราเห็น กับอีกแบบหนึ่งเรียกว่า Fachhochschulen หรือสถาบันแบบ ‘โพลีเทคนิค’ (Polytechnic) ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การนำวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้สอนเพื่อให้นักศึกษามีทักษะทางวิชาชีพ (ที่จริงมีอีกแบบหนึ่งด้วยที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสองอย่างนี้ คือ Technische Hochschule)
ถามว่าซับซ้อนอย่างไร – คำตอบก็คือเราจะเห็นได้เลยว่าระบบการศึกษาในเยอรมนีนั้น มีทั้งแบบที่มุ่งเน้นไปที่วิชาการและวิชาชีพ โดยไม่ได้เห็นว่าการเรียนสองแบบนี้มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ‘ในทางวัฒนธรรม’ คือไม่ได้เห็นว่าการเรียนสายไหนต่ำหรือสูงกว่าสายไหน ในขณะที่ในเมืองไทย เราคงเห็นกันอยู่ว่า – ใครเรียนสายวิชาชีพมักจะถูกมอง (หรือกระทั่งผู้เรียนเองก็อาจรู้สึกว่า) มีสถานภาพต่ำต้อยกว่าคนที่เรียนในมหาวิทยาลัย เป็นความรู้สึกที่ถูก ‘สร้าง’ ขึ้นมาจากวัฒนธรรมและโครงสร้างแบบเป็นชั้นๆ (Stratification) และมีการกดเหยียดกันแบบไทย ความรู้สึกทำนองนี้จึงทำให้เราสามารถเห็น ‘เป้าหมาย’ อื่นในชีวิตของเด็กได้ นอกจากต้องพยายามให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยในสายวิชาการให้ได้เท่านั้น ไม่ใช่การเรียนในสายวิชาชีพ แต่ต้องบอกคุณด้วยว่า ในเยอรมนี คนที่จะเข้าเรียนในสถาบันแบบ Fachhochschulen นั้น ต้องผ่านช่วง ‘ฝึกงาน’ (Internship) ด้วยนะครับ ถ้าเปรียบเทียบกันจึง ‘ยาก’ กว่าการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเสียอีก
เมื่อมองแบบนี้ ระบบการศึกษาในเยอรมนีจึง ‘กลับข้าง’ กับการ ‘ร่อนตะแกรง’ ของไทย ที่เลือกเอาเนื้อดินละเอียดๆ ไปก่อน แล้วทิ้งดินที่หยาบกว่าไปเป็นชั้นๆ ทว่าเยอรมนีบอกว่าไม่ต้องร่อน ทุกคน (ที่ผ่านการเรียนในระดับทุติยภูมิมาแล้ว) ต้องได้เรียนต่อ แถมยังสร้างค่านิยมที่หลากหลายกว้างขวางให้กับ ‘เส้นทางชีวิต’ ของเด็กๆ ในอันที่จะ ‘เลือก’ เรียนสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง แล้วจากนั้นก็ให้การเรียนการสอนทำหน้าที่ค่อยๆ ‘ร่อน’ คนที่ไม่เหมาะสมออกไปในภายหลัง ผ่านการเรียนจริง ที่สำคัญกว่านั้นก็คือสามารถกลับมาตั้งต้นใหม่ได้เสมอ
หรืออย่างในฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง วิธีหนึ่งที่จะทำให้คนไม่แห่กันไปสมัครเรียนในมหาวิทยาลัยดีๆ ดังๆ จนล้นเกิน ก็คือการสร้างกลไกขึ้นมาหลายอย่าง กลไกหนึ่งที่สำคัญก็เช่น นักเรียนสามารถเลือกสมัครเรียนโรงเรียนแพทย์ในแต่ละปีได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั่นทำให้นักเรียนต้องประเมินความสามารถของตัวเอง แล้วเลือกโรงเรียนแพทย์ที่คะแนนต้องตรงกับความสามารถ ไม่ใช่แห่ไปเลือกโรงเรียนแพทย์ดังๆ เพียงที่เดียวจนล้นเกิน แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่า มาตรฐานการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งของฟินแลนด์นั้นเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ทำให้เรียนที่ไหนก็ไม่ต่าง จึงพูดได้ว่าวิธีการนี้ของฟินแลนด์แทบจะมีปรัชญาเบื้องหลัง ‘ตรงข้าม’ กับการสอบรอบที่สามใน TCAS ของเราเลยก็ว่าได้
สำหรับผม วิธีการของทั้งเยอรมนีและฟินแลนด์ (รวมทั้งอีกหลายแห่งในโลกที่ไม่มีพื้นที่จะกล่าวถึง) คือระบบการศึกษาที่มีทั้งฐานคิดและเป้าหมายเพื่อ ‘ลดความเหลื่อมล้ำ’ อย่างแท้จริง
แต่ TCAS ไม่ใช่อย่างนั้นเลย
อย่างไรก็ตาม จะว่าไป การที่ระบบ TCAS มีปัญหาจนเป็นข่าวดัง อาจต้องนับว่าเป็นเรื่องดีนะครับ เพราะข่าวเรื่อง TCAS (ที่อาจกลายเป็น T – Caste) ช่วย ‘ขยาย’ (Amplify) ให้เราเห็นถึง ‘ฐานคิดจริง’ ที่ซ่อนอยู่ใต้คำพูดสวยหรูว่าด้วยความเหลื่อมล้ำกันชัดกระจะตาขึ้น ที่บอกว่าดีก็เพราะการขยายให้เห็นว่าปัญหามัน ‘ใหญ่’ และ ‘ลึก’ มากแค่ไหน จะทำให้เกิดการตระหนักว่าเราควรย้อนกลับไปแก้ไขมันด้วยวิธีคิดแบบไหน
และเอาเข้าจริง – เรากำลังอยู่ในสังคมแบบไหน,
เป็นสังคมที่เรา ‘อยากอยู่’ หรือไม่?