การตระเวนเยือน ‘สื่อสารมวลชน’ เจ้าต่างๆ ของนายกรัฐมนตรีนั้นเป็นเรื่องปกติ และในโลกที่พลังของสื่อออนไลน์ทวีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนั้น การที่นายกรัฐมนตรีจะมาเยือนถิ่นของสำนักข่าวออนไลน์บ้างจึงเป็นเรื่องปกติตามไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถจะแสดงออกให้เห็นได้ ซึ่งจะส่งผลอย่างชัดเจนถึงท่าทีทางการเมืองของสำนักข่าวนั้นๆ ด้วยก็คือ ‘ท่าทีในการตอบรับและต้อนรับ’ การมาเยือนของนายกรัฐมนตรีคนนั้นๆ ในกรณีที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาไปเยือน The MATTER เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น กล่าวตามตรงทั้งในฐานะคอลัมนิสต์ที่เขียนบทความส่งให้ The MATTER และทั้งในฐานะผู้อ่าน ผมรู้สึกผิดหวังกับท่าทีที่ออกมาเป็นอย่างมาก รวมไปถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่มีต่อประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย
โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าท่าทีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับสำนักข่าวหรือองค์กรใดๆ ที่วางตัวอยู่ในฟากฝั่งประชาธิปไตยต่อการมาเยือนของนายกอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชานั้นก็คือ ‘การตอบปฏิเสธการมาเยือนอย่างชัดเจนและเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ โดยให้เหตุผลอย่างรัดกุมชัดเจนว่าตัวตนของประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้น ขัดต่อหลักการในทางประชาธิปไตยอย่างไร’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอะไรนักในการจะทำได้ ทั้งสถานะทางอำนาจก่อนรับตำแหน่งที่ลักลั่น ย้อนแย้งน่าสงสัย ไปจนถึงการนับคะแนนเสียงการเลือกตั้งที่ปรากฏหลักฐานมากมายไปหมด แต่กลับไม่ได้รับการแยแส เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ขัดต่ออุดมการณ์หลักของประชาธิปไตย และใช้เป็นเหตุผลในการปฏิเสธได้อย่างแน่นอน (หากคิดจะทำ) เช่นนี้ผมจึงมองว่านี่คือท่าทีที่เหมาะสมที่สุดแล้ว
อย่างไรก็ตาม การเลือกจะตอบรับการมาเยือนด้วยการเปิดบ้านต้อนรับเองก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพียงแต่ต้องทำอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้นจากท่าทีแรก และนี่แหละครับคือจุดที่ผมรู้สึกผิดหวังมากตามมาด้วย กล่าวคือ ในกรณีที่เลือกจะเปิดบ้านต้อนรับมาเยือนนั้น ฝั่งเจ้าบ้านอย่าง The MATTER เอง หากไม่พาซื่อ (naïve) จนเกินไป ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าคนอย่างประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้คิดจะสนใจฟังข้อเสนออะไรของสำนักข่าวเล็กๆ แบบเป็นจริงเป็นจังแต่แรกหรอก ขนาดฝ่ายค้านในสภาทั้งเสนอ ทั้งด่าจนเสียงแหบแห้งมันยังไม่สนเลย แล้วประสาอะไรกับสำนักข่าวน้องใหม่อย่าง The MATTER เล่า (หากเชื่อจริงๆ ว่าเขาจะฟัง ผมก็คิดว่า over-evaluate ตัวเองและประยุทธ์ไปมากๆ น่ะนะ) เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ท่าทีที่ต้องระวังอย่างมากเมื่อรู้เช่นนี้ก็คือ “ต้องทำให้การมาเยือนของประยุทธ์ไม่กลายมาเป็นเครื่องมือในการโฆษณาการ หรือเป็นประโยชน์กับฝั่งประยุทธ์เองในทางใดๆ ได้” เพราะสำหรับผมแล้ว หากการมาเยือนฝั่งที่นับตัวเองเป็นประชาธิปไตย แล้วทำให้คนอย่างประยุทธ์ “ได้หน้ากลับไป” นั้น ย่อมควรถูกนับเป็นบาประดับสูงสุด (cardinal sin) ของฝั่งประชาธิปไตยด้วยซ้ำ
ในแง่นี้ ผมยังคิดว่ายังดีที่ท่าทีที่ออกมานั้นไม่ถึงกับดูพินอบพิเทาอะไรมากนัก แต่พร้อมๆ กันไป ภาพที่ถูกนำเสนอออกมาก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าเป็นวัตถุดิบในการโฆษณาการ (PR) ชั้นดีให้กับรัฐบาลประยุทธ์ได้ ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเสนอ 4 ข้อของทาง The MATTER เอง ผมก็คิดว่าไม่แหลมคมพอ และไม่สอดคล้อง (relevant) กับบทบาทและจุดยืนที่ The MATTER มีมาเลย ซึ่งจุดนี้เองสำหรับผมแล้วมันสำคัญมาก เพราะในกรณีที่ยอมตกลงให้ประยุทธ์มาเยือนได้ และวางตนเป็นสื่อฝั่งประชาธิปไตย อย่างน้อยที่สุด ข้อเสนอนั้นก็ต้องมุ่งผลักเพดานหรือขอบฟ้าของหลักการประชาธิปไตยในประเทศให้มันขยายมากขึ้น และต้องสะท้อนถึงความกล้าหาญในฐานะสื่อสารมวลชนด้วย
ว่ากันแบบภาษาบ้านๆ คือ ‘ข้อเสนอควรจะคม และมีกึ๋น’ น่ะครับ ในที่นี้ผมขอพูดถึงเฉพาะระดับการเป็น “ข้อเสนอ” หรือข้อเรียกร้องให้ทำเลยนะครับ ไม่สนใจส่วน ‘คำถาม-คำตอบ’[1] ระหว่าง The MATTER กับประยุทธ์ด้วย เพราะผมคิดว่าระดับของการยกมาเป็น ‘ข้อเสนอ’ หรือสิ่งที่เรียกร้องอยากให้ทำนั้น มันสำคัญกว่าส่วนการตั้งคำถามให้นายกฯ ตอบมากในกรณีแบบนี้ (ไม่นับว่าประยุทธ์เองอ้างว่า “มาเยือนเพื่อฟังข้อเสนอเองด้วย) ซึ่งผมคิดว่าที่เสนอไปนี่เป็นข้อเสนอที่ไม่ได้แตะเพดานอะไรเลย ใครๆ ก็พูดได้ตลอดเวลา อย่างการให้รับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น, พัฒนาการศึกษา, ข้อเสนอการพัฒนาเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19 ซึ่งอันหลังนี้ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าตัว The MATTER เอง relevant มากพอที่จะเสนอเรื่องนี้ไหม
ข้อเสนอที่ The MATTER มีนั้นผมคิดว่ามันดาษดื่นและหากใช้ภาษาแบบคนรุ่นผมแล้วก็คงต้องบอกว่าขาดแคลนกระดูกสันหลังมากทีเดียว ผมขออนุญาตลงรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนข้อเสนออีกสักหน่อยนะครับ เพราะมีหลายจุดเลยที่ผมรู้สึกเสียดายในฐานะคนที่เขียนให้กับ The MATTER และตามอ่านมาไม่น้อยพรรษานัก ดังนี้ครับ
- The MATTER เป็นสื่อไม่กี่เจ้าในช่วงรณรงค์ประชามติรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ “ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะรัฐธรรมนูญนี้มันมีปัญหามากมายอย่างที่เรากำลังประสบกันอยู่ตอนนี้ แต่ข้อเสนอเรื่องการ “ยกเลิกรัฐธรรมนูญ” ในนาม The MATTER เอง ที่ไม่ใช่การถามแบบซ่อนอยู่ข้างหลัง “ข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษาตอนนี้” หายไปไหน? หรือกระทั่งการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ก็ดูจะออกมาแต่เพียงในรูปแบบของ “คำถาม” มากกว่าการเป็นข้อเสนอว่า “แนะนำให้ลงมือทำ” … ผมเองไม่แน่ใจนักว่าการเสนอไปตรงๆ หรืออย่างน้อยๆ “ตอกกลับ” การตอบของประยุทธ์ว่า “อะไรบ้างคืออุปสรรค์ในการแก้รัฐธรรมนูญตามระบบ” ที่ประยุทธ์ยกมาอ้างนั้น มันจะเป็นภารกิจที่ใหญ่หลวงเกินกว่าจะสามารถทำได้? จริงๆ ความ ‘ยาก’ ในการแก้ไขนี้ ทาง The MATTER เองย่อมทราบดีอยู่แล้ว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่นำมาใช้ในการรณรงค์ให้ไม่รับร่างฯ ด้วยแต่แรกนะครับ
- The MATTER เป็นหนึ่งในสื่อที่นำหัวขบวนในการต่อต้าน พรบ. คอมพิวเตอร์วิตถาร ที่แผลงฤทธิ์ครั้งแล้วครั้งเล่าในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทั้งยังเป็นอุปสรรค์สำคัญต่อกระบวนการและขบวนการยกระดับประชาธิปไตยในชาติ จนเรียกได้ว่าเรื่องนี้แทบจะกลายเป็นอัตลักษณ์หลักทางการเมืองของ The MATTER ไปเสียด้วยซ้ำ แต่ข้อเสนอนี้ ซึ่ง ‘สอดคล้องโดยตรงกับตัว The MATTER’ กลับหายไป ไม่ถูกนำเสนอออกมาในฐานะ ‘ข้อเรียกร้อง’ ได้อย่างไร? ข้อนี้โดยส่วนตัวอาจจะเป็นส่วนที่ผม ‘เสียดาย’ มากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเสมือนเป็น Core Value หลักหนึ่งของ The MATTER เองเลย
- The MATTER ได้นำเสนอหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากชิ้นหนึ่งต่อสาธารณะ ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรนัก แต่สำหรับนักวิชาการอย่างผมแล้ว ผมคิดว่านี่คือการนำเสนอครั้งสำคัญในฐานะสื่อมวลชนอีกครั้งหนึ่งเลย นั่นคือ ‘คลิปแสดงการเปิดซองเอกสารคำวินิจฉัยของ ปปช. ต่อกรณีนาฬิกาเพื่อน ของประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ที่ปรากฏว่าว่างเปล่าทุกหน้า หลักฐานชุดนี้เองที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสอย่างใหญ่หลวงของรัฐบาล และความไร้ยางอายต่ออำนาจการตรวจสอบได้ของฝั่งประชาชนและสื่อมวลชน โดยตรงเลย แต่เช่นเดียวกันกับอีก 2 ข้อข้างต้น … มันกลับหายไปอย่างไร้ร่องรอยใน ‘ข้อเสนอ’ ของ The MATTER
นี่คือสิ่งที่ผมเสียดายว่าไม่ได้เสนอ ซึ่งเป็นระดับ ‘ค่าโดยปริยาย/ขั้นต่ำ’ ที่ควรจะลงมือทำในสายตาผม เพราะอย่างน้อยต่อให้ประยุทธ์ไม่แคร์ แต่มันก็จะช่วยกระตุกให้สังคมเห็นว่า “เราได้นำเสนอแล้ว เขามีท่าทีอย่างไร เขาสนใจไหม หากเขาไม่สนใจ แยแส ก็จะได้นำไปสู่การเรียกร้องที่มากขึ้นได้”
อย่างที่ว่าไปว่า 3 ข้อนั้นคือ ‘เส้นมาตรฐานขั้นต่ำ’ ที่ผมคิดว่าควรมีในกรณีที่ตอบรับการมาเยือนของประยุทธ์ แต่หากกระดูกสันหลังที่มีนั้นอยู่ในระดับแข็งแกร่งแล้ว ผมคิดว่าควรถามเพิ่มได้อีกอย่างน้อยๆ 3 ข้อด้วยกัน ซึ่งสอดคล้องโดยตรงกับการทำงานสื่อและพัฒนาการของอุดมการณ์ประชาธิปไตยครับ
- พูดถึงเพดานของเสรีภาพทางการสื่อสารในสังคมไทย ว่ามันควรจะขยับเพดานออกไปได้แล้ว การจำกัดเพดานของการสื่อสารไว้โดยมีกรอบลำดับชั้นทางอำนาจอย่างชัดเจนนั้นมันไม่อาจนับว่าเป็นประชาธิปไตยใดๆ ได้ ซึ่งนี่คือเรื่องปกติของสากลโลกมาก ซึ่งกึ่งๆ เป็นตลกร้ายในสังคมนี้ไปด้วย ที่ทนายอานนท์ นำภา ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง ทั้งที่ไม่ใช่คนทำงานด้าน “สื่อสาร(กับ)มวลชน” อะไรโดยตรงอย่าง The MATTER กลับได้ยืนบนเวทีและปราศัยอย่างสมควรทุกประการแก่การเคารพยกย่อง คำปราศัยของเขานั้นผลักเพดานของการสื่อสารในที่สาธารณะให้ไปไกลขึ้นได้อีกอย่างไม่เคยพบเห็นมาก่อนในสังคมไทย อย่างน้อยๆ ก็นับตั้งแต่ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และที่ผมคิดว่ายิ่งย่ำแย่หนักขึ้นไปอีกคือ ข่าวเด่นที่ทาง The MATTER คัดเลือกมาลงในวันที่ 4 สิงหาคม นั้น กลับไม่มีกระทั่งข่าวของทนายอานนท์ หรือข่าวของม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ เสียด้วยซ้ำ อันดับความน่าสนใจและสอดรับกับสังคมไทยมันน้อยกว่า “จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอิหร่าน” อีกเช่นนั้นหรือครับ กอง บก.? จุดนี้เองที่ผมคิดว่า beneath contempt หรือแย่เกินกว่าจะหาคำมาด่าเพิ่มได้แล้วจริงๆ บอกตรงๆ ว่าผมผิดหวังมากๆ
- ข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง ผมคิดว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถทำได้แน่ๆ ในฐานะ ‘ประชาชนคนไทยคนหนึ่ง’ โดยเฉพาะการเป็นข้อเสนอในการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมืองที่มีในตอนนี้ เข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ ทำการเลือกตั้งให้ใสสะอาด เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน ให้คนเค้ายอมรับ ไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งด้วยความน่ากังขาตั้งแต่ที่มา ยันกระบวนการได้มาซึ่งอำนาจอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้
- ข้อเสนอให้นายกรัฐมนตรีและคณะ คสช. ที่ก่อการรัฐประหาร เข้าสู่กระบวนการตัดสินลงโทษการกระทำผิดจากการทำรัฐประหาร โดยยกเลิกคำสั่งนิรโทษกรรม รวมถึงมาตราที่ให้อำนาจแก่ คสช. ใดๆ ทั้งสิ้นลง ข้อเสนอนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อกวนตีนนายกอะไรนะครับ (แม้จะไม่ปฏิเสธว่าในใจผมลึกๆ ก็มีส่วนนี้อยู่ด้วย) แต่หากจะทำให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองมันยุติลงได้ มันมีแต่ต้องทำและเสนอแบบนี้ เพราะเราไม่มีทางจะยุติความขัดแย้งจากการกดขี่และเอาเปรียบได้ด้วยการ “ทำเป็นลืมมันไป” หรือสมอ้าง “บุญคุณของเทวดาฟ้าดินที่ไหน” อีกต่อไปแล้ว
เหล่านี้เอง คือ ความทัศนะ รวมถึงความเสียดายของผมที่มีต่อท่าทีของ The MATTER ในการรับการมาเยือนของประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่สรุปได้ง่ายๆ ว่าสำหรับผมแล้วมันคือ “ตราบาป” ที่จะเกาะและกัด The MATTER ไปอีกนานแสนนาน บอกตรงๆ ว่าจนถึงตอนนี้ผมยังไม่อยากจะเชื่อจริงๆ ว่าจะเสนอเพียงเท่านี้ และจะเลือกไม่เสนอข่าวทนายอานนท์แม้แต่เพียงเสี้ยวเดียว
ในฐานะคอลัมนิสต์คนหนึ่งที่แม้จะเป็นเพียงคนนอกที่เขียนงานให้เป็นชิ้นๆ ไป แต่ก็เขียนงานมาด้วยกันมาใกล้จะ 4 ปีแล้ว ความรู้สึกผูกพัน และในหลายๆ เรื่องก็รู้สึกขอบคุณจากก้นบึ้งนั้นผมย่อมมีไม่น้อยเลย ฉะนั้นมันจึงไม่ง่ายเลยสำหรับผมที่จะต้องมาเขียน “ด่า” แพล็ตฟอร์มที่ให้โอกาสผมเองมาจนทุกวันนี้ (หลายครั้งกระทั่งถูกเอี่ยวโดนด่าไปเพราะบทความผมเองด้วย) แต่ผมเขียนวิจารณ์ทั้งหมดนี้ด้วยความหวังดีจริงๆ และพร้อมๆ กันไปก็ด้วยความผิดหวังอย่างมากด้ว
ตรงนี้อาจจะมีความ ‘ส่วนตัว’ สักเล็กน้อย แต่เผอิญว่าผมเติบโตมากับเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันยุคแรก ผมโตมากับความเชื่อว่า ไม่มีทางเลยที่สำนักพิมพ์อย่างฟ้าเดียวกันจะเป็นที่นิยมได้ หลายครั้งกระทั่งหวั่นในใจว่าสำนักพิมพ์ชายขอบที่แสนจะ ‘คริติคัล’ สำหรับสังคมไทยนี้จะไปรอดไหม (ทั้งจะเจ๊งก่อนไหม และจะโดนทางการสั่งปิดก่อนไหม) แต่มาในวันนี้บรรยากาศบ้านเมืองเปลี่ยนไปมากแล้วจริงๆ ผมได้เห็นภาพความนิยมที่เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันในแบบที่ไม่เคยแม้แต่จะจินตนาการถึงได้มาก่อน ซึ่งในทางหนึ่งก็คงต้องนับว่าเป็นรางวัลของความคงเส้นคงวาในจุดยืนตัวเองของทางฟ้าเดียวกันด้วย แต่นั่นแหละครับ พอเห็นภาพนี้แล้ว ก็พาลรู้สึกว่า “บรรยากาศทางสังคมมันเอื้อให้เราดันเพดานของเสรีภาพให้ไปได้กว้างมากขึ้นมากแล้ว” จากยุคสมัยที่สิ้นสูญที่ผมเริ่มต้นการเดินทางทางความคิด แต่ในเวลาเดียวกันนี้ ผมกลับมาเห็น The MATTER : Makes News Relevant เลือกจะมีท่าทีแบบนี้ในห้วงเวลาแบบนี้ (และ irrelevant มากๆ แบบนี้) ผมเองก็คิดว่ากระดูกสันหลังที่ตอนนี้อาจจะเป็นผุยผงไปแล้วของ The MATTER เองคงจะร่ำไห้เสียใจอยู่เป็นแน่แท้
สุดท้ายแล้ว ผมก็อยากจะขอบคุณที่ให้ผมได้มีโอกาสเขียนบทวิจารณ์ The MATTER นี้ ลงใน The MATTER เอง เพราะอย่างน้อยผมก็คิดว่ามันยังเป็นร่องรอยสุดท้ายที่เหลืออยู่ของกระดูกสันหลังที่หายไปน่ะครับ (อย่างน้อยก็คงพอจะถือกลายๆ ว่ายอมรับให้มี self-criticism ได้ล่ะนะครับ)
[1] สามารถอ่านได้จาก https://thematter.co/social/pm-prayuth-onlinemedia/119315