หมายเหตุ: บทความนี้เล่าเรื่อง เรื่องของนายแพทย์เจคิลและมิสเตอร์ไฮด์ (The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde) ของ โรเบิร์ต หลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson)
ตอนแรกตั้งชื่อบทความนี้ว่า ‘คนดีที่โลกไม่ได้รอ : หมอเจคิล’ ตั้งชื่อแบบนี้ดักแก่กันเห็นๆ ถ้าใครอ๋อ หรือรู้ว่าผู้เขียนตั้งชื่อให้ล้อกับชื่ออะไรก็อายุน่าจะสักยี่สิบขึ้นไปได้แล้วล่ะ สำหรับคนที่ไม่ทราบ ผู้เขียนตั้งชื่อบทความล้อชื่อซีรีส์เกาหลีที่ช่องสามนำมาฉาย หลังจากพบว่าแดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวงกลายเป็นซีรีส์ฮิต คนดูกันมากมาย ช่องสามเลยเอามาฉายอีกหลายเรื่อง จูมงเอย ซอดองโยเอย สารพัดเรื่อง ผู้เขียนก็ไม่ได้ตามดูเท่าไรแล้ว
ผู้เขียนไม่ได้ชมซีรีส์หมอโฮจุน จำไม่ได้ว่าเพราะอะไร (ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่มีฉากทำอาหาร) แต่ได้แอบไปดูการแปลชื่อเรื่องจากต้นฉบับภาษาเกาหลีมาเป็นภาษาของชาติอื่นๆ (โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษอีกทีใน Wikipedia) พบว่าเรื่องต้นฉบับที่ใช้ชื่อว่า โฮจุน หรือ The legendary Doctor Heo Jun (โฮจุน แพทย์ระดับตำนาน) นั้นถูกตั้งชื่อใหม่เมื่อนำไปฉายในไต้หวันว่า The Way of Medicine: The Epic Doctor Ho Jun (หนทางแห่งการแพทย์: มหากาพย์ชีวิตหมอโฮจุน) ส่วนฮ่องกงใช้ชื่อว่า The Way of Medicine (หนทางของการแพทย์)
ผู้เขียนไม่ได้จะโวยวายว่าทุกประเทศที่รับซีรีส์จากเกาหลีจะแปลผิด หรือแปลไม่ตรง สำหรับผู้เขียนการแปลไม่ตรงหรือไม่เหมือนแค่นั้นมันอาจจะน้อยไป (ไม่มีอะไรที่แปลได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว) เราอาจจะต้องลองตอบดูว่าทำไมไม่เหมือน ไม่เหมือนเพราะอะไร ไม่เหมือนอย่างไร ชื่อหนังไทยยังไงก็ไม่เหมือนต้นฉบับอยู่แล้ว แถมยังมีขนบการตั้งชื่อหนังตามดาราที่เล่นอีก เช่นถ้ามี Arnold Schwarzenegger ต้องมีคำว่าคนเหล็ก แม้แต่เรือง Maggie ก็เป็น ซอมบี้ลูกคนเหล็ก ถ้ามี Julia Roberts ต้องมีคำว่าบานฉ่ำ แม้แต่เรื่องสโนว์ไวท์ก็ยังต้องเป็นราชินีบานฉ่ำ
ดูกรณีของชื่อไทยดีกว่า คนดีที่โลกรอ หมอโฮจุน ปกติชื่อไทยมักจะเล่าเรื่องอยู่แล้ว (ผู้เขียนพบว่าหลังๆ ชื่อหนังที่แปลเป็นภาษาไทยหลายเรื่องไม่ค่อยเล่าเรื่องและพยายามแปลตรงให้มากที่สุด น่าสนใจดี) ในขณะที่ชื่อของชาติอื่นๆ ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าทำไมหมอโฮจุนถึงเป็นหมอระดับตำนานหรือทำไมชีวิตหมอโฮจุนถึงเป็นมหากาพย์
ชื่อหมอโฮจุนฉบับไทยระบุเลยว่าความดีคือคุณสมบัติที่สำคัญของหมอโฮจุน แถมหมอโฮจุนไม่ได้เป็นคนดีเฉยๆ แต่เป็นคนดีที่โลกต้องการด้วย
นอกจากนี้ ชื่อไทยยังสะท้อนความคิดบางอย่างเกี่ยวกับการพัฒนาสังคมในบ้านเราด้วยหรือเปล่า คือเข้าใจนะคะ ว่าไม่รู้จะหาคำขยายอะไร หรืออติพจน์ (การใช้โวหารแบบใหญ่โตเกินจริง) แบบไหน ที่จะทำให้หมอโฮจุนเป็นคนดีมากๆ ดีสุดๆ แต่สุดท้ายก็ยังตีความได้ว่ามันสะท้อนทัศนคติบางอย่างอยู่ดี ชื่อเรื่องนี้ฟังดูเหมือนเราต้องการคนดีๆ สักคนให้ลงมาช่วยแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง รอพระมาโปรด รอเทวดามาดลบันดาลให้ปัญหามันหายไป ไม่เน้นให้คนตัวเล็กๆ ทำดีเล็กๆ น้อยๆ รวมกัน แต่เราต้องการมหาเทพ ผู้อดทนและเป็นแบบอย่างในการทำความดี
อีกอย่างที่น่าสนใจคือ จุดเน้นของชื่อไทยแตกต่างจากชื่อแบบไต้หวันหรือฮ่องกง เราเน้น ‘ความดี’ ส่วนไต้หวันกับฮ่องกงเน้น ‘การแพทย์’ (เป็นไปได้ไหมว่า ฮ่องกงเอาชื่อไต้หวันไปตัดให้สั้นลง) ชวนให้คิดต่อไปได้ว่า สาเหตุอะไรที่ทำให้คนไทยเลือกใช้ความดีเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องมากกว่าวิวัฒนาการทางการแพทย์
อาจเพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ฟังดูยากไป ช่องสามอาจจะคิดว่าคงไม่มีผู้ชมชาวไทยอยากรู้เรื่องวิวัฒนาการทางการแพทย์มากเท่าการนั่งดูการอดทนฟันฝ่าและเสียสละของคนดีหรอก
สิ่งที่น่าสนใจต่อไปคือในขณะที่ไต้หวันกับฮ่องกงเลือกพูดถึงตัวละครที่เป็นแพทย์และเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์การแพทย์ เวอร์ชั่นช่องสามเลือกจะเชื่อมโยงแพทย์กับศีลธรรมเพื่อตอกย้ำค่านิยมการมองแพทย์เป็นตัวแทนของศีลธรรมและเกียรติ เน้นย้ำว่าเราต้องการดูซีรีส์ของหมอที่เป็นคนดี ความรู้ของหมออาจจะไม่สำคัญ หรือเสพได้ยากจากชื่อเรื่อง (แต่ตรงนี้ต้องขอชมซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่องที่ย่อยความรู้ด้านต่างๆ มาเป็นซีรีส์ได้ดีมาก ดูแล้วได้ความรู้จริงๆ ไปด้วยหลายเรื่อง) หรือไม่ก็โหยหาแพทย์ในอุดมคติที่เป็นคนดีพร้อม ไม่ใช่แพทย์ที่มีความสามารถ
พูดซะยาว แต่เราไม่ได้จะมาพูดถึงหมอโฮจุนนี่นา อ้าว แต่ผู้เขียนขอพาไปทำความรู้จักหมอเจคิล หมอโฮจุนจะดีงาม เสียสละ อุทิศตนเพื่อผู้ป่วยแค่ไหน ตรงนี้ผู้เขียนไม่ทราบ แต่ผู้เขียนทราบว่าหมอเจคิลก็พยายามจะเป็นคนดีคนหนึ่งเหมือนกัน ผลลัพธ์ของความพยายามนี้คืออะไรหนอ แต่ที่แน่ๆ มันกลายเป็นสิ่งที่โลกอาจจะไม่ต้องการ น่าประหลาดเหลือเกินที่ความพยายามของหมอคนนี้กลับไม่เป็นที่ต้องการ
เรื่องวิกลของนายแพทย์เจคิลและมิสเตอร์ไฮด์
หมอเจคิลเป็นตัวละครจากนวนิยายขนาดสั้นชื่อเรื่องวิกลของนายแพทย์เจคิลและมิสเตอร์ไฮด์ (The Strange Case of Dr. Jekyll and Mr. Hyde) โดยโรเบิร์ต ลุยส์ สตีเวนสัน (Robert Louis Stevenson) เขียนขึ้นช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษเผชิญปัญหาความเสื่อมโทรมในหลายระดับ ทั้งอำนาจของจักรวรรดิถูกท้าทาย ชีวิตคนยากจนถูกตีแผ่เพิ่มขึ้นเพราะเศรษฐกิจตกต่ำ หรือแม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับงานศิลปะแบบใหม่ที่ท้าทายค่านิยมเดิมๆ ของคนในยุคนี้ แถมยังเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในหลายด้าน ทั้งสิทธิสตรี สิทธิเลือกตั้งของชนชั้นแรงงาน ตลอดจนการถือกำเนิดของศาสตร์ต่างๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับจิตใจ สังคม และวัฒนธรรมแบบใหม่
ตัวเรื่องนั้นเริ่มที่ทนายความ มิสเตอร์ เกเบรียล จอห์น อัตเทอร์สัน (Mr. Gabriel John Utterson) ที่ต้องมาช่วยจัดการมรดกให้กับเพื่อนสนิทอย่างนายแพทย์เฮนรี เจคิล (Dr. Henry Jekyll) มิสเตอร์อัตเทอร์สันนั้นสงสัยว่าทำไมหมอเจคิลเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สมบัติให้แก่ เอ็ดเวิร์ด ไฮด์ (Edward Hyde) ชายซึ่งเขาไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน จนในที่สุดเขาก็ได้ทราบว่า ไฮด์ ผู้มีสารรูปน่าเกลียดน่ากลัวและอาศัยอยู่ในโซโห (Soho) ซึ่งเป็นย่านการค้าเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยโสเภณีและผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้น เป็นคนจิตใจอำมหิตชั่วร้าย เดินชนแล้วเหยียบลงไปบนตัวเด็กโดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร แล้วยังฆ่าส.ส.ชื่อดังจนกลายเป็นข่าวครึกโครม ความแปลกประหลาดและน่าสยดสยองนี้เกิดขึ้นควบคู่กับพฤติกรรมอันแปลกประหลาดของนายแพทย์เจคิลที่บางวันก็ป่วย บางวันก็สุขภาพดีออกมาช่วยเหลือคนยากคนจน จนกระทั่งเกิดเหตุลี้ลับ เพื่อนสนิทของนายแพทย์เจคิล ชื่อนายแพทย์เฮสตี แลนยอน (Dr. Hastie Lanyon) เสียชีวิตด้วยอาการหวาดผวา จนในที่สุดอัตเทอร์สันตระหนักได้ว่าประตูบานหนึ่งที่ไฮด์ชอบเข้าไป ทั้งๆ ที่ไม่ใช่บ้านของตัวเองนั้น คือประตูหลังบ้านของนายแพทย์เจคิล เมื่อไปถึงบ้านอัทเทอร์สันและเอนฟีลด์ (Enfield) ญาติสนิทที่คอยช่วยเหลือเรื่องนี้มาตลอด ทราบเรื่องจากคนใช้ว่าเจคิลเปลี่ยนไป สวมหน้ากาก ตัวเล็กลง และขังตัวเองอยู่ในห้องทดลอง เมื่อบุกเข้าไปได้ สิ่งที่เขาพบคือศพของเอ็ดเวิร์ด ไฮด์ที่สวมชุดกาวน์ใหญ่กว่าตัวเองมาก และเอกสารสามฉบับ ฉบับแรกคือพินัยกรรมที่เปลี่ยนจากชื่อไฮด์เป็นชื่อของอัตเทอร์สัน ฉบับที่สองคือเหตุการณ์ลึกลับที่นายแพทย์แลนยอนเล่าไว้ก่อนจะเสียชีวิต ส่วนฉบับที่สามคือถ้อยแถลงของนายแพทย์เจคิลต่อเหตุการณ์ทั้งหมด
ความจริงก็คือนายแพทย์เจคิลกับมิสเตอร์ไฮด์คือคนเดียวกันนั่นเอง ด้วยยาสูตรพิเศษของนายแพทย์เจคิล เขาจึงสามารถกลายร่างเป็นมิสเตอร์ไฮด์ได้
ทำไมเจคิลถึงอยากแยกตัวเองออกจากไฮด์ล่ะ นี่แหละค่ะ ความพยายามเป็นคนดีของเจคิล เจคิลเขียนไว้ในถ้อยแถลงของตนเองว่าตัวเองโตมากับครอบครัวร่ำรวย เป็นที่รักของคนดีคนฉลาดมากมาย ใฝ่ฝันจะเป็นคนเด่นดังในสังคม มีเกียรติมีศักดิ์ศรี แต่เขากลับรำคาญใจตัวเองที่ชอบหาความสุขด้วยวิธีบางประการ ซึ่งในความคิดของเขานั้นไม่อาจจะไปด้วยกันกับความต้องการที่จะชูคอและแสดงสีหน้าท่าทางเคร่งขรึมต่อหน้าคนอื่น (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าอะไร) เขาจึงตัดสินใจที่จะซ่อนมันเอาไว้ด้วยความรู้สึกอับอาย ทำให้ท้ายที่สุดเขาพบว่าเขามีชีวิตสองชีวิตซ้อนกันอยู่ในตัว เขาบอกไว้ในถ้อยแถลงว่า “ถึงแม้ว่าผมนั้นลึกๆแล้วเป็นคนตีสองหน้า แต่ผมนั้นไม่ใช่พวกมือถือสากปากถือศีลอย่างเด็ดขาด ทั้งสองด้านของผมนั้นเป็นตัวจริงแท้แน่นอน” (Though so profound a double-dealer, I was in no sense a hypocrite; both sides of me were in dead earnest.) เขาได้ข้อสรุปด้วยว่า ในอนาคตอาจจะได้ค้นพบว่า ในอนาคตอาจเป็นที่รู้กันว่า มนุษย์ในที่สุดเป็นเหมือนรัฐรัฐหนึ่งที่ประกอบด้วยผู้คนที่เป็นอิสระเสรีและเข้ากันไม่ได้หลากหลายคนดำรงอยู่ด้วยกัน แต่แล้วด้วยความที่เขาไม่อาจต่อรองกับ ‘อีกร่างหนึ่ง’ ของเขาได้ เขาจึงสร้างยาขึ้นมา ที่จะแยกร่างที่สองของเขาให้ออกมาเพ่นพ่านยามค่ำคืน ร่างที่สองนั้นเขาตั้งชื่อว่า ไฮด์ (Hyde)
หมอเจคิลกับมิสเตอร์ไฮด์ในตัวพวกเรา บนโลกบริโภคนิยม
เราอาจรู้สึกว่าเรื่องราวของหมอเจคิลนั้นดูแปลกประหลาด แต่จริงๆ แล้วมันก็อาจไม่ได้ห่างไกลตัวเราสักเท่าไร ที่เจคิลพยายามจะบอกว่าเรามีสองคนอยู่ในตัวเอง หลายๆ คนก็คงจะเคยได้ยินแล้ว มารดำมารขาว ด้านมืดด้านสว่าง สุดแท้แต่จะเรียก แต่หมอเจคิลก็พยากรณ์ไว้ว่าเราจะมีตัวตนเป็นร้อยๆ ที่จะตีกันอยู่ และยุคปัจจุบันนี้ ร้อยกว่าปีหลังจากนวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ เราก็มีตัวตนสารพัด เราตอนเล่นเฟซ เราเมื่อพบเจ้านาย เราตอนเจอเพื่อนสาว เราในพันทิป หรือแม้แต่เวลาเราเดินไปในห้างสรรพสินค้าสักแห่งหรือในเมืองสักที่ เราหันไปทางซ้าย อุ๊ย พี่ช่าขึ้นปกแมกกาซีน เก๋จัง แพงมาก ตายแล้ว คุณแม่ อุ๊ย หันไปทางขวา เฮ้ย ผู้ดีมาก มองมาทางนี้ด้วย ไม่ได้ๆ ต้องแอ๊บก่อน เอ่อ หยิบอะไรดีวะ หยิบ GQ แล้วกัน กำลังจะหยิบ อีรุ่นน้องก็ตะโกนมา “เจ๊ ขอโทษค่ะ หนูมาสาย” ชิบหายหมดกัน
บทบาทเป็นร้อยเป็นพันอันวุ่นวายเหล่านี้ส่วนหนึ่งมันก็มาจากโลกการบริโภคและพื้นที่เมืองของเรานี่แหละ
การบริโภคทำให้เรามีตัวตนต่างๆ แบบที่เราไม่เคยคิด เปิดโฆษณาไปหน้านึง บอกว่าเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง มาประกวดร้องเพลงกับเราไหม เราก็เออ อาจจะอยากเป็นนักร้อง เปิดไปอีกหน้า เจอโฆษณาแชมพูกับครีมนวดสำหรับผมแห้ง เราอาจจะมานั่งคิด เออ เราผมแห้งหรือผมมันหว่า ไม่เคยสังเกต พื้นที่เมืองก็เหมือนกัน เพราะมันรวมคนต่างๆ มากมายแบบที่เราคาดไม่ถึง เป็นพื้นที่ของคนที่ไม่รู้จักกัน และกลายเป็นพื้นที่ของการจับจ้องสิ่งต่างๆ และจับจ้องกันและกัน ณ ช่วงเวลาที่เรื่องหมอเจคิลถูกเขียนขึ้น ห้างร้านต่างๆ กำลังเปิดอย่างมากมายเป็นครั้งแรกๆ ในลอนดอน แฮร์รอดส์ก็เปิดราวๆ นี้นี่แหละ เมืองแต่เดิมที่มีคนเดินไปเดินมาเพราะจะทำธุระ ก็กลายเป็นพื้นที่ของการเดินเที่ยวเล่น จ้องมองสิ่งสวยๆ งามๆ และคนก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกจ้องมอง ทำให้เราต้องมีตัวตนหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในบางจุด เราอาจจะรู้สึกว่าเราแอ๊บ แต่ถามว่าการแอ๊บมันเป็นสิ่งหลอกลวงหรือ ก็ไม่เสมอไป (เราแค่เป็นคนละคนเวลาอยู่กับเพื่อนและแฟน ไม่ได้แปลว่าเราไม่จริงใจนี่) ตัวตนที่แสดงออกแต่ละบทบาทก็อาจจริงเท่าๆกัน
อย่างที่บอกไปว่าทัศนคติของเจคิลนั้นมองว่าทั้งเขาและไฮด์นั้นแยกจากกัน เป็นตัวเขาทั้งคู่ แต่เขาก็บอกว่า จริงๆ ไฮด์เป็นส่วนหนึ่งของเจคิล เจคิลคือขาวและดำผสมกัน ส่วนไฮด์คือดำอย่างเดียว แต่ในที่สุดเขากลับรู้สึกว่าเขาควบคุมไฮด์ไม่ได้ ปกติทุกคืนเขาจะต้องดื่มน้ำยาเพื่อให้เขากลายเป็นไฮด์ แต่สุดท้ายการเป็นไฮด์เหมือนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าในชีวิต จนการดื่มน้ำยานั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อปลดปล่อย แต่เป็นไปเพื่อควบคุมและกลับไปเป็นเจคิลเหมือนเดิม (สาเหตุที่หมอแลนยอนตายก็เพราะช็อค หลังจากเห็นกับตาตอนที่ไฮด์ไปหาที่บ้านว่าไฮด์กลายเป็นเจคิลนี่แหละ)
ความกำกวมและการต่อสู้กันระหว่างไฮด์กับเจคิล หรือระหว่างความชั่วและความดี (เจคิลเป็นความดีแน่หรือ?) นั้นสอดคล้องไปกับตัวละครอื่นๆ ของเรื่องที่มักจะเป็นตัวละครที่เกี่ยวพันกับศีลธรรมหรือกฎหมายบ้านเมือง แต่กลับดูมีความร้ายกาจหรือมีอีกด้านหนึ่งของตัวตนแฝงอยู่ ขณะเดียวกันสังคมหรือหน้าที่การงานก็บังคับให้เขาเป็นคนอื่น เช่นมิสเตอร์อัตเทอร์สันนั้น ตั้งแต่หน้าแรกของเรื่องถูกเล่าว่าเป็นเคร่งขรึม อยู่บ้านดื่มแต่จิน และไม่ยอมไปดูละครมาเป็นยี่สิบปีแล้วทั้งๆ ที่ชอบดู ตัวเรื่องเล่าด้วยว่าเมื่อเขาดื่มไวน์ ประกายความเป็นมนุษย์นั้นฉายออกมาจากดวงตา (อย่าเพิ่งค่ะ อย่าเพิ่งฉายแววความเป็นมนุษย์ตอนนี้) จะเห็นได้ว่าอัตเทอร์สันก็พยายามจะกดตัวตนบางอย่างเอาไว้ ไม่อยากไปดูละครอาจจะเป็นเพราะไม่อยากแสดงอารมณ์ออกมาท่ามกลางคนมากมาย ดื่มจินอยู่คนเดียวก็อาจจะเพื่อบรรเทาความเศร้าหมองหรือกดดันอะไรบางอย่างหรือเปล่า
เช่นเดียวกัน ตัวละครตำรวจในเรื่องที่ดูจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์นั้นก็ดูเหมือนพวกบ้าเงิน หรืออยากเลื่อนขั้นไวๆ พอรู้ว่าส.ส.ชื่อดังตาย ตำรวจถามอัตเทอร์สันซ้ำๆ ว่าใช่ส.ส.คนนั้นแน่หรือด้วยท่าที่ตื่นเต้น แม้แต่ตอนจะบุกไปยังบ้านไฮด์เพื่อจับตัว (แต่ไม่พบ) อัตเทอร์สันยังรู้สึกว่าตำรวจที่กระเหี้ยนกระหือรือจะไปจับกุมไฮด์นั้นดูน่ากลัวแม้แต่กับคนที่ไม่ได้กระทำผิดก็ตาม แค่เท่านี้เราจะเห็นได้ว่าตัวเรื่องตั้งคำถามกับความดีความชั่วที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับอาชีพบางอาชีพ และชี้ให้เห็นว่าระบบงานและเงินเป็นเครื่องกดทับตัวตนของเขาจนต้องพยายามหาทางปลดปล่อย ระบบศีลธรรมหรือความดีที่เราเชื่อถือกันนั้น ก็อาจไม่ได้อยู่กับผู้พิทักษ์กฎที่แท้จริงแล้วต้องอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่ยั่วยวนหลอกล่อให้เขาเลื่อนขั้น ให้เขามีเงินเพื่อจะไปจับจ่ายใช้สอย
ราวกับว่าศีลธรรมนั้นไม่ได้บริสุทธิ์ แต่ถูกเงินตรายึดครองเรียบร้อยแล้ว
เส้นบางๆ ระหว่างศีลธรรมกับตัวตนที่ถูกครอบทับ
ท้ายที่สุด เรื่องนี้มีคำว่า ‘Scandal’ หรือเรื่องฉาวอยู่มากมาย ตำรวจดีใจที่คดีส.ส.ชื่อดังจะเป็นข่าวดัง เอนฟีลด์ญาติอัตเทอร์สันขู่ไฮด์ว่าถ้าไม่จ่ายเงินค่าทำขวัญเด็กที่ไฮด์เหยียบจะแฉให้คนรู้กันทั้งบาง แน่นอนว่าเรื่องฉาวนี้เป็นเรื่องที่ผูกโยงกับศีลธรรม ถ้าใครทำผิดทำพลาดสังคมก็พร้อมจะจับจ้องและเล่นงานให้เสียหน้าเสียชื่อเสียง การใช้คำว่า scandal หรือเรื่องฉาวเป็นคำหลักแทนที่จะเป็นคำว่าการกระทำผิด หรือความชั่ว กลับสะท้อนให้เห็นการหาผลประโยชน์จากความดีความชั่ว (เช่นการถ่ายคลิปประจานอะไรสักอย่างให้คนมากดไลค์เยอะๆ หรือถ่ายคลิปเก็บไว้เรียกเงินแบล็กเมล) คนที่แพร่เรื่องฉาวอาจไม่ใช่คนดี แต่อาจจะหวังจะทำลายชื่อเสียงหรือหาเงินทองจากความฉาว ศีลธรรมที่สังคมควรจะพิทักษ์รักษาไว้ก็อาจจะรักษาไม่ได้ เพราะมันเองก็กลายเป็นเครื่องมือประหัตประหารคนอื่น ศีลธรรมและกฎเกณฑ์ไม่ใช่หรือที่ทำให้เราไม่เป็นตัวของเราเอง ต้องแอบต้องซ่อนบางสิ่งบางอย่างเอาไว้ ไม่ให้ใครเห็นไม่ให้ใครจับผิด แต่เรื่องก็ชวนให้เราปวดหัวอยู่ดีว่าศีลธรรมแบบไหนล่ะที่ควรจะยกเลิกเพราะกดดันเกินไป แบบไหนควรที่จะยังอยู่เพื่อให้สังคมสงบสุข หรือการให้อภัยควรจะเป็นเงื่อนไขอีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้คนทำผิดได้กลับตัวกลับใจอีกครั้งหรือไม่
จริงๆ ผู้เขียนรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไร เวลาเห็นใครบอกว่าอาชีพนั้นคือคนดี อาชีพนี้คืออาชีพที่มีศีลธรรม มีเกียรติยศ คนพูดบางทีก็สร้างแรงกดดันให้กับคนเหล่านั้นจนเกินไป หน้าที่การงานก็กดทับเรามากพออยู่แล้ว จะให้เอาศีลธรรม (แบบตามใจฉัน) ไปคุมอีก เขาไม่เหนื่อยแย่หรือ เขาจะได้ขยับเนื้อขยับตัวบางหรือเปล่า บางอาชีพก็ชอบโดนจับผิด ถูกถ่ายคลิปแฉประจานบ่อยๆ ด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เราควรจะให้อภัยในบางจุด รู้ไว้เถิดว่าเราเองก็แบกบทบาทอื่นไว้ด้วยกันทุกคน และเราก็อึดอัดเหมือนกัน อยากเป็นตัวตนอื่นๆ เหมือนกันทั้งนั้น ผู้เขียนคิดว่าเราวิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่เราก็ควรเห็นใจกันด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน โลกนี้ทำเราเหนื่อยเหลือเกิน (‘โลก’สำหรับคุณจะแปลว่าอะไรก็ตามสบายนะคะ)
ยังไงก็ขอให้นึกไว้ว่าโลกนี้มันไม่ได้ดีหรอกค่ะ จะไปหาเทวดาอะไรมาโปรดก็คงจะไม่มี การเห็นใครเป็นเทวดาก็อาจจะกลายเป็นการกดดันเขา แต่ว่าโลกนี้ก็ไม่ได้แย่หรอกนะคะ ท้ายที่สุดนี้พี่อ้อยพี่ฉอด (หืม) ขอบอกว่า เรามาสู้กันต่อไปและยิ้มให้กันในโลกสีเทาใบนี้นะคะ