เคยไหมครับ ที่บางครั้งคุณนึกอยากอ่านหนังสือประวัติศาสตร์สักเล่มหนึ่ง แต่พอได้ลองไปไล่หาในร้านหนังสือ หยิบมาพลิกหน้าพลิกหลัง หากสุดท้ายก็ลังเลไม่แน่ใจว่า ถ้าซื้อเล่มนั้นมาแล้ว มันจะกลายเป็นหนังสือประวัติศาสตร์น่าเบื่อๆ ที่จนแล้วก็อาจไม่จบหรือเปล่า
จั่วหัวอย่างนี้เหมือนจะพูดว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เปล่าเลยครับ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะกระบวนการในการเรียนการสอน และหลักสูตรในชั้นประถมกับมัธยมนั่นต่างหากครับ ที่เป็นต้นตอสำคัญซึ่งได้ฝังรากความน่าเบื่อให้กับประวัติศาสตร์ สารภาพว่าครั้งหนึ่งผมก็เคยเบื่อวิชาประวัติศาสตร์นะครับ ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเอาแต่จำปี จำเดือน จำโน่น จำนี่ กันไม่จบไม่สิ้นสักที จนผมมาเข้าใจเอาทีหลังนี่แหละครับ ว่าไอ้ที่ผมต้องทนเรียนเป็นสิบปีนั่นน่ะ ไม่ได้ถอดออกมาแม้เพียงเศษเสี้ยวที่เป็นหัวใจของวิชาประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ
ว่าแต่ความสนุกของประวัติศาสตร์คืออะไรล่ะ? ผมเชื่อว่า ผจญไทยในแดนเทศ หนังสือที่หยิบมาพูดถึงประจำสัปดาห์นี้ จะตอบความสงสัยนี้ได้ดีที่สุดครับ
เล่าอย่างคร่าวๆ ก็ตามชื่อเลยครับ หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของคนไทยที่บ้างก็จงใจ แต่บ้างก็จับพลัดจับผลูเข้าไปมีบทบาทเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ในหน้าประวัติศาสตร์ของต่างแดนครับ เคยรู้ไหมครับว่า บนเรือเดินสมุทรลำยักษ์ ที่กลายมาเป็นหนังคลาสสิกระดับโลกอย่างไททานิก จะเคยมีคนไทยเข้าไปพัวพน เคยรู้ไหมครับว่า คนไทยเคยไปมีความเกี่ยวข้องกับ ฟิเดล คาสโตร ผู้นำแห่งคิวบา และเคยรู้ไหมครับว่า ในการปฏิวัติรัสเซีย ก็เคยมีชาวสยามเข้าไปข้องเกี่ยวกับเขาได้
ผมเองก็ไม่เคยรับรู้เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้หรอกครับ จนกระทั่งได้มาอ่านเอาจากหนังสือเล่มนี้แหละ!
อนุญาตให้ผมได้แยกความโดดเด่นของ ผจญภัยในแดนเทศ ให้เห็นชัดเป็นข้อๆ นะครับ เริ่มกันที่ข้อแรกที่ผมคิดว่าชัดเจนที่สุด นั่นคือสำนวนอันพลุ่งพล่านด้วยเอกลักษณ์ของ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ครับ หลายคนอาจทราบแล้วว่า อาชญาสิทธิ์นั้นเรียนจบปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์มาโดยตรง แต่นอกเหนือไปจากนั้น เขายังเคยออกผลงานรวมบทกวี และเรื่องสั้นมาก่อน มันจึงไม่แปลกที่สำนวนการเล่าประวัติศาสตร์ในหนังสือเล่มนี้จะเต็มไปด้วยรสวรรณกรรมที่อ่านอร่อย และลื่นไหล จนบางครั้งเล่นเอาลืมไปเลยครับว่ากำลังอ่านงานประวัติศาสตร์อยู่ ด้วยผู้เขียนประสบความสำเร็จในการดึงผู้อ่านเข้าสู่โลกแห่งอดีตที่บันเทิงเริงรมย์ ผ่านตัวอักษรอันจัดจ้าน และการร้อยเรียงเรื่องเล่าให้น่าติดตามอันเป็นพรสวรรค์ของตัวอาชญาสิทธิ์เอง
อาชญาสิทธิ์ย่อยเรื่องราวที่ถ้าจะเล่าอย่างซับซ้อนก็สามารถทำได้ แต่เขาทำให้ง่ายและเอร็ดอร่อย จนประวัติศาสตร์ที่อาจเป็นยาขมสำหรับใครหลายคน กลับปรากฏในรูปของขนมหวาน ที่แค่ได้ลิ้มชิมสักหนึ่งคำ ได้พลิกอ่านสักหน้าสองหน้า ก็พร้อมจะติดใจทั้งในรสชาติ และสำนวนภาษาของอย่างง่ายดาย
จุดเด่นข้อที่สองของหนังสือเล่มนี้ คือการที่ผู้เขียนไม่เพียงจะหยิบยกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมาเล่าต่อได้อย่างครบอรรถรสเท่านั้น แต่ยังครบเครื่องด้วยการค้นคว้าทำการบ้านอย่างหนัก สืบค้นหลักฐานกันพัลวัน จนเนื้อหาที่ปรากฏให้อ่านนั้นเชื่อได้ว่าผู้เขียนไม่ได้นั่งเทียน หรือสรุปเอาแค่ลอยๆ อย่างหนังสือประวัติศาสตร์บางเล่มที่ถึงจะจั่วหัวว่าอ่านสนุก อ่านง่าย แต่กลับรับรู้ได้ทันทีว่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่หยิบมาอาศัยการเขียนขึ้นมาอย่างลอยๆ และไม่สนใจกระบวนการสืบค้นทางประวัติศาสตร์แม้แต่น้อย
และเพราะ ผจญไทยในแดนเทศ เป็นหนังสือที่เกิดจากการค้นคว้าของตัวผู้เขียนเองล้วนๆ หนังสือเล่มนี้จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็น originality ที่เข้มข้นเอามากๆ อย่างที่เราคงไม่พบในงานเขียนประวัติศาสตร์เล่มไหนๆ
จุดเด่นข้อที่สามของหนังสือเล่มนี้ คือการที่มันคอยตอกย้ำอยู่เรื่อยๆ ว่า ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวอาชญาสิทธิ์อีกครั้ง ที่ผสมผสานการเล่าแบบวรรณกรรม และการนำเสนอข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้อย่างลงตัว
อย่างที่ผมกล่าวไปช่วงต้น ว่าประวัติศาสตร์ถูกระบบการศึกษาวางกรอบให้ชวนง่วง น่าเบื่อ ทั้งที่แก่นแกนของมันจริงๆ แล้วกลับอัดแน่นไปด้วยชุดเหตุการณ์ที่ชวนให้โลดโผนโจนทะยาน และถ้ามันถูกนำมาเล่าต่ออย่างชำนิชำนาญ เรื่องราวในอดีตที่มักจะถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า ‘ก็เรื่องมันผ่านไปแล้ว รู้ไปจะได้อะไร’ จะมอบประสบการณ์อีกระดับหนึ่งให้กับเรา อย่างที่อาชญาสิทธิ์ประสบความสำเร็จในการเขย่ารสชาติแห่งอดีตกาล จนออกมาเป็นค็อกเทลรสกลมกล่อมในหนังสือเล่มนี้
อาจมีข้อติติงอยู่บ้าง แต่ก็แค่นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งมันก็อยู่ที่สำนวนการเล่าเรื่องที่แม้ในทางหนึ่งจะเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ หากในทางกลับกัน มันก็อาจเป็นดั่งดาบสองคมได้ในเวลาเดียวกันครับ เพราะภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของอาชญาสิทธิ์ ในบางครั้งมันก็อาจเป็นเอกลักษณ์ ‘มากจนเกินไป’ จนอาจเป็นไปได้ว่า ภาษาที่อาจดึงดูดใจผู้อ่านกลุ่มหนึ่ง กลับพร้อมจะผลักผู้อ่านอีกกลุ่มหนึ่งออกด้วยความไม่คุ้นชิน รู้สึกอ่านไม่คล่องปาก หรืออาจนึกขัดใจกับลูกเล่นทางภาษาที่แพรวพราวเสียจนส่งผลให้การอ่านเกิดติดๆ ขัดๆ เอาได้
ผมไม่รู้ว่าคุณผู้อ่านจะจัดวางตัวเองอยู่ในกลุ่มที่ชื่นชอบสำนวนของผู้เขียน กลุ่มที่เฉยๆ หรือกลุ่มที่ไม่คุ้นเคยจนเลือกจะถอยห่าง และแน่นอนครับว่าผมเองก็ไม่สามารถจะบังคับใครให้อ่านในสิ่งที่เขาไม่ถนัดได้ แต่ถ้ามีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ สำหรับใครที่สนใจหนังสือปกสวยเล่มนี้ คือไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไรกับเอกลักษณ์ทางภาษาของผู้เขียน ลองสู้อ่านไปเรื่อยๆ ดูครับ แล้วจับจ้องแต่เพียงเนื้อหาอย่างจริงๆ จังๆ ละเลียดเรื่องราวที่อาชญาสิทธิ์ถักถอออกมาอย่างระมัดระวัง
แล้วคุณจะได้พบกับหนังสือประวัติศาสตร์อ่านสนุกที่แม้จะนำเสนอเรื่องราวอันธรรมดาสามัญ หากเปี่ยมไปด้วยมนต์ขลัง และความบันเทิงเริงใจ อย่างที่การดำดิ่งลงไปในโลกแห่งประวัติศาสตร์ควรจะเป็น