สารภาพกันตั้งแต่ต้น ผมไม่ค่อยถนัดอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์สักเท่าไหร่ และแม้จะนึกสงสัยในปริศนาทางธรรมชาติอยู่บ่อยๆ แต่ก็เพราะขยาดกลัว คิดว่าตัวเองอ่านหนังสือประเภทที่พาไปไขปริศนาและเรียนรู้กลไกที่กำกับอยู่เบื้องธรรมชาติไม่น่าจะเข้าใจ ผมจึงมักปล่อยผ่านหนังสือกลุ่มนี้ไป ไม่เคยจะได้ตั้งใจอ่านจริงๆ จังๆ สักที
ที่เกริ่นมานี้ไม่ได้จะบอกว่า The Gene: An Intimate History หนังสือประจำอาทิตย์นี้ได้เปลี่ยนความคิดของผมไป และเช่นกันที่ก็ไม่ได้แปลว่าหนังสือเล่มนี้อ่านง่าย (สำหรับผม) เพราะกว่าสัปดาห์ที่ขลุกอยู่กับหนังสือสี่ร้อยกว่าหน้าที่มีเนื้อหาหลักๆ ว่าด้วยยีน (Gene) ซึ่งผมก็ไม่ค่อยจะเคยคุ้น ผมพบว่างานเขียนเล่มนี้มอบความลำบากให้กับผมมากทีเดียวครับ แม้ว่าในทางหนึ่งจะพูดได้ว่าผู้เขียนเองก็ไม่ได้จะใช้ภาษาที่ยากนัก เช่นกันที่ตัวเขาก็ดูตระหนักอยู่เสมอว่าไม่ใช่ผู้อ่านทุกคนที่มีพื้นฐานเรื่องวิทยาศาสตร์ในระดับที่สามารถอ่านหนังสือทั้งเล่มได้อย่างไหลลื่น ไม่งุนงง หรือต้องหยุดพักเพราะเหนื่อยหอบจากการต้องผจญกับศัพท์แสงและชุดความรู้ทางวิชาการที่ประดังกันเข้ามา
พูดได้ว่า ความเก่งกาจประการหนึ่งของ Siddhartha Mukherjee ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่พ่วงด้วยดีกรีนักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ (จากผลงานแจ้งเกิดของเขา The Emperors of All Maladies ซึ่งว่าด้วยประวัติความเป็นมาของโรคมะเร็ง) คือชั้นเชิงในการเล่าเรื่องของเขาที่คล้ายจะสอดแทรกกระบวนการบอกเล่าแบบวรรณกรรมซึ่งช่วยให้เนื้อหาที่อาจน่าเบื่อกลายเป็นบันเทิงเริงรมย์ได้อย่างน่าชื่นชมทีเดียว (ชวนให้นึกถึงสำบัดสำนวนของ Paul Kalanithi ประสาทศัลยแพทย์ที่บันทึกเรื่องราวชีวิตตัวเองได้อย่างจับใจใน When Breath Becomes Air)
จุดตั้งต้นของหนังสือเล่มนี้เกิดจากความสงสัยของตัวมูเคอร์จีเองซึ่งมีต่อครอบครัวของเขา ด้วยเพราะญาติของเขาในอินเดียมีบางคนที่มีอาการทางจิต
มูเคอร์จีสงสัยว่าถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะเท่ากับว่าภายในตัวเขาเอง (ที่แม้จะไม่ได้มีอาการทางจิตใดๆ) จะมีความเป็นไปได้ที่จะส่งต่ออาการทางจิตที่ดูจะไหลเวียนอยู่ในสายเลือดครอบครัวของเขาสู่บุตรหลานของเขาหรือเปล่า
นับแต่อดีตกาล มนุษย์ตระหนักดีถึงการถ่ายทอดบางอย่างระหว่างพ่อแม่สู่บุตร บางสิ่งที่อาจเรียกว่า ‘ความคล้ายคลึง’ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรคือคำอธิบายต่อการถ่ายทอดนี้ และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร Pythagoras ปราชญ์ชาวกรีกเองก็เคยตั้งสมมติฐานถึงกระบวนการถ่ายทอดจากพ่อแม่สู่ลูกๆ ทฤษฎีของเขาคือ ภายในอสุจิของเพศชายนั้นบรรจุชุดข้อมูลเอาไว้ ซึ่งเมื่ออสุจิเข้าสู่ร่างกายของเพศหญิงที่ในทัศนะของพีทาโกรัสนั้นมีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยง (Nourish) เพียงเท่านั้น จึงเท่ากับว่าชุดข้อมูลที่จะให้กำเนิดมนุษย์หนึ่งคนจึงมีต้นกำเนิดมาจากเพศชายเพียงฝ่ายเดียว และหน้าที่ในการให้กำเนิดมนุษย์ระหว่างเพศชายและหญิงจึงแยกขาดกันโดยสิ้นเชิง
สองร้อยปีถัดมา Aristotle ปราชญ์ชาวกรีกอีกคนได้เสนออีกทฤษฎีหนึ่ง โดยเขาได้อธิบายว่าหรือจริงๆ แล้วเพศหญิงเองก็มีส่วนให้สสารแก่เด็กอ่อนเช่นเดียวกับเพศชาย โดยสิ่งส่งทอดจากอสุจิของผู้ชายสู่ผู้หญิงนั้นคือ สาร (Message) ซึ่งอริสโตเติลได้ยกตัวอย่างไว้ว่า ก็เหมือนแบบแปลนการสร้างบ้านที่อสุจิของเพศชายได้เป็นตัวกลางในการส่งมอบคำสั่งให้สร้างบุตรขึ้นมา และในส่วนของฝ่ายหญิงนั้นเขาก็ได้เสนอว่าเป็นผู้มอบสสารซึ่งให้กำเนิดรูปร่างของเด็ก ซึ่งสสารที่ว่าก็ไม่ใช่อะไรอื่นแต่คือประจำเดือนที่หยุดไประหว่างการตั้งครรภ์ของสตรีนั่นเอง
แน่นอนว่าทฤษฎีของพีทาโกรัสและอริสโตเติลอาจฟังดูพิลึกเมื่อยึดตามคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
ถึงกระนั้นเราก็ได้เห็นว่ามนุษย์ได้มีการขบคิดถึงปริศนาของชีวิตที่วางพาดอยู่บนเส้นสายของการส่งต่อข้อมูลของบรรพบุรุษมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล หนังสือเล่มนี้นำเสนอภาพกว้างให้เราเห็นถึงมนุษย์ที่พยายามค้นหาคำตอบเรื่องการส่งทอดทางพันธุกรรม (Heredity) โดยที่มูเคอร์จีก็ได้แสดงให้เห็นว่ากว่าเราจะค้นพบสิ่งที่เรียกว่ายีนและพันธุกรรมนั้น “ไม่มีส่วนไหนในธรรมชาติเลย ที่หากเรามองเพียงผ่านๆ จะเห็นถึงการมีอยู่ของยีน เพราะแท้จริงแล้วคุณจำต้องทำการทดลองเพี้ยนๆ เสียก่อน นั่นจึงจะเป็นการเผยให้เห็นถึงแนวคิดของอนุภาคอันกระจัดกระจายซึ่งถูกส่งต่อๆ กันมา”
นักวิทยาศาสตร์หลายๆ คนเคยได้เฉียดใกล้ความจริงนี้สักแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น Charles Darwin หรือ Gregor Mendel ที่ก็เคยเข้าใกล้การพบอันยิ่งใหญ่นี้ หากทว่าถึงที่สุดแล้วทฤษฎีต่างๆ ที่พวกเขาเสนอ แม้ว่าในปัจจุบันจะถูกพิสูจน์ว่าไม่ถูกต้องเสมอไป แต่ก็เพราะการต่อยอดความคิดที่ทับถมกันมาเรื่อยๆ นี้เองที่ในที่สุดความรู้ทางพันธุศาสตร์ก็ได้ถูกค้นพบ
จากที่แนวคิดเรื่องยีนเห็นจะเป็นแค่ความคิดเชิงนามธรรม แต่เมื่อศตวรรษที่ 20 มาถึง ยีนก็ได้เปลี่ยนจากสิ่งซึ่งจับต้องไม่ได้แม้แต่ทางความคิดมาเป็นสมมติฐานที่เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์นาม James Watson Rosalind Franklin และ Francis Crik ได้พบเกลียวคู่ที่ต่อมารู้จักกันในชื่อ ‘DNA’
ยีนที่ร้อยเรียงอยู่ตามขั้นบันไดเหล่านั้นประหนึ่งเม็ดลูกปัด ก็คือ ‘สาร (Message)’ ที่ประกอบสร้างขึ้นมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งนั่นเอง
The Gene: An Intimate History ถือเป็นหนังสืออ่านสนุก ที่ต่อให้คุณไม่มีความรู้ในศาสตร์เหล่านี้มาก่อนก็สามารถอ่านได้อย่างที่ไม่ถึงกับต้องปีนบันไดมากครับ แม้ว่าในบางจุดจะมีเนื้อหาที่ต้องอาศัยสมาธิอยู่สักหน่อย ทว่าผู้เขียนก็มีกลวิธีซึ่งช่วยแบ่งเบาสัดส่วนยากๆ ให้ไม่หนักหนาจนเกินไป
และซึ่งจุดที่น่าสนใจสุดๆ นอกเหนือไปจากการพาเราไปย้อนสำรวจความเป็นมาของยีนในอดีตแล้ว ก็คือการพาเรามองไปยังอนาคตนี่แหละครับ ว่าเมื่อใดที่มนุษย์ก้าวเข้าสู่โลกที่มูเคอร์จีเรียกว่า Post Genomic อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเราสามารถตัดแต่งยีนได้อย่างอิสระ คำถามคือ เมื่อถึงเวลานั้น จะเท่ากับเราจะต้องเรียนรู้กระบวนการขีดเขียนตัวเองในรูปแบบใดกัน