หลังจากผ่านวาระ ‘เมืองหนังสือโลก’ เมื่อ พ.ศ. 2556 ไปอย่างหว่องๆ (เหงาๆ เงียบๆ ไม่อยากเป็นที่สนใจของใคร) จนกระทั่งหลายคนอาจจะลืมไปแล้ว มหานครอย่าง กรุงเทพฯ ก็กำลังจะมี ‘หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร’ เป็นของตัวเอง โดยได้เปิดให้ทดลองใช้งาน ไปตั้งแต่วันศุกร์ 7 เมษายน ที่ผ่านมานี้ (และก็ปิดไม่ให้ใช้งานอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ตอนแรกข่าวว่าจะให้ทดลองใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง จนกว่าจะถึงวันเปิดใช้งานจริงเลยนะ รู้ยัง?)
ในโลกตะวันตก ห้องสมุดเป็นของที่มาตั้งแต่โบร่ำโบราณเลยนะครับ ไม่ใช่เพิ่งจะมามีเป็นของประจำเมืองเอาเมื่อปีศักราชย่างเข้า 2560 ปี หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานอย่างกรุงเทพฯ ของพี่ไทยเรา ส่วนห้องสมุดที่เก่าแก่ และน่าจะมีชื่อเสียงที่สุดในยุคโบราณของโลกตะวันตกเขา ตั้งอยู่ที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ประเทศอียิปต์ ซึ่งมักจะเรียกกันว่า ห้องสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย แต่อันที่จริงแล้ว ในเอกสารโบราณเรียกห้องสมุดแห่งนี้ว่า ‘Musaeum of Alexandria’
ใช่ครับใช่ ‘มิวเซียม’ ที่ทุกวันนนี้เราแปลเป็นภาษาไทยว่า ‘พิพิธภัณฑ์’ นั่นแหละ มิวเซียมแห่งนี้ สร้างอยู่รอบสุสานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (มีชีวิตอยู่เมื่อราว พ.ศ. 187-220) ผู้ที่ทำให้เมืองดังกล่าวมีชื่อว่า อเล็กซานเดรีย โดยพระเจ้าปโตเลมีที่ 1 นายพลชาวมาซิโดเนียน ที่เคยตามเสด็จพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ออกรบมาจนถึงโลกตะวันออก และเป็นผู้ปกครองเมืองแห่งนี้นั่นแหละที่ได้สร้างมิวเซียมแห่งนี้ขึ้น
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าห้องสมุดสมัยโบราณมีหน้าตาเหมือนกับสมัยเรานะ เพราะสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีการพิมพ์เหมือนปัจจุบัน หนังสือที่ว่าจึงเกิดจากการคัดลอก และมีลักษณะเป็น ‘คลังข้อมูล’ อย่างที่เดี๋ยวนี้ชอบเรียกทับศัพท์กันว่า ‘อาร์ไคฟ์’ (archive)
บรรณารักษ์จึงไม่ได้มีหน้าที่แค่จัดเก็บ ซ่อมแซม ทำทะเบียนหนังสือให้เป็นหมวดหมู่ หรือนั่งทำหน้ายักษ์แล้วดุใส่เวลาใครส่งเสียงดัง แต่ต้องศึกษาวิจัยข้อมูลที่ว่านี้ด้วย
(อ่อ! ส่วนในโลกตะวันตกครั้งกระโน้น ถ้าใครจะส่งเสียงดังในห้องสมุดก็เป็นเรื่องปกติ และไม่มีบรรณารักษ์คนไหนจะมาทำหน้าถมึงทึงกว่าทศกัณฐ์เข้าใส่ เพราะคนในสมัยโน้นเขาอ่านออกเสียงกันในห้องสมุดจนเป็นเรื่องปกติ หลักฐานมีอยู่ เช่น หนังสือเรื่อง Confessions ของเซนต์ออกุสติน ที่เขียนขึ้นในช่วงราว พ.ศ. 950 พูดถึงนักบุญแอมโบรสด้วยความประหลาดใจว่า ‘ท่านไม่ได้อ่านออกเสียง’ ในขณะที่คลอดิอุส ปโตเลมี ที่มีอายุอยู่ในช่วงราว ค.ศ. 633-711 เขียนถึงการอ่านในหนังสือชื่อ On the Criterion ว่า ‘บางครั้งคนเราก็อ่านเงียบๆ เมื่อต้องใช้สมาธิอย่างมากเพราะเสียงอาจรบกวนความคิดได้’ ดังนั้นใครก็ตามที่เข้าไปนั่งเงียบอยู่ในห้องสมุดสมัยนั้นต่างหาก ที่จะถูกพี่ๆ บรรณารักษ์จับตามองด้วยความประหลาดใจ)
นอกเหนือจากห้องสมุดแล้ว ภายในมิวเซียมแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย ยังประกอบไปด้วย คลังเก็บศิลปวัตถุ ห้องประชุม ห้องโถงสำหรับทำการปาฐกถาต่างๆ และสวนที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ทั้งหมดนี้รวมกันจึงนับเป็น Musaeum of Alexandria ไม่ใช่ว่ามีแค่เพียงองค์ประกอบใด องค์ประกอบหนึ่งก็จะเป็นมิวเซียมขึ้นมาได้
ดังนั้น นอกเหนือจากที่จะมีหนังสือให้อ่านแล้ว จึงยังต้องมีพื้นที่สำหรับพื้นที่สำหรับเปิดให้มีการนำเอาความรู้ หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในหนังสือ หรืออาร์ไคฟ์เหล่านั้น ออกมาถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ หรืออะไรอีกสารพัดไม่ให้หนังสือเหล่านั้น ถูกจอดเก็บไว้นิ่งๆ อยู่บนหิ้งนั่นเอง
ห้องสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย (แน่นอนว่าที่จริงแล้วหมายถึง Musaeum of Alexandria ทั้งหมด) ถูกเผาทิ้งโดยฝีมือของ จูเลียส ซีซาร์ คนดังแห่งโรม เมื่อคราวพวกโรมันบุกโจมตีอียิปต์ของพระนางคลีโอพัตราราว พ.ศ. 496 แต่ที่จริงแล้วนั่นเป็นเพียงการบุกเข้าทำลายห้องสมุดแห่งนี้ครั้งแรกเท่านั้น พวกโรมโดยจักรพรรดิออเรเลียน เมื่อ พ.ศ. 813 และโดยคำสั่งของพระสันตะปาปา ธีโอฟีลุส แห่งเมืองอเล็กซานเดรียเองเมื่อปี พ.ศ. 934 ในฐานที่เป็นแหล่งมั่วสุมของพวกนอกรีต จากนั้นมาเหตุการณ์เผาห้องสมุดแห่งอเล็กซานเดรีย ก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียทางวัฒนธรรม ความรู้ และภูมิปัญญาครั้งสำคัญของโลกมาโดยตลอด
การที่ ‘มิวเซียมแห่งอเล็กซานเดรีย’ ถูกจดจำในโทษฐานของ ‘ห้องสมุดแห่งเมืองอเล็กซานเดรีย’ และเหตุการณ์ทำลายห้องสมุดแห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการสูญเสียทางภูมิปัญญาครั้งสำคัญของโลกตะวันตก นั้นก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า สิ่งสำคัญที่สุดของมิวเซียมก็คือ วิชาความรู้ ที่ถูกสะสมอยู่ภายในนั้น มากกว่าที่จะเป็นคอลเลกชั่น ศิลปวัตถุ หรือโบราณวัตถุใดๆ นะครับ
และนี่ก็ดูจะต่างกันไปอย่างสิ้นเชิงกับสถานที่เก็บรักษาหนังสือ ตามประเพณีของไทยแต่ดั้งเดิมนะครับ เพราะสยามยุคก่อนที่จะก้าวล่วงเข้าสู่สมัยใหม่ ก็มีสถานที่เก็บสะสมหนังสือเช่นกัน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ หอพระไตรปิฎก ตามวัด ซึ่งก็คือศูนย์กลางของชุมชนต่างๆ ในยุคก่อนสมัยใหม่
แต่หอไตรฯ เหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเดียวกับห้องสมุดของโลกตะวันตก เพราะใช้เป็นที่เก็บหนังสือ (ไม่ว่าจะในรูปของสมุดไทย หรือใบลาน) เพียงอย่างเดียว ไม่ใคร่จะมีใครใช้อ่านกันเท่าไรนัก สมาชิกในสังคมที่จะได้ใช้หนังสือหนังหาในหอไตรฯ มีอยู่อย่างจำกัด เฉพาะผู้ที่รู้หนังสือ ซึ่งหมายถึงผู้ที่บวชเรียนแล้วเท่านั้น (แน่นอนว่า นี่ยังไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไปถึง คนบวชที่ไม่ได้เรียน จึงอ่านอะไรไม่ออกอยู่ดี ที่น่าจะมีเป็นจำนวนมากกว่าผู้ที่บวชแล้วอ่านออกเขียนได้อีกต่างหาก)
ในจำนวนคนที่รู้หนังสือเหล่านั้นก็ไม่ได้นำทรัพยากรในหอไตรฯ มาใช้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะกว่าจะหยิบออกมาแต่ละเล่ม ก็ใช้อยู่แต่เล่มเดิมๆ เพื่อใช้อ่านประกอบในการเทศน์มหาชาติ สวดเทศนาธรรมต่างๆ ซึ่งหากว่ากันตรงๆ แล้ว พระท่านก็ไม่จำเป็น ‘อ่าน’ หนังสือเหล่านี้สักเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ก็ ‘ท่องจำ’ (ซึ่งจะถ่ายทอดกันด้วยการสวดให้ฟัง ไม่ใช่อ่านเอาจากหนังสือ) ได้จนขึ้นใจอยู่แล้ว
หรือหากจำไม่ได้จริงๆ ก็มีเทคนิคช่วยในการอ่านอย่างการเอาโพสต์อิทแปะ คำอ่านเป็นภาษาปัจจุบันไว้ตามตัวอักษรที่อ่านจะเขียนด้วยอักษรขอม หรืออักษรอื่นๆ ที่อ่านไม่ค่อยจะออกกัน
นั่นหมายความว่า ความสำคัญของหนังสือเหล่านี้อยู่ที่ความศักดิ์สิทธิ์ มากกว่าความรู้ข้างใน ซึ่งอ่านและแปลกันไม่ออก
ยิ่งไม่ต้องคำนึงว่าจะนำเอาความรู้ในนั้นมาใช้ประโยชน์อย่างไรเลยด้วย และอันที่จริงแล้วหนังสือเหล่านี้ก็ถูกคัดลอกขึ้นมาเพื่อเป็นการทำบุญในพระศาสนา มากกว่าเพื่อการอ่านมาตั้งแต่เดิมนะครับ
‘หอไตรฯ’ ของไทยเรา จึงมีฐานะไม่ต่างอะไรไปจาก ‘ห้องพระ’ เพราะเป็นที่ใช้เก็บหนังสือ ที่เป็นของขลังและศักดิ์สิทธิ์ แต่แตกต่างกันอย่างมากกับ ‘ห้องสมุด’ ของโลกตะวันตก ที่ใช้เป็นสถานที่รวบรวมตำรับตำรา หรือวิชาความรู้
และคงเป็นเพราะภูมิหลังทางความคิด และวัฒนธรรมอย่างนี้นั่นแหละ ที่ทำให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่เก็บและดูแลรักษาเอกสารเก่า ในกำกับของรัฐไทย มักจะหวงห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลในนั้น ราวกับเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามมิให้มนุษย์เหยียบย่างเข้าไป
ไม่ต้องแปลกใจหรอกนะครับ ที่หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร จะใช้งบประมาณลงทุนค่าสถานที่ไปเกือบๆ 900 ล้านบาท (แบ่งเป็นค่าเช่าสถานที่ 30 ปี เกือบๆ 600 ล้านบาท และค่ารีโนเวตอาคารอีก 296 ล้านบาท) แต่มีงบจัดซื้อหนังสือเพียง 5 ล้านบาท หรือคิดเป็นไม่ถึง 1% ของเงินลงทุนค่าสถานที่เลยด้วยซ้ำ
ก็โบราณเขาเน้นที่ความหรูหราของหอไตรฯ นี่ครับ ไม่ได้สนใจว่าภายในหอไตรฯ จะมีตำรับตำราอะไรบ้างเสียหน่อย ยังไงก็ไม่ได้คิดจะให้ใครเข้าไปใช้ประโยชน์ด้วยการอ่านเอาความรู้อะไร จากข้างในนั้นอยู่แล้วนี่นา?