ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินประโยคนี้อยู่เสมอว่า “คนไทยอ่านหนังสือกันแค่ปีละ 8 บรรทัด” ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าข้อมูลนี้เริ่มต้นมาจากไหน แต่ถ้าคนไทยอ่านหนังสือน้อยขนาดนั้นจริง ตลาดหนังสือในบ้านเราคงไม่มีมูลค่ามากถึงกว่าปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท และหนังสือปกใหม่ในแต่ละปีคงไม่ออกมาให้นักอ่านไทยยลโฉมกันถึงปีละกว่าไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นปก
วันนี้ผมขอชวนท่านผู้อ่านมาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมและแนวโน้มการอ่านของคนไทย ว่าอ่านหนังสือกันแค่ปีละ 8 บรรทัดจริงไหม อ่านมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหนในยุคที่อะไรๆ ก็อยู่บนอินเทอร์เน็ต และที่สำคัญคืออ่านอะไรบ้าง
คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง แต่มากกว่าปีละ 8 บรรทัด
งานสำรวจล่าสุดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำรวจพฤติกรรมการอ่านของคนไทยทั่วประเทศในปี 2558 ชี้ชัดว่า คนไทยกว่า 88% อ่านหนังสือ
กระนั้น ก็มีนักอ่านบางส่วนในจำนวนนี้ที่ไม่อ่านหนังสือเล่ม แต่อ่านหนังสือที่อยู่ในรูปนิตยสาร หนังสือพิมพ์ บทความบนอินเทอร์เน็ต หรือหนังสือเรียน ซึ่งถ้าเราตัดคนกลุ่มนี้ออกไป แล้วนับเฉพาะนักอ่านที่อ่าน ‘หนังสือเล่ม’ แบบที่หาซื้อได้ตามร้านหนังสือ จะพบว่ามีคนไทยเพียง 6 ใน 10 คนเท่านั้นที่อ่านหนังสือเล่มจริงๆ จังๆ มิหนำซ้ำในจำนวน 6 คนนี้ มีถึง 2 คนที่เป็นพวกอ่านหนังสือน้อย คืออ่านเฉลี่ยน้อยกว่าสัปดาห์ละ 3 วัน
นอกจากจะอ่านหนังสือไม่มาก คนไทยยังมีแนวโน้มอ่านหนังสือน้อยลงด้วย โดยคนไทยอ่านหนังสือน้อยลงจากเฉลี่ยวันละ 37 นาทีต่อวันในปี 2556 เหลือเพียงเฉลี่ยวันละ 28 นาทีต่อวันในปี 2558
ทั้งนี้ เหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยอ่านหนังสือน้อยลงคือการก้าวขึ้นมามีอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ โดยคนไทยกว่า 2 ใน 5 ยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตทำให้ตนเองอ่านหนังสือน้อยลง
หากเอาข้อมูลตัวเลขมาดูเราจะพบว่า เวลาที่คนไทยใช้ไปกับการอ่านหนังสือเทียบไม่ได้เลยกับเวลาที่ใช้ท่องโลกอินเทอร์เน็ต โดยในแต่ละวันเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ตมากกว่าการอ่านหนังสือถึง 3 เท่า (92 นาที/วัน ต่อ 28 นาที/วัน) และยิ่งในกลุ่มวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น เวลาที่ใช้ไปกับการท่องอินเทอร์เน็ตมากกว่าเวลาสำหรับการอ่านหนังสือถึง 4 เท่า (224 นาที/วัน ต่อ 55 นาที/วัน)
และแม้จะดูน้อย แต่ผมเชื่อว่า 28 นาทีต่อวันคงพอให้คนไทยอ่านหนังสือได้เกินวันละ 8 บรรทัด
คนไทยอ่าน e-book มากขึ้น แต่ยังคงอ่านหนังสือเล่มเป็นหลัก
แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีสำหรับการอ่าน e-book ในภาษาไทยจะยังไม่เอื้อต่อการอ่านหนังสือเท่ากับในโลกหนังสือภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการตัดคำระหว่างบรรทัดโดยอัตโนมัติที่ยังไม่มี e-reader ตัวไหนทำได้ แต่นั่นก็ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อนักอ่านไทยจำนวนหนึ่งซึ่งเลือกอ่านหนังสือในรูป e-book
ทั้งนี้ มีนักอ่านไทยกว่า 24% ระบุว่าตนเองอ่านหนังสือในรูป e-book แต่ในขณะเดียวกันนักอ่านกว่า 99.8% ก็บอกเช่นกันว่าตนเองอ่านหนังสือเล่ม นั่นหมายความว่ากลุ่มคนที่อ่าน e-book ยังคงอ่านหนังสือเล่มควบคู่กันไปด้วย
การหันมาอ่าน e-book มากขึ้นก็ทำให้เวลาในการอ่านหนังสือเล่มถูกเจียดไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบันเวลาที่นักอ่านไทยใช้ไปกับการอ่าน e-book ต่อเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือเล่มอยู่ที่ประมาณ 1 : 9
อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญไปกว่าเรื่องที่ว่าคนไทยอ่านหนังสือมากน้อยแค่ไหน คือเรื่องที่ว่าคนไทย ‘อ่านอะไร’
คนไทยชอบอ่านอะไร?
ปัจจุบันแม้เราจะเห็นหนังสือแนวนำเที่ยวเต็มแผงหนังสือไปหมด แต่ความจริงแล้วนี่กลับไม่ใช่ประเภทหนังสือที่คนไทยชอบอ่านที่สุด การสำรวจพบว่าหนังสือที่คนไทยนิยมอ่านมากที่สุดคือ การ์ตูนและนิยายภาพ โดยมีคนไทยกว่า 34.4% ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้ รองลงมาคือหนังสือเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพที่ 28.1%
และเป็นที่น่าปลืมปิติยินดีสำหรับกลุ่มคนทำหนังสือความรู้ทั้งหลาย เพราะคนไทยกว่า 23.1% บอกว่า ตนเองชอบอ่านหนังสือแนวสารคดี ประวัติศาสตร์ หรือประวัติบุคคล
ในขณะที่นวนิยายไทยและหนังสือแนวท่องเที่ยว กลับมีคนไทยนิยมอ่านเพียงประมาณประเภทละ 21%
คนไทยชอบซื้อหนังสืออะไร?
งานสำรวจชิ้นเดียวกันนี้ยังได้สำรวจพฤติกรรมการซื้อหนังสือของคนไทยด้วย และพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วในแต่ละปี คนไทยซื้อหนังสือคนละ 4 เล่ม โดยกลุ่มวัยรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีเป็นกลุ่มคนที่ซื้อหนังสือมากที่สุดเฉลี่ยถึงปีละ 9 เล่ม
อย่างไรก็ตาม 4 ใน 9 เล่มดังกล่าวเป็นการ์ตูน ในขณะที่อีก 3 เล่มเป็นหนังสือติวสำหรับเตรียมสอบ เหลือหนังสือประเภทอื่นๆ ที่วัยรุ่นซื้อแค่ปีละประมาณ 2 เล่มเท่านั้น
และในภาพรวมทุกกลุ่มอายุ คนไทยซื้อหนังสือการ์ตูนหรือหนังสือภาพมากที่สุด รองลงมาได้แก่ หนังสือเกี่ยวกับอาหารและสุขภาพ หนังสือติวสอบ และนวนิยาย ตามลำดับ
คนไทยยังคงซื้อหนังสือจากร้านหนังสือเป็นหลัก
ข่าวดีเรื่องหนึ่ง อย่างน้อยสำหรับคนที่ประกอบธุรกิจร้านหนังสือก็คือ คนไทยยังคงซื้อหนังสือจากร้านหนังสือเป็นหลัก
แม้ในปัจจุบันจะมีร้านหนังสือออนไลน์ดีๆ มากมาย (เช่น readery.co) รวมไปถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ก็หันมาขายหนังสือโดยตรงสู่นักอ่านมากขึ้น และแม้แต่เชนร้านหนังสือขนาดใหญ่ทุกเจ้าก็ล้วนมีบริการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีนักอ่านไทยเพียงประมาณไม่ถึง 5% เท่านั้นที่บอกว่าตนเองซื้อหนังสือผ่านช่องทางอื่นๆ เหล่านี้ ในขณะที่นักอ่านส่วนใหญ่กว่า 99% ยังคงซื้อหนังสือจากร้านหนังสือ
จากข้อมูลที่ผมนำมาแสดงให้เห็น ทั้งพฤติกรรมการอ่านที่คนไทยยังอ่านหนังสือเล่มเป็นหลัก และพฤติกรรมการซื้อที่ยังคงเน้นการซื้อหนังสือจากหน้าร้าน ก็ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมร้านหนังสือในไทยจะยังสามารถนิ่งนอนใจต่อการแข่งขันจากตลาดออนไลน์และ e-book ที่ยังมาไม่ถึงได้
แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงฉับไว วงการหนังสือก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น
ในโลกหนังสือภาษาอังกฤษเอง เมื่อเทคโนโลยีสุกงอมจนถึงจุดที่การอ่าน e-book เป็นเรื่องง่ายและสะดวกไม่ต่างจากการอ่านหนังสือเล่ม Amazon และ Kindle ก็ทำให้ร้านหนังสือทั้งเล็กใหญ่ล้มละลายตายจากไปเกินจะนับ ร้านหนังสือที่ยังอยู่รอดคือผู้ที่สามารถปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมการแข่งขันใหม่นี้ได้เท่านั้น
ในตอนหน้าผมจะพาท่านผู้อ่านไปดูการปรับตัวของร้านหนังสือในต่างประเทศ ที่ต้องเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดจาก e-book เพราะผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดหนึ่ง เทคโนโลยีการอ่านหนังสือด้วย e-book ในภาษาไทยจะดีขึ้น และร้านหนังสือในประเทศไทยเองก็จะต้องเผชิญสถานการณ์การแข่งขันเดียวกันเหมือนที่เกิดขึ้นมาแล้วในโลกตะวันตก