เรื่องเมาท์มอยชิงรักหักสวาท แย่งผัวแย่งเมีย โดยเฉพาะมหากาพย์เมียน้อยเมียหลวงทำการ war ใส่กัน แสนจะน่าเผือกน่ามันส์ยิ่งกว่าอะไรใดๆ นิยาย ‘เมียหลวง’ ของกฤษณา อโศกสินจึงถูกทำเป็นละครแล้วรีเมคซ้ำไปมา ตั้งแต่ยังมีช่อง 4 บางขุนพรหมในพ.ศ. 2512 นี่ร่ำๆ จะฉายอีกในปี 2560 เช่นเดียวกับเรื่อง ‘แรงเงา/แรงหึง’ (2529, 2531, 2544, 2555, ภาค 2 ในปี 2560 !!?)
ไม่ว่านิยาย หนัง ละคร หรือชีวิตจริงเจ็บจริง เราก็เสพมันในฐานะมหรสพโรงใหญ่ไตรภาค บน feedข่าวบันเทิง ลุ้นราวกับดูมวยตู้ hashtag เป็นทีมใครต่อทีมใคร #ทีมเมียน้อย #ทีมเมียหลวง ขึ้นอยู่ที่ว่าโฟกัสอะไร ลำดับคิวมาก่อนมาหลัง การได้ครอบครองผู้ เอกสารราชการอย่างทะเบียนสมรส หรือจะโฟกัสผู้เพียงหนึ่งนายว่าสำคัญจำเป็นมากพอจนต้องยื้อแย่ง
‘ความเป็นเมียน้อย’ ‘ความเป็นเมียหลวง’ จึงถูกให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการยัดความหมายลงไป แบบตื้นๆ เป็นขั้วตรงข้ามระหว่าง ‘คนดี’ กับ ‘คนเลว’
ตามชุดศีลธรรมจริยธรรมที่มีแต่ละบริบท ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมอากัปกิริยา ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ป้า VS มนุษย์สาว, สมถะเรียบง่าย VS หวือหวาโฉ่งฉ่าง, เก็บไว้ในบ้าน VS ควงออกหน้าออกตา, ออกงานจิตอาสาสังคมสงเคราะห์ VS ออกงานสังสรรค์ไฮโซ, นิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว VS ต่อปากต่อคำ ขี้อ้อนฉอเลาะแค่หายใจก็ดูออกว่าสอพลอตอแหล, สวมผ้าไหมมิดชิดสง่างามสมกุลสตรีไทยเมียข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ VS สวย sexy เก๋เปรี้ยวเยี่ยวราด
บุคลาธิษฐานเป็น ดร.วิกันดา VS อรอินทร์ไปเลย ก็ขั้วตรงข้ามแบบนพนภา VS มุตตาในละคร หรือไม่ก็ให้คาแรคเตอร์เป็นเมียน้อยทรง pin up girl กับเมียหลวงผู้ขี้รี้วขี้เหร่แก่ง่ายตายยาก ตัวอ้วนหัวฟู พร้อมฟาดงวงฟาดงา ซ่อนสากไว้ข้างหลัง เหมือนการ์ตูน ขายหัวเราะ มหาสนุก
และแน่นอน เรามักพร้อมจะโยนบาปให้มนุษย์เมียน้อยแต่เพียงผู้เดียว แล้วมอบบทเหยื่อผู้หน้าชื่นอกตรมให้กับเมียหลวง ไปพร้อมกับจับผิดพวกเธอ ชี้ข้อผิดพลาดของมนุษย์เมียหลวง ขณะที่ผู้ชายลอยตัว เหตุก็เพราะมันมีศีลธรรมและจริยธรรมทางสังคมก็คอยสนับสนุนระบบผัวเดียวเมียเดียวอยู่ใกล้ๆ
“หนังสือแสดงกิจจานุกิจ” ของเจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ที่เป็นสารคดีว่าด้วยความรู้ปรัชญาและศาสนาในพ.ศ. 2410 อธิบายว่า ทั้งชายหญิงต่างรับศีลกาเมสุมิจฉาจาร แต่ความที่ถือไม่เท่ากัน ผู้ชายมีเมียมากได้ แต่ผู้หญิงต้องมีผัวเพียงคนเดียวเท่านั้น ต่างจากยุโรปที่แต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว เพราะพระอรรถกถาจารย์อธิบายว่า ผู้ชายเป็นเจ้าของประเวณี ผู้หญิงเป็นผู้ปรนนิบัติเท่านั้น ผู้หญิงมีชายเป็นเจ้าของ อยู่ในอำนาจชาย ถ้ามีผัวมาก จะทำให้ลูกที่เกิดมาไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อ หากไปด่าทอตีรันฟันแทงอาจถูกพ่อตนเอง กลายเป็นอนันตริยกรรม และเป็นธรรมดาที่แม้ผู้ชายมีเมียมากก็ไม่ฆ่าหญิงเมื่อหมดรัก แต่ผู้หญิงถ้ามีผัวมากเมื่อหมดรักสามารถฆ่าผัวได้ พร้อมกับยกนิทานเป็นตัวอย่างประกอบเรื่องหนึ่งอ้างว่ามีหลายเรื่อง[1] เช่นเดียวกับที่รัชกาลที่ 4 กล่าวว่า ข้อดีของผัวเดียวหลายเมียคือทำให้ลูกรู้จักพ่อ (เพราะเมียเดียวหลายผัว ลูกจะรู้จักแต่แม่) มีลูกได้มาก ไม่ก่อให้เกิดโรคภัย และไม่เกิดอุปสรรคเมื่อผู้ชายอยากมีเพศสัมพันธ์[2]
เพราะวัฒนธรรมผัวเดียวหลายเมียเป็นวัฒนธรรมชั้นสูงของไทย (ที่ยังตกค้างมาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)
บรรดาชนชั้นปกครองซึ่งก็มีแต่ผู้ชาย จะประกาศอำนาจบารมีก็ผ่านการมีเมียจำนวนมาก ด้วยเชื่อว่าสะสมเมียและสาวใช้ไว้มาก ยังเป็นที่เชิดหน้าชูตา สะท้อนถึงความมั่งคั่งและความสามารถในการเลี้ยงดูบริวารไพร่พลได้[3]
ผัวเดียวหลายเมียมันดีกับหญิงเช่นกัน โดยเฉพาะหญิงชนชั้นสูงลูกหลานชนชั้นปกครอง เพราะพวกนางต้องอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ชาย ไม่พ่อก็ผัว เพราะพวกเธอมีความรู้เฉพาะเพื่อรับใช้ผู้ชายภายในบ้าน เป็นแม่ศรีเรือน มากกว่าจะออกไปทำงานนอกบ้านสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจเลี้ยงชีพด้วยตัวเองบนพื้นที่นอกบ้าน ตัวชี้วัดหรือประกันความมั่นคงของผู้หญิงชนชั้นเจ้ามีเพียงแค่ผัวและมรดกจากพ่อหรือจากผัวที่พวกนางถวายตัวเท่านั้น[4] พวกนางสามารถสร้างหรือรักษาเสถียรภาพสถานะของตนเองและครอบครัวได้ผ่านการแต่งงาน กระชับความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายครอบครัวนักปกครอง ซึ่งก็มีไม่กี่ตระกูล
ซึ่งนั่นก็เป็นสังคมที่ผู้หญิงยังไม่ได้มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองแทนการมีสามีเลี้ยงดู
การแปะเบอร์เมีย จัดลำดับสถานะเมียน้อยเมียหลวงในสถาบันครอบครัวผัวเดียวหลายเมีย ไม่เพียงช่วยเพิ่มบริวารให้กับเมียหลวง แต่ยังเป็นการจัดลำดับชนชั้นด้วยเงื่อนไขของชาติตระกูล ไม่ได้โฟกัสก่อนหลัง เพราะในทางปฏิบัติเมียที่มาจากชนชั้นสูงย่อมได้รับการเคารพยอมรับเหนือกว่าเมียสามัญชน ไม่ว่าจะแต่งงานก่อนหรือมาหลัง
เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 โดยคณะราษฎร รัฐบาลสามัญชนพยายามยกระดับสถานภาพของผู้หญิงให้เท่าเทียมกับผู้ชาย
อย่างน้อยที่สุดก็โดยสถานภาพทางกฎหมายบางประการเช่น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากเป็นเพียงราษฎรชนชั้นภายใต้การปกครอง ผู้หญิงกลายเป็นพลเมืองเช่นเดียวกับผู้ชาย มีสิทธิในการเลือกตั้งเสมอภาคตามหลักรัฐธรรมนูญพร้อมกันในพ.ศ. 2476 และต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม 2478 รัฐบาลใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ที่ผู้ที่มีคู่สมรสอยู่แล้วจะจดทะเบียนสมรสอีกไม่ได้ ถ้าจดทะเบียนซ้อน การสมรสครั้งหลังเป็น ‘โมฆะ’ (ไม่ใช่ ‘โมฆียะ’ ว่ะเฮ้ย) เท่ากับการสร้างความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง ผ่านระบบแต่งงานผัวเดียวเมียเดียวตามกฎหมาย แล้วก็การเร่งสร้างวัฒนธรรมครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว[5]
อย่างไรก็ตาม ผัวเดียวหลายเมียก็ยังสถิตถาวรอยู่ สถานะเมียน้อยเมียหลวงยังคงเป็นการจัดลำดับ สร้างชนชั้นทางคุณค่ากันเองภายในกลุ่มผู้หญิง หรือเป็นการเปิด war จิกตีกันเองของพวกนางโดยมีผู้ชายเป็นหลักชัย แม้แต่ feminist บางคนก็ลืมไปว่าทั้งเมียน้อยและเมียหลวงก็เป็นผู้หญิงเหมือนกัน อยู่ภายใต้เงื่อนไขโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่เดียวกัน
ปัญหามันจึงไม่ใช่ทำไมละครแย่งผัวแย่งเมียถึงรีเมคซ้ำไปมา แล้วก็เลิกถามสักทีเถอะ ไอ้ประเภท “ไม่มีปัญญาหาผัวเองหรอ ต้องไปแย่งผัวคนอื่น” เพราะการแย่งผัวคนอื่นก็คือการหาผัวเองเหมือนกัน ซ้ำยังต้องใช้ปัญญาซับซ้อนกว่า เช่นเดียวกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ต้องใช้ความคิด คำนึงถึงใจเขาใจเรา
ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามและจัดการก็คือ ทำไมเพศชายยังคงเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมและรัฐได้ง่ายกว่า เหมือนในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
จนผู้หญิงจึงต้องกลายเป็นชะนี ต้องเรียกร้องหาผัว เพราะ “สามีคือฉัตรแก้วกั้นเกศ งามหน้างามเนตรทุกเวลา” เป็นถังข้าวสารหรือบ่อทอง!
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. (2514). หนังสือแสดงกิจจานุกิจ. กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา.
[2] จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. (2528). ความผัวเมีย, ใน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.ม.ป.ท..
[3] Loos, Tamara. (2005, November). Sex in the Inner City: The Fidelity between Sex and Politics in Siam. The Journal of Asian Studies 64(4), 881-909.
[4] ฤดีวรวรรณ วรวรรณ, ม.จ., แก้วสุวรรณ แปล. (2544). บันทึกท่านหญิง-ม.จ. หญิงฤดีวรวรรณ. กรุงเทพฯ : ดับเบิ้ลนายน์, น. 196-197.
[5] สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. (2556). “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480. กรุงเทพฯ : สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.