ใครที่ติดตามเดอะเฟซสามตอนที่ผ่านมาคงได้เห็นว่าความดุเดือดเลือดพล่านมีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับแต่ตอนแรกที่เห็นการเชือดเฉือนแย่งลูกทีมกันทางวาจา หรือตอนต่อมาก็ได้เห็นการเหน็บด่าระหว่างเมนเทอร์ราวกับโกรธแค้นกันมาแต่ชาติปางก่อน หรือในตอนล่าสุดที่เมนเทอร์เกดถึงกับเลือดขึ้นหน้า เมื่อพบว่าฮาน่า ลูกทีมของตนถูกเมนเทอร์บีขับออกจากการแข่งขัน
ด้วยดีกรีความดราม่าที่มากขึ้นเรื่อยๆ ราวกับว่า
ไม่เร็วก็ช้านี้เราคงได้เห็นเมนเทอร์ตบกันจริงๆ ได้โหมกระพือ
ความรู้สึกอินแรงจนคนดูอย่างเราอินในระดับที่จิกหมอนแทบจะขาด
สำหรับผมแล้ว ตั้งแต่ซีซั่นที่หนึ่งเป็นต้นมา ความน่าสนใจของเดอะเฟสอยู่ที่การวางตัวของมันซึ่งก้ำกึ่งระหว่างความจริงกับสคริปต์นี่แหละครับ ด้วยคล้ายว่ารายการเองกำลังตั้งคำถามกับคนดูอยู่ตลอดเวลาว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนหน้าจอนั้นมีช่วงไหนบ้างที่เป็นเรื่องจริง และช่วงไหนบ้างที่เป็นการแสดงตามบทที่เตรียมไว้แล้วล่วงหน้า
นี่เองที่กลายมาเป็นจุดเด่นของรายการที่ในทางหนึ่งมันได้สร้างข้อถกเถียงให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ชมด้วยกันเอง ด้วยความคลุมเครือซึ่งไม่อาจยืนยันได้อย่างเต็มปากว่า ที่เห็นเมนเทอร์ด่าๆ กันอยู่นั้นมาจากอินเนอร์จริงๆ ของแต่ละคนหรือเปล่า อินกันถึงขนาดมีการแบ่งทีมตามเมนเทอร์ที่ตนชื่นชม และซึ่งไม่เพียงแค่จะเชียร์กันขำๆ แค่ระหว่างรายการเท่านั้นนะครับ เพราะหลายๆ คนยังหยิบเอาความอินออกมาสู่โลกข้างนอก ถึงขั้นด่าทอกันด้วยถ้อยคำรุนแรงเพียงเพราะอีกฝ่ายไม่ได้สังกัดอยู่ทีมเดียวกับตน แต่เมื่อมีฝั่งที่อินแล้ว ก็ต้องมีอีกฝั่งที่เห็นต่าง และบ้างก็มักจะยกอ้างขึ้นว่า จะอินทำไมนักหนา เพราะรายการมันมีสคริปต์กำกับเหมือนหนังนั่นแหละ ทีตอนดูละครยังไม่เห็นจะออกมาด่ากันปาวๆ แบบนี้เลย
แต่จะว่าไปแล้ว การจะจัดวางเดอะเฟสให้อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง
นั้นออกจะเป็นการลดทอนมิติของรายการลง
อย่างน่าเสียดายอยู่สักหน่อยครับ
และไม่ว่าคุณจะอินสุดๆ หรือมองมันเป็นแค่ละคร ผมก็อยากชักชวนให้มาลองสังเกตความซับซ้อนและช่างคิดที่เดอะเฟสนำเสนอออกมาให้เห็นผ่านการยั่วหลอกกับคนดูอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่การค้นหาความจริงหรือความลวงที่เป็นประเด็นสำคัญของรายการ ด้วยแม้ว่าจะวางตัวเองเป็นเรียลลิตี้โชว์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งหรือศัลยกรรมแต่อย่างใด แน่นอนละว่าผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนล้วนเป็นบุคคลจริงๆ และถึงแม้พฤติกรรมต่างๆ อาจจะเป็นไปตามการตัดสินใจของแต่ละบุคคลอยู่บ้าง กระนั้นก็ยังเห็นได้ว่ามีบทหรือกรอบซึ่งจะคอยกำกับพวกเขาเหล่านั้นให้ดำเนินไปตามลักษณะซึ่งได้วางไว้แล้ว
บทในที่นี่ไม่ใช่สคริปต์ที่มีให้ท่องหรอกนะครับ
แต่ออกจะไปในทางกำหนดเส้นประคร่าวๆ ให้พอได้เห็นแนวทางมากกว่า
ว่าพวกเขาควรจะเดินไปในทางไหน หรือวางคาแรคเตอร์ในแบบใด
จุดสังเกตหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ในเดอะเฟสไม่ใช่ความจริงเพียวๆ อยู่ที่ความแรงทั้งของตัวเมนเทอร์เอง และของตัวผู้เข้าแข่งขันที่เหมือนจะทวีความมั่นใจ และความแพรวพราวของคำจิกกัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่รอบที่ลึกขึ้น ในทางหนึ่งอาจพูดได้ว่า เดอะเฟสคือการขยายความจริงล้นเกินซึ่งได้สร้างอีกชุดความจริงหนึ่งขึ้นมาครอบทับความเป็นจริง และขับเน้นในสิ่งซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกแห่งความจริง ปรุงรสให้เผ็ดร้อน แต่งกลิ่นให้เข้มข้น หรือก็คือการใส่ผงชูรสลงไปนั่นแหละครับ
แต่ถ้าจะยึดติดอยู่แต่กับว่าอะไรจริงหรือไม่จริงก็อาจจะน่าเบื่อไปสักหน่อย ซึ่งเดอะเฟสก็ได้ผลักพาคนดูไปไกลกว่านั้นด้วยในซีซั่นที่สามนี้ มีตอนหนึ่งที่เมนเทอร์บีหันมาพูดกับกล้องตรงๆ ว่า เล่นใหญ่ขนาดนี้ใหญ่พอหรือยัง ประหนึ่งว่ากำลังถามอยู่กับคนดูอย่างเราๆ ด้วยคำพูดนี้เองที่ได้แสดงให้เห็นว่า เดอะเฟสมีสัดส่วนของการแสดงผสมอยู่ และเมนเทอร์เองก็รู้ตัว และซึ่งไม่เพียงแค่จะแสดงออกให้เห็นว่ารู้ตัวเท่านั้น แต่ยังบอกกับคนดูตรงๆ ด้วยตัวเองว่า
ที่คุณกำลังดูอยู่น่ะ ที่คุณเห็นฉันร้ายอยู่น่ะ
คือฉันที่กำลังเล่นใหญ่ คือฉันกำลังแสดงละครให้คุณเห็น
คือฉันกำลังสนองตอบต่อความต้องการที่คนดูต้องการจะเห็นจากรายการ
หรือไม่เพียงแต่เมนเทอร์บีเท่านั้น แต่เมนเทอร์มาช่าเองก็ยังเคยพูดออกมาตรงๆ ว่า เมนเทอร์แต่ละคนนี่เล่นใหญ่กันทุกคนจริงๆ
คุณคงเคยได้ยินคำว่า ‘Break the Fourth Wall’ สินะครับ มันคือภาวะที่กำแพงซึ่งกั้นกลางระหว่างคนดูกับตัวละครได้ถูกทลายออก และซึ่งตัวละครนั้นๆ ก็รับรู้ว่าตัวเองอยู่ในโลกซึ่งกำลังมีผู้คนจ้องมองเขาอยู่ การแสดงตัวว่ารับรู้ต่อความจริงนี้ของเมนเทอร์บีจึงเท่ากับว่า ไม่ว่าเดอะเฟสจะถูกกำกับด้วยสคริปต์แค่ไหน แต่ตัวละครซึ่งอยู่ภายใต้บทก็รู้ตัวดีว่าตนเองกำลังถูกกำกับอยู่ เราอาจเรียกเดอะเฟสว่าเป็นรายการประเภท Meta TV Show จากการที่มันบอกกับคนดูตรงๆ ว่าสิ่งที่เรากำลังดูอยู่นี้ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด และตัวมันเองก็ตระหนักในเรื่องนี้ดี
เรียกได้ว่าเดอะเฟสไม่ได้สนใจไม่ว่าจะถูกกล่าวหาว่ารายการมีสคริปต์
เพราะตัวมันเองก็ได้เตือนให้คนดูตระหนักถึงเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ
ส่วนถ้าคนดูจะอินหรือไม่อินก็ยกให้เป็นการตัดสินใจของคนดูไป
แต่ล้นพ้นไปกว่าประเด็นนี้ ในเดอะเฟสตอนล่าสุดยังได้ผลักเส้นแบ่งของเรียลลิตี้โชว์ให้ไกลกว่าที่เคย เห็นได้จากกรณีเรื่องรองเท้าที่เกิดดราม่าขึ้นระหว่างเดินแบบ เพราะแต่ละคู่นั้นหลวมเกินกว่าไซส์เท้าจริงๆ ของผู้เข้าแข่งขัน จนเกิดเป็นประเด็นใหญ่โตระหว่างเมนเทอร์กับสไตล์ลิสต์ว่าทำไมไม่เตรียมรองเท้ามาให้ดี ถึงขั้นที่ว่า เมื่อเบรคนั้นจบลง ในทวิตเตอร์ของเดอะเฟสก็ได้ลงวิดีโอตัวสไตล์ลิสต์เองเดินแบบด้วยรองเท้าให้ดูเพื่อจะพิสูจน์ว่า ปัญหามันไม่ได้อยู่ที่รองเท้าอย่างที่เขาถูกกล่าวหา
จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่ว่าใครจะคิดเห็นยังไง แต่จุดที่น่าสนใจไม่ได้อยู่ที่เรื่องรองเท้า แต่เป็นการสร้างเส้นเรื่องคู่ขนานขึ้นขณะที่การแข่งขันดำเนินไปต่างหากที่แสดงให้เห็นถึงความช่างคิดของรายการนี้ แน่นอนครับว่ามันเป็นเรื่องที่จัดเตรียมอยู่ก่อนแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย วางลำดับเวลาไว้อย่างรัดกุมโดยปล่อยออกมาในจังหวะซึ่งคนดูกำลังอินอยู่กับเหตุการณ์บนหน้าจอ และให้วิดีโอสั้นๆ ตัวนี้คล้ายกับเป็นบทสนทนาระหว่างกันของทั้งตัวเมนเทอร์และสไตลิสต์ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเอามาพิสูจน์กันให้เห็นในรายการ หรือรอให้เกิดดราม่านอกรอบ ด้วยเดอะเฟสได้จัดวางทุกอย่างไว้หมดแล้ว หรือก็คือ ตัวรายการได้สร้างดราม่าที่รัดกุม ดราม่าที่เริ่มต้นและจบในตัวเอง โดยไม่สรุปผลว่าใครผิดหรือถูก ไม่ตัดสินว่าใครคือฝ่ายที่ควรขอโทษในกรณีนี้ และถึงที่สุดรายการก็เพียงแค่โยนประเด็นเรื่องรองเท้าทิ้งไป เหมือนเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ ที่หล่อเลี้ยงไปสู่ประเด็นที่ใหญ่กว่าคือการคัดง้างกับกรรมการอย่างคุณตือ สร้างขึ้นเป็นดราม่าที่ฝังตัวอยู่ในดราม่าอื่นอีกทีหนึ่งซึ่งไต่อยู่บนเส้นแบ่งของความจริง
ผมจึงเห็นว่าการดูเดอะเฟสโดยตั้งธงว่า
มันเป็นละคร หรือเพียงแค่เรียลลิตี้โชว์
ดูจะเป็นการลดทอนมิติของรายการลงอย่างน่าเสียดาย
ด้วยใน ‘ความพร่าเลือนของความจริง’ ที่ตัวรายการจงใจวางตัวเองลงไป การที่มันอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างโลกทั้งสองนี้เองที่ได้ขับเน้นตัวรายการให้ไกลกว่าแค่การเลือกจะเป็นละคร หรือเรียลลิตี้โชว์ แค่อย่างใดอย่างหนึ่งจะพาตัวมันไปได้ ลองนึกว่าถ้าเรารู้ตัวว่าดูละครอยู่ ต่อให้อินกับเรื่องนั้นๆ อย่างที่สุด แต่ถึงยังไงแล้วเราก็ยังตระหนักอยู่ลึกๆ ว่ามันเป็นแค่บทบาทสมมติ ไม่ใช่ความจริง หรือต่อให้เป็นเรื่องจริง สุดท้ายความเป็นจริงก็จะยังติดอยู่กับการที่มันไม่อาจไปสุดได้ทั้งในเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์ วาจา หรือท่าทาง
เดอะเฟสจึงเป็นรายการที่ทะลายกำแพงทั้งสองนี้ และเร่งจุดเด่นของทั้งความจริงและละครไปให้สุดทาง ทำให้ความจริงที่เราเห็นอยู่ตรงหน้านั้นดุเดือดเลือดพล่านยิ่งกว่าละครหลังข่าวช่องไหนๆ
แต่นอกเหนือไปจากประเด็นทั้งหมดที่กล่าวมายังมีคำถามหนึ่งที่ชวนให้คิด นั่นคือในขณะที่เรากำลังดูรายการโดยตระหนักรู้ว่าทุกสิ่งซึ่งเกิดขึ้นบนหน้าจอนั้นเป็นไปโดยทุกตัวแสดงตระหนักรู้ในตัวเอง แต่ว่าเราที่เป็นคนดูล่ะ คนดูซึ่งตระหนักในบทบาทของตัวเองว่ากำลังดูอะไรอยู่ หรือคนดูในฐานะของผู้สังเกตการณ์ปฏิกิริยาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากรายการนี้ มันจะหมายความว่าเราเองก็กำลังสวมบทคนดูซึ่งกำลังเฝ้ามองตัวเราเอง รวมถึงคนอื่นๆ ที่ดูเดอะเฟสอีกทอดหนึ่งหรือเปล่า