ก่อนหน้านี้เราเคยเล่าเรื่องราวของการหยิบเอาสิ่งของต่ำต้อยและสกปรกโสโครกในความรู้สึกของคนทั่วไปอย่าง ‘โถฉี่‘ หรือ ‘โถส้วม‘ ที่ปกติใช้เป็นเครื่องรองรับสิ่งปฏิกูลมาทำให้กลายเป็นงานศิลปะไปแล้ว ตอนนี้เราเลยขอเล่าถึงการทำงานศิลปะที่เกี่ยวพันกับเรื่องส้วมๆ อีกสักครั้ง โดยคราวนี้ไม่ได้เป็นการหยิบเอาของในส้วมมาทำเป็นงานศิลปะ หากแต่เป็นการเปลี่ยน ‘ห้องส้วม’ ให้กลายเป็นหอศิลป์หรือพื้นที่แสดงงานศิลปะมันเสียเลย แถมศิลปินที่ทำโครงการเปลี่ยนห้องส้วมให้กลายเป็นหอศิลป์ ก็ไม่ใช้ศิลปินอื่นไกลที่ไหน หากแต่เป็นคนไทยเรานี่เอง
โครงการศิลปะ Thai Message
โครงการนี้เป็นผลงานของ ‘ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์’ ศิลปินร่วมสมัยที่มีงานแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผลงานส่วนใหญ่ของเขาเกี่ยวข้องกับการป่วนทางวัฒนธรรม (Culture Jamming) ด้วยการลักลอบแสดงงานในพื้นที่สาธารณะ แล้วบันทึกเป็นหลักฐาน เพื่อนำกลับมาตั้งคำถามกับพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2006 โดย ธิติบดี และเพื่อนศิลปินอย่าง สมยศ รัตนสุวรรณกุล ร่วมมือกันสร้างโครงการศิลปะนี้ขึ้นมาด้วยการประกาศให้ศิลปินไทย (คนไหนก็ได้) ส่งผลงาน (อะไรก็ได้) ไปให้พวกเขาที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และพวกเขาจะแอบลักลอบนำผลงานเหล่านั้น เข้าไปแสดงในห้องส้วมของหอศิลป์ชื่อดังระดับโลก อย่าง หอศิลป์เทต โมเดิร์น (Tate Modern) ที่นำเสนอผลงานของศิลปินชื่อดังระดับโลกในแวดวงศิลปะสมัยใหม่ และผลงานของศิลปินร่วมสมัยที่กำลังมาแรงในโลกศิลปะ เพื่อจับคู่เปรียบเทียบผลงานของศิลปินไทยกับศิลปินระดับโลกเหล่านั้น
“โครงการนี้เกิดจากความสงสัยว่า ทำไมในประวัติศาสตร์ศิลปะของโลกถึงมีแต่ฝรั่ง เรารู้จักแต่ศิลปินอย่าง แวน โก๊ะห์ , ปิกัสโซ ที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ศิลปะตลอดมา เราก็เลยคิดว่าอยากไปประเทศโลกที่หนึ่ง เพื่อดูหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ของเขา แล้วก็อยากไปแสดงงานคู่กับพวกเขาด้วย เราเลยเดินทางไปประเทศอังกฤษ ไปดูงานในหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ที่นั่น แล้วเราก็ได้เห็นว่าไม่มีงานของคนไทยอยู่ในนั้นเลย พอถึงตรงนั้นเรารู้สึกต่ำต้อยว่าตัวเองเป็นประเทศโลกที่สามเหลือเกิน ทำไมเขาไม่พูดถึงเราบ้างเลย ก็เลยอยากจะประกาศศักดาของศิลปินไทยกับเขาบ้าง
พอดีช่วงนั้นเราพอจะรู้จักสื่อนิตยสารอยู่บ้าง เราก็เลยประกาศผ่านสื่อเหล่านั้น ว่าจะรับงานของคนไทยทุกคนที่ส่งมาให้ เพื่อเอาไปแสดงประกบกับศิลปินระดับโลกในพื้นที่หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์ที่นั่น แล้วถ้าเราทำคนเดียวมันก็ง่ายเกินไป แค่แอบเอางานเราไปติดแบบนี้ แบงก์ซี (Banksy) ก็เคยทำมาแล้ว แต่งานของเราพูดถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางชนชาติในวงการศิลปะ เราเลยเปิดรับงานทุกคนเอาไปแสดงเลยดีกว่า ก็คิดไปคิดมาว่าจะแอบเอาไปแสดงที่ไหนดี จนในที่สุดเราก็เลือกห้องส้วม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่คนใช้ระบายของเสีย ก็เลยเริ่มต้นที่ห้องส้วมของหอศิลป์เทต โมเดิร์น นี่แหละ เราลักลอบเอาผลงานที่คนส่งมาให้ แอบไปติดในส้วมของหอศิลป์เทต โมเดิร์น ในชั้นที่เขาแสดงนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะแบบถาวรที่เป็นผลงานชิ้นดังๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะ เพราะเราต้องการต่อรองกับอำนาจของผลงานเหล่านั้นว่างานของเราดีพอไหม?
ตอนไปติดตั้งงาน ก็เสี่ยงจะโดนจับได้อยู่เหมือนกัน แต่เราก็วางแผน จัดทีมงานเจ็ดแปดคน ดูต้นทาง ดูรปภ. ทั้งตรงบันไดเลื่อน หน้าห้องน้ำ เพื่อดูทางหนีทีไล่เอาไว้ก่อน” ธิติบดีกล่าวถึงที่มาของปฏิบัติการ (ลักลอบ) แสดงผลงานศิลปะในส้วมของหอศิลป์ระดับโลกของเขา
อันที่จริงโครงการลักลอบแสดงงานศิลปะในส้วมของหอศิลป์เทต โมเดิร์น ก็มีความเชื่อมโยงกับผลงานโถฉี่ศิลป์ หรือ Fountain (1917) ของ มาร์เซล ดูชองป์ อยู่ไม่น้อย เพราะหอศิลป์เทต โมเดิร์นเองก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่จัดแสดงผลงานโถฉี่ศิลป์ของดูชองป์เป็นคอลเล็กชั่นถาวร
“ตอนเราไปดูงานในหอศิลป์เทต โมเดิร์น เราได้เห็นผลงานโถฉี่ของดูชองป์ แล้วเรารู้สึกว่า ในเมื่อคุณหยิบเอาสิ่งของจากในห้องส้วมออกมาแล้วบอกว่ามันเป็นงานศิลปะได้ เราก็เอางานศิลปะกลับเข้าไปอยู่ในห้องส้วมอีกครั้งนึงเสียเลย” ธิติบดีกล่าวถึงแรงบันดาลในการเปลี่ยนพื้นที่ห้องส้วมให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ
ด้วยความที่ปกติแล้ว การเข้าไปในพื้นที่แสดงงานศิลปะกระแสหลักอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นอะไรที่เข้าถึงได้ยาก การลักลอบเข้าไปแสดงงานในห้องส้วมของสถานที่เหล่านั้นจึงไม่ต่างอะไรกับการต่อต้านกฏเกณฑ์ และขนบธรรมเนียมอันสูงส่งของสถาบันศิลปะและวงการศิลปะเช่นเดียวกับดูชองป์
“ตอนเริ่มต้นทำโครงการนี้ เราเขียนโครงการไปเสนอหอศิลป์ใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ว่าเราจะเอาชิ้นส่วนผลงานและบันทึกหลักฐานทุกอย่างที่ไปลักลอบแสดงในส้วมกลับมาแสดงที่นั่น ทั้งภาพถ่ายผลงานและปฏิบัติการ, ใบเสร็จค่าเดินทาง หรือแม้แต่กล่องพัสดุที่คนส่งงานมาให้ เพราะเราคิดว่า ถึงแม้ปฏิบัติการศิลปะมันจบไปแล้ว แต่เราอยากให้เห็นโครงสร้างการเดินทางของงานศิลปะอีกครั้ง โดยเราขอพื้นที่ในหอศิลป์แห่งนั้นเพื่อเล่าเหตุการณ์ผ่านพยานวัตถุ และตั้งคำถามว่า ถ้าหอศิลป์ในอีกซีกโลกนึงไม่ยอมรับผลงานเหล่านี้ หอศิลป์ในบ้านเราจะยอมรับมันได้ไหม? และงานศิลปะที่จบไปแล้ว ยังสามารถเป็นศิลปะได้อยู่ไหม? ซึ่งเขาก็ตกลงให้แสดง
แต่สองวันก่อนที่เราจะเข้าไปติดตั้งผลงาน จู่ๆ เขาก็โทรติดต่อมาแจ้งว่าเราต้องจ่ายค่าประกันความเสียหายของพื้นที่เป็นเงินหลายหมื่นก่อน เราก็เลยช็อกประมาณนึง แล้วก็ดันไปโพสต์ในเฟซบุ๊กแล้วถูกแชร์กันใหญ่โต ในที่สุดทางหอศิลป์ก็เลยขอระงับโครงการแบบไม่มีกำหนด เราก็คิดว่าเราอยู่ในเมืองไทยไม่เวิร์กแล้ว เลยไปทำงานในนิวยอร์กเพื่อหาประสบการณ์
พอกลับมาจากนิวยอร์กในปี 2016 ศิลปินรุ่นพี่ ดุษฎี ฮันตระกูล ก็มาชวนเราไปร่วมแสดงงานในนิทรรศการของเขาที่หอศิลปของมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งเรารู้ประวัติความเป็นมาว่าเขาเคยเชิญศิลปินระดับโลกหลายคนอย่าง มารินา อับราโมวิช (Marina Abramovic), ยาซุมาซะ โมริมูระ (Yasumasa Morimura) มาแสดงงานแล้ว เราเลยเลือกผลงานที่ถูกระงับไป มาแสดงในห้องส้วมของหอศิลป์ที่นี่ เพื่อต่อรองกับศิลปินที่แสดงงานในห้องแสดงงานหลัก และเล่นสนุกกับบริบทของพื้นที่ ด้วยการสลับป้ายห้องส้วมชายและหญิง แสดงความผิดที่ผิดทางของงานชุดนี้
แต่ก่อนที่นิทรรศการจะเปิด งานของเราก็ถูกรื้อออกจากห้องส้วมมากองไว้ในหอศิลป์ ป้ายห้องน้ำที่สลับกันก็ถูกแกะออกมาติดกลับคืนที่เดิม เพราะทางผู้ดูแลหอศิลป์เขาอยากให้เราไปแสดงงานในหอศิลป์แบบปกติ แต่เราบอกเขาไปว่าบริบทของงานนี้คือการลักลอบแสดงงานเพื่อท้าทายสถาบัน ก็เลยต้องแสดงงานในส้วม เขาก็ฉุนขาด จนเกือบเป็นเรื่องราวใหญ่โต ท้ายที่สุด ทางพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม ก็ซื้อผลงานของเราไปทั้งโครงการ และจัดแสดงในส้วมของพิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมนั่นแหละ”
หลังจากนั้นโครงการศิลปะ Thai Message ก็ตระเวนเดินทางไป (ลักลอบ) แสดงผลงานในห้องส้วมของพิพิธภัณฑ์, หอศิลป์ และพื้นที่ทางศิลปะหลายแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จาการ์ตา (Jakarta History Museum), พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์และเซรามิก (Museum Seni Rupa dan Keramik) จาร์กาตา, ศูนย์ศิลปะยอกยาการ์ตา (Yogyakarta art center), พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติยอกยา (Jogja National Museum), ในประเทศอินโดนีเซีย, เทศกาลศิลปะ Biennale of Sydney เกาะ Cockatoo, พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยออสเตรเลีย (Museum of Contemporary Art Australia) ซิดนีย์, หอศิลป์ NSW (Art Gallery of New South Wales) นิวเซาท์เวลส์, ศูนย์ศิลปะร่วมสมัยเอเซียน 4A (4A Centre for Contemporary Asian Art) นิวเซาท์เวลส์, ศูนย์ศิลปะ Carriageworks ซิดนีย์ ในประเทศออสเตรเลีย โดยติดป้ายชื่อโครงการ และชื่อของศิลปินและพิพิธภัณฑ์เจ้าของผลงานเป็นตัวอักษรย่อ นัยว่าเพื่อป้องกันการโดนทางพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์เหล่านั้นตามมาด่าทีหลัง (ฮา)
ล่าสุด ในปี 2018 โครงการแสดงศิลปะในห้องส้วมของเขาก็กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ในห้องส้วมของ N22 เวิ้งรวมมิตรศิลปะในซอยนราธิวาส 22 โดยเป็นการร่วมมือกับ Gallery Ver หยิบยืมเอาผลงานที่พิพิธภัณฑ์ใหม่เอี่ยมสะสมไว้มาแสดงในห้องส้วมของ N22 เป็นระยะเวลา 1 ปี แถมยังเปิดพื้นที่ให้ใครก็ได้ ส่งผลงานอะไรก็ได้ เข้ามาร่วมแสดงในห้องส้วม แบบไม่จำกัดชิ้นงาน ไม่มีการคัดเลือก ใครมาก่อนก็ได้แสดงก่อน
ลักษณะการเปิดรับผลงานแบบไร้ข้อจำกัดเช่นนี้ ทำให้เรานึกไปถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่ดูชองป์ ส่งโถฉี่เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการศิลปะของสมาคมศิลปินอิสระในนิวยอร์ก (Society of Independent Artists) ที่บอกว่า “รับงานแบบไหนก็ได้ไม่จำกัด” แต่กลับปฏิเสธโถฉี่ของดูชองป์อย่างไม่ใยดี ซึ่งพื้นที่แสดงงานของ Thai Message ก็ไม่ได้ทำอะไรที่ปากว่าตาขยิบแบบนั้นแต่อย่างใด ด้วยกิจกรรมทางศิลปะอันไม่ธรรมดานี้ พวกเขาเปลี่ยนห้องส้วมของหอศิลป์ให้กลายเป็นพื้นที่ ที่ทุกคนสามารถใช้มันเพื่อเป็นที่ระบายของเสีย และความคิดสร้างสรรค์อันบรรเจิดออกมาได้อย่างมีพลังเป็นที่สุด
“เราทำโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามกับระบบของ Curator (ภัณฑารักษ์) ในโลกศิลปะสมัยใหม่ เพราะเรามองว่า สำหรับศิลปะสมัยใหม่นั้น คนดูควรเป็นคนตัดสินเอง ไม่ใช่ Curator มาคัดสรร ว่าชิ้นนี้ดีหรือไม่ดี หรือกรรมการมาตัดสินชี้วัดว่าชิ้นไหนควรได้รางวัลดีเด่นหรือยอดเยี่ยม
ในพื้นที่ของเรา ใครมาก่อนก็ได้ก่อน หรือบางคนติดตั้งงานในระยะห่างที่ดูลงตัวแล้ว แต่กลับมีอีกคนมาเบียดตรงกลางจนขโมยซีนไป มีการทับ การบอมบ์กัน คนแสดงงานก็ต้องทำใจไว้ด้วย”
งานศิลปะที่เข้ามาแสดงในส้วมแห่งนี้ก็มีทั้งงานแบบปกติธรรมดาอย่าง ภาพวาด, ภาพถ่าย, ประติมากรรม, วิดีโอ และงานแปลกๆ แหวกแนว อาทิผลงานของ มาดี พัฒนศรี ที่เอาไก่มาเลี้ยงในห้องน้ำ และขายไข่ไก่เป็นงานศิลปะ หรือยกเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นและโทรทัศน์มาไว้ในห้องน้ำให้คนเข้ามาเล่นเกมครั้งละ 10 บาท หรือเอาเช็คเงินเดือนเดือนสุดท้ายจากงานประจำที่เขาทำ ที่ไม่ได้ขึ้นเงิน มาแปะไว้บนประตูห้องน้ำซะงั้น!
หรือผลงานของ ปัญจพล นาน่วม ที่ปั้นขี้ไคลของตัวเองมาใส่กรอบแสดงเสียดิบดี หรือผลงานที่เขาแอบจิ้กเศษชิ้นส่วนเล็กๆ จากผลงานของศิลปะระดับโลกอย่าง อ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei), เอนเซล์ม คีเฟอร์ (Anselm Kiefer) และ จ้าวจ้าว (Zhao Zhao) มาใส่กรอบเก็บไว้อย่างดี แต่ผลงานที่แสดงในห้องส้วมกลับมีแค่ร่องรอยของการติดตั้งผลงานเป็นเพียงแค่ตะปูเกลียวเพียงตัวเดียวบนผนัง และติดป้ายว่า ถ้าใครอยากดูผลงานจริง ต้องไปขอดูจากศิลปินเป็นการส่วนตัวเท่านั้น (อ่านะ!)
นอกจากนั้นยังมีผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงมากหน้าหลายตาอย่างทั้งไทยและเทศอย่าง ยุรี เกนสาคู, คธา แสงแข, สถิตย์ ศัสตรศาสตร์, จัสติน มิลส์ (Justin Mills), อิสรากาญจน์ ยิ่งยง (ลูกโคม) และผลงานจิกกัดเสียดสีสังคมแสบๆ คันๆ ของ ประกิต กอบกิจวัฒนา (อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป) หรือแม้แต่ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกอย่าง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ส่งผลงานวิดีโอเข้ามาร่วมแสดงในส้วม หรือ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่เซ็นโถฉี่ในส้วมว่า ‘R.Mutt’ (ซึ่ง R ในที่นี้หมายถึง Rirkrit หรือฤกษ์ฤทธิ์ นั่นเอง) ล้อเลียนโถฉี่ศิลป์ของดูชองป์ได้อย่างครื้นเครงยิ่ง
“จะว่าไปการแสดงงานศิลปะในห้องส้วมของเราก็ค่อนข้างเป็นอะไรที่คุกคามคนดูเอามากๆ เพราะเวลาเขาเข้าห้องน้ำ แล้วไปเจองานศิลปะ เจอภาพเคลื่อนไหว เจอเสียงอะไรก็ไม่รู้ เขาก็จะงุนงงสงสัย บางคนที่เข้าห้องน้ำใน N22 เขาถึงกับดึงปลั๊กวิดีโอออกเลย เพราะเสียงมันดังไปรบกวนการขับถ่ายของเขา หรืออย่างตอนที่แสดงที่ห้องน้ำที่เทต โมเดิร์น คนเขาก็ตกใจกัน เพราะมันมีปุ่มติดอยูในห้องน้ำ เวลากดก็มีเสียงดังขึ้นมา บางคนก็นึกว่าเป็นระเบิด แต่ก็มีคนที่กดเล่นกันสนุกสนานเหมือนกัน ตอนนี้โครงการนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 แล้ว เรารู้สึกว่าอิ่มแล้ว มันอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว เพราะล่าสุดเราแทบไม่ต้องประกาศอะไรเลย คนก็เข้ามาร่วมแสดงงานกันแน่นในทุกพื้นที่ในห้องส้วม
เราว่าตอนนี้สถานการณ์ในบ้านเมืองเรามันไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ขาดเสรีภาพ ห้องส้วมที่เป็นที่ที่คนระบายถ่ายทุกข์กันได้อย่างเสรี จึงน่าจะเป็นสถานที่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดแล้วในยามนี้ พื้นที่แสดงงานนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่คนแอบขีดเขียนระบายความอัดอั้นตันใจลงบนฝาผนังส้วมนั่นแหละนะ” ธิติบดีกล่าวทิ้งท้าย
ใครสนใจจะไปถ่ายทุกข์พร้อมกับเสพศิลป์ในห้องส้วมศิลปะของเขาในนิทรรศการ Thai Message: Episode IV ก็แวะเวียนกันไปได้ที่ห้องส้วมของโครงการ N22 ซอยทวีวัฒนา ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2018 นี้ ไปจนถึงสิ้นปี หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล galleryver@gmail.com และเบอร์โทรศัพท์ 02 103 4067 กันตามอัธยาศัย หรือถ้าใครอยากเข้าชมนิ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน ธิติบดี รุ่งธีรวัฒนานนท์